Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ปี 2021 ‘ปีแห่งการเกิดปรากฏการณ์’ ในวงการธุรกิจโลก ทั้งการลาออกครั้งใหญ่ ไปจนถึงการที่มหาเศรษฐี 1 คนมีอิทธิพลต่อโลกธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม

ปี 2021 ยังเป็น ‘ปีแห่งการเกิดของใหม่’ ทั้งจักรวาลนฤมิต หรือเมตาเวิร์ส เกิดกระแสการพูดถึงสกุลเงินดิจิทัลในระดับโลกอย่างกว้างขวาง ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

นอกจากนั้น ปี 2021 และเป็น ‘ปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ’ โลกธุรกิจจีนเกิดการพลิกผันอย่างหนัก เมื่อรัฐบาลจีนลงมาเล่นงานอย่างจริงจัง

TODAY Bizview รวบรวม 5 ข่าวใหญ่ในวงการธุรกิจโลกแห่งปี 2021 เพื่อทบทวน เรียนรู้ และจับตากันต่อไปในอนาคต

กำเนิด Meta จุดกระแสจักรวาลนฤมิต ใครๆ ก็กลัวตกขบวน Metaverse

ข่าวใหญ่ในโลกธุรกิจแห่งปี 2021 คือการที่ Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ปรับภาพลักษณ์จากบริษัทโซเชียล มีเดีย เป็นบริษัทที่มุ่งหน้าสู่เมตาเวิร์ส (Metaverse)

ใจความสำคัญที่ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ บอกคือ เหตุผลของการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เป็นหมุดหมายของการพร้อมบุกเข้าสู่โลกใหม่ที่จะเป็นอนาคตของอินเทอร์เน็ต นั่นก็คือ ‘เมตาเวิร์ส’ นี่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง ถัดจากยุคของคอมพิวเตอร์ และมือถือ

โดยคำว่า  Meta ในภาษากรีกหมายถึง Beyond ที่แปลว่า “เหนือไปกว่า, ไกลไปกว่า” แสดงให้เห็นว่า บริษัทของเขายังมีอะไรให้ทำอีกมาก ไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดียที่อยู่บนหน้าจอมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่ง Meta คือความเป็นไปได้ที่มากกว่าสิ่งที่ Facebook เคยทำมา โลกในอนาคตจะไปไกลกว่าหน้าจอ เหนือกว่าเดิม เทคโนโลยีใหม่ๆ และบริการหลังจากนี้ของ Meta จะทลายข้อจำกัดด้านระยะทาง เพื่อให้ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น

การเปลี่ยนชื่อบริษัทเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า Facebook กำลังเจอมรสุมรุมเร้าหลายด้าน ทั้งถูกสอบสวนจากสภาสหรัฐฯ รวมถึงการที่อดีตพนักงานอย่าง ‘ฟรานเซส ฮาวเกน’ ออกมาแฉ พร้อมยืนยันว่า Facebook กำลังบั่นทอนประชาธิปไตย ทำร้ายจิตใจเด็ก ฯลฯ นักวิจารณ์จึงบอกว่า การเปลี่ยนชื่อบริษัทจึงเป็นความพยายามที่จะสลัดบ่วงเหล่านี้ชั่วคราว เพื่อทุ่มเทพลังงานไปทำสิ่งใหม่อย่างเมตาเวิร์ส

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ หลังการเปลี่ยนชื่อบริษัท กระแสเมตาเวิร์สส่งผลสะเทือนไปทุกวงการ ในโลกของภาษาไทยเองก็มีการบัญญัติคำใหม่ขึ้นมาว่า “จักรวาลนฤมิต” 

ในโลกธุรกิจ หลายแบรนด์กระโดดเข้ามาขอมีส่วนร่วมในเมตาเวิร์สกันอย่างสนุกสนาน เช่น 

-Nike ที่ประกาศร่วมมือกับ Roblox สร้าง Nikeland ที่เป็นโลกเสมือน พาผู้คนไปออกกำลังกายกันในจักรวาลนฤมิต

-Disney ที่แม้ว่าจะมีสวนสนุกใหญ่ระดับโลก ก็ได้ประกาศบุกสู่โลกเมตาเวิร์ส แต่ยังไม่มีรายละเอียดชัดๆ ออกมาให้เห็น

