Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อว่าด้วยเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) แล้วนั้น ที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนและเรียกร้องจากกลุ่มคนมากมายจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ เปลี่ยนแปลงขนมเดิมๆ รวมถึงยกระดับบรรทัดฐานแห่งความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคม 

โดยเฉพาะการเรียกร้องผลักดันให้เปิดพื้นที่และเวทีในการแสดงออกให้เพศหญิงได้แสดงความศักยภาพที่มีดีไม่แพ้ผู้ชายของตัวเองออกมา รวมถึงมีบทบาทที่สำคัญในหน้าที่ต่างๆ ให้มีความทัดเทียมกับเพศชาย

ด้วยผลจากการเรียกร้องเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมนี้ เราเองก็ได้เห็นเหล่าสุภาพสตรีมากความสามารถ ที่ก้าวขึ้นมารับบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น 

  • ‘แอนเจลา แมร์เคิล’ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงสุดแกร่งของเยอรมนี
  • ‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ นายกรัฐมนตรีหญิงขวัญใจคนรุ่นใหม่ของประเทศนิวซีแลนด์ ที่เพิ่งประกาศลาออกไปไมานาน
  • ‘กามาลา แฮร์ริส’ รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ที่เป็นเหมือนหมุดหมายว่า โลกได้มีพัฒนาการมากเพียงใด ในประเด็นของความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรี 

ตัดภาพมาที่ประเทศไทยของพวกเราเองก็ถือว่ามีพัฒนาการไม่น้อยเช่นกัน เรามีนักธุรกิจหญิง นายกรัฐมนตรีหญิง แคนดดิเดตนายกฯ หญิง รวมถึงผู้นำภาคประชาสังคมหญิงมากมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อดูที่องค์กรศูนย์กลางของประเทศอย่างองค์กรนิติบัญญัติ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกผู้บริหารประเทศ และออกกฎหมายออกมาบังคับใช้แก่ทุกคน สัดส่วน ส.ส.หญิง-ชายกลับอยู่ที่เพียง 75 ต่อ 15 % 

แสดงให้เห็นเลยว่าเมื่อมาถึงการตัดสินใจแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งประเทศไทยนั้น ผู้ชายยังคงมีสัดส่วนที่เหนือกว่าผู้หญิงอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ประชากรไทยมีสัดส่วนหญิงชายเกือบจะครึ่งต่อครึ่ง

TODAY ชวนสำรวจและเจาะลึกลงไปในโครงสร้างรัฐสภาจนถึงวัฒนธรรมไทยกันว่า เพราะเหตุใดจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรหญิงในประเทศไทยนั้น ถึงยังมีจำนวนที่น้อยมาก สวนทางกับกระแสของโลกอย่างสิ้นเชิง

ชุดความคิดที่ทำให้ผู้หญิงไทย “ไม่กล้า” ที่จะคลุกคลีกับการเมือง

สำหรับผู้หญิงในประเทศไทยหนึ่งในปัญหาสำคัญของมีบทบาทบนเวทีการเมืองนั้น คือทำให้ต้องพบเจอกับอุปสรรคทางกฎหมาย ที่ทำให้พวกเธอไม่สามารถเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองอย่างเท่าเทียม ถ้าเปรียบเหมือนเกมกระดาน ก็เหมือนกับหมากก็อยู่บนกระดานเดียวกันกับผู้ชาย แต่เส้นทางของการเข้าสู่สภานี้ กลับต้องการพลังงานและความมุมานะที่ต่างกันอยู่มากโข

อันที่จริงแล้ว ความไม่เท่าเทียมนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการทอยเต๋าครั้งแรก แค่ผู้หญิงจะนำตัวเองก้าวไปยังจุด “สตาร์ท” ว่าจะลงสมัครเข้าสู่โลกการเมืองก็ยังต้องคิดแล้วคิดอีก เหตุเพราะอุปสรรคด่านแรกที่พวกเธอต้องพบเจอก็คือค่านิยมและวัฒนธรรมทางสังคม ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเหล่าผู้หญิง จนท้ายที่สุดก็ต้องล้มเลิกความตั้งไป

เพราะเหตุใดถึงเป็นอย่างนั้น?

