SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer เจ้าชายแอนดรูว์ เชื้อพระวงศ์อังกฤษ ถูกสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ “ริบยศทางทหาร” และ ห้ามใช้ตำแหน่งเจ้าฟ้าชาย (His Royal Highness) เนื่องจากทำให้ราชวงศ์วินด์เซอร์เสื่อมเสียเกียรติอย่างรุนแรง จากคดีล่วงละเมิดทางเพศ เด็กสาวอายุไม่เกิน 18 ปี ที่สหรัฐอเมริกา

เรื่องราวเป็นอย่างไร ทำไมราชวงศ์อังกฤษต้องแสดงออกอย่างจริงจังขนาดนี้ workpointTODAY จะสรุปภาพรวมให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 14 ข้อ

1) สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ประมุขของสหราชอาณาจักร มีบุตร-ธิดา รวมทั้งหมด 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายชาร์ลส์, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ทั้ง 4 พระองค์ นับว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ระดับสูงของรางวงศ์วินด์เซอร์

2) เจ้าชายแอนดรูว์ มีสหายสนิทชื่อว่า เจฟฟรีย์ เอ็ปสตีน นักการเงินชาวสหรัฐอเมริกา โดยทั้งคู่คบหากันตั้งแต่ปี 1999 รู้จักกันมานาน 2 ทศวรรษ ในฉากหน้าเอ็ปสตีนเป็นนักธุรกิจที่มีฝีมือ แต่ในเบื้องหลัง เขามีรสนิยมทางเพศไม่เหมือนใคร ด้วยการชอบมีความสัมพันธ์กับเด็กสาวหน้าตาดีอายุไม่เกิน 18 ปี นอกจากนั้นยังมีพฤติการณ์ “จัดหา” เด็กสาวให้เหล่าเซเล็บในวงการต่างๆ ด้วย

3) เดือนธันวาคม 2014 เวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ หญิงสาวชาวสหรัฐฯ ได้แจ้งความที่ศาลในรัฐฟลอริด้า ว่าย้อนกลับไปในปี 2000 ตอนนั้นเธออายุ 17 ปี ถูกเอ็ปสตีนบังคับให้เป็น Sex Slave (ทาสกาม) ด้วยการให้ไปร่วมหลับนอนกับคนดังๆ หลายคน หนึ่งในนั้นคือ เจ้าชายแอนดรูว์ ที่เป็นสหายของเอ็ปสตีน โดยเธออ้างว่า มีเซ็กส์กับเจ้าชายแอนดรูว์ทั้งหมด 3 ครั้ง และอีก 1 ครั้งเป็นการมีเซ็กส์หมู่ โดยมีเจ้าชายแอนดรูว์รวมอยู่ด้วย หลักฐานที่เธอมีคือภาพถ่ายที่เจ้าชายแอนดรูว์กำลังโอบเอวเธออยู่อย่างสนิทสนม

เมื่อมีข่าวว่าราชวงศ์ทำเรื่องเสื่อมเสีย สื่อมวลชนจึงเสนอข่าวอย่างดุเดือด หนังสือพิมพ์เดลี่ เมล์ และ เดลี่ มิเรอร์ อุทิศพื้นที่ 5 หน้า เพื่อรายงานข่าวเจ้าชายแอนดรูว์โดยเฉพาะ ขณะที่หนังสือพิมพ์เดลี่ สตาร์ พาดหัวตัวโตว่า Royal Sex Crisis (วิกฤติเรื่องบนเตียงของราชวงศ์)

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเรื่องราวก็จบลง เมื่อศาลระบุว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเจ้าชายแอนดรูว์ เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นสาระ และอาจเอื้อมเบื้องสูง ก่อนจะไม่ถูกนำมาพิจารณาในชั้นศาล

4) แม้คดีของเวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ จะไม่คืบหน้า แต่สุดท้ายเอ็ปสตีนก็จนมุมอยู่ดีจากคดีอื่นๆ เนื่องจากมีหญิงสาวมากกว่า 10 คน ที่เปิดเผยว่าโดนล่วงละเมิดทางเพศจริง และเมื่อ FBI เข้าไปตรวจสอบคอมพิวเตอร์ของเอ็ปสตีน ก็ค้นเจอรูปเด็กผู้เยาว์เปลือยเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่มัดตัวเขาไว้ให้จนมุม

เมื่อไม่เหลือทางออกใดๆ เอ็ปสตีนตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอในห้องขัง ในวันที่ 10 สิงหาคม 2019 ปลิดชีพตัวเองด้วยวัย 66 ปี

5) หลังจากเอ็ปสตีนเสียชีวิต จึงมีคนหยิบประเด็นของ “เวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์” ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้เธอแต่งงานแล้ว และเปลี่ยนนามสกุลเป็น “เวอร์จิเนีย จุฟเฟร” ว่าในตอนนั้น ที่เธอกล่าวถึงเจ้าชายแอนดรูว์ เธออาจจะไม่ได้สร้างเรื่องขึ้นมาก็ได้

