Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หากพูดถึง “ห้างนิวเวิลด์” คนรุ่นใหม่ยุคนี้อาจไม่คุ้นชื่อสักเท่าไรนัก แต่วัยรุ่นยุค 30 กว่าปีก่อนคงจะจินตนาการภาพในความทรงจำขึ้นมาได้ทันที โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของห้างนิวเวิลด์อย่าง “ลิฟต์แก้ว” ที่ใครไปเดินห้างก็ต้องอยากไปสัมผัสประสบการณ์สุดเก๋ในการไปขึ้นลิฟต์แก้วที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น

ห้างนิวเวิลด์เปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2526 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการก็ได้รับการตอบรับดีจนท่วมท้น ทางห้างจึงต่อเติมอาคารที่เดิมสูงแค่ 4 ชั้นเป็น 11 ชั้น ซึ่งเกินจากที่กฎหมายกำหนดจนเกิดการฟ้องร้องขึ้น สุดท้ายศาลตัดสินว่าห้างต้องรื้อถอนชั้นที่ต่อเติมเพิ่มออกทั้งหมด ซึ่งระหว่างดำเนินการรื้อถอนด้านบน ห้างชั้น 1-4 ก็ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเพราะอาคารที่กำลังรื้ออยู่นั้นเกิดถล่มลงไปที่ชั้นล่าง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและร้านค้าจำนวนมากเสียหาย จากนั้นห้างจึงถูกปิดตัวลงด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย “นิวเวิลด์” กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขานต่อกันมา จากจุดเริ่มต้นที่มาจากความหวังและความสุขสนุกสนานแต่สุดท้ายมาจบลงด้วยความเศร้า

 

กลายเป็นที่มาของ “วังมัจฉา” หลายชีวิตเติบโตภายใต้ซากปรักหักพัง

หลังจาก “นิวเวิลด์” เหลือเพียงความรกร้างว่างเปล่าและพื้นที่โถงกลางเปิดโล่ง ทำให้พอฝนตกลงมาเกิดน้ำขังภายในตัวอาคารกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายชั้นดี ที่สร้างปัญหากวนใจให้ชาวบ้านละแวกนั้น จึงเกิดไอเดียนำปลาไปปล่อยเพื่อกินลูกน้ำ หลังจากนั้นจึงได้ชื่อ “วังมัจฉา” เพราะเป็นที่แพร่พันธุ์ของปลาหลายสายพันธุ์ เคยติดอันดับในโลกออนไลน์เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวแบบอันซีนกลางกรุง จนทำให้มีคนแอบลักลอบเข้าไปให้อาหารปลารวมทั้งเป็นสถานที่ชื่นชอบของช่างภาพที่อยากเข้าไปเก็บภาพมุมหายากภายในห้าง พอมีคนแอบเข้าไปบ่อยครั้งเข้าจึงเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากห้างถูกปิดร้างมานาน สำนักงานเขตพระนครได้ประกาศสั่งปิดตึกร้างดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 และขนย้ายปลาออกปิดตำนานวังมัจฉาถาวร

บางลำพูของฉันและวันนั้นที่นิวเวิลด์

ไปมายัง ลองไปสิ นิวเวิลด์เปิดให้เข้าแล้ว” เสียงชาวบ้านย่านบางลำพูเชิญชวนกันไปชมนิทรรศการที่กำลังจัดขึ้นในขณะนี้  ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town นิทรรศการซึ่งตั้งต้นโดย ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ซึ่งสนใจการออกแบบร่วมกับย่านเมืองเก่า ชุมชนและหลงไหลในการสำรวจชีวิตผู้คน ซึ่งเธอคิดว่าความชอบเหล่านี้ถูกหล่อหลอมมาจากสมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