“ปัญหาที่ล้อมตัวเขาประการแรกที่สุดก็คือบทบาทที่เขาต้องทำ โดยเฉพาะบทบาทความเป็นแม่เป็นเมีย ดิฉันนึกถึงตอนที่อบต.เกิดขึ้นในประเทศไทยแรกๆ คุณไปนั่งฟัง ผู้หญิงเขาไม่มีคนเลี้ยงลูก ต้องไปรับลูก คุณประชุมเสร็จแล้วก็ต้องไปรับลูก แล้วถ้ารับลูกมาแล้วลูกฉันจะอยู่กับใคร” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในรายการของ TODAY

“คือปัญหาที่คุณนึกว่าเล็ก บทบาทแบบนี้ ซึ่งไม่ได้บอกว่าเขาถูกหรือผิด แต่คุณต้องคิดว่าความเป็นหญิงมันถูกนิยามอย่างหนึ่งปลูกฝังอย่างหนึ่งแล้วมันก็สร้างกำแพงล้อม ผู้หญิงหลายคนเขาจะไม่คิดถึงการเลือกตั้ง” นักวิชาการกล่าว

ช่างเป็นตลกร้ายเสียจริงที่ “ความเป็นแม่” ที่ถูกเชิดชูเสียเหลือเกินในเพศหญิง กลับกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่กำลังฉุดรั้งพวกเธอจากการมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับลูกของตัวเองได้ ในสังคมที่มีความคาดหวังให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่ หากไม่มีทุนทรัพย์หรือไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก การทำหน้าที่แม่ไปด้วยและต้องเข้าสู่เส้นทางการเมืองไปด้วยดูจะเป็นไปไม่ได้เลย 

นี่คือความจริงที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า เมื่อนำประเด็นของการเป็นพ่อแม่เข้ามาคำนึงแล้ว เพศชายดูจะเป็นฝ่ายได้เปรียบรวมถึงมีความเพรียกพร้อมคล่องตัวมากกว่าเพศหญิงอยู่หลายเท่าตัว

อย่างไรก็ดี “ทัศนคติและชุดความคิด” จากประชาชนเองก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของการเมืองที่ไม่ได้ถูกนำเสนอให้เป็นพื้นที่ของผู้หญิง หรือวัฒนธรรมบทบาทของสามี-ภรรยาซึ่งก็มีผลกระทบที่ทำให้ผู้หญิงนั้นยังกล้าแสดงออกทางการเมืองเท่าที่ควร

พรรณิการ์ วานิช อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ บอกว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ผู้หญิงไทยไม่อยากที่จะลงมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวก็คือ ชุดความคิดที่ภรรยาจะต้องไม่ทำตัวเกินหน้าเกินตาสามี  เธอเคยพยายามที่จะชักชวนผู้นำชุมชนหญิงคนหนึ่งมาร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ด้วย แต่เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจ เธอกลับ “เกรงใจสามี” จนสุดท้ายก็เลือกที่จะให้สามีเป็นผู้รับหน้าที่นั้นแทน

“เราเห็นว่ามีนักธุรกิจหรือนักวิชาการหรือผู้หญิงที่เป็นผู้นำชุมชน เวิร์คมาก อยากได้ ไปจีบเลย ไปถึงบ้านนั่งพับเพียบเรียบร้อยไปคุยกัน ปรากฏว่าผู้หญิงก็บอกว่า อยากลงมากเลยค่ะ แต่ขออนุญาตให้สามีลงแทน” อดีตผู้คัดเลือกผู้รับสมัครลงเลือกตั้งเป็นส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งปี 2562 กล่าว

“เพราะเป็นภรรยา เกรงใจสามี สามีอยากลงก็ให้สามีลงแทนดีกว่า ทั้งที่เราอยากได้ภรรยาเพราะว่าเป็นคนที่เก่งมาก มีเคสแบบนี้อยู่ซึ่งเป็นเคสต่างจังหวัด อาจจะเป็นที่สังคมตรงนั้นมีความเป็นอนุรักษนิยมสูงทำให้ภรรยาไม่อยากข้ามหน้าข้ามตาสามี” พรรณิการ์ วานิช กล่าวเสริม

