Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สารคดี Back to the Titanic เผยมีอะไรเหลืออยู่ในเรือไททานิค และสรุปข้อมูลทำไมการขึ้นยานดำน้ำไททันถึงเป็น ‘ภารกิจพลีชีพ’ แต่แรก

 

ข่าวที่น่าระทึกและเศร้าใจที่สุดในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นข่าวยานดำน้ำไททันที่ขาดการติดต่อไประหว่างดำลงไปสำรวจเรือไททานิค โดยในนั้นมีทั้งนักสำรวจและมหาเศรษฐี อยู่ถึง 5 ชีวิต หลายคนในนั้นเคยท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมมามากมายและสร้างสถิติโลกมาแล้ว และเพิ่งได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตทั้งหมด

 

แต่คำถามที่หลายคนอาจจะยังคงสงสัยคือ ในซากเรือไททานิคยังมีอะไรเหลืออยู่หรือไม่ ทำไมผู้คนยังคลั่งไคล้แม้เวลาจะผ่านไปนับร้อยปีหลังจากที่เรือจม ถึงขนาดที่จะซื้อทัวร์ราคาสูงมากกว่า 8 ล้านบาทต่อคน เสี่ยงชีวิต เพื่อให้ได้มองเรือในตำนานผ่านหน้าต่างขนาด 12 นิ้ว และปัญหาอะไรทำให้การดำลงไปในยานดำน้ำไททันจึงนับได้ว่าเป็น ‘ภาพกิจพลีชีพ’ ตั้งแต่ก่อนจะเริ่ม

 

มีอะไรอยู่ในซากเรือไททานิค?

 

สารคดี Back to the Titanic ที่ออกอากาศเมื่อปี 2020 ซึ่งชมได้ทาง Disney+ Hotstar บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทีมสำรวจที่ต้องทำภารกิจขับเรือดำน้ำ The Limiting Factor เรือดำน้ำแบบมีคนขับลำแรกและลำเดียวของโลกที่ได้รับการรับรองว่าดำน้ำลึกถึง 11,000 เมตร ที่ติดกล้องความละเอียด 4K ตรวจสอบสภาพของซากเรือหลังจากท่ีไม่มีใครดำลงไปนานกว่า 15 ปี เพื่อนำเอาฟุตเทจมาทำภาพจำลองที่สมบูรณ์ที่สุดของไททานิค ซึ่งพวกเขาค้นพบว่า

  • สภาพหัวเรือและท้ายเรือที่ขาดออกจากกัน ทางหัวเรือนั้นแม้จะโทรมลงกว่าเดิม แต่ก็ยังมีความสมบูรณ์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยยังคงรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ไว้อย่างดี
  • ท้ายเรือนั้นผุพังลงไปมาก อาจจะเพราะกระแสน้ำที่พัดเชี่ยว โดยระหว่างการสำรวจก็มีกระแสน้ำที่เหมือนจะดูดเรือดำน้ำเข้าไปหาซากอีกด้วย
  • ห้องกัปตันที่เคยสภาพสมบูรณ์พอควร จนสามารถเห็นรายละเอียดอย่างเช่นอ่างอาบน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนบนเรือสุดหรูนี้ได้ ก็ผุพังลงจนแทบจะมองอ่างไม่เห็น 
  • มีสนิมเกาะย้อยลงมามากมายทั้งเรือ โดยนักนิเวศน์วิทยาจุลชีพที่ร่วมทริปไปด้วยให้ข้อมูลว่าสนิมเหล่านี้เกิดขึ้นจากแบคทีเรีย และในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเจริญเติบโดของมันได้ดีมันก็จะกินเนื้อเหล็กของเรือไปเรื่อย ๆ

 

แต่การถ่ายซากเรือจะเป็นประโยชน์อย่างไร คำตอบท่ีสารคดีให้เราได้ในทันทีคือการพิสูจน์เรื่องราวคำบอกจากผู้รอดว่าเป็นจริงแค่ไหน และการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การค้นพบเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ 

ภาพจากสารคดี: IMdb.com

ทำไมคนถึงหลงใหลไททานิคอยู่แม้เวลาจะผ่านไป

 

นับตั้งแต่ไททานิคอับปางลงในปี 1912 ก็มีทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ละคร เกม หรือแม้แต่พิพิธภัณธ์ถึง 7 แห่ง ที่สร้างขึ้นมาจากเรื่องราวของเรือสำราญนี้ บทความจาก Washington Post รวมรวมความเห็นจากหลายแหล่งที่ชี้ให้เห็นว่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมของเรือไททานิคเผยว่า เพราะเรื่องราวที่มีส่วนประกอบดั่งละครเรื่องหนึ่ง ทั้งความย้อนแย้งของการเป็นเรือที่ไม่มีวันจม แต่จมในครั้งแรกที่แล่น คนจากหลายชนชั้นมากมายที่อยู่ในเรือที่ต่างก็ประสบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายไม่ต่างกัน  และการจมที่กินเวลาพอ ๆ กับละครเวทีเชกสเปียร์สักเรื่องซึ่งมากพอที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์มากมายให้เล่าขาน

ทำให้แม้จะมีเหตุการณ์เรือล่มที่เลวร้ายมากกว่านี้ แต่ไททานิกก็ยังคงมีมนต์ขลังไม่รู้คลาย และแน่นอนว่าการที่ภาพยนตร์ไททานิกเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่สร้างแรงกระเพื่อมในวัฒนธรรมป๊อปในช่วงปลายยุค 90s เข้าสู่ 2000s ก็มีส่วนที่ทำให้ความนิยมยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

