Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 6 ต.ค. ที่ลานประติมากรรม 6 ตุลา ม.ธรรมศาสตร์ ในงานรำลึก 43 ปี 6 ตุลาคม 2519 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมและอดีต รมช.สาธารณสุข ผู้ร่วมผลักดัน 30 บาทรักษาทุกโรค กล่าวปาฐกถา “หยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป”

นพ.สุรพงษ์ รำลึกความทรงจำถึงเหตุการณ์เมื่อ 43 ปีก่อนว่า ตนเองในฐานะนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล วัย 19 ปี ได้เข้าร่วมการชุมนุม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ แต่ออกจากที่ชุมนุมกลับไปที่ ม.มหิดล ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม โดยไม่คิดว่าจะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ขึ้น

“คืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมออกจากที่ชุมนุมกลางสนามหญ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีภารกิจที่ต้องกลับมาทำที่ตึกสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนั้นบรรยากาศเริ่มคุกรุ่นแล้ว แต่ผมไม่สังหรณ์ใจว่า จะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ คิดเพียงว่า อาจมีความรุนแรงระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดปี 2519 แม้จะรู้สึกแปลกไปบ้างที่คราวนี้น้ำเสียงวิทยุยานเกราะช่างแข็งกร้าวและหนังสือพิมพ์ดาวสยามช่างปลุกปั่น แต่ด้วยความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา จึงคิดไปไม่ถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ชั่วโมงข้างหน้า”

หลังนอนค้างที่หอพักแพทย์รามาธิบดี เช้าตรู่ 6 ตุลาคม เขาถูกปลุกมารับข่าวร้ายจากเสียงตะโกนบอกเรื่องเหตุการณ์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เขารีบแต่งตัวขึ้นรถเมล์ไปที่สนามหลวงทันที เพื่อจะพบกับภาพที่เขาบอกว่า “ภาพที่จำฝังลึกลงไปสุดใจ ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล”

ภาพ : ภานุมาศ สงวนวงษ์ / Thai News Pix

“คนจำนวนนับร้อยคนมุงกันอยู่ริมสนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการวิ่งหลบวิถีกระสุน มีแต่กลิ่นไหม้ของยางรถยนต์ ซึ่งเมื่อผมเดินเข้าไปใกล้แล้วต้องเบือนหน้าหนี มีร่างของใครสองสามคนอยู่ที่กองยางรถยนต์นั้น  มองไปไกลอีกเล็กน้อย เห็นร่างคนถูกแขวนไว้ที่ต้นมะขาม และคนกลุ่มหนึ่งยังมุงดูกันอยู่ไม่ห่าง  ผมยืนอยู่สักพัก ก็รีบถอยออกมาจากตรงนั้น โดยไม่หันหลังกลับไปดูอีกเลย เวลา 15 นาทีกลางสนามหลวงในวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่ผมยังจำได้ ไม่เคยลืมจนถึงวันนี้”

คืนนั้นเขากลับบ้านที่ต่างจังหวัด เก็บตัวอยู่ในห้องเป็นเดือน กินข้าวไม่ลง คิดวนไปวนมา ข่าวสารถูกปิดกั้น สื่อต่างๆ มีแต่ข่าวการติดตามจับกุมผู้ชุมนุม และพบอาวุธและอุโมงค์ในธรรมศาสตร์

จนต้นเดือน พ.ย. มหาวิทยาลัยเปิดเรียน ด้วยบรรยากาศที่หม่นหมองซึมเซาไม่เหมือนเดิม นพ.สุรพงษ์ เล่าว่า เขาได้รับการติดต่อจากรุ่นพี่ว่าอยู่ในเมืองไม่ปลอดภัย ให้หลบเข้าไปในป่าด้วยกัน

หลังเตรียมตัวอยู่นับเดือน เมื่อถึงวันนัดหมายเขาเปลี่ยนใจ คำพูดของเพื่อนร่วมทางที่ไม่ได้ตำหนิเขา ทำให้เขามุ่งมั่นจะทำสิ่งที่ทำได้ในเมือง

“ผมเตรียมกาย เตรียมใจ เตรียมความคิด นับเดือนเพื่อให้พร้อมเสมอหากได้รับนัดหมาย ผมได้รับแจ้งว่า ให้ออกเดินทางไปพร้อมเพื่อนนักศึกษาแพทย์ชั้นเดียวกันอีก 1 คน และเมื่อกำหนดนัดหมายก็มาถึง คืนก่อนวันนัดหมาย ผมนอนไม่หลับ พลิกตัวไปมาตลอดเวลา ใจหนึ่งก็บอกตนเองว่า เราต้องเดินหน้าต่อไป จำภาพกลางสนามหลวงเช้าวันที่ 6 ตุลาไม่ได้หรือ อีกใจหนึ่งก็พะวงว่า เรากำลังตัดสินใจทิ้งครอบครัวไปโดยไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไร หรือจะได้กลับไหม ที่สำคัญคือ อาม่าซึ่งเลี้ยงผมที่เป็นหลานชายคนแรกอย่างถนอมรักมาตั้งแต่แบเบาะ อาม่าจะทำใจได้ไหม ถ้าอาม่าตรอมใจจนป่วย ผมคงไม่สามารถยกโทษให้ตนเองไปตลอดชีวิต”