ที่ผ่านมามีหญิงผู้ทรงอิทธิพลหลายคนที่เติบโตมาในครอบครัวการเมือง เป็น “เจ๊ใหญ่” ของบ้าน ทำงานพื้นที่ แต่พอถึงเวลาที่จะได้รับสปอดไลต์ทางการเมืองเมื่อใด พวกเธอกลับตัดสินใจไม่ลงสมัครเอง ตราบใดที่ยังมีสมาชิกชายในครอบครัวลงสมัครแทน

โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาได้ยกตัวอย่างกับผู้สื่อข่าว TODAY ไว้ว่า กรณีของ “เจ้าแม่” คนหนึ่งแห่งพื้นที่บ้านเพ ชื่อว่า ‘เจ๊กิมห่อ’ อรุณเวสสะเศรษฐ โดย ‘เจ๊กิมห่อ’ เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองเลย ไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้ง แต่เธอเลือกใช้กระบวนการการสะสมทุนทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อช่วยเหลือคนระยองทั้งจังหวัด จนได้รับการขนานนามเลยว่าเป็น “เจ้าแม่น้ำเค็ม” ‘เจ๊กิมห่อ’เป็นผู้หญิงแต่สามารถส่งน้องชายทุกคนได้เป็น ส.ส. และ ส.จ.

หรือในกรณีของ สมชาย คุณปลื้ม หรือ ‘กำนันเป๊าะ’ โอฬารกล่าวว่า ทุกคนรู้ว่ากำนันเป๊าะแห่งตระกูลคุณปลื้มนั้นเป็นผู้มากบารมีในบางแสน เราเห็นภาพลูกชายของกำนันเป๊าะทั้งหมดในเวทีการเมืองเช่น สนทยา คุณปลื้ม, อิทธิพล คุณปลื้ม, หรือณรงค์ชัย คุณปลื้ม แต่แท้จริงแล้ว ในการทำงานการเมืองของตระกูลคุณปลื้มทั้งหมดนั้น คนที่กุมธุรกิจในครอบครัวไว้ ดูแลธุรกิจของครอบครัวทั้งหมด และเป็น “ผู้มีบารมี” จริงๆ ก็คือคุณจีราภรณ์ คุณปลื้ม ลูกสาวเพียงคนเดียวของกำนันเป๊าะนั่นเอง

เมื่อมาวิเคราะห์และสังเกตดูให้ดีแล้ว จะพบว่าผู้หญิงไทยเองนั้นก็ไม่เคยห่างจากเวทีการเมืองมากเท่าไรนัก พวกเธอเองก็มีความสามารถและมีความเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสังคมและช่วยเหลือประชาชนมากมาย แต่แทนที่จะยืนอยู่ท่ามกลางแสงสว่าง พวกเธอเลือกที่จะ “ปิดทองหลังพระ” รันวงการจากข้างหลังเสียมากกว่า

แล้วทำไมผู้หญิงผู้ทรงอิทธิพลเหล่านี้ ถึงไม่ก้าวสู่เส้นทางการเมืองเสียเอง? 

“ความคาดหวังประชาชนที่มีต่อนักการเมือง มันมีมากกว่าอำนาจหน้าที่อย่างเดียว มันมีความคาดหวังในการดูแลชีวิตในส่วนอื่นด้วย เช่นเวลานักการเมืองออกไปหาเสียงออกไปพูดคุย ก็ต้องพบปะกินเหล้า อาจจะกินเหล้าอาจจะต้องมีพฤติกรรมบางอย่างที่มัน อาจจะยังไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วๆ ไป ถ้าผู้หญิงออกไป วงการสีเทาๆ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าในมิติวัฒนธรรมแบบนี้มันเลยทำให้ผู้หญิงที่จะออกมาเป็นนักการเมืองเต็มสมบูรณ์นั้นน้อย” โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาแสดงทรรศนะ

“แต่ถามว่าทำไมมี ถ้าไปดูในหลายๆ ครอบครัวที่ผมมีข้อมูลอยู่ ที่ผู้หญิงต้องออกเพราะว่าบุคลากรมันไม่มีแล้ว ส่วนหนึ่งมันมาจากการไม่มีบุคลากรที่เป็นผู้ชาย จึงจำเป็นต้องส่งพี่ส่งน้องผู้หญิงเข้าสู่การเมือง โดยที่มีตัวคุณพ่อเป็นคนรันงานการเมืองให้” เขาชี้