ในเวลาเดียวกัน ที่รัฐนิวยอร์ก เพิ่งออกกฎหมายใหม่ชื่อ The Child Victims Act โดยระบุว่าเยาวชนที่เคยถูกคุกคามทางเพศ สามารถฟ้องการกระทำย้อนหลังได้แม้จะหมดอายุความไปแล้ว ดังนั้นเวอร์จิเนีย จุฟเฟร จึงต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีของตัวเอง เธอตัดสินใจฟ้องศาลในนิวยอร์ก ว่าโดนเจ้าชายแอนดรูว์พรากผู้เยาว์ตอนเธออายุ 17

5) ในมุมของเจ้าชายแอนดรูว์ แม้จะมีภาพถ่ายที่เขาเอามือจับเอวของเวอร์จิเนีย แต่เจ้าตัวได้ออกมาปฏิเสธ ทางรายการ Newsnight ของช่อง BBC โดยยืนยันว่า จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเวอร์จิเนียคือใคร เขากล่าวว่า “มันไม่เคยเกิดอะไรขึ้นทั้งนั้น ผมสามารถยืนยันกับคุณได้ตรงนี้ว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น ผมจำไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าเคยพบกับสุภาพสตรีท่านนี้”

ส่วนในประเด็นที่ เจ้าชาย ไปสนิทสนมกับเจฟฟรีย์ แอปสตีน เป็นพิเศษนั้น เขาอธิบายว่า “เคยทบทวนเรื่องนี้มาแล้วหลายหน และได้ข้อสรุปในใจว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด แต่ ณ เวลานี้ ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องผิด”

6) เดวิด บอยส์ ทนายความของเวอร์จิเนีย กล่าวว่า “เราพยายามติดต่อเจ้าชายแอนดรูว์มา 5 ปีแล้ว เพื่อให้มาเจรจากันและให้เขาอธิบายในมุมของเขา ถ้าเราคุยกันได้แต่แรก เรื่องอาจจะไม่ถึงขนาดต้องขึ้นศาลขนาดนี้”

“จริงๆแล้ว เวอร์จิเนีย เป็นภรรยาและมีลูกแล้ว เธอต้องมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว การเข้าสู่กระบวนการศาลครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่เธอตัดสินใจง่ายๆ เพราะมันต้องกินเวลายาวนานแน่ และเธอรู้ดีว่า เจ้าชายแอนดรูว์ ต้องพยายามโจมตีทุกอย่างเพื่อลดความน่าเชื่อถือของเธอลง อย่างไรก็ตามเธอตั้งใจจะเดินหน้าให้ถึงที่สุด โดยตั้งมั่นว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเธอ จะไม่เกิดกับเด็กผู้หญิงคนอื่นอีกในอนาคต”

7) เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ เจ้าชายแอนดรูว์ ตัดสินใจหยุดปฏิบัติกรณียกิจในฐานะราชวงศ์เป็นการชั่วคราว เนื่องจากข่าวฉาวที่รุมเร้า ทั้งความสัมพันธ์กับเอ็ปสตีนและข่าวพรากผู้เยาว์ โดยสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ทำการอนุญาตให้หยุดงานได้ ขณะที่หนังสือพิมพ์เดลี่ เทเลกราฟ อ้างแหล่งข่าววงในของราชวงศ์ระบุว่า เจ้าชายชาร์ลส์ เห็นสมควรที่จะยึดยศศักดิ์ของเจ้าชายแอนดรูว์เอาไว้ ก่อนที่จะทำให้ราชวงศ์เสื่อมเสียไปมากกว่านี้

8 ) คดีของเจ้าชายแอนดรูว์ ต้องขึ้นศาลที่นิวยอร์ก เนื่องจากเวอร์จิเนียอ้างว่า เหตุการณ์ การมีเซ็กส์กันตอนที่เธอเป็นผู้เยาว์เกิดขึ้นที่นิวยอร์ก นั่นหมายความว่า ถ้ากระบวนการดำเนินไปตามปกติ เจ้าชายแอนดรูว์ต้องขึ้นไปนั่งไต่สวนในศาล เหมือนสามัญชนทั่วไป

ในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่เชื้อพระวงศ์อังกฤษ ต้องไปขึ้นศาลที่สหรัฐอเมริกาแบบนี้ กลุ่ม Royalist หลายคนมองว่า เป็นภาพที่ทำให้ราชวงศ์เสื่อมเสียพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