จากความบังเอิญต่อยอดเป็นความตั้งใจ

จุดตั้งต้นของโปรเจกต์นี้ เริ่มจากการไปเห็นรูปภายในห้างนิวเวิลด์ถูกโพสต์โดยเฟซบุ๊กของเพื่อนสมัยประถม ซึ่งเดิมสุพิชชามีความสนใจพื้นที่ตรงนี้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นอาคารร้างที่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญของเมืองและกล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่ชิ้นใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ในเมืองเก่า  “ด้วยความอยากรู้จึงทักไปถามเพื่อนว่า แกเข้าไปด้านในได้ยังไง เขาเอาปลาออกไปแล้ว เขาไม่เข้าไม่ใช่เหรอ เพื่อนก็เลยบอกว่า อ๋อ เราเป็นเจ้าของที่ดินเองแหละ อ้าวจริงๆแล้วมันคือที่ดินของเพื่อนเราเองหรือนี่ จากนั้นเราจึงพูดคุยกันเพื่อชวนมาช่วยกันคิดว่าจะฟื้นฟูอาคารได้อย่างไร เป็นไอเดียของการค่อยๆเปิดจากสิ่งที่ปิดมานาน ค่อยๆเริ่มจากเปิดความทรงจำให้กับคนในย่านก่อน”

สุพิชชาอธิบายต่อว่า “หากมองจากมุมมองของคนในย่านจะต่างจากความรู้สึกของคนนอกพื้นที่มาก โดยทั่วไปคนนอกพื้นที่จะมองว่านิวเวิลด์มีความคูล ความเท่ ลึกลับน่าค้นหา แต่ความทรงจำกับคนในย่านต่างออกไป เพราะพวกเขากลับย้อนถึงความผูกพันในอดีตกับห้างนิวเวิลด์ว่าเป็นที่ที่ได้เคยมาเดินเล่นกับครอบครัว มาดูคอนเสิร์ต มาเล่นรถบั๊มพ์ คือมันเป็นคนละชุดภาพจำกันเลย” สุพิชชาจึงต้องการเริ่มต้น โดยให้คนในย่านได้เข้ามาแลกมาเปลี่ยนผ่านโหลความทรงจำที่เคยสะสมไว้ จึงใช้นิทรรศการนี้เป็นตัวเชื่อมให้คนในย่านรู้สึกปลอดภัยที่จะเข้ามาก่อนคนนอก

ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 และเหตุผลด้านความปลอดภัยด้วย เป็นสาเหตุที่ทำให้นิทรรศการนี้ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะ แต่เปิดเฉพาะให้คนในย่านและคนนอกจำนวนไม่มากได้เข้าชมเท่านั้น ซึ่งความตั้งใจของเธอคือ “อยากให้การมาเจอกันครั้งนี้มีความหมายและให้คนที่มาได้นำไปเล่าต่อ”

อาจารย์หน่องกำลังเล่าเรื่องราวภายในนิทรรศการให้ผู้ร่วมงานฟัง

ร่วมงานกับเกสรเล็กๆเด็กบางลำพู

งานนิทรรศการครั้งนี้ ทำให้สุพิชชาได้มีโอกาสร่วมงานกับกลุ่ม “เกสรลำพู” หรือ “ไกด์เด็กบางลำพู” ชมรมของเยาวชนในชุมชนเองที่ร่วมใจกันสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนผ่านรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป ในนิทรรศการครั้งนี้ น้องๆหอบรอยยิ้มมาพร้อมความจริงใจผสมกับความใสซื่อแต่แน่นไปด้วยข้อมูลที่ต้องการเล่าขานเรื่องราวในบ้านของตัวเองให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับรู้โดยไม่อาศัยการท่องจำ แต่เพราะอยู่กับพื้นที่มาตลอดชีวิต

ผู้ชมนิทรรศการจึงสามารถเข้าถึงชุมชนได้ไม่ยากผ่านการนำเสนอของเด็กๆ นอกจากนี้น้องๆก็ยังทำของที่ระลึกมาขายมากมายเพื่อหารายได้เข้าชมรมอย่างเช่น สติ๊กเกอร์ พวงกุญแจ ตุ๊กตากระดาษและสมุดทำมือด้วย

