Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในแต่ละปี ภาษีที่พวกเราจ่ายให้รัฐบาลถูกจัดสรรเป็นงบประมาณด้านการศึกษาและอุดหนุนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 493,724 ล้านบาท แต่กลับพบว่าค่าเทอมนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือลดลงบ้างจากการแพร่ระบาด COVID-19

แต่ด้วยสัดส่วนที่น้อยมาก โดยไม่มีการแจกแจงสาเหตุที่ชัดเจน ทำให้คนกลุ่มหนึ่งยิ่งเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นสูง หรือต้องกู้ยืมแบกรับหนี้สินจำนวนมาก (ปีการศึกษา 2563 มีผู้ยื่นกู้ยืมระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. มากกว่า 620,000 คน)

เมื่อลองเทียบกับ 24 ปีก่อน ค่าเทอมของหลายมหาวิทยาลัยในไทยถือว่าสูงขึ้นกว่าเดิม 4-5 เท่า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นเพียงราว 2 เท่าในระยะเวลาที่เท่ากัน

เกิดเป็นคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์จากนิสิตนักศึกษาและผู้ปกครองว่าทำไมราคาถึงพุ่งขึ้นสูง งบประมาณที่ได้เหล่านั้นใช้ไปกับอะไร และค่าเทอมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้วหรือ ?

[ถอดโมเดลธุรกิจมหาวิทยาลัยไทย รายได้ส่วนใหญ่มาจากอะไร?]

หากอยากเข้าใจเหตุผลของค่าเทอมที่แพงขึ้น เราจำเป็นต้องเข้าใจโมเดลธุรกิจของมหาวิทยาลัยก่อน โดยมหาวิทยาลัยไทยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก โมเดลแต่ละแบบนี้ส่งผลต่อค่าเทอมและความถี่ในการปรับราคาด้วย ดังนี้

1.กลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ปัจจุบันมี 26 แห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรูปแบบนี้มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหาร

2.กลุ่มมหาวิทยาลัยรัฐ แตกต่างจากแบบแรกตรงที่มหาวิทยาลัยรูปแบบนี้ยังคงอิงกฎระเบียบของทางราชการในการบริหารจัดการกระบวนการภายในและทรัพย์สินต่างๆ

3.กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน 72 แห่ง

มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเกิดขึ้นจากข้อตกลงเรื่องสัญญาการกู้ยืมเงินกับธนาคารพัฒนาเอเชียในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2541 โดยเอื้อให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารงบประมาณ พร้อมตั้งกรอบเงินเดือนและสวัสดิการอย่างอิสระ ไม่ต้องอิงระบบราชการ รวมถึงไม่จำเป็นต้องผ่านเรื่องจากทางคณะกรรมการเพื่อต้องเปิดหลักสูตรใหม่

ทำให้ช่วงรอบปีที่ผ่านมา หลายแห่งทยอยผลักตัวเองออกจากการควบคุมของรัฐ เช่น ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น โดยที่ยังคงได้รับเงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้รายปีเพื่อประกันคุณภาพการศึกษาอยู่ (หลักร้อยล้านถึงหมื่นล้านบาท) และบริหารงานได้โดยไม่ถูกตรวจสอบมากเท่าเดิม จึงไม่ค่อยเห็นอย่างละเอียดว่างบประมาณต่าง ๆ ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่

แต่ก็พอรู้คร่าว ๆ ได้ว่ามหาวิทยาลัยมีรายได้จากหลายช่องทาง เช่น ค่าบริหารทางวิชาการ การจัดการบริหารสินทรัพย์ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้แล้วพบว่าในหลายมหาวิทยาลัย รายได้จากค่าเทอมถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด

เช่น ในปี พ.ศ. 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีรายได้จากการจัดการศึกษาอยู่ที่ 13.59% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากรัฐบาลคิดเป็น 33.04% และรายได้จากการบริหารทรัพย์สินอยู่ที่ 22.98%

ซึ่งหากมหาวิทยาลัยมีนโยบายอยากให้นักศึกษามีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น หนึ่งในทางเลือกที่เป็นไปได้คือการจัดสรรรายได้จากช่องทางอื่นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยคงค่าเทอมไว้เท่าเดิม

[ค่าเทอมที่สูงขึ้นเกี่ยวข้องกับอัตราการเกิดที่น้อยลงไหม?]

