Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทุกครั้งที่มีการเอ่ยถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีความรู้ มีหลักการ และเป็นชื่อที่คนพูดถึงเมื่อมีการนำเสนอถึงคนคุณภาพที่จะเข้ามาบริหารประเทศ หรือหน่วยงานภาครัฐ “บรรยง พงษ์พานิช” จะเป็นหนึ่งในชื่อที่อยู่ในสำรวจเสมอ

ท่ามกลางกระแสการพลิกโฉมการบินไทย workpointTODAY ได้มีโอกาสพูดคุยกับประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร แตะไปทั้งเรื่องหลักการทำธุรกิจ แนวความคิดที่บรรยงบอกว่าเขาภูมิใจในการทำธุรกิจ และชีวิตในวันนี้ที่มีความสุขจนเอาชีวิตผู้ยิ่งใหญ่คนไหนมาแลกก็ไม่ยอม

“อ้วนได้โดยไม่ต้องเหี้ย”

“อ้วนได้โดยไม่ต้องเหี้ย” เป็นเรื่องราวเล่าขานต่อๆ กันมา กับหลักการที่ครั้งหนึ่งเคยแปะไว้ข้างฝาของห้องประชุมที่คุยกันถึงมานิเฟสโต หรือเจตน์จำนงในการทำธุรกิจ

บรรยง เล่าถึงที่มาที่ไปโดยบอกว่าเขาพยายามทำ principles center organization ในกลุ่มบริษัทของภัทร ซึ่ง principles center organization มาจากการอ่านหนังสือชื่อว่า Principled-Centered Leadership ของ สตีเวน โควี่ (Stephen R.Covey) ที่องค์กรหนึ่งอยากจะให้แก่น หลักการ แก่นสารเป็นผู้นำองค์กรไม่ตัวคน เพราะคนไม่นิ่ง

ในขณะที่ “principles” หรือ “หลักการ” ก็สามารถเปลี่ยนได้ แต่ต้องมีเหตุผล กลุ่มธุรกิจภัทรพยายามสร้างแก่น หนึ่งในหลักการของเรา คือ “อ้วนได้โดยไม่ต้องเหี้ย” เพราะว่า พวกเราทำงานในตลาดทุน ตลาดหุ้น ที่มีประโยชน์มากกับระบบเศรษฐกิจ แต่พฤติกรรมนั้นมีหลายแง่ หลายมุมมอง มีการหลอกลวง เช่น ปั่นหุ้น แต่งบัญชี ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีเพื่อเอาเงิน แต่เราบอกว่าเราจะไม่ทำพวกนั้น เราจะพัฒนาตัวเองเพื่อแก่นสารของตลาดทุน เรามาสร้างเนื้อสร้างตัวไม่ได้ทำการกุศล แต่เราไม่จำเป็นต้องประพฤติในสิ่งไม่ดี ต่อให้ไม่ถูกจับ ทุกคนจะต้องมีทัศนคตินี้เป็นทัศนคติแรก เพราะถ้าไม่มี เราจะบอกว่าอย่ามาอยู่กับเราเลย เพราะคุณจะกลายเป็นคนแปลก

ผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน

ผู้ใหญ่ไทยชอบพูดว่า ให้แยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมออกจาก ผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วเอาผลประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว บรรยง บอกว่า เป็นคำพูดที่ดูดีมาแต่ทำได้หรือไม่ ซึ่งเขายอมรับว่าทำไม่ได้ แต่สามารถสร้างประโยชน์ให้ตัวเราพร้อมสร้างประโยชน์ให้สังคมได้