-Tinder ประกาศเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส จะให้ผู้คนนัดเดตแบบ 3 มิติด้วย Avatar เสมือนจริง 

-ส่วนของไทย แบรนด์ค้าปลีกที่ขยับตัวอย่างรวดเร็วคือ ‘สยามพิวรรธน์’ เจ้าของห้างพารากอน ที่ได้ประกาศเข้าสู่โลกจักรวาลนฤมิตด้วยการจะพัฒนา ‘แพลตฟอร์มลอยัลตี้โปรแกรมใหม่’ เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้ลูกค้า

[ ข่าวใหญ่นี้บอกอะไรเรา ]

เรื่องแรกคือ การเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงความพยายามในการหลีกหนีความผิดที่โซเชียล มีเดียในเครือของ Facebook ได้ก่อเอาไว้ในอดีต 

ถึงที่สุดแล้ว เรื่องทางกฎหมายยังคงดำเนินต่อไป แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อคุณเป็นทุนใหญ่ การจัดการกับความผิดของตัวเองในอดีตนั้น มีช่องทางให้หลบหลีกได้มากมาย

เรื่องที่สองคือ เมื่อแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลอย่าง Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อและปรับภารกิจ (mission) ไปสู่เมตาเวิร์ส

โลกธุรกิจจึงเกิดการปรับใหญ่อีกครั้ง หลายแบรนด์กลัวจะตกเทรนด์ จึงพากันออกแคมเปญ พร้อมก้าวเข้าสู่โลกจักรวาลนฤมิต (แม้ว่าหลายแบรนด์จะยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร และทำอะไรได้บ้างก็ตาม)

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปในปี 2022 คือ เมตาเวิร์สจะนำไปสู่โลกใหม่ทางธุรกิจได้อย่างไร หน้าตาเป็นแบบไหน และจะกระทบกับชีวิตของผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้อย่างไรบ้าง

กระแสการลาออกครั้งใหญ่ ตั้งแต่ย้ายงาน ย้ายคน จนถึงย้ายประเทศ

หนึ่งในเรื่องใหญ่ของปี 2021 คือปรากฏการณ์อภิมหาการลาออก หรือ The Great Resignation เมื่อคนทำงานทั่วโลกทยอยออกจากงาน เปลี่ยนงาน ย้ายงาน หลังสถานการณ์ดีขึ้น 

มีสถิติในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า นับแค่เมษายนของปี 2021 เพียงเดือนเดียว พบว่า มีคนลาออกจากงานทะลุ 4 ล้านคน นับเป็นยอดการลาออกที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนในประเทศอื่นๆ ก็มีกระแสในลักษณะเดียวกัน

โดยเหตุผลที่ผู้คนทั่วโลกลาออก เป็นเพราะโควิดทำให้วิถีการทำงานเปลี่ยนไป งานเกิดขึ้นจากที่ใดก็ได้ ไม่ใช่แค่ในออฟฟิศ ถ้าบริษัทไหนไม่ยืดหยุ่น พนักงานหลายคนก็พร้อมโบกมือลา 

แต่นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงปัญหาที่สะสมมานานอย่างภาวะหมดไฟ (burnout) สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน หลายคนอยากลาออกมานานแล้ว แต่ไม่ได้จังหวะที่ดี จึงใช้โอกาสนี้เพื่อเริ่มต้นเส้นทางชีวิตการทำงานใหม่

แต่ไม่จบแค่นั้น เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างเคียงมาด้วยในปี 2021 คือ ‘กระแสย้ายประเทศ’ 

ปี 2021 ในไทยเราเห็นชัดเจนว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องการจะย้ายประเทศ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ เราเห็นการตั้งกลุ่มใน Facebook และกระแส #ย้ายประเทศกันเถอะ ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะผ่านไป เพียง 4 วันแรก มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 7 แสนราย

มองออกไปนอกประเทศ ก็พบว่า หลายประเทศทั่วโลกออกโครงการดึงดูดคนเก่งๆ คนมีความสามารถ (Talent) โดยหลายแห่งประกาศชัดเลยว่า ต้องการจะแจกวีซ่าให้คนเก่งคนมีความสามารถเข้ามาทำงานและอาศัยถาวรในประเทศได้เลย เช่น 

