Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในยุคศตวรรษที่ 21 ที่คนเรียนจบมหาวิทยาลัยมีจำนวนมากขึ้น เงินเดือนของคนสมัยนี้ก็มากกว่าคนรุ่นก่อน ทำให้หลายคนอาจคิดว่าการขยับสถานะทางสังคม อัปเลเวลชีวิต จะเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม

แต่เรื่องจริงอาจไม่เป็นแบบนั้น เมื่องานวิจัยและผลสำรวจหลายชิ้นพบว่า เป็นเรื่องยากกว่าเดิม ที่คนรุ่นใหม่จะรวยกว่า หรือตั้งตัวได้เร็วกว่าคนรุ่นพ่อแม่

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งเกิดทีหลัง ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะรวยกว่าพ่อแม่ได้นั่นเอง

ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่ที่ดูชัดเจนมากที่สุดก็คือ สหรัฐอเมริกา ที่รุ่นใหม่กลับขยับสถานะทางสังคมได้ยากกว่าเมื่อก่อน รวยช้า และกว่าจะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ก็ช้ากว่าคนรุ่นพ่อแม่มาก

The Economist ชี้ว่า ในประเทศร่ำรวยหลายประเทศ ‘ชนชั้นที่เกิดมา’ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนขยับสถานะทางสังคม และรวยกว่าพ่อแม่ได้

แต่สำหรับสหรัฐอเมริกาที่ถือเป็นประเทศร่ำรวย และได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งโอกาส” คนกลับขยับสถานะทางสังคมได้ช้ากว่าประเทศร่ำรวยอื่นๆ

ถ้าถามว่ามีโอกาสแค่ไหนที่คนที่เกิดจากครอบครัวชนชั้นล่าง จะก้าวไปสู่การเป็นคนชนชั้นสูงสุด ลองมาดูสถิติ

-สหรัฐอเมริกา มีโอกาสประมาณ 7.5%

-สหราชอาณาจักร มีโอกาสประมาณ 9%

-เดนมาร์ก มีโอกาสประมาณ 11.6%

-แคนาดา มีโอกาสประมาณ 13%

ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าคนที่เกิดมาจากครอบครัวชนชั้นล่าง หรือเกิดมาจน มีโอกาสน้อยมากที่จะเลื่อนสถานะไปเป็นคนรวย โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ตัวเลขน้อยกว่าประเทศร่ำรวยอื่น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในเรื่องของรายได้ที่รุนแรงในประเทศ

[ หลายปัจจัยรุมเร้าคนรุ่นใหม่ ]

ค่าเงินที่เฟ้อมากขึ้น ข้าวของแพงมากขึ้น ราคาบ้านในยุคนี้ที่แพงกว่าเดิม ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่มีเงินน้อยกว่า แต่ยังมีทรัพย์สินน้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ ด้วย

งานวิจัยจาก Pew Research ระบุว่า คนวัยมิลเลนเนียลนั้นกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้านที่ส่งผลให้ไม่สามารถก้าวไปสู่ความร่ำรวยหรือความมั่นคงในชีวิตได้เร็วเท่าคนรุ่นพ่อแม่

โดย Michael Hout ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า สาเหตุเป็นเพราะคนมิลเลนเนียลเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ที่เศรษฐกิจพังทลายจากการถดถอยครั้งใหญ่

ขณะที่คนรุ่นพ่อแม่นั้นเกิดมาช่วงที่เศรษฐกิจเอื้ออำนวยกว่า จึงขยับสถานะทางสังคมได้มากกว่า

โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวอเมริกันและอังกฤษขยับสถานะทางสังคมกันได้ง่ายมาก เนื่องจากตำแหน่งงานระดับโปรเฟสชั่นนอลกับระดับผู้จัดการมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ชนชั้นแรงงานไต่เต้าเงินเดือน และขยับสถานะทางสังคมได้ง่าย

