Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ปฏิเสธได้ยากว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตยุคใหม่ แอปพลิเคชันต่างๆ เปิดความเป็นไปได้ให้กับผู้ใช้อย่างไม่สิ้นสุด  ทั้งการทำงาน เสพสื่อ ธุรกรรมทางการเงิน ไปถึงเรื่องพื้นฐานอย่างการกินและการเดินทาง ล้วนถูกผนึกเอาไว้ในอุปกรณ์ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทุกคนมีนี้

ในแง่นี้โทรศัพท์มือถือจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการติดต่อสื่อสารธรรมดาๆ  หากแต่เป็นตัวสะท้อน “พฤติกรรม” และ “ชีวิต” ของผู้คนในหลากหลายมิติด้วย

ทีมข่าว workpointTODAY ร่วมมือกับดีแทค (dtac) นำข้อมูลการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ของคนไทยผ่านเครือข่ายดีแทคในช่วงครึ่งปีแรกมาวิเคราะห์  เพื่อตอบคำถามว่าพฤติกรรมและวิถีชีวิตของคนไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จากวิกฤติโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้

จำนวนผู้ใช้ WeChat ลดลงอย่างสำคัญ สะท้อนนักท่องเที่ยวจีนหาย

วีแชท (WeChat) ถือเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันเพื่อการติดต่อสื่อสารที่เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับชาวจีน แอปฯ นี้พัฒนาโดยเทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน จากข้อมูลการใช้แอปฯ วีแชทผ่านเครือข่ายดีแทคในประเทศไทย พบว่าในช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งยังไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนผู้ใช้แอปฯ วีแชทผ่านเครือข่ายดีแทคในประเทศไทยมีสูงถึงเฉลี่ย 69,303 คน/วัน

จำนวนผู้ใช้แอปฯ วีแชทผ่านเครือข่ายดีแทคในไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ. เป็นต้นมา โดยลดลงเหลือ 39,098 คน/วันในเดือน ก.พ. และลดลงอีกเหลือประมาณ 34,147 คน/วันในเดือน มี.ค. สำหรับจำนวนผู้ใช้แอปฯ วีแชทผ่านเครือข่ายดีแทคที่ลดลงในช่วงนี้ คาดว่าเกิดจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก ซึ่งประเทศจีนเริ่มมีการปิดเมืองบางแห่งและจำกัดการเดินทางทางอากาศตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. เป็นต้นมา

และในช่วงเดือน เม.ย. จำนวนผู้ใช้แอปฯ วีแชทผ่านเครือข่ายดีแทคในไทยลดลงต่ำสุดเหลือเพียงเฉลี่ย 21,365 คน/วัน ทั้งนี้คาดว่าเกิดจากมาตรการของประเทศไทยเอง ที่เริ่มใช้มาตรการห้ามเที่ยวบินจากต่างประเทศบินมาลงจอดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. และนับจากนั้นจำนวนผู้ใช้แอปฯ วีแชทในประเทศไทยผ่านเครือข่ายดีแทคก็ทรงตัวอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 22,000 คน/วันเรื่อยมาจนถึงเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่มีข้อมูล ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจากประเทศจีนยังไม่กลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

โดยรวมแล้วจำนวนผู้ใช้แอปฯ วีแชทผ่านเครือข่ายดีแทคในปัจจุบันลดลงกว่า -69% เมื่อเทียบช่วงเดือน ม.ค. ที่ยังไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19

ประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom คนไทยใช้มากขึ้นกว่า 30 เท่า

ก่อนวิกฤติโควิด-19 คนไทยน้อยคนที่จะรู้จักแอปพลิเคชันประชุมออนไลน์อย่าง Zoom แต่หลังจากประเทศไทยต้องมีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรค การประชุมออนไลน์ก็กลายเป็นความจำเป็นสำหรับพนักงานออฟฟิศหลายคน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ใช้แอปพลิเคชันซูม (Zoom) ผ่านเครือข่ายดีแทคในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 33 เท่า

ในช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ. จะสังเกตได้ว่าจำนวนผู้ใช้ซูมในไทยผ่านเครือข่ายดีแทคมีจำนวนน้อยมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2,000 คน/วัน เท่านั้น แต่ในเดือน มี.ค. ซึ่งบริษัทเอกชนหลายแห่งเริ่มใช้มาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ การประชุมออนไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น และจำนวนผู้ใช้ซูมผ่านเครือข่ายดีแทคก็เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 12,000 คน/วันในเดือน มี.ค.