-ญี่ปุ่น เปิดโครงการรับแรงงานต่างชาติ เข้ามาทำงานตั้งแต่ทักษะสูง ไปจนถึงงานบริการอย่างพยาบาล ภาคการเกษตร และการก่อสร้าง โดยระบุว่า จะสามารถอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้แบบถาวร รวมถึงเอาครอบครัวเข้ามาอยู่ในญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

-จีน มีแผนดึงดูดแรงงานทักษะสูง ฝีมือดี โดยทางการจะออกวีซ่าทำงานแบบพิเศษให้ มีสิทธิได้พำนักถาวรในจีน ใครเก่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จีนต้องการมาก เพราะนี่เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาชาติของจีน

-ออสเตรเลีย รัฐบาลออสเตรเลียเปิดโครงการที่ชื่อว่า Global Talent Independent Program หรือ GTIP เพื่อดึงดูดแรงงานฝีมือดี โดยต้องการตั้งแต่นักวิจัย นักพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยทางรัฐบาลระบุว่า จะออกวีซ่าให้แบบที่สามารถพำนักแบบถาวรในออสเตรเลียได้

-สิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ต้องการดึงดูดคนเก่ง เปิดโครงการ Tech.Pass โดยต้องการดึงดูดคนเก่งในด้านเทคโนโลยี สถิติ และการเงิน ถ้าเข้าไปทำได้ สิงคโปร์จะได้สิทธิ์อาศัยถาวร พาครอบครัวมาอยู่ด้วยได้

[ ข่าวใหญ่นี้บอกอะไรเรา ]

กระแสการลาออกจากงาน ย้ายงาน ย้ายคน ไปจนถึงย้ายประเทศ ถึงที่สุดแล้ว สะท้อนเรื่องหนึ่งที่สำคัญร่วมกันคือ ผู้คนในยุคนี้ได้ตั้งตั้งคำถามถึง ‘ชีวิตความเป็นอยู่’ ของตัวเองอย่างถึงแก่น 

ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองตัวเองเป็นพลเมืองโลก (Global citizen) สนใจชีวิตในมุมที่เรียกร้องสวัสดิการจากรัฐในฐานะพลเมือง ดังนั้น ประเทศที่ปรับตัวไว จึงพร้อมที่จะทลายกำแพงเดิมๆ ในอดีต ถ้าใครที่เป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ จะสำคัญอย่างมากในโลกเศรษฐกิจแห่งอนาคต ไม่แปลกที่เราจะเห็นหลายประเทศออกโครงการดึงดูดคนเก่งเข้าประเทศ

ส่วนในมุมของการทำงาน พนักงานก็เรียกร้องวิถีและรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองต่ออนาคตในการทำงาน (Future of work) ดังนั้น บริษัทที่ปรับตัวไว ถ้าเห็นกระแสแบบนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ เตรียมพร้อมสถานที่ทำงาน (workplace) ที่ตอบโจทย์ใหม่ๆ ยืดหยุ่น ให้อิสระ เพื่อดึงดูดคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วยนั่นเอง

ธุรกิจแดนมังกรลุกเป็นไฟ หลังรัฐบาล ‘จีน’ ไล่เชือด ‘นายทุน’

แม้ 2021 อาจเป็นปีทองสำหรับหลายธุรกิจ แต่ถ้าจะพูดถึงธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเหล่า ‘นายทุนใหญ่’ ในประเทศจีนแล้วล่ะก็ ปีนี้อาจไม่ใช่ปีที่หนทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่กลับเจอขวากหนามสารพัด โดยเฉพาะขวากหนามที่ ‘รัฐบาลจีน’

หลังบริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีและโรงเรียนกวดวิชา ถูกรัฐบาลไล่ทุบไล่เชือด สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ให้กับทั้งบริษัทและนักลงทุนทั่วโลก

แล้วทุนใหญ่รายไหนที่โดนบ้าง ลองมาดูกัน

-ตั้งแต่ปลายปี 2563 จีนสั่งระงับการ IPO ของ Ant Group บริษัทในเครืออาลีบาบา ที่หาก IPO สำเร็จจะเป็นการทุบสถิติ IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่าถึง 3.7 หมื่นล้านเหรียญ