นอกจากนี้ “ต้นทุนชีวิต” ของผู้หญิงทุกคนเองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเลยว่าพวกเธอจะสามารถมีโอกาสก้าวเข้าสู่สนามการเมืองได้หรือไม่ ซึ่งด้วยตัวแปรสำคัญอย่างสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันนั้น ทำให้มุมมองวิชาการบางส่วนมองว่า หากผู้หญิงไม่มีต้นทุนเป็นครอบครัวนักการเมืองมาอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว เส้นทางสู่สภาของพวกเธอนั้นจะยิ่งยากแบบทวีคูณขึ้นไปอีก

และถ้าหากผู้หญิงคนไหนที่ก้าวข้ามค่านิยมของสังคมหรือครอบครัวมาได้ จนมาถึงขั้นตอนการลงสมัครจริงๆ แล้วละก็ โจทย์ท้าทายต่อไปที่พวกเธอก็คือ ต้องทำให้พรรคการเมืองเลือกให้เป็นแคนดิเดท ไม่ว่าจะเป็นส.ส.เขต หรือปาร์ตี้ลิสต์ 

เพราะด้วยภูมิทัศน์ของการเมืองไทยในปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองที่สังกัดมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางว่าจะมีผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากน้อยแค่ไหน แถมยังไม่นับเกมการเมืองแบบพรรคพวกและกลุ่มอิทธิพล ที่ทำให้แนวโน้มที่ผู้สมัครเป็นแคนดิเดทที่มาจากตระกูลทรงอำนาจจะได้รับตั๋วพิเศษก่อนใครเพื่อน

และหากเราลองมาดูสัดส่วนทางเพศของแต่ละพรรคที่ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคในปี 2565 ก็จะพบได้ดังนี้ 

พอมาได้เห็นตัวเลขตรงนี้แล้วจะสังเกตได้เลยว่าผู้ชายยังคงเป็นเพศที่มีอิทธิพลเหนือกว่าเพศหญิงอยู่มาก เพราะจาก 5 พรรคใหญ่นั้น ค่าเฉลี่ยของกรรมการบริหารพรรคหญิงอยู่ที่ 19.6% มีบางพรรคที่กรรมการบริหารพรรคมีผู้หญิงเพียง 2 รายจากจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 24 ราย ในขณะที่พรรคที่มีสัดส่วนมากที่สุดมีจำนวนกรรมการบริหารพรรคหญิงคิดเป็นเพียง 34% เท่านั้น

ตัวเลขอาจไม่ได้บอกทุกอย่าง เพราะการเลือกแคนดิเดท มีปัจจัยมากมาย เช่น ความเหมาะสมของตัวผู้สมัคร จังหวะของการงานอาชีพ ความมีชื่อเสียง แต่สัดส่วนผู้ชายที่มีตำแหน่งนำทางพรรคก็บอกสถานการณ์การคำนึงถึงบทบาททางเพศในพรรคมากน้อยเพียงใดได้เป็นอย่างดี

เมื่อเป็นอย่างนี้ คำถามต่อไปคือ ในสถานการณ์ที่แกนกลางของพรรคและผู้ที่เข้ามาในโลกการเมืองมีผู้ชายจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อจำนวนน้อยกว่าตั้งแต่ต้นทางอย่างนี้ ทำอย่างไรจะมีนักการเมืองผู้หญิงเข้ามามีบทบาทเป็นผู้สมัครได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายก็มีการยกประเด็นของการมี “โควตาสำหรับส.ส. หญิง” ว่าอาจจะเป็นทางออกของปัญหานี้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย

“ในบางที่ใช้ระบบโควตาโดยสมัครใจของพรรคการเมือง ยกตัวอย่างระบบบัญชีรายชื่อที่ใช้แบบ 1:1 หมายถึงรายชื่อเพศสภาพหญิง-ชาย อันนี้ก็เป็นลักษณะของโควตาโดยสมัครใจ ไม่ต้องกำหนดโดยรัฐธรรมนูญหรือกำหนดโดยกฎหมาย เป็นวิธีพรรคการเมืองสมัครใจ ซึ่งมันก็จะมีคำถามที่ตามมาว่า ที่คุณต้อง 1:1 แล้วคนที่จะเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อซึ่งในที่สุดคุณใช้เพศสภาพกำหนด ซึ่งยุ่งมากเรื่องนี้” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“สมัยพรรคอนาคตใหม่ เรื่องนี้เถียงกันเยอะมาก เราจะต้องมีโควตาสำหรับผู้สมัครหญิงหรือเปล่า? แล้วจำได้เลยว่าเป็นเรื่องที่เถียงกันแบบดุเดือด ดุเดือดมาก แล้วสุดท้ายเราก็จบลงด้วยสำหรับผู้สมัครเขต เราไม่ตั้งโควตา ถ้าเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ คนที่เป็นผู้ชายมีคุณสมบัติ มีอุดมการณ์แน่วแน่ชัดเจนกว่า แต่คุณต้องเลือกผู้หญิง เพียงเพราะเขาเป็นผู้หญิง พี่คิดว่าอันนี้ สำหรับผู้หญิงเองก็รู้สึกไม่แฟร์เหมือนกันใช่ไหม” พรรณิการ์ร์ วานิช อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่กล่าว แถมยังได้มีการเผยถึงจุดยืนส่วนตัวของเธอว่าไม่เชื่อเรื่องโควตา แต่โควตาที่คิดว่าจำเป็นจริงๆ เพื่อให้มี ส.ส. ที่มีหน้าตาหลากหลายและเป็นตัวแทนของคนในสังคมที่สุด อย่างโควตาสำหรับผู้ใช้แรงงาน ชาติพันธุ์ หรือผู้พิการ เพราะคนเหล่านี้มีอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นควรจะมีโควตาอยู่ใน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

สำรวจอุปสรรคระหว่างทางเป็น ส.ส หญิง ตั้งแต่หาเสียงสู่คูหา

ต่อมา เมื่อเราลองมาดูถึงสัดส่วนของผู้ที่ลงสมัครเลือกตั้งในปี 2562 นั้น ก็พบได้ว่าการเลือกตั้งปี 2562 มีผู้หญิงได้รับเลือกเป็นแคนดิเดทจากพรรคต่างๆ รวมแล้วประมาณ 22.3% ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด แต่สุดท้ายแล้วมีผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเพียง 16.2% เท่านั้น

สนามเลือกตั้งมีปัจจัยมากมายในการกำหนดชัยชนะเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะกับส.ส.เขต ซึ่งต่อให้เป็นในหมู่ผู้ลงสมัคร ส.ส.เพศชาย ความได้เปรียบเสียเปรียบก็แปรผันตาม ทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่เดิม เช่นในบางพื้นที่ ใครมีขุมพลังมากกว่าก็กุมชัยชนะได้มากกว่า 

แต่ในขณะเดียวกัน ในบางพื้นที่การนำเสนอดึงดูดคะแนนเสียงด้วยนโยบายของพรรค ก็สามารถเข้าถึงเส้นชัยได้เหมือนกัน แต่สำหรับผู้หญิงแล้ว เส้นทางเหล่านี้อาจจะต้องพบเจอกับอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากความพร้อมด้านเศรษฐกิจ “ภาระในหน้าที่ความเป็นแม่” และวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่คาดหวังให้ผู้แทนสมาชิกเขตเป็นคนบริหารจัดการเรื่องสีเทาต่างๆ อุปสรรคหนึ่งที่ผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัดที่สุดสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะคือ ความคาดหวังในเรื่องภาพลักษณ์ และการถูกโจมตีด้วยเหตุแห่งเพศ 