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน มี.ค. ทางรัฐบาลได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงมีการกำหนดเคอร์ฟิวในเวลาต่อมาไม่นาน ซึ่งยิ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ออฟฟิศหลายแห่งต้องให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และทำให้จำนวนผู้ใช้ซูมผ่านเครือข่ายดีแทคพุ่งขึ้นเป็นกว่า 49,230 คน/วัน ในเดือน เม.ย. หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากเดือนก่อนหน้า

แอปพลิเคชันซูมยังได้รับความนิยมในไทยเรื่อยมา โดยหลังจากผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้วจำนวนผู้ใช้ซูมผ่านเครือข่ายดีแทคในไทยก็ยังคงสูงอยู่ โดยสถิติล่าสุดในเดือน ก.ค. แสดงให้เห็นว่ายังคงมีผู้ใช้ซูมผ่านเครือข่ายดีแทคกว่าวันละ 45,352 คน/วัน หรือหากเทียบกับสถิติในเดือน ม.ค. ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว เท่ากับว่าคนไทยใช้ซูมผ่านเครือข่ายดีแทคเพิ่มขึ้นกว่า 33 เท่า

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของแอปพลิเคชันประชุมออนไลน์อย่างซูมนี้ ทำให้ผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือต้องเตรียมแผนรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากธรรมชาติของแอปฯ ประชุมออนไลน์แบบนี้คือการต้องใช้ทรัพยากรด้านการอัปโหลด (upload) มากกว่าแอปฯ อื่นๆ เช่น เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่เน้นด้านการดาวน์โหลด (download) มากกว่า โดยในภาพรวมโครงข่าย 4G ของดีแทคจะยังสามารถรองรับการให้บริการในลักษณะนี้ได้อย่างดี แต่ในพื้นที่ที่มีการใช้งานกระจุกตัวหนาแน่น ทางดีแทคก็ได้มีการเพิ่มสถานีฐานเพื่อรองรับการใช้งานในลักษณะนี้ที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะเพิ่มบริการสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-TDD เป็นจำนวนมากกว่า 20,000 สถานีฐาน ภายในปี 2563

พูดคุยผ่าน Google Hangouts ผู้ใช้เพิ่มขึ้น 6 เท่า

อีกหนึ่งแอปพลิเคชันประชุมออนไลน์ที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยคือ กูเกิล แฮงเอาท์ (Google Hangouts) โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีผู้ใข้แอปฯ นี้ผ่านเครือข่ายของดีแทคเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า โดยในเดือน ม.ค. จำนวนผู้ใช้แฮงเอาท์ผ่านเครือข่ายดีแทคเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8,000 คน/วัน เท่านั้น แต่ในเดือน ก.ค. จำนวนผู้ใช้พุ่งสูงเป็นประมาณ 6 หมื่นคนต่อวัน

และเช่นเดียวกับแอปฯ เพื่อการประชุมออนไลน์อื่นๆ การใช้กูเกิล แฮงเอาท์ต้องการทรัพยากรทางด้านอัปโหลด (upload) มากกว่าแอปพลิเคชันเพื่อความบันเทิงเช่นเน็ตฟลิกซ์หรือยูทูบ ในส่วนนี้แม้ว่าโครงข่าย 4G ของดีแทคยังสามารถรองรับการใช้งานในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ทางดีแทคก็ได้มีการมอนิเตอร์การใช้งานแอปฯ เหล่านี้ผ่านโครงข่ายดีแทคอยู่ตลอด และได้ทำการเพิ่มสถานีฐานเพื่อรองรับการใช้งานในบางพื้นที่ที่มีการใช้งานกระจุกตัวหนาแน่น

คนไทยใช้ Grab เพิ่มขึ้น แต่ลดลงช่วง เม.ย.- พ.ค. สะท้อนพฤติกรรมเดินทางน้อยช่วงล็อกดาวน์