ในโลกที่อุตสหกรรมการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมกำลังเติบโต การท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ครั้งเดียวในชีวิต การชมซากเรือที่เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมท่ีโด่งดังที่สุดจึงมีความเย้ายวนไม่น้อย และแม้ราคาจะแพงสุดใจ แต่ถ้าเทียบกับราคาการนั่งเรือดำน้ำ The Limiting Factor ชมร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาซึ่งสนนราคา 750,000 ดอลลาร์ หรือ มากกว่า 26 ล้านบาทต่อเที่ยว การนั่งเรือ Titan อาจจะเป็นราคาที่ดูย่อมเยาลงมากทีเดียว

 

ปัญหาของยานดำน้ำไททันที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ต้น

 

แม้ยานดำน้ำไททันจะมีทริปโดยรวมแล้วสบความสำเร็จและปลอดภัยดีถึงสามทริป ระหว่างปี 2021 และ 2022 แต่ผู้ที่เคยขึ้นเรือก็ออกมาพูดถึงปัญหาขลุกขลักระหว่างการเดินทาง

 

  • นักข่าว CBS ที่เคยขึ้นยานดำน้ำไททันในปี 2022 ก็กล่าวว่า ในเอกสารที่พวกเขาต้องเซ็นระบุว่าไททันเป็น “ยานดำน้ำทดลองที่ไม่ได้รับการอนุมัติหรือรับรองโดยหน่วยงานกำกับดูแลใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย การบาดเจ็บทางอารมณ์หรือการเสียชีวิต” และในบทความของเขา เขาก็เล่าว่าเรือก็สัญญาณขาดอยู่สองชั่วโมงเช่นกัน แถมยังหลงทาง หาเรือไททานิคไม่เจอ 
  • ส่วนไมค์ รีสส์ นักเขียนและโชว์รันเนอร์ของ The Simpsons ที่เคยเดินทางด้วยยานไททันเมื่อปีที่แล้ว ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าเขาไปดำน้ำกับบริษัท OceanGate Expeditions มาสามครั้งแล้วและพวกเขามีช่วงที่สัญญาณการติดต่อขาดทุกครั้งรวมถึงตอนที่อยู่ในยานไททันด้วย
  • ด้านนักผจญภัยชาวเยอรมัน อาร์เธอร์ ลอยล์ ก็ให้สัมภาษณ์ว่าการดำน้ำไปกับยานไททันนั้นเป็นภารกิจพลีชีพ

 

ไททันเป็นยานดำน้ำที่สร้างขึ้มาด้วยวัสดุที่ต่างกับเรือดำน้ำทั่วไป ดร. นิโคไล รอเทอร์ดัม อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ กล่าวว่าโดยปกติแล้วเรือดำน้ำที่มีคนอยู่ข้างในได้จะเป็น “ไททาเนียมทรงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร” เพื่อต้านทานแรงดันมหาศาลใต้น้ำ แต่ตัวถังของไททันที่ล้อมรอบผู้โดยสารถูกสร้างขึ้นมาด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ ปิดท้ายด้วยไทเทเนียมและหน้าต่างเล็ก ๆ ที่ปลายด้านหนึ่ง ถึงคาร์บอนไฟเบอร์จะถูกกว่าไทเทเนียมและแข็งแรงมาก แต่โดยทั่วไปก็ยังไม่มีการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับการนำมาทำเรือดำน้ำ

บทความจาก USA Today ระบุว่า OceanGate เคยฟ้อง เดวิด ลอชริดจ์  อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลเพราะเขาเขียนรายงานว่ายานต้องการการทดสอบมากกว่านี้ และผู้โดยสารอาจจะได้รับอันตรายถ้าไปถึงจุดที่ลึกถึงขีดสุด เขากังวลเป็นพิเศษกับช่องหน้าต่างขนาด 12 นิ้วของเรือ โดยระบุว่าผู้ผลิตหน้าต่างนี้รับรองว่ามันจะใช้ได้ในความลึกแค่ 1,300 เมตรเท่านั้น แม้ว่า OceanGate ตั้งใจจะพาผู้โดยสารลงไปที่ความลึกถึง 4,000 เมตรก็ตาม นี่ยังไม่นับการที่มันถูกบังคับด้วยจอยสติ๊กเหมือนกับที่เราสามารถหาซื้อได้ทั่วไป

 

นอกจากนี้ หลายบทความพูดถึงความน่าเป็นห่วงของการเดินทางด้วยยานดำน้ำที่ไม่ได้ผ่านการรับรองหรือจัดประเภทอะไรเลย โดยบล็อกของบริษัทกล่าวว่ามันถูกออกแบบให้อยู่นอกกรอบของระบบที่มีอยู่ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้มีความปลอดภัยตามมาตราฐานของบริษัทที่ทำการรับรอง แต่ที่ไม่ได้ส่งให้บริษัทเหล่านั้นรับรองเพราะว่ามันเป็น ‘นวัตกรรม’ ใหม่ ซึ่งนวัตกรรมมักจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดิมที่มีอยู่ โดย สต็อคตัน รัช บ่นว่ากฎระเบียบนั้นเป็นสิ่งที่แม้จะเพิ่มความปลอดภัยแต่ก็ขัดขวางความก้าวหน้าของนวัตกรรมเช่นกัน

 

ล่าสุดมีการค้นพบเศษชิ้นส่วนที่ทำให้ยืนยันได้ว่าผู้โดยสารทั้ง 5 ที่อยู่ในยานได้เสียชีวิตลงแล้ว โดยมีการคาดว่าเกิดจากการระเบิดยุบตัวเข้า (implosion) แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีการระบุว่าเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุที่แท้จริงของโศกนาฏกรรมในตอนนี้

 

อ้างอิง

 

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า