“เรื่องส่วนตัว ชีวิตครอบครัว ชู้สาว เสื้อผ้าหน้าผมต่างๆ เหล่านี้มันมีความพยายามโดยธรรมชาติของสังคมที่จะจับจ้อง จนรู้สึกว่าเอ๊ะ ชั้นมาทำงานการเมืองทำไมฉันต้องมาถูกตรวจสอบเรื่องที่ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย ผัวเป็นใคร พี่น้องยังไง ก็เป็นความเหนื่อยล้าทางจิตใจที่นักการเมืองหญิงต้องเผชิญมากกว่า รู้สึกเปลืองตัวมากกว่า คิดว่าเป็นสภาวะความเดือดร้อนของสังคมที่ผู้หญิงคิดว่าไม่คุ้มค่าที่จะเข้ามา” พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ แชร์ประสบการณ์ของตัวเอง เกี่ยวกับการโดนคอมเมนต์ในแง่มุมต่างๆ ที่ดูเหมือนจะให้ความสนใจไปที่รูปลักษณ์ภายนอกและชีวิตส่วนตัว มากกว่างานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ซึ่งนี่เองก็แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคหลักของเหล่านักการเมืองหญิง ที่ไม่ค่อยพบเห็นมากนักเมื่อพูดถึงนักการเมืองเพศชาย

ซึ่งอุปสรรคของเหล่านักการเมืองหญิงเหล่านี้ก็เรียกได้ว่าแทรกซึมอยู่ในทุกแง่มุมของสังคม แม้กระทั่งนักการเมืองหญิงที่เกิดมาในครอบครัวการเมืองที่มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรและความนิยมของครอบครัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ต้องเจอกับอุปสรรคในแบบของพวกเขาเองเช่นกัน โดยมีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายชี้ว่าการที่คนมองว่าพวกเธอไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเอง เพียงแค่รอความสำเร็จจากครอบครัว ซึ่งปัญหานี้ก็คือว่าเป็นปัญหาของการเหยียดเพศมุมกลับเช่นเดียวกัน 

คำวิจารณ์ที่แฝงไปด้วยการโจมตีเหล่านี้ เปรียบเสมือนหุบเหวที่ต้องก้าวข้ามผ่านไป นักการเมืองหญิงหลายรายบอกว่าแม้จะเป็นอุปสรรค แต่หากเป็นคนที่เข้ามาแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อะไรที่จะหยุดพวกเธอได้ 

“ก่อนหน้าจะเป็นน้ำคือคุณพ่อที่เป็น ส.ส. แล้วคุณพ่อเองนอกจากจะเป็นนักการเมืองก็คือเป็นแกนนำเสื้อแดง เพราะฉะนั้นภาพการเมืองของประชาชนที่มองในตอนนั้นก็คือมันค่อนข้างเข้มข้นตอนที่น้ำเข้ามาก็เลยมีหลายคนค่อนข้างจะไม่มั่นใจในความสามารถของเรา ด้วยความที่อายุยังไม่เยอะมากและเป็นผู้หญิงก็อาจจะมีคำถามในส่วนนี้เหมือนกัน” จิราพร สินธุไพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าว

“สุดท้ายน้ำเองใช้วิธีไปปราศรัยทุกหมู่บ้าน เขตน้ำมี 4 อำเภอ 30 ตำบล 384 หมู่บ้าน ไปปราศรัยทุกหมู่บ้านเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ แสดงความคิดของเราว่าเราจะสามารถต่อยอดความคิดประชาธิปไตยต่อจากคุณพ่อได้ไหม ขอถือไม่ต่อจากคุณพ่อได้ไหม จนชาวบ้านเริ่มมั่นใจในตัวเราสุดท้ายก็เลยเทคะแนนให้ได้มาเป็น ส.ส.” เธอเล่าต่อถึงประสบการณ์ในฐานะนักการเมืองหญิงที่มาจากครอบครัวการเมืองแบบเต็มตัว

แต่ก็ต้องยอมรับว่าความกดดันและเสียงวิจารณ์ทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นการบั่นทอนเหล่าผู้หญิงที่คิดจะลงสู่สนามการเมืองว่ามีอุปสรรคใดบ้างที่กำลังรอพวกเธออยู่บ้าง ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกว่า การลงสู่สนามการเมืองนั้นอาจจะเป็นอะไรที่ “เปลืองตัว” เกินไปแบบไม่จำเป็น

คำถามสำคัญอีกคำถามหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ทำไมเราต้องมี ส.ส.หญิง จำนวนมากกว่านี้? สภาที่มี ส.ส.หญิงจำนวนมากจะสามารถสร้างความแตกต่างที่ดีขึ้นมากแค่ไหนจากสภาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงถ้าเกิดขึ้นจริง มันจะได้ผลจริงหรือไม่?

