Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

    • การเข้าตีตลาดของหลักสูตรออนไลน์ (MOOCs: Massive Open Online Courses) ซึ่งเป็นการศึกษาที่เปิดเสรีให้คนทั่วโลกเข้าถึง โดยไม่จำกัดจำนวน มีทั้งเรียนฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ทำให้คอร์สออนไลน์ได้รับความนิยมจากทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
    • คาดว่าอีก 2 ปี จะเหลือมหาวิทยาลัยในไทยไม่เกิน 120 แห่ง
    • การใช้ตลาดนำการศึกษา ทำให้ภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยไทยไม่ต่างกับเซลส์แมนขายปริญญา
    • เผยผล world ranking ลดฮวบ สะท้อนวิกฤติคุณภาพการศึกษา ชี้ทางรอด ผู้บริหาร อาจารย์ ต้องมี Mindset มุ่งความเป็นเลิศ สร้างงานวิจัย นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศและตอบโจทย์โลก

——————————————————————————————————————-

การเปิดตัวของมหาวิทยาลัย 500 แห่ง ในสหรัฐอมริกา และคาดว่าจะตามมาอีกไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่นับการควบรวมมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากอิทธิพลของเทคโนโลยีและการเข้าตีตลาดของหลักสูตรออนไลน์ (MOOCs: Massive Open Online Courses) การศึกษาที่เปิดเสรีให้คนทั่วโลกเข้าถึง โดยไม่จำกัดจำนวน มีทั้งเรียนฟรีและเสียค่าใช้จ่าย แต่เป็นทางเลือกที่คนรุ่นใหม่มองว่าคุ้มค่า เมื่อแลกกับความสะดวกสบาย ได้เรียนกับ Professor จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับท็อปๆ ของโลก ทำให้คอร์สออนไลน์ได้รับความนิยมจากทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะมหาวิทยาลัยในอเมริกา แต่กระทบการศึกษาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของ Digital Disruption เช่นกัน

ไม่นับรวมผลกระทบจากการลดลงของประชากรไทยที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง จากตัวเลขเมื่อ 30 ปีก่อน เด็กเกิดใหม่มีมากกว่า 1 ล้านคน/ปี ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 600,000 – 700,000 คน เท่านั้น ทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างลงจำนวนมาก

ขณะนี้มีที่ว่างในระดับปริญญาตรีถึง 140,000 ที่นั่ง แต่มีนักเรียนเข้าสู่ระบบเพียง 80,000 คน เท่านั้น และในการรับแอดมิชชันปีการศึกษา 2560 พบว่า ยอดผู้สมัครต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นสัญญาณเตือนมหาวิทยาลัยไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ ห้องเรียนร้าง และสุดท้ายต้องปิดตัวไป

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ

นอกจากนี้ นักวิชาการด้านการศึกษาต่างเห็นตรงกันว่า ปัจจัยเร่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยของไทยปิดตัวเร็วขึ้น คือ หลักสูตรไม่ตอบโจทย์ตลาด การเรียนการสอนล้าสมัย ไม่เป็นสากล ขาดแคลนอาจารย์ที่มีคุณภาพ รวมถึงคุณภาพวิชาการและงานวิจัยที่เน้นปริมาณ แต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศหรือของโลก ทำให้โอกาสที่จะได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติน้อยมาก เมื่อเทียบกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ปรากฎชัดจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) ที่มหาวิทยาลัยของไทยตามหลังมหาวิทยาลัยในเอเชียและอาเซียนอย่างไกลลิบ

จากวิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนจำนวนมากต้องลดห้องเรียน ยุบรวมหลักสูตร/สาขาวิชา ลดอาจารย์ หรือจ้างออก รวมถึงใช้กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม เพื่อจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียน

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า การใช้ตลาดนำการศึกษาทำให้ภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยไทยไม่ต่างกับเซลส์แมนขายปริญญา การตลาดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ถ้าไม่พัฒนาคุณภาพ ไม่ปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหาวิชา คุณภาพอาจารย์ เพื่อผลิตคนให้ตรงกับการทำงานจริง ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยจะไปไม่รอด

สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต บอกว่า 2 ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยปิดไปแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ปัจจุบันเหลือมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 150 แห่ง และคาดว่าปี 2563 จะเหลือมหาวิทยาลัยทั้งระบบไม่เกิน 120 แห่ง

นอกจากนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำยังร่วมสะท้อนปัญหาอุดมศึกษา พร้อมวิเคราะห์และชี้ทางรอดของอุดมศึกษาไทยในยุค Disruptive Change หรือการเปลี่ยนโลกแบบพลิกโฉม

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า วิกฤติอุดมศึกษาไทยเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ปัญหาเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว
  2. ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ทำให้โอกาสในการเรียนรู้มีมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนในโลก สามารถเรียนผ่าน MOOCs โดยเชิญ Professor จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาสอน ขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกที่เปิดคอร์สออนไลน์ จุฬาฯ ก็เปิดแล้วเช่นกัน
  3. อุตสาหกรรมไทยยังไม่พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม ทำให้คนเรียนจบขั้นสูงไม่มีงานรองรับ นอกจากการรับคนเข้าทำงานของบริษัทต่างๆ จะดูที่ทักษะฝีมือ ประสบการณ์ และ Mindset มากกว่าปริญญาที่ได้รับ สุดท้าย ไม่มีแผนที่ชัดเจนในการผลิตคนในแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตคนของอุดมศึกษาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่ตรงกับความต้องการใช้แรงงาน เช่น ผลิตสายสังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจออกมาล้นตลาด ขณะที่สายวิทยาศาสตร์ขาดแคลนจำนวนมาก

“ผมมองว่ากระจกเงาที่สะท้อนคุณภาพการศึกษาของอุดมศึกษาไทยได้อย่างดีก็คือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) ไม่ว่าจะเป็นของ QS World  University Rankings หรือ Times Higher Education (THE) จะเห็นว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยถอยห่างจากสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง แม้แต่มาเลเซียไปเรื่อยๆ

ปีนี้ QS จัดให้จุฬาฯ ติด Top 250 ของโลก THE จัดให้มหิดลติด Top 501 – 550 ของโลก แต่เทียบกับชาติในเอเชียแม้แต่อาเซียนจะเห็นว่ายังตามหลังอยู่มาก และไม่เคยมีมหาวิทยาลัยไหนของไทยที่เข้าไปอยู่ในอันดับท็อปของโลก การให้คะแนนของ QS ทุกข้อของจุฬาฯ ดีหมด แต่ตกวิจัยที่ยังไม่เข้ามาตรฐานสากล แม้ว่าเราจะผลิตงานวิจัยจำนวนมาก แต่จำนวนการอ้างอิงของเรายังต่ำกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ส่วน THE ใช้ตัวชี้วัดด้านคุณภาพการสอน 30% การวิจัย 60% สัดส่วนอาจารย์และนักศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติ 7.5% และรายได้จากภาคอุตสาหกรรม 2.5% ฉะนั้น ถ้าไม่ปรับคุณภาพงานวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม โอกาสที่จะติด 500 อันดับของโลกเป็นไปได้ยากมาก” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยของไทยมีโอกาสติดอันดับมหาวิทยาลัยโลกได้จะต้องก้าวผ่านกับดัก 3 เรื่อง อย่างแรก ผู้บริหารประเทศ และผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงอาจารย์ จะต้องมี Mindset ที่มุ่งความเป็นเลิศในการผลิตคน ผลิตองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศและตอบโจทย์โลก และใช้เม็ดเงินเพื่อการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยที่รับเงินไปแล้วไม่มีผลงาน หรือวิจัยขึ้นหิ้งต้องถูกแบล็กลิสต์ตัดเงินวิจัยในปีต่อไป ที่ผ่านมารัฐไม่มีเกณฑ์ในการให้คุณให้โทษ ใช้วิธีหารยาวเท่ากันหมด

สอง ภาคเอกชนและวิสาหกิจต้องดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนร่วม เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ให้กับประเทศ อย่างเช่น ตั้งโรงงาน New s Curve ในเขต EEC ที่รัฐบาลกำลังทำ และให้นักศึกษา นักวิจัยเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะเป็นเลิศสู่ภาคอุตสาหกรรม

สุดท้าย อยากจะฝากว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัย หรือ World Ranking จะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างแท้จริง” รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการวิจัยฯ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

ศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์

ด้าน รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า วิกฤติอุดมศึกษานับวันจะยิ่งรุนแรง มหาวิทยาลัยที่ไม่มีความโดดเด่นทางวิชาการ หารายได้จากการขายหลักสูตรโดยไม่สนใจคุณภาพจะไปไม่รอด ต้องหาแหล่งรายได้ใหม่ นั่นคือ งานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและตอบโจทย์ภาคเอกชน และต่อไปทุนวิจัยจะต้องมาจากภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ ซึ่งต่างประเทศทุนวิจัยมาจากเอกชนมากกว่ารัฐหลายเท่าตัว นอกจากเม็ดเงินแล้วยังสร้างอาคารวิจัยให้มหาวิทยาลัยด้วย

และนอกจากงานวิจัยแล้วยังสามารถหารายได้จากการให้บริการวิชาการ เช่น เป็นที่ปรึกษาหรือทำโครงการให้ภาคเอกชน และว่านิด้าได้รับผลกระทบจากยอดผู้สมัครเรียนที่ลดลงเช่นกัน แต่ข้อดีคือสามารถคัดเลือกคนเก่งๆ เข้ามาเรียน แต่อีก 5 – 10 ปี ข้างหน้า ได้รับผลกระทบแน่นอน ดังนั้น จะพึ่งการขายหลักสูตรอย่างเดียวไปไม่รอด ต้องหารายได้จากงานวิจัย ให้บริการวิชาการ เช่น การฝึกอบรม เป็นที่ปรึกษาโครงการให้กับภาครัฐและเอกชน ขณะนี้รายได้ของสถาบันประมาณ 60% มาจากงานวิจัยและบริการวิชาการ ส่วนที่เหลือเป็นงบประมาณจากรัฐ

เมื่อถามว่าการจัดอันดับมหาวิทยลัยโลกสะท้อนอะไรต่อวิกฤติอุดมศึกษา รศ.ดร.ประดิษฐ์ ให้ความเห็นว่า Ranking มีความสำคัญ ทำให้มหาวิทยาลัยไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนานาชาติ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอยากร่วมมือทางวิชาการด้วย นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมที่จะให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยทำวิจัยให้ ไม่ต้องไปจ้างมหาวิทยาลัยอันดับท็อปของโลกมาวิจัยให้เหมือนตอนนี้ นิด้าแม้ว่าจะไม่สามารถเข้ารับการจัดอันดับได้ เนื่องจากไม่มีปริญญาตรี แต่เป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจาก ASCBB ซึ่งให้การรับรองมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนปริญญาโทและเอกด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก โดยเป็น 1 ใน 2 มหาวิทยาลัยในไทยที่ได้รับรองมาตรฐานจาก ASCBB ซึ่งต่อไปคณะอื่นจะให้มีการรับรองมาตรฐานการศึกษาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ASCBB หรือ ISO เพื่อให้นิด้าเป็นที่รู้จักของมหาวิทยาลัยโลกมากขึ้น

รศ.ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์

ขณะที่ รศ.ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) มองว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนหันมาประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยรูปแบบเดิม แต่เป็นการเรียนคอร์สสั้นๆ ที่เป็นเฉพาะทางมากขึ้น หรือเรียนในสถานประกอบการ เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อว่ามหาวิทยาลัยทำให้คนที่เรียนจบแล้วทำงานได้ทันที ยังต้องหาทักษะความรู้เพิ่มเติม ทำให้มองไม่เห็นความคุ้มค่าทั้งเรื่องเวลาและค่าเล่าเรียนที่เสียไป และมองว่านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายคนไม่ได้จบปริญญา จึงถูกท้าทายและตั้งคำถามว่า เรียนปริญญาตรี 4 ปี ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะอยู่รอดได้จะต้องปรับตัวและก้าวทันการเปลี่ยนแปลง หลักสูตรการเรียนการสอนต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน อย่างเช่นตอนนี้กระทรวงศึกษาฯ มีการออกแบบหลักสูตรพันธุ์ใหม่ให้มหาวิทยาลัยเปิดสอน เพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในสาขาที่ต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต เป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียนและตลาดแรงงาน รวมไปถึงคอร์สอบรมสั้นๆ ให้คนเข้ามาเรียนเพื่อนำความรู้ไปต่อยอดการทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระ หรือคนที่อยากจะเปลี่ยนอาชีพก็สามารถกลับเข้ามาเรียนใหม่ได้