ผลงานน้องๆกลุ่มเกสรบางลำพู

หลังจากเปิดให้เข้าชมนิทรรศการสุพิชชาพบว่า ชุมชนแห่งนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ถูกเปิดเผยและในขณะเดียวกันเธอเองกลับได้เรียนรู้จากคนในย่านที่มาเยี่ยมชมงาน เช่น บางคนเอาบัตรพนักงานของคุณแม่ หรือโล่พนักงานดีเด่นของนิวเวิลด์ในอดีตมาให้ชม ซึ่งในอนาคตเธอหวังว่าอาจมีการจัดงานลักษณะนี้ขึ้นอีกแต่ตอนนี้ เธอพูดไปหัวเราะไปว่า “ต้องขอกลับไปตั้งหลักก่อน” เนื่องจากงานได้รับความสนใจมากกว่าที่เธอคิดไว้หลายเท่า

ชุมชนได้แลกเปลี่ยน ทุกคนอยู่ได้ เติบโตร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

สุพิชชาเล่าว่าสิ่งที่ชอบที่สุดในการจัดนิทรรศการครั้งนี้คือการที่คนในชุมชนได้มาแลกเปลี่ยนกันเอง ซึ่งหลายอย่างผู้จัดงานเองก็ไม่เคยได้รู้มาก่อน หรืออาจจะรู้เพียงครึ่งเดียว แต่อีกครึ่งหนึ่งถูกเติมเต็มด้วยการมาแลกเปลี่ยนของคนในพื้นที่มากกว่าซึ่งเธอเองก็รู้สึกสนุกไปด้วย อย่างตอนที่เห็นเด็กๆในชุมชนกล้าแสดงออกแบบที่หากนึกย้อนกลับไปในอดีตเธอเองก็คงไม่กล้าทำในวัยนั้น

เมื่อถามว่าความสุขจากการทำงานกับชุมชนคืออะไร สุพิชตอบว่า เธอมีความสุขที่ได้เห็นภาพการกลับมาของผู้คนที่ช่วยกันแต่งเติมความทรงจำและต่อยอดให้พื้นที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง  ซึ่งในอนาคตพื้นที่แห่งนี้กำลังจะมีโครงการแบบมิกซ์ยูสที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอยู่ ซึ่งเจ้าของพื้นที่และคนในชุมชนก็ยังต้องอยู่ได้เช่นกัน “หากเทียบกับในอดีตพื้นที่ย่านเมืองเก่าก็เงียบเหงาไปเยอะเนื่องจากความเจริญห้างสรรพสินค้าต่างๆกระจายตัวไป กลุ่มราชการก็ย้ายออกจากเมืองเก่าไปเยอะ ความเป็นวิถีชีวิตก็ค่อนข้างหายไปมาก กลายเป็นพื้นที่ของนักท่องเที่ยวและกลุ่มทัวร์เข้ามาแทน ซึ่งพอมาเจอโควิด-19 อีกก็ยิ่งฉายชัดเจนว่าเมืองที่มีแต่นักท่องเที่ยว พอนักท่องเที่ยวหายไปแล้วมันก็จะรู้สึกเหงาๆ และเห็นภาพว่าพื้นที่ตรงไหนที่มีชีวิตจริงๆ”

ในฐานะของคนที่ทำงานด้านเมืองและหลงไหลกับเมืองเก่า เธออยากเห็นความสนุกสนานและการร่วมกันทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ คนในชุมชนและคนนอกชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้ “ไม่จำเป็นว่าต้องคงความเก่าแบบเดิมก็ได้ ถ้ามันใหม่แล้วคนในชุมชนมีรายได้ ทุกคนสะดวกสบายอยู่ได้อย่างมีความสุข ก็ใหม่ก็ได้แต่ขอให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ไปด้วยก็พอแล้ว” สุพิชชากล่าวทิ้งท้าย

บางส่วนของงานออกแบบแสงไฟ (Lighting installation)

ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ บางลำพู ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประชาคมบางลำพู และชมรมเกสรลำพู จัดนิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ในวันที่ 13 – 21 มิถุนายน 2563 ที่ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ บางลำพู ติดตามช่องทางการเผยแพร่นิทรรศการได้ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ที่เฟซบุ๊ก บางลำพู everyday

 

 

 

 

 

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า