-กระทั่งในเดือน เม.ย. 2564 อาลีบาบาของแจ็ค หม่า ก็ถูกสั่งปรับเป็นมูลค่าสูงถึง 2.8 พันล้านเหรียญ โดยเหตุผลที่ว่าบริษัทมีพฤติกรรมเหมือนผูกขาดการค้า ซึ่งทำเอาแจ็ก หม่า ผู้ที่มักออกสื่อเป็นประจำ กลับเก็บตัวเงียบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

-Tencent Music แอปพลิเคชันฟังเพลงอันดับ 1 ของจีน โดนรัฐบาลจีนปรับเรื่องผูกขาดลิขสิทธิ์ธุรกิจเพลง

-ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ก็ต้องพับแผน IPO ในสหรัฐฯ เช่นกัน เนื่องจากถูกรัฐบาลจีนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล

-Didi แอปเรียกรถอันดับ 1 ในประเทศ ถูกสั่งถอดแอปออกจากแอปสโตร์ โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าแอปดังกล่าวมีการรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นก็ถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจนต้องประกาศย้ายแผน IPO จากสหรัฐฯ มาฮ่องกงแทน

-โรงเรียนกวดวิชา ถูกกำหนดให้จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ไม่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือรับเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยให้เหตุผลว่าเด็กจีนเรียนหนักเกินไป และกังวลในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่

แต่อีกนัยหนึ่ง กลับเป็นการกำราบไม่ให้ธุรกิจที่กำลังกอบโกยเงินอย่างสนุกสนานเหล่านี้ไม่ให้ใหญ่โตและทรงอิทธิพลเกินไป

แล้วถ้าถามว่าการไล่ทุบธุรกิจนี้สร้างความเสียหายได้ขนาดไหน

ในช่วงเดือน ก.ค. มีการประมาณการว่า หากคิดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโดนรัฐบาลไล่บี้ คือการที่มูลค่าในตลาดของบริษัทใหญ่ลดลงกว่า 30% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

[ เปิดสาเหตุ ที่มาของการกำราบนายทุน ]

หากถามว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงเล่นยาแรง ไล่บี้เหล่าทุนใหญ่อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ มีสาเหตุหลักๆ หลายประการด้วยกัน

-จีนเพิ่งออกกฎใหม่ในการควบคุมบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งกฎที่ว่านั้นเน้นกำกับพฤติกรรมการผูกขาดทางการค้า และต่อต้านการครอบงำตลาดจากบริษัทใหญ่ๆ

-จีนกำลังมองว่า ดาต้า หรือ ข้อมูล กำลังเป็นทองคำใหม่ หรือเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตควบคู่ไปกับปัจจัยเดิม 4 อย่างที่อยู่ในนโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยมของประเทศ ได้แก่ ที่ดิน, แรงงาน, ทุน และเทคโนโลยี ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อควบคุมวิธีการเก็บและแชร์ข้อมูล

หรือพูดง่ายๆ ว่ารัฐบาลจีนหวงข้อมูล ทำให้ที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐบาลจีนเพ่งเล็งเป็นพิเศษไปที่บริษัทที่กำลังจะ IPO ในสหรัฐฯ คู่แข่งของจีนนั่นเอง

-และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ สี จิ้นผิง ต้องการลดอิทธิพลของเอกชน ที่เริ่มท้าทายอำนาจหลักของพรรคคอมมิวนิสต์มากเกินไป เนื่องจากรัฐบาลต้องการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจจีนเป็นหัวหอกแทนที่เอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมของรัฐ

[ ถ้าเป็นแบบนี้ บริษัทจีนอาจไม่น่าลงทุน สุดท้ายจะเป็นภัยกับตัวเอง ]

ยังคงต้องติดตามต่อไปว่าในอนาคต จีนจะเดินหน้าออกมาตรการที่เข้มงวดกับทุนใหญ่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า บริษัทเอกชนนั้นเป็นผู้สร้างรายได้ให้จีน 2 ใน 3 ของ GDP กุมอำนาจการจ้างแรงงาน 80% ของประเทศ 

ซึ่งการดำเนินการต่างๆ อย่างเข้มงวดตลอดที่ผ่านมา อย่างที่เห็นกันคือส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีจีนเสียหายรวมกันไปมหาศาล หุ้นบริษัทโรงเรียนกวดวิชาร่วงกราว