ที่สำคัญมหาวิทยาลัยจะต้องทำวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมด้วย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยทำวิจัยออกมามากมาย แต่เป็นวิจัยขึ้นหิ้ง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง หรือวิจัยแล้วไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ หรืออยู่ในฐานข้อมูลที่อ้างอิงได้ เป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่ทำให้มหาวิทยาลัยของไทยไม่ติดอันดับมหาวิทยาลัยโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการศึกษา การจัดการศึกษาไม่ได้มุ่งผลิตกำลังคนอย่างเดียว แต่เป็นการศึกษาเพื่อวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมให้แก่สังคม ประเทศชาติ แต่ประเทศที่จำเป็นต้องใช้กำลังคนที่มีคุณภาพจะเน้นการผลิตกำลังคน ซึงอาจจะไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ชี้วัดในการ Ranking ฉะนั้น ต้องดูน้ำหนักเหล่านี้อย่างเหมาะสมด้วย

“ตอนนี้มหาวิทยาลัยไทยรวมถึงมหาวิทยาลัยนเรศวรถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยยืนหยัดอยู่ได้คือ คุณภาพการศึกษา ความเข้มแข็งทางวิชาการ  และงานวิจัย เราทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาอาจารย์ให้เป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ ผลักดันให้ผลงานได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับชาติและนานาชาติ ปีนี้เราติดอันดับที่ 11 ของมหาวิทยาลัยไทย จากการจัดอันดับของ QS ซึ่งเป็น Benchmark อย่างหนึ่ง ที่ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถแข่งขันได้ และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มน. กล่าว

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน

ส่งท้ายกับความเห็นของ ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นมองแง่บวกเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะได้พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก หรือกระทบทีหลัง ที่น่าเป็นห่วงคือสายสังคมศาสตร์ ที่ผลิตออกมาเกินความต้องการ ประกอบกับเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ แต่มุ่งสู่สายสังคมศาสตร์ที่ล้นตลาดอยู่แล้ว ทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก

ดังนั้น ทางรอดของมหาวิทยาลัย คือ การจัดการศึกษาและผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 หลักสูตรการเรียนการสอน การผลิตคนต้องมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

“มจพ.เราเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ผลิตวิศวกรสายปฏิบัติ ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงเคียงคู่ไปกับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสาขาอื่นๆ ทุกสาขา จะผูกกับภาคอุตสาหกรรม มีทักษะความรู้ที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม และสามารถทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพ

“อย่างที่ทราบกันว่า เครื่องมือที่รัฐบาลใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็คือ อุตสาหกรรม งานวิจัย และนวัตกรรม จึงเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยที่จะได้ใช้องค์ความรู้ผลิตงานวิจัย นวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มจพ.เราให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม เรามีหลักสูตรใหม่ๆ ที่มุ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรม เน้นสร้างเครือข่ายกับอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทั้งด้านวิชาการและทำงานวิจัยร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับของมหาวิทยาลัยและเครือข่ายอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ การติดท็อป 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยจากการจัดอันดับของ THE ก็เป็นผลมาจากคุณภาพวิชาการ และการวิจัยที่มหาวิทยาลัยทำมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากช่วยให้นักวิจัยและมหาวิทยาลัยมีรายได้แล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย” อธิการบดี มจพ.กล่าวทิ้งท้าย

อาจเป็นศึกครั้งใหญ่ที่ต้องสู้ยิบตา ได้แต่เอาใจช่วยให้แต่ละมหาวิทยาลัย ฝ่าวิกฤติอิทธิพลของ Digital Disruption ไปให้ได้

 

บทความโดย: สิริลักษณ์ เล่า

ผู้สื่อข่าวอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, อดีต บก.ฉบับพิเศษ บมจ.มติชน

———-

ภาพประกอบจาก  Arnond Sakworawichchulalongkornhospitalkmutnbslickschoolnidabccommunication

———-

อ่านบทความย้อนหลัง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า