“เรายอมรับว่าทำไม่ได้ สิ่งที่เราทำคือหล่อหลอมไม่ใช่แยกแยะ เอาประโยชน์เรากับประโยชน์ของส่วนรวม หมู่คณะ ไปจนถึงประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์ของมนุษยชาติไปในทางเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจว่า ตลาดทุนมีไว้ทำไม มีไว้เพื่อรวบรวมจัดสรรทรัพยากรให้มีไว้ใช้อย่างมีประโยชน์สูงสุด ดังนั้นวิธีทำธุรกิจของเราคือ จะทำอย่างไรให้ตลาดทุนนี้เป็นตลาดทุนที่ดี รวบรวมทรัพยากรให้ได้พอเพียง ถูกนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คนที่ควรได้ได้ไป แล้วเขาก็ได้ประโยชน์เราก็ได้ประโยชน์… เราทำธุรกิจภายใต้พื้นฐานนี้ คือทำให้ตัวเราดี ลูกค้าดีในระยะยาว และตลาดทุนก็ดีไปด้วย เป็นหลักง่ายๆ แต่คนมักจะมองข้าม มักจะกระโดดทำเงินอย่างเดียว เราก็ทำตัวของเราอย่างนี้มา แล้วพบว่ามันยั่งยืน คำว่ายั่งยืนมันจะตามมาเอง ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เราทำ ทำให้มันดี คือหลักง่ายๆ ของพวกเรา”

เหนื่อยกว่าคู่แข่งแต่ยืนระยะได้นานกว่า

“มันเหนื่อยกว่าหน่อย แต่ว่าผลมันก็ยั่งยืนและยาวกว่าและในที่สุดถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) อื่นๆ เขาเข้าใจ เช่นลูกค้า สมมุติจะเอาหุ้นเข้าตลาดแล้วเราบอกว่าจะทำอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นจะต้องมีการกำกับดูแลกิจการ (Governance) ที่ดีจะไปไซ่ฟอน หลอกลวงนักลงทุน คุณจะหลอกได้ครั้งเดียว แล้วหลังจากนั้นคุณก็พัง ถ้าคุณมีทัศนคติอย่างนั้นต้องไปเลือกคนอื่นแล้ว เขาจะไม่ใช้หรอก เขาจะรู้ตั้งแต่ต้นว่าไม่ควรจะใช้บริษัทซื่อบื้อบริษัทนี้ เราก็ทำตามตำราไป แต่ถ้าอยากยั่งยืนระยะยาว ใช้เรา เราก็จะให้บริการ งานอาจจะหนักกว่าคนอื่นเขา แต่ผลก็ชัดเจน ภัทร เราเป็นบริษัทชั้นนำมา 20-30 ปี ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในธุรกิจหลักทรัพย์ ”

บรรยง บอกว่า สิ่งที่ทำให้ภูมิใจจากการทำธุรกิจ คือการที่สามารถนำเงินจากต่างประเทศ อย่างน้อยๆ 2 ล้านล้านบาทเข้ามาลงทุนในไทย ที่หลายคนอาจมองว่า เราเป็นคนเอาต่างชาติมายึดเศรษฐกิจไทย แต่มองคนละมุมเลย เราคิดว่าในเมื่อทรัพยากรของเราเองมีไม่เพียงพอ เราก็ต้องเอามาจากคนอื่นแล้วเงินที่เราเอาเข้ามา เราสามารถพูดได้ว่า “เงินคุณภาพ” คือเงินที่มาพร้อมกับความรู้ความเข้าใจ ความคาดหวัง ความกดดัน ให้บริษัทไทยต้องพัฒนาทั้งหลักการกำกับดูแลกิจการ ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี ทำให้เกิดการพัฒนาในวงกว้างไม่ใช่เงินอย่างเดียว