มากไปกว่านั้นคือ มาตรการดังกล่าวยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่อาจหยุดหรือถอนการลงทุน เพื่อเลี่ยงการแทรกแซงจากรัฐ นั่นเท่ากับว่า ตลาดจีนนั้นไม่น่าลงทุนอีกต่อไป

แต่ในขณะที่จีนกำลังมีเป้าหมายพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งยกระดับอุตสาหกรรม, พยายามก้าวขึ้นเป็นผู่นำนวัตกรรมโลก, การตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็น 0

ซึ่งหากยังไล่เชือดทุนใหญ่อยู่แบบนี้ ท้ายที่สุดก็เป็นไปได้ยากที่จะมีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาลงทุน และคงจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้นั่นเอง

ปีแห่ง ‘อีลอน มัสก์’ ผู้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้โลกธุรกิจ

เรียกได้ว่าเป็นปีของเขาจริงๆ สำหรับ ‘อีลอน มัสก์’ ซีอีโอบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla และธุรกิจอวกาศอย่าง SpaceX 

เพราะตั้งแต่ต้นปีจนถึงท้ายปี ชื่อของชายคนนี้ได้อยู่บนพื้นที่สื่อแบบไม่ว่างเว้น สาเหตุหลักๆ มาจากความเคลื่อนไหวของเขา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวิตเตอร์) ที่แต่ละครั้งเรียกได้ว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนให้โลกธุรกิจและการเงินอย่างมหาศาล

[ พ่อนักปั่นแห่งวงการ ‘คริปโทฯ’ ]

เริ่มตั้งแต่วงการคริปโทเคอร์เรนซี่ ที่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตลอดทั้งปีนี้ มัสก์ทวีตถึงคริปโทฯ หลายครั้ง และแต่ละครั้งก็ทำเอาราคาคริปโทฯ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งนักลงทุนคริปโทฯ ต้องมีน้ำโหและขอสาปส่งกับท่าทีที่เหมือนจะเป็น ‘นักปั่น’ ของมัสก์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เดือน ก.พ. มัสก์เปิดเผยว่า Tesla ลงทุน 1.5 พันล้านเหรียญในบิตคอยน์ ต่อมาในเดือน มี.ค. เขาประกาศให้ใช้บิตคอยน์ซื้อ Tesla ได้ ทำเอาราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นต่อเนื่อง

แต่แล้วในเดือน เม.ย. Tesla ขายบิตคอยน์ออกไปมูลค่า 272 ล้านเหรียญ และมากไปกว่านั้นคือ ในเดือน พ.ค. มัสก์กลับยกเลิกประกาศรับบิตคอยน์ซื้อ Tesla โดยอ้างเหตุผลเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ร่วงลง 13% ในวันนั้น

[ เมื่อคนมั่งมี ภาษีก็ต้องจ่าย ]

นอกจากเรื่องคริปโทฯ แล้ว อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเรื่อง ‘ความมั่งคั่ง’ ของอีลอนมัสก์ ที่ในปีนี้เขาขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สิน 3.04 แสนล้านเหรียญ รวยกว่ามหาเศรษฐีทุกคนที่เคยมีมา

ซึ่งปัจจัยหลักมาจากหุ้น Tesla ที่พุ่ง 12.6% หลังบริษัท Hertz ประกาศแผนซื้อรถยนต์ Tesla โมเดล 3 จำนวน 100,000 คัน มาใช้ในบริการให้เช่ารถยนต์ของบริษัท

แม้จะถือเป็นข่าวดีของมัสก์ แต่ประเด็นนี้ก็มาพร้อมกับการตั้งคำถามเรื่อง ‘การจ่ายภาษี’ หลังก่อนหน้านั้นมีรายงานระบุว่าเศรษฐีอเมริกันหลายคนซึ่งรวมถึงเขาด้วยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ทำให้นักการเมืองฝั่งเดโมแครตพยายามขับเคลื่อนและหนุนการแก้ไขกฎหมายเก็บภาษี

กระทั่งในเดือน พ.ย. เขาเปิดโพลถามคนในทวิตเตอร์ว่าควรขายหุ้น Tesla สัก 10% เพื่อจ่ายภาษีหรือไม่ (ซึ่งผลโหวตบอกว่าให้เขาขายหุ้น Tesla)