9) สำหรับทางออกของเรื่องนี้ รัสเซลล์ มายเยอร์ นักข่าวสายราชวงศ์ ของเดลี่ มิเรอร์ กล่าวว่ามี 3 ทาง ทางแรกคือเจ้าชายแอนดรูว์ ต้องไปสู้คดีตามปกติที่ศาลนิวยอร์ก ถ้าฝั่งผู้หญิงมีหลักฐานไม่หนักแน่นพอ เจ้าชายแอนดรูว์ก็สามารถชนะคดีได้

ทางที่สองคือ ทนายฝั่งเจ้าชายแอนดรูว์ จะชี้แจงต่อศาลว่าเวอร์จิเนียไม่มีสิทธิ์จะฟ้องได้แต่แรก เช่นให้เหตุผลว่า เวอร์จิเนียได้กลายเป็นพลเมืองออสเตรเลียไปแล้ว จึงไม่สามารถขึ้นศาลที่อเมริกาได้ คือทำให้ศาลได้เห็นว่า คดีนี้ไม่สมควรนำมาถูกพิจารณาไต่สวน

และทางที่ 3 คือการ “เจรจานอกศาล” โดยไกล่เกลี่ยเป็นตัวเงิน สื่ออังกฤษชี้ว่า เจ้าชายแอนดรูว์อาจต้องจ่ายเงินเป็นค่ายอมความสูงถึง 10 ล้านปอนด์ (454 ล้านบาท) ซึ่งถ้ามาในทางนี้ เจ้าชายแอนดรูว์อาจต้องยอมขาย Chalet Helora บ้านพักหรูในสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีมูลค่า 17 ล้านปอนด์ เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการเจรจายอมความ

10) การเจรจานอกศาลดูจะไม่เป็นผล เนื่องจากฝั่งเวอร์จิเนีย ยืนยันว่าจะผิดหรือถูกอย่างไรก็อยากให้จบที่ศาล และสุดท้ายวันที่ 13 มกราคม 2022 ผู้พิพากษาลูอิส เอ เคปลัน จากศาลแขวงนิวยอร์กใต้ รับเป็นคดีความ โดยจะมีกระบวนการไต่สวนจะเริ่มในระหว่างเดือนกันยายน 2022 ถึงเดือนธันวาคม 2022

11) นั่นแปลว่าเจ้าชายแอนดรูว์จะเหลือทางออกคือ ไปสู้คดีที่สหรัฐฯ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หรืออีกทางคือไม่ไปขึ้นศาล ปล่อยเบลอไปเลย แต่ก็จะไม่สามารถเข้าประเทศสหรัฐฯ ได้อีกเพราะจะกลายเป็นนักโทษที่มีคดีติดตัว

12) เมื่อศาลสหรัฐฯ รับฟ้องแล้ว ทำให้สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนทันที โดยแถลงการณ์จากพระราชวังบักกิ้งแฮมระบุว่า “ด้วยคำอนุญาตและการเห็นชอบจากสมเด็จพระราชินี ยศทางทหารและหน่วยงานในพระอุปถัมภ์ของดยุคแห่งยอร์ก จะถูกโอนกลับคืนสู่สมเด็จพระราชินี”

“ดยุคแห่งยอร์กจะไม่ปฏิบัติกรณียกิจใดๆ ทั้งสิ้น และจะเข้าสู่กระบวนการสู้คดีในฐานะประชาชนคนหนึ่ง”

ความหมายคือ จากนี้เจ้าชายแอนดรูว์จะถูกกันออกไปจากกรณียกิจต่างๆ เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์ และคำว่า “เจ้าฟ้าชาย” หรือ His Royal Highness ก็จะไม่ถูกใช้ในเอกสารทางการอีก จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

13) ในปี 2022 เป็นวาระการครองราชสมบัติครบ 70 ปี ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธ หรือที่เรียกว่า Platinum Jubilee สื่อในอังกฤษจึงเชื่อว่า ทางฝั่งราชวงศ์จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ดีที่สุด ลดคำครหาให้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง Take Action เรื่องเจ้าชายแอนดรูว์อย่างเด็ดขาด ว่าฝั่งราชวงศ์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ คนไหนทำให้ภาพลักษณ์เสื่อมเสีย ก็จะมีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ได้นิ่งเฉยลอยตัว

14) นี่คือความท้าทายครั้งสำคัญของราชวงศ์วินด์เซอร์ โดยฌอน คัฟแลน จากสำนักข่าวบีบีซี ใช้คำว่า Royal family under pressure หรือราชวงศ์ภายใต้แรงกดดัน โดยสิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ เมื่อหนึ่งในเชื้อพระวงศ์สร้างเรื่อง จนมีภาพลักษณ์เสื่อมเสียแบบนี้ ราชวงศ์จะฝ่าวิกฤติศรัทธานี้ไปได้อย่างไร ให้ครองใจประชาชนชาวอังกฤษเหมือนเดิม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า