คำว่า “คุณภาพ” วันนี้มีความหมายมาก ขอโทษนะ ผมไม่ได้ดูถูกนักลงทุนไทย ที่เดี๋ยวนี้ใครๆ บอกว่า เรียนจบไม่ต้องทำงานออกมาเป็นนักลงทุน ผมถามว่าคุณจะมีคุณภาพพอที่จะเข้าใจไหมว่าต้องกดให้บริษัทที่คุณลงทุนเขามีประสิทธิภาพได้อย่างไร มันเป็นกลไกตลาด ผมระดมทุนในตลาดหุ้นให้บริษัทใหญ่ในตลาดแรกมากกว่า 1 ล้านล้านบาท รับรองว่ามากกว่า บริษัทที่สองหลายเท่าตัว ซึ่งเราก็ได้เงิน และได้ความภูมิใจว่าเงินเหล่านี้ยิ่งเป็นเงินที่มีคุณภาพ มันจะทำให้เศรษฐกิจดี มีการลงทุน มีการจ้างงาน

เคยทำ M&A (Merger and Acquisition) “ควบรวบกิจการ” มากกว่าล้านล้านบาท หลายคนอาจมองว่า M&A ไม่ดีเป็น “ฮุบ” กิจการ แต่โดยทฤษฎีแล้ว M&A ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ โดยกลไกตลาดจะทำให้ทรัพยากรตกไปอยู่ในมือของคนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้งานได้ดีที่สุด

ผมก็ถูกโจมตีนะ คุณเอาโรงพยาบาลกรุงเทพควบรวมกับโรงพยาบาลพญาไท ทำให้เกิดการขึ้นราคา มีการวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ คนรวยเดือดร้อนแต่ผมจะอธิบาย นั่นไม่ใช่หน้าที่ผม นั่นเป็นหน้าที่ของกรรมการแข่งขันทางการค้าที่เขาจะต้องมาตรวจสอบผม ถ้าเขาไม่อนุญาตผมก็ทำไม่ได้ ผมก็มีหน้าที่ชี้แจงกลไกตลาด

ประเทศไทยชอบสับสนระหว่าง กลไก ระเบียบ กฎ กับจิตสำนึก เราชอบเรียกร้องให้คนมีจิตสำนึก สำนึกถึงส่วนรวมมันจับต้องยากมาก แล้วแต่ละคน ก็จะมีเหตุผลต่างๆ นานา มีข้อยกเว้นให้ตัวเอง ต่างๆ นานา การสร้างระบบ กลไกพวกนี้เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอดส่งเสริมให้มี แต่เราก็ทำธุรกิจ-ภายใต้กรอบอันนั้น

คำครหาแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการขายชาติ

“บริษัทใหญ่ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเราเป็นคนเอาเข้าตลาดทั้งหมด แต่ขอโทษผมคิดอีกอย่าง ทำไปด้วยความภูมิใจว่าได้สร้างประโยชน์มากมายดีกว่าไม่แปรเยอะแยะ มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีตลาดเข้าไปกดดัน ทำให้การรั่วไหลก็น้อยลง เพราะตลาดเฝ้ามอง ถ้าไม่งั้นก็นั่งรอ ป.ป.ช., ส.ต.ง. ซึ่งไม่รู้ว่าว่างเมื่อไหร่ ไม่รู้มีใครสั่งหรือเปล่า แต่เราใช้ตลาด เราก็พร้อมถก ผมถูกเอ็นจีโอตราหน้าว่าเป็นพวกขายชาติ แต่เราก็เถียงกันได้ครับ คือสังคมที่ดีต้องเปิดกว้างถกเถียง รับฟังกันไม่ต้องเห็นด้วยทั้งหมด”

เผยเคล็ดลับนำพา “ภัทร” ผ่านวิกฤติโควิด-19

วิกฤติโควิด-19 คราวนี้ มีลักษณะเฉพาะมันเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแน่นอนที่สืบเนื่องจากโควิด แต่ตัวโควิดไม่ทำให้เกิดวิกฤติ คนที่สั่งให้เกิดวิกฤติคือรัฐบาล ไม่ได้บอกว่ามาตรการไม่ดีนะ เห็นด้วยเพราะรัฐบาลตัดสินใจเลือกสาธารณสุขก่อน เลือกอย่างเข้มข้น