“วันรุ่งขึ้นที่นัดพบกัน ผมก้มหน้าอย่างละอายใจ แล้วบอกเพื่อนว่า ผมตัดสินใจไม่ร่วมเดินทางไปกับเขาแล้ว ในใจของผมเตรียมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนอย่างยินยอม เหมือนคนขี้แพ้ ผิดคาด เขากลับบอกผมว่า ไม่เป็นไร เขาเข้าใจ แต่เมื่อตัดสินใจอยู่ในเมืองต่อไป ขออย่างเดียว ขอย่างเดียว อย่าลืมเพื่อนของเราที่เสียชีวิตไปในวันที่ 6 ตุลา”

นพ.สุรพงษ์ บอกว่า เขาบอกกับตัวเองในเวลานั้น ชีวิตและความฝันจากนี้ จะไม่ใช่ชีวิตแบบที่ใช้ชีวิตมา 19 ปีอีกต่อไป ความฝันจากนี้ ไม่ใช่ความฝันเดิมที่สวยใส และราบเรียบอีกต่อไปแล้ว

“จากนี้ ผมจะไม่ใช่เด็กหนุ่ม อ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสาคนเดิม
จากนี้ ผมจะไม่เพียงแค่เรียนหนังสือ แต่ผมจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำตามความฝัน อย่างมุ่งมั่น มีสติ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน
จากนี้ ผมจะหยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป”

หลังสถานการณ์คลี่คลายลง นพ.สุรพงษ์ ร่วมกับเพื่อนๆ ฟื้นฟูบทบาทสโมสรนักศึกษา เรียนและทำกิจกรรมควบคู่กันไป โดยมีเป้าหมายสำคัญ

“ความใฝ่ฝันของผม และผองเพื่อน และวีรชน 6 ตุลา คือ ทำอย่างไร ที่ทำให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง”

หลังเรียนจบ นพ.สุรพงษ์ ได้ออกไปเป็นแพทย์ชนบท กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ และวันหนึ่งเขาก็ได้มีบทบาทเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ผลักดัน ให้เพื่อนร่วมสังคมมีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน

6 มกราคม 2544 หลังการเลือกตั้งทั่วไป วันที่เขาบอกว่า “การสาธารณสุขไทย และการเมืองไทยก็เปลี่ยนไป ไม่กลับไปเหมือนเดิมได้อีก”

เมื่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้น “นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ”

ด้วยหลายปัจจัยองค์ประกอบ ทั้ง การเริ่มต้นของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, รัฐธรรมนูญ 2540 ที่นำไปสู่การเลือกตั้งแบบใหม่ และการมีรัฐบาลที่มีเสียงมากพอในการผลักดัน, บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข และพลังขององค์กรพัฒนาเอกชน

“ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ ดังนั้น ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ตนทำได้ ทำเรื่อยๆ ทำไม่หยุด ทำเสริมซึ่งกันและกัน
ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ความใฝ่ฝันย่อมเป็นจริง”

นพ.สุรพงษ์ กล่าวในปาฐกถาตอนหนึ่งว่า “ทุกครั้งที่ความทุกข์ ความเศร้า จะเข้ามาเกาะกุมจิตใจ ผมไม่เคยยอมแพ้ เพราะเมื่อผมนึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลา นึกถึงเพื่อนผู้ทิ้งชีวิตสบายๆในเมืองหลวงไปสู่ป่าเขา และบางคนไม่ได้กลับมา ผมจะลุกขึ้นแล้วบอกตนเองว่า “หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป  แต่การก้าวต่อไปทุกครั้ง ผมก็บอกกับตนเองว่า อย่าไร้เดียงสา ต้องมีสติกำกับเสมอ และมีปัญญารู้เท่าทัน”

เขาทิ้งท้ายปาฐกถาด้วยสุภาษิตของธิเบตที่ว่า “พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน”

“วันนี้เรายังลืมตาตื่น แต่พรุ่งนี้เราอาจหลับไปตลอดกาล
วันนี้จีงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างราวกับว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต
ไม่มีอะไรติดค้างใคร ไม่มีอะไรติดค้างในใจ
เพื่อวินาทีที่เราจะจากไป เราบอกกับตัวเองได้ว่า
ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฉันฝันแล้ว”

 

คลิกอ่าน อ่านปาฐกถาฉบับเต็ม

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า