ผลดังกล่าวทำให้เด็กที่เกิดในอเมริกาช่วงนั้น หรือผู้ที่เกิดในปี1940 ราว 91.5% สามารถตั้งตัวและร่ำรวยกว่าคนรุ่นพ่อแม่ได้

แต่ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ

-ปี 1955 เหลือเพียง 70%

-ปี 1970 เหลือเพียง 60%

-ปี 1980 ลดลงมาเหลือแค่ 50%

สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องคนมิลเลนเนียลจาก Stanford Center ที่เผยแพร่ในนิตยสาร Poverty & Inequality Pathways ในปี 2019 ที่ระบุว่า คนอเมริกันที่เกิดในยุค 1980s จำนวน 44% ทำงานที่อยู่ในสถานะทางสังคมสูงกว่าตอนที่พ่อแม่ของพวกเขาอายุ 30 ปี ส่วนอีก 49% ทำงานในระดับที่ต่ำกว่า

ขณะที่คนที่เกิดในยุค 1930s จำนวน 70% ทำได้ดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่

[ การศึกษาช่วยข้ามกำแพงความจนได้จริงหรือ? ]

เพราะการศึกษาเป็นตัวชี้วัดรายได้และโอกาสของชีวิตของคนมาเป็นเวลามากกว่า 50-60 ปีแล้ว แต่ในประเทศร่ำรวย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเป็นภาคบริการ ทำให้คนที่ไม่มีใบปริญญามีโอกาสน้อยลงที่จะรวย และคนที่ชนะก็กลายเป็นงานภาคบริการที่ได้รับค่าตอบแทนสูง เช่น หมอ และทนาย

จึงอาจกล่าวได้ว่า หนทางที่จะทำให้คนที่จนมาตั้งแต่เกิด ข้ามกำแพงความจนไปสู่ความมีกินมีใช้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่อง ‘การศึกษา’

แต่ประเด็นก็คือ โอกาสที่จะได้เรียนในสถาบันดีๆ หรือแม้แต่เข้าถึงการศึกษา ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ ‘ต้นทุน’ จากครอบครัวด้วย

ถ้าลองดูสถิติในสหราชอาณาจักร ปี 2016 พบว่า 40% ของคนที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Cambridge และ Oxford เป็นคนที่มาจากโรงเรียนเอกชน หรือเป็นลูกคนมีเงินนั่นเอง

และในบรรดาชาว UK ที่สามารถส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชนได้ มีสัดส่วนเพียงแค่ 6.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ จนปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวลดลงบ้างแล้ว คือเหลือ 30.4%

ขณะที่ในฝั่งสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจพบว่า 43% ของนักศึกษาผิวขาวที่จบจาก Harvard University ระหว่างปี 2014-2019 ไม่ได้มีแค่ผลงานวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเด็กที่มี ‘ความพิเศษ’ คือมีภาษีดีกว่าคนอื่นๆ เช่น เป็นลูกศิษย์เก่า เป็นลูกคนมีฐานะหรือคนมีชื่อเสียง เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น สถิติคะแนนจากข้อสอบที่นำไปใช้เข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างข้อสอบ SATs ก็เป็นตัวชี้วัดได้อีกว่า คนที่เกิดมาครอบครัวมีเงิน มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า

ทั้งนี้ สถิติในปี  2016 พบว่า

-เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีคะแนน SATs เฉลี่ยที่ 430 คะแนน

-เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปี 80,000-100,000 ดอลลาร์ มีคะแนน SATs เฉลี่ยที่ 500 คะแนน

-เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 200,000 ดอลลาร์ มีคะแนน SATs เฉลี่ยที่ 570 คะแนน

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนและยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า การเกิดมาครอบครัวที่พ่อแม่รวย ทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะได้รับการศึกษาที่ดี ทำคะแนนได้ดีกว่า มีโอกาสเข้าเรียนในสถาบันชั้นนำของประเทศได้มากกว่า ส่งให้มีโอกาสสร้างรายได้ และขยับสถานะทางสังคมได้มากกว่าคนที่เกิดมาในครอบครัวยากจน และพ่อแม่ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญา

ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็น ‘หนี้การศึกษา’ จากค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้น กลายเป็นอีกตอใหญ่ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รวยกว่าพ่อแม่เสียที

โดยคนมิลเลนเนียลที่เริ่มเรียนในมหาวิทยาลัยในปี 1999 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 15,604 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อเป็นค่าเล่าเรียนในระดับปริญญาตรี, ค่าธรรมเนียม, ค่าเช่าห้องพัก และค่าอาหาร

ขณะที่ชาวเจน X และเบบี้บูมมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสำหรับเรียนมหาวิทยาลัยราวปีละ 10,300 ดอลลาร์เท่านั้น

เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเหล่านี้สร้างภาระทางการเงินให้กับชาวมิลเลนเนียลเป็นเวลาหลายปี ที่น่าสลดใจก็คือ บางคนต้องดร็อปกลางคันเพื่อไปทำงาน เนื่องจากเจอวิกฤตการเงิน และแม้จะผ่านมาแล้ว 20 ปีก็ยังต้องจ่ายหนี้ก้อนนั้นอยู่ทั้งที่ไม่ได้ใบปริญญาด้วยซ้ำ

[ สภาพแวดล้อมคือส่วนสำคัญ ]

ต่อเนื่องจากการเกิดมาในครอบครัวที่มีต้นทุนพร้อม การเกิดมาในย่านหรือทำเลที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี ก็สอดคล้องกับการที่คนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จในการขยับสถานะทางสังคมด้วย

โดยสถิติระบุว่า คนที่เกิดมาในย่านครอบครัวที่มีรายได้สูง เป็นกลุ่มที่มีโอกาสสูงมากที่จะมีรายได้โดยเฉลี่ยถึง 70,000 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่คนที่เกิดมาในชุมชนแออัดในเมืองเล็กๆ มักมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 22,000 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น

ซึ่งสภาพแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่รวมถึงอีกประเทศมหาอำนาจอย่าง ‘จีน’ ด้วย โดยในจีนเรียกสิ่งนี้ “วงล้อมแห่งสังคม” ที่ไม่ได้หมายถึงทำเลที่อยู่เท่านั้นที่มีผลต่อการขยับสถานะทางสังคม แต่หมายรวมไปถึงการอยู่ในแวดวงหรือแวดล้อมของคนมีเงิน ก็จะทำให้มีโอกาสขยับสถานะได้มากกว่า

โดยมีแนวโน้มสูงมากที่เด็กที่เกิดในครอบครัวที่ยากจน หากไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น อยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 12,000 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าคนรุ่นพ่อแม่

กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคนอเมริกัน มีโอกาสน้อยขึ้นเรื่อยๆ ที่จะขยับสถานะให้ดีกว่าหรือรวยกว่าคนรุ่นพ่อแม่ คือการต้องเผชิญกับวงจรแห่งโอกาส ที่ได้แก่ต้นทุนชีวิต สถานะการเงินครอบครัว สภาพแวดล้อม ผสมกับปัจจัยอื่นคือเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ

และการแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ คงหนีไม่พ้นการแก้ไขในด้านการเข้าถึงการศึกษา และการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งต้องได้รับแรงขับเคลื่อนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว แม้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมจะไม่หมดไป แต่ก็ลดลงมาบ้างได้ก็ยังดี!

อ้างอิง:

https://www.youtube.com/watch?v=T1FdIvLg6i4&t=77s

https://edition.cnn.com/2020/01/11/politics/millennials-income-stalled-upward-mobility-us/index.html

https://www.brookings.edu/blog/up-front/2018/07/25/fewer-americans-are-making-more-than-their-parents-did-especially-if-they-grew-up-in-the-middle-class/

https://workpointtoday.com/american-millennial-no-home-more-debt/

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า