หลังจากนั้นเขาก็ทยอยขายหุ้น Tesla ต่อเนื่อง โดยมัสก์ประเมินว่าปีนี้เขาจะจ่ายภาษีราว 1.1 หมื่นล้านเหรียญ หรือราว 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นคนอเมริกันที่เสียภาษีมากที่สุดในปีนี้ และมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

นอกจากเรื่องภาษี ความรวยของเขายังมีประเด็นกับเรื่องการบริจาค หลังผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ว่าทรัพย์สิน 2% ของมัสก์ช่วยคนอดอยากหิวโหยทั้งโลกได้

จนมีการโต้ตอบกันไปมาบนทวิตเตอร์ ซึ่งมัสก์ได้ขอให้สหประชาชาติชี้แจงให้ละเอียดว่าจะช่วยอย่างไรได้บ้าง จากนั้นฝั่งสหประชาชาติก็ยื่นข้อเสนอขอเข้าพบเพื่ออธิบาย ตามมาด้วยโพสต์ลิงก์และไฟล์ข้อมูลการดำเนินงาน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตามมา

[ เรื่องนี้กำลังบอกอะไรกับเรา ]

ข่าวคราวทั้งหมดทั้งมวลของมัสก์ในปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเขานั้น ‘ทรงอิทธิพล’ แค่ไหน แถมยังเป็นบุคคลที่ใช้โซเชียลมีเดียได้ทรงพลังที่สุดคนหนึ่งก็ว่าได้ (แม้มัสก์จะเคยทวีตขำๆ ว่าเขาควรผันตัวจากนักธุรกิจไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์เต็มตัวดีหรือไม่) ขนาดที่นิตยสาร Time เองก็ยังประกาศให้เขาเป็นบุคคลแห่งปีประจำปีนี้

เพราะไม่เพียงแต่ในเรื่องการเงิน-การลงทุน นวัตกรรม ที่ผกผัน ปรับเปลี่ยน หมุนเวียนไปตามวิสัยทัศน์และข้อความสั้นๆ ที่เขาทวีต (แม้ไม่รู้แน่ชัดว่าเขาจะทำตามสิ่งที่ทวีตจริงหรือไม่ก็ตาม) แต่ข้อความสั้นๆ ของเขา ก็ยังมีผลต่อแนวคิดในการปรับเปลี่ยนกฎหมาย รวมไปถึงการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมด้วย

หรือพูดง่ายๆ ว่ามัสก์กำลังเป็น 1 ในผู้ที่ชี้นำ ‘เทรนด์’ และความเป็นไปของโลกได้

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ นอกจากยานยนต์ไฟฟ้า, อวกาศ, คริปโทฯ, ใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน, ฝังชิปในสมองเพื่อรักษาโรค มัสก์จะยังมีไอเดียล้ำๆ อะไรออกมาอีก

ส่วนโลกและนักลงทุนรายย่อยจะก้าวตามเทรนด์ที่เขาไปหรือไม่นั้น ท้ายที่สุดก็อาจหนีไม่พ้นคำว่า “ศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจ” นั่นเอง

ปีแห่งอุบัติการณ์ ‘คริปโทเคอร์เรนซี’

แม้จะมีการเทรดกันหลายปีแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ปีนี้น่าจะเป็นปีที่วงการ ‘คริปโทเคอร์เรนซี’ ถูกพูดถึงและมีความเคลื่อนไหวมากที่สุด จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘อุบัติการณ์’ หนึ่งก็ว่าได้

[ หลากธุรกิจ หลายประเทศ ยอมรับคริปโทฯ ]

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คริปโทเคอร์เรนซีอาจยังไม่ได้รับการยอมรับจากสากลมากนัก แต่ในปีนี้เชื่อว่าเราได้เห็นแล้วว่า สกุลเงินดิจิทัลนั้นได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น

เห็นได้จากการที่นักธุรกิจระดับโลก เช่น อีลอน มัสก์, แจ็ค ดอร์ซีย์ ฯลฯ ออกมาสนับสนุนคริปโทฯ ผ่านทวิตเตอร์ของพวกเขาอย่างชัดเจน

ขณะที่หลายธุรกิจประกาศให้สามารถนำคริปโทฯ มาใช้ซื้อหรือแลกเปลี่ยนสินค้าได้ รวมถึงรัฐบาลหลายประเทศก็มีท่าทีที่เป็นมิตรต่อคริปโทฯ มากขึ้น จนถึงขั้นที่ว่าบางประเทศกลายเป็น Bitcoin Nation ไปแล้ว เช่น เอลซัลวาดอร์