หากเราดูตัวอย่างของต่างประเทศ ประเทศอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีสัดส่วน ส.ส.หญิงชายเท่าเทียมกันมากที่สุดได้แก่ รวันดา คิวบา นิการากัว เม็กซิโก ซึ่งเรียกได้ว่าประเทศเหล่านี้เองก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีเท่าไรนักเมื่อพูดถึงตัวแทนของความเท่าเทียมทางเพศ

ดังนั้น ณ จุดนี้ เราต้องกลับมาตั้งคำถาม ว่าเราต้องการ ส.ส.หญิงจำนวนมากเพื่ออะไรกันแน่?

สมมติฐานแรกเริ่มของทุกคนต่อประเด็นนี้ก็คือ มีความเชื่อว่าหากประเทศมี ส.ส.หญิงที่มากขึ้นแล้ว นโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้หญิงย่อมดีขึ้นโดยปริยาย แต่สมมติฐานเหล่านี้มันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงหรือไม่ 

โดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เองก็แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า เพศหญิงเองก็เหมือนมนุษย์ทั่วไป ผู้หญิงทุกคนเองก็มีความแตกต่างกันสูง เมื่อเข้าไปนั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ย่อมที่จะมีความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด 

เช่นเดียวกับ ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย เองก็เชื่อว่า สัดส่วนและจำนวนของ ส.ส. หญิงที่มากขึ้นนั้นก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องดูบริบททางสังคมด้วยว่า พอมีจำนวนที่มากขึ้นแล้วสังคมจะให้โอกาสและเปิดให้ผู้หญิงที่มาเป็นผู้แทนสามารถใช้ตัวอำนาจหรือสิ่งที่เขาได้รับมากแค่ไหนด้วย

“ดังนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว อีกคำถามที่เราต้องถาม คือ หากตัวเลขของส.ส.หญิงในสภา ไม่ได้นำมาสู่ความเท่าเทียมทางเพศเลยเสียทีเดียว แล้วเหตุใดเราต้องสนใจสัดส่วนเรื่องเพศอยู่?” เธอถามต่อ

“มองมาที่จำนวนประชากรในประเทศไทย ประเทศไทยมีสัดส่วนเป็นเพศหญิงประมาณ 51% กล่าวคือเพศหญิงนั้นมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย แม้จะแค่ 1% แต่ก็ถือว่าเป็นหลักล้านคน ถ้าจำนวนประชากรต่างกันระดับล้านคน แล้วเหตุใดเป็นตัวแทนของประชาชนในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยกลับไม่สะท้อนความแตกต่างหรืออัตราส่วนตรงนี้?” เธอชี้

“ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ครอบคลุมแค่เรื่องเพศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มันคือประเด็นที่ว่าเพราะเหตุใด เหล่าคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น “ตัวแทนของประชาชน” ถึงมีแค่กลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเพียงเท่านั้น ทั้งๆ ที่เฉดของกลุ่มคนในสังคมนั้นมีมากเกินกว่านั้นอย่างเห็นได้ชัด” ธิดารัตน์ ทิ้งท้าย

“หลายๆ คนอาจจะให้ความสำคัญเรื่องของการมีส.ส.ที่หลากหลาย มีผู้หญิง มี LGBT มีผู้ชายเข้าไปในสภามากขึ้น แน่นอนมันไม่ใช่ทั้งหมด เราไม่ได้ตัดสินว่าสังคมนี้มีประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมมากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นตัวชี้วัดหนึ่งเลยนะว่าถ้าคุณมีส.ส.ที่หลากหลาย มันหมายความว่าการเมืองคุณเปิด”

“การเมืองที่เปิดคือการเมืองที่ทุกคนสามารถเป็นส.ส.ได้ ไม่ว่าจะเชื้อชาติศาสนาเพศไหน วัยไหนก็เข้ามาเป็นส.ส.ได้ และนั่นคือตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย” พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่กล่าวสรุป

 

This article was produced under the Asian Network for Free Elections (Anfrel) Southeast Asia Media Fellowship on Election Reporting.

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า