ในภาพรวมคนไทยใช้แอปพลิเคชันแกร็บ (Grab) ผ่านเครื่อข่ายดีแทคเพิ่มขึ้นประมาณ 69% เมื่อเทียบจำนวนผู้ใช้ในเดือน ก.ค. กับเดือน ม.ค. โดยในเดือน ม.ค. จำนวนผู้ใช้แกร็บผ่านเครือข่ายดีแทคมีอยู่ประมาณ 200,000 คน/วัน แต่ในเดือน ก.ค. จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 350,000 คน/วัน

แม้แนวโน้มโดยรวมจำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชันแกร็บผ่านเครือข่ายดีแทคจะเพิ่มขึ้น แต่สังเกตได้ว่าในช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค. จำนวนผู้ใช้กลับลดลงจากช่วงเดือน มี.ค. โดยลดลงเฉลี่ยประมาณ 40,000 คน/วัน หรือลดลง -14% จากเดือน มี.ค. ทั้งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่เริ่มมีความเข้มข้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. เป็นต้นมา รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงต้นเดือน เม.ย. ทั้งหมดนี้น่าจะส่งผลให้จำนวนผู้ที่ต้องเดินทางสัญจรด้วยบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ ลดจำนวนลง และส่งผลกระทบถึงจำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชันแกร็บเพื่อการเดินทางให้ลดจำนวนลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นมา จำนวนผู้ใช้แกร็บในไทยผ่านเครือข่ายดีแทคก็เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเกือบ 300,000 คน/วัน และเพิ่มขึ้นอีกเป็นกว่า 350,000 คน/วันในช่วงเดือน ก.ค. สะท้อนว่าการเดินทางของคนเมืองน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ในขณะเดียวกันตัวเลขผู้ใช้แอปพลิเคชันแกร็บที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติถึง 69% นั้น น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างถาวร จากความเคยชินการสั่งอาหารเดลิเวอรี่บ่อยครั้งในช่วงล็อกดาวน์

การใช้งานที่เปลี่ยนไปจะต้องถูกนำมาวิเคระห์เพื่อมาวางแผนพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องสำหรับคนใช้งานในสถานการณ์ที่มีการใช้งานเพิ่มสูง และรวมถึงการขยายวงจรเชื่อมต่อ (Content Delivery Platform) เพื่อให้การใช้แอปฯ เหล่านี้เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

คนไทยใช้ LINE MAN เพิ่มช่วงโควิด สะท้อนตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่โต

ไลน์แมน (LINE MAN) ถือเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่คนไทยใช้มากขึ้นจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 โดยในช่วง 4 เดือนระหว่าง มี.ค.- ก.ค. ปีนี้ จำนวนผู้ใช้แอปฯ ไลน์แมนผ่านเครือข่ายดีแทคเพิ่มขึ้นประมาณ 22% จาก 863,743 คน/วันในช่วงเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 ล้านคน/วันตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา โดยเดือน พ.ค. เป็นเดือนที่มีผู้ใช้แอปฯ ไลน์แมนผ่านเครือข่ายดีแทคมากที่สุดกว่า 1,114,425 คน/วัน

ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ถือเป็นช่วงที่การล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 เข้มงวดที่สุดในประเทศไทย และน่าจะส่งผลให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องพึ่งพาการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ เนื่องจากถูกจำกัดให้ทำงานอยู่บ้าน สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้แอปฯ ไลน์แมนผ่านเครือข่ายดีแทคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นเดียวกัน

และแม้ว่าในแต่ละวันจะมีผู้ใช้แอปฯ ไลน์แมนผ่านเครือข่ายดีแทคมากกว่าล้านคน แต่เนื่องจากธรรมชาติของแอปฯ ลักษณะนี้ที่ไม่ต้องใช้ความจุทรัพยากรทางด้านโครงข่ายมากนัก กล่าวคือมีการดาวน์โหลดและอัปโหลดข้อมูลผ่านแอปฯ น้อย ไม่เหมือนกับแอปฯ อย่างเช่นเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) หรือซูม (Zoom) ที่มีการดาวน์โหลดและอัปโหลดข้อมูลผ่านแอปฯ มากกว่า กระนั้นทางดีแทคก็ยังคงทำงานร่วมกับผู้ให้บริการแอปฯ ในการมอนิเตอร์การใช้งาน และการปรับปรุงในส่วนขยายวงจรเชื่อมต่อ (Content Delivery Platform) เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละช่วงให้ต่อเนื่องอย่างมั่นใจ และราบรื่นที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า