การได้รับการยอมรับมากขึ้นนี้เองส่งผลให้คนทั่วไปเองก็เชื่อมั่นในคริปโทฯ มากขึ้น เกิดนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะบรรดาคนรุ่นใหม่ มีแพลตฟอร์มซื้อขายรายใหม่ๆ เปิดตัวหรือเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปีนี้

ทั้งรูปแบบการลงทุนในโลกคริปโทฯ ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเช่นกัน เช่น การทำฟาร์ม DeFi, การเล่นเกมแบบ Play To Earn เป็นต้น

จนเรียกได้ว่า ระบบนิเวศของคริปโทฯ นั้นขยายตัวมากขึ้นมากแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับคริปโทเคอร์เรนซีอย่างยิ่ง เช่น ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ที่ออกมาระบุว่าบิตคอยน์จะไร้ค่าในอนาคต ส่วนในสหรัฐฯ แม้มีท่าทีเหมือนจะเป็นมิตรมากขึ้น แต่ก็พยายามออกกฎหมายมาควบคุม ส่วนแบงก์ชาติของไทยเองก็ประกาศว่าไม่สนับสนุน (แต่ก็ไม่ได้ห้าม) เนื่องจากกังวลในเรื่องของความเสี่ยง

แต่ที่ชัดที่สุดก็คือกรณีของรัฐบาลจีน ที่ในปีนี้สั่งกวาดล้างเหมืองขุดบิตคอยน์ครั้งใหญ่ จากประเด็นในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งยังประกาศแบนธุรกรรมคริปโทฯ อีกด้วย

[ ตลาดที่แสนอ่อนไหว ราคาผันผวนง่าย ]

นอกจากการเติบโตของระบบนิเวศคริปโทฯ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นในปีนี้คือ ‘ราคาอันแสนผันผวน’ ของคริปโทฯ ที่ขึ้นแรง และร่วงแรงเช่นเดียวกัน

โดยในปีนี้เงินสกุลหลักๆ อย่างบิตคอยน์ ทำราคาทุบสถิติ New High หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกในเดือน มี.ค. ที่พุ่งทะลุ 60,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก ก่อนจะโดนทุบหนักจนราคาร่วงลงมาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์ในช่วงเดือน พ.ค.

จากนั้นก็ขยับขึ้นๆ ลงๆ และมาทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 67,000 ดอลลาร์ในเดือน พ.ย. จากนั้นก็ร่วงลงต่อเนื่องจนปัจจุบัน (22 ธ.ค.) อยู่ที่ราว 49,000 ดอลลาร์ ซึ่งแต่ละครั้งก็มักมาจากกระแสข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

[ เรื่องนี้บอกอะไรกับเรา ]

หากลองประมวลดูข่าวคริปโทฯ ในปีนี้ ก็จะเห็นว่า

-เทรนด์คริปโทฯ มาแน่นอน ระบบนิเวศจะใหญ่ขึ้น และดูเหมือนจะยังไม่มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงเวลาอันใกล้นี้

-แม้กระแสคริปโทฯ จะดี แต่ถึงอย่างนั้น สกุลเงินหลักๆ อย่างเช่น บิตคอยน์ อีเทอเรียม มีแนวโน้มที่จะเป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ (Digital Asset) ที่คนถือครองเพื่อการลงทุน มากกว่าที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าแทนเงินเฟียต หรือเงินปกติที่เราใช้ซื้อของกันอยู่

-ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงเช่นกัน ด้วยความที่คริปโทฯ นั้นถูกออกแบบให้เป็นระบบการเงินที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคาร ตลาดซื้อขายไม่มีใครควบคุม ทำให้การลงทุนในคริปโทฯ ที่แม้ตามสถิติแล้วจะมีผลตอบแทนสูง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุน หรือเจออาชญากรรมแบบ Rug Pull ที่ปิดแพลตฟอร์ม เชิดเงินนักลงทุนหนี

-และด้วยกระแสที่แรงมาก เชื่อว่าในอนาคตหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศคงไม่อาจต้านทานได้ และจะต้องพยายามหาทางปรับตัว หรือออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคริปโทฯ ออกมาอย่างแน่นอน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า