“ดี ผมชอบ โดยเฉพาะคนอายุมาก กลุ่มเสี่ยงอย่างผม แต่หนีไม่พ้น วิกฤติครั้งนี้ต้องบอกว่า รัฐบาลทำไม่ได้บอกว่าไม่ดี คนเราเจอทางสองแพร่ง ก็ต้องตัดสินใจ ผมสนับสนุนการตัดสินใจนี้ เพียงแต่ว่ามันควร จะตรึงแค่ไหน หย่อนแค่ไหนอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราทำไปแล้ว เราจะเกิดวิกฤติ ติดลบ 9-10 % หลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่มีเทวดาไหนมาทำให้มันไม่ลบได้ เพราะโครงสร้างของเรามันเปราะบางต่อวิกฤติแบบนี้… ผมเชียร์ เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทไม่พอ ให้มาอีกล้านล้านบาทก็ได้ มีหนี้สาธารณะแน่นอน แต่เราจัดการได้มีวิธีแก้กับมัน แต่ขออย่างเดียวเงินที่รัฐบาลจะใส่มา ขอให้มันตรงจุด โปร่งใส เป็นเรื่องชั่วคราวที่ถึงเวลาต้องถอยออกไป”

กลับมาที่ตัวเรา (กลุ่มธุรกิจภัทร) พอเกิดวิกฤติเราก็วางแผนทุกอย่าง เรามีแผนบริหารความต่อเนื่อง (BCP : Business Continuity Plan) ตรวจสุขภาพลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่เอาสินเชื่อไป ใครไม่ไหวต้องการความช่วยเหลือ ถ้าช่วยได้สมควรช่วย ต่อไปสู่ท่อที่รัฐบาลยื่นมาให้ เราก็รีบทำให้ ถ้าบางคนไม่เกี่ยว แต่เขาเจอแบบนี้ไปไม่รอด เราก็ต้องบอกเขาไปว่าคุณไปไม่รอดหรอก ยอมรับสภาพแก้ไขเพื่อให้เสียหายน้อยที่สุด แม้ในวิกฤติหลักการทำธุรกิจซึ่งเป็นทัศนคติแรกของเราไม่ได้หายไป

“คน” เป็นสมบัติที่สำคัญที่สุดขององค์กร เราเพราะทำงานในตลาดเงิน อยากให้องค์กรมีคนเก่ง คนดีมาทำงานด้วย จะต้องทำองค์กรให้สนองความต้องการของคนเก่งคนดี ซึ่งโดยทั่วไปคนเก่งคนดีอยากได้ 5 อย่างเหมือนกัน คือ 1. ได้เรียน ได้รู้ ต้องทำองค์กรเป็นแหล่งให้คนได้ต่อยอดความรู้ เป็นองค์กรที่สร้างสรรค์ เปิดกว้างให้คนได้เรียนรู้มากที่สุด 2. ได้ทำ คนรุ่นใหม่ต้องการแสดงผลผลิต ( productivity) ออกมา เราก็ต้องเปิดโอกาสให้คนทุกคนได้นำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีและได้มีโอกาสที่จะทำ 3. ได้ตังค์ ทุกคนมาต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว ดังนั้น ภัทร เราจะจ่ายสูง ถ้าหลักทรัพย์เราจ่ายสูงที่สุดในอุตสาหกรรม แต่ก่อนที่จะจ่ายสูงที่สุดคุณต้องทำให้มากทีสุด 4. ได้มันส์ ทำบรรยากาศที่เป็นมิตร ไม่มีการเมืองอย่างรุนแรง ไม่มีแทงข้างหลัง ทุกคนอยู่กันอย่างสุขใจวางใจได้ 5. ได้ภูมิใจ ได้ตอบสนองที่เป็นอุดมการณ์ของตัวเอง