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าการเพิ่มอัตราเล่าเรียนเกิดขึ้นจากอัตราการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่น้อยลง จนเหลือที่ว่างนับแสนในแต่ละปี สอดคล้องกับอัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

รวมไปถึงค่านิยมทางสังคมที่ใบปริญญาเริ่มมีคุณค่าต่อการประกอบอาชีพบางสายงานน้อยลงกว่าแต่ก่อน เช่น งานด้านเทคโนโลยี ทำให้จำนวนผู้เรียนมีแนวโน้มน้อยลงไปอีก

ในขณะที่มหาวิทยาลัยมีต้นทุนคงที่หลายส่วนเท่าเดิม จึงต้องปรับค่าเทอมเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่สูญหายไป

แต่เหตุผลดังกล่าวอาจไม่ใช่สาเหตุสำหรับคณะและมหาวิทยาลัยชื่อดังในไทย เพราะเปิดรับนักศึกษากี่ที่นั่ง หรือปรับค่าเทอมสูงขึ้น ก็มีคนพร้อมจ่ายเพื่อเข้ามาศึกษาต่อจนเต็มจำนวนอยู่ดี

เรียกได้ว่าใครมีกำลังจ่ายอยู่แล้วก็ไม่เป็นปัญหา ส่วนใครขาดแคลนทุนทรัพย์อาจไปกู้ยืม กยศ. ที่ให้กู้ยืมปีละ 50,000 – 200,000 บาท/ปี และค่าครองชีพ 36,000 บาท/ปี ทำให้ที่นั่งเต็มและยังขึ้นค่าเทอมได้อีกด้วย

[เมื่อนักศึกษาต้องจ่ายค่าเทอมจำนวนมาก แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคุ้มค่าหรือเปล่า?]

คำตอบคือเราแทบวัดไม่ได้ เพราะ

1) มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เก็บหรือเผยแพร่ข้อมูลหลังจบการศึกษาของนักศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวสะท้อนคุณภาพของการศึกษา

เมื่อไม่มีข้อมูลตรงนี้ บุคคลทั่วไปไม่อาจทราบว่าหลังเรียนจบแล้ว นักศึกษาแต่ละรุ่นหางานทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาหางานทำนานแค่ไหน จบมาแล้วทำงานตรงสายหรือเปล่า หรือมีนิสิตจากคณะอะไรที่มักตกงาน

รอยรั่วตรงนี้ทำให้ในปัจจุบัน คนยังแย่งกันเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ไม่ทราบชะตากรรมหลังเรียนจบ ลงเอยด้วยการไม่มีงานทำ หรือได้รับเงินเดือนไม่คุ้มค่าเทอมที่จ่ายไปตลอดระยะเวลา 4-6 ปี

2) มหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดเผย unit cost หรือค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับนักศึกษาแต่ละคน จึงตรวจสอบได้ยากว่าเงินค่าเทอมจำนวนมากถูกนำไปจัดสรรอย่างไรบ้าง

สิ่งที่พอจะบอกได้คืออันดับมหาวิทยาลัยที่สะท้อนคุณภาพทางวิชาการและบริการ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในไทยไม่ได้มีการปรับอันดับสูงขึ้นอย่างชัดเจนในระดับสากล

เมื่อผสมกับการไม่มีข้อมูลที่โปร่งใสและการชี้แจงที่ชัดเจน ทำให้ตอบไม่ได้เลยว่า หลักสูตร คุณภาพการศึกษา ดีขึ้นจริงหรือไม่ และยังคงเป็นปริศนาต่อไป จนกว่าจะมีข้อมูลมากกว่านี้

ส่วนทางฝั่งมหาวิทยาลัยเอกชน แม้ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายชัดเจน (เพราะไม่จำเป็นต้องแสดงรายได้ให้ทางภาครัฐทราบ) พบว่ามีบางมหาวิทยาลัยที่ปรับขึ้นค่าเทอมทุกคณะเมื่อเทียบย้อนหลังไปในช่วง 3-4 ปีนี้ เช่น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์แย่งชิงนักศึกษา ทำให้ที่ผ่านมาเห็นมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งพยายามหั่นค่าเทอมรวมถึงเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น เพื่อดึงดูดนักศึกษา เช่น ให้เรียนฟรีสำหรับนักศึกษาใหม่ (มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต), ให้สิทธิ์ร่นเวลาเรียนจาก 4 ปี เป็น 3 ปี ในบางสาขาวิชา (มหาวิทยาลัยเกริก)

แต่ในภาพรวม รัฐบาลยังถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่กำหนดว่ารูปแบบของการศึกษาขั้นสูงจะเป็นอย่างไร เพราะมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย เช่น การอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เรียนจำนวนมาก หรือกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีจนเทียบเท่ากับราคาที่ต้องจ่าย พร้อมทั้งกำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

น่าจับตามองต่อไปว่าหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจำนวนมาก มหาวิทยาลัยจะปรับตัวอย่างไร และนักศึกษารุ่นต่อๆ ไปต้องจ่ายค่าเทอมมากเท่าใด เพื่อเอื้อมให้ถึงการศึกษาขั้นสูงและอนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน

บทความโดย: ทวีวัฒน์ รักสุจริต, ปัน หลั่งน้ำสังข์ และอภิชญา ฉกาจธรรม

ที่มา :

https://bit.ly/3qNXcrQ

https://bit.ly/3xiEw62

https://bit.ly/3jGslMd

https://bit.ly/3hd8AdF

https://bit.ly/3xk8o1c

https://bit.ly/3pKcf5g

https://bit.ly/3xgECuZ

https://bit.ly/3xemSQN

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า