สุภาษิตจากพ่อ ถ้าอยากสูงให้ยืดตัว

บรรยง เปิดเผยสุภาษิตเมื่อถามถึงการทำธุรกิจที่มีคู่แข่งขันว่า “การแข่ง” พ่อสอนไว้ “ถ้าอยากสูงให้ยืดตัว เตะคนอื่นล้มไม่ทำให้เราสูงขึ้น” เขาบอกต่อทันทีว่า “ต่อให้เตะล้มทั้งโลก คุณก็ไม่สูงขึ้นสักนิ้วเดียว” ถ้าอยากสูงคุณยืดตัวคุณ แล้วถ้าคุณพาตัวไปอยู่ในหมู่คนสูงคุณก็ยิ่งสูง การแข่งขันเป็นหัวใจของพัฒนาการของโลกมาตลอด ดังนั้นเราส่งเสริมการแข่งขัน คู่แข่งเป็นมิตรกันตลอด ในขณะที่ “ทุนนิยม” ถูกป้ายสีว่าคนแข็งแรงกินรวบ แต่ความจริงไม่ใช่ ทุนนิยมที่ดีมันส่งเสริมการแข่งขัน แต่เป็นลักษณะที่ผู้ชนะก็วิ่งเร็วขึ้น ผู้แพ้ก็วิ่งเร็วขึ้น

“เอาชีวิตใครมาแลกก็ไม่เอาทั้งนั้น”

เมื่อถามถึงความสุขในวันนี้ ผู้ก่อตั้ง ตอบด้วยประโยคข้างต้น และว่า “…ไม่ว่าจะเป็นคนยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียง ร่ำรวยมากขนาดไหน”  บรรยง กล่าวย้ำตัวเองนั้นมีความสุขมาก ที่สามารถพัฒนาธุรกิจจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ไม่ร่ำรวยมหาศาล ไม่ติดอันดับอะไร แต่พอมีเงินที่ไม่ต้องห่วงกังวล เก็บไว้ให้ทายาทตามควร มีมิตรภาพที่ดี เพราะแคร์เรื่องความสัมพันธ์กับคนทั่วไป ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องแคร์ แต่ละคนต้องเลือกและดีไซน์เองว่าต้องการอะไร เคยมีคนถามว่าอยากมีความสุข ควรจะทำอะไร มีอยู่วิธีหนึ่งที่ตัวเองใช้สำรวจ เตือนตัวเอง คือ มนุษย์มีอยู่ 4 พวก คือ 1. ทำมามากได้มาก 2. ทำมากได้น้อย 3. ทำน้อยได้มาก 4. ทำน้อยได้น้อย ถามตัวเองว่าเราเป็นพวกไหน ซึ่งคนที่จะมีความทุกข์มากที่สุด คือ คนที่คิดว่าตัวเองเป็นพวกที่ทำมากได้น้อย

“แต่ผมสำรวจแล้วพบว่าตัวเองเป็นคนทำน้อยได้มาก แล้วก็บอกตัวเองตลอดเวลาว่าคุณเป็นพวกโชคดีมาก เพราะทำน้อยแล้วได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน มิตรภาพ ทำน้อยไปแล้วได้มากเสมอ ซึ่งมันจะทำให้เกิดความพยายามทำมากขึ้น เรียกร้องน้อยลง มีความสุขแน่นอน ถ้าทัศนคติคุณสามารถเป็นอย่างนั้นได้ คือคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าตัวเองโชคร้าย ทำเยอะแยะแล้วได้น้อยกว่าที่ควร จริงๆ มันเป็นเรื่องของทัศนคติ คำว่าที่ควรคืออะไร ใครเป็นคนคิด คุณเป็นคนคิดเองทั้งนั้น ผมเรียกง่ายๆ เล็กๆ แต่มันเกี่ยวกัน จะมีความสุขหรือทุรนทุราย มันก็มากจากความคิดของเราทั้งนั้น”

ฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม “บรรยง พงษ์พานิช”

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า