Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กทม. เตรียมเปิดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้สังคมรับรู้ คาด สิงหาคมนี้ เริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที (KT) ร่วมเปิดเผยผลการประชุมบอร์ดเคทีในวันนี้ (2 ก.ค. 65) ที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า จากการประชุมและทำงานมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เรื่องสัญญาที่ กรุงเทพธนาคมทำกับเอกชน ในเรื่องการเดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จากการทบทวนความถูกต้องในการจัดทำตามกฎหมาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเดินรถตามสัญญา ซึ่งส่วนความถูกต้องในการจัดทำตามกฎหมาย เรื่องนี้มีการร้องเรียนกล่าวหาอยู่ที่สำนักงาน ป.ป.ช. การตรวจสอบจึงเป็นอำนาจของสำนักงาน ป.ป.ช. คณะกรรมการชุดใหม่ จะทำหนังสือให้ ป.ป.ช. ทราบว่า ถ้าทาง ป.ป.ช. ประสงค์จะได้ข้อมูลความร่วมมืออะไรจากคณะกรรมการชุดนี้ เราพร้อมจะทำงานร่วมด้วย ให้ข้อมูลเต็มที่ และถ้าหาก ป.ป.ช. จะแจ้งให้ได้ทราบว่า ขั้นตอนถึงไหนแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์กับกรุงเทพธนาคม เพื่อดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

เรื่องต่อมา คือ สัญญาการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 จากการทบทวนเปรียบเทียบกับ สัญญาของส่วนต่อขยายที่ 1 แล้ว พบ ความแตกต่างที่มีนัยยะสำคัญ คือ “การพิจารณาอนุมัติโดยทางกรุงเทพมหานครไม่ได้มีการดำเนินการในส่วนนี้” ซึ่งได้เรียนทาง ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณาดำเนินการให้ถูกต้อง แต่ส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของกรุงเทพธนาคม เราจะเจรจาค่าใช้จ่ายเดินรถตามสัญญา อย่างน้อยจากการทบทวนตัวเลขแล้ว เราเห็นว่า “สูตรคำนวณนั้นน่าจะมีอะไรคาดเคลื่อนบางอย่างบางประการ” ซึ่งจะได้มีการดูตัวเลขอีกครั้งว่า ตัวเลขไหนจะเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง ประกอบกับตัวแปรอื่น เช่น สภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป, จำนวนผู้โดยสาร, วิธีการชำระเงิน โดยสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคมกับเอกชนได้เปิดช่องให้เจรจาทำได้อยู่แล้ว

“คนเราทำธุรกิจด้วยกัน มีการงานเกี่ยวข้องกัน การมาพูดคุยกันไม่ใช่ของแปลก ก็จะขอโอกาสที่จะคุยในส่วนนี้ วันนี้เพิ่งวันที่ 2 ก.ค. ภายในเดือนนี้ การพบกันครั้งแรกอย่างน้อยเป็นการเริ่มต้นในการพูดคุยกันก็คงจะเกิดขึ้นในเดือนนี้ได้ แต่ว่าข้อมูลตัวเลขต่างคนต่างฝ่ายก็มีการสนับสนุนข้อมูลพอสมควร ก็จะพยายามไม่ให้เรื่องช้าเกินไป ถ้าสามารถดำเนินการได้ก็จะทำให้ดีที่สุด ” ศ.พิเศษ ธงทอง กลาว

ส่วนเรื่องสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่หลายฝ่ายสอบถามกันว่า เปิดเผยได้หรือไม่ได้นั้น ศ.พิเศษ ธงทอง บอกว่า ในข้อสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคมกับเอกชน มีข้อกำหนดข้อหนึ่งบอกว่า “ห้ามเปิดเผยต่อสาธารณะ” ซึ่งสำหรับตน กทม. ไม่ใช่สาธารณะ แต่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกรุงเทพธนาคม หลักตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไป การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ จะขอทราบกิจการของบริษัทเป็นเรื่องที่ทำได้ ส่วนผู้ว่าฯ ชัชชาติ กทม. ได้รับข้อมูลนี้ไปแล้ว จะปฏิบัติอย่างไรกับข้อมูลตรงนี้ จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างไร หรือแม้แต่ไปเปิดเผยต่อใคร มีใครมาขอ มาเรียกร้องก็เป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว

ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว มี 4 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ กทม. กรุงเทพธนาคม บริษัทเอกชน และสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ซึ่งความสัมพันธ์กับบริษัทเอกชน คือกรุงเทพธนาคมเป็นหลัก ส่วนกทม. บริหาร สภากทม. และกรุงเทพธนาคม ซึ่งจากสภาพหนี้ที่เกิดขึ้นกว่าแสนล้านบาท จริงๆ แล้วก็ยินดีจะจ่าย ถ้าถูกต้องตามกฎหมาย ตามขั้นตอนที่ผ่านมา โดยสิ่งแรกที่ กทม. ต้องทำคือ ดูว่าที่มาที่ไปของหนี้ตรงนี้ ถูกตามกฎหมาย ผ่านการอนุมัติจากสภากทม. ปฏิบัติตามระเบียบถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหนี้ที่โอนทรัพย์สินมา เมื่อสภากทม. เปิด จะต้องสอบถามว่า ได้ทำครบถ้วนแล้วหรือไม่

“เราไม่ได้จะปฏิเสธหนี้นะ เราพร้อมจะจ่าย แต่ว่าการจะจ่ายต้องเป็นสิ่งที่ทำตามขั้นตอนครบถ้วน ถ้าอันไหนไม่ครบถ้วน ก็ทำให้ครบถ้วนซะ ส่วนเรื่องรายละเอียดระหว่างเคทีกับเอกชน ก็ให้เคทีไปดำเนินการ แต่เราอาจจะให้ข้อมูลสนับสนุนเรื่องตัวเลข เพราะมีการคำนวณตัวเลขจากสัญญาที่มีอยู่ในมือแล้วในฐานะผู้ถือหุ้น แล้วก็ควบคุมผ่านเคที…”

“ส่วนการเปิดสัญญา จริงๆ แล้วระหว่างเคที กับ กทม. ก็มีบอกว่า ห้ามเปิดเผยต่อสาธารณชนยกเว้นกฎหมายบังคับ แต่ว่าตอนนี้ก็มีหลายหน่วยงานขอมาแล้ว เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภคก็ได้ขอให้เราเปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถ ปี 72-85 พอเราเช็กกฎหมาย ถ้าถูกต้องเรียบร้อย เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้เราเปิดเผยข้อมูล เราก็จะดำเนินการเปิดเผยข้อมูล และอาจจะมีการทำตัวเลขให้เห็นเลยว่าถ้าใช้สัญญานี้ ปี 72 – 85 แล้ว ค่าโดยสารเฉลี่ย ตามค่าใช้จ่ายควรจะเป็นเท่าไหร่ ก็คงจะมีตัวเลขซึ่งเราทำไว้หมดแล้ว เดี๋ยวรอการเปิดข้อมูล คิดว่าอันนี้น่าจะไม่ยากที่จะดำเนินการ เพราะการเปิดเผยข้อมูลเป็นไปตามกฎหมายกำหนดแหละ”

“แนวทางเราอยากจะให้เปิด ถ้ากฎหมายอนุญาต ซึ่งดูแลเป็นไปได้ ถ้าดูรถไฟฟ้าสายสีอื่นทุกสายก็เปิดหมดแหละ เราจะไปกลัวอะไร เราเอาเงินประชาชนมาจ่าย ประชาชนก็ต้องมีสิทธิ์เห็น ตามหลัก เพราะฉะนั้นแค่เขียนว่าห้ามเปิดนี่ก็แปลกแล้ว ถูกไหม อยากที่ผมบอกเห็นต้องเอ๊ะแล้ว ว่าทำไมถึงไม่ให้เปิดต่อสาธารณะ อย่างที่อาจารย์ธงทองท่านเรียนว่าจริงๆ แล้วระหว่าง เคทีกับเอกชนนั้นเรื่องนึง แต่เราผูกพันด้วยระหว่างเรากับเคที ซึ่งผมว่าสามารถเปิดได้ ถ้ากฎหมายกำหนด และถ้าเกิดมีองค์กรอย่างสภาองค์กรของผู้บริโภค เขามาขอแล้ว… ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ก็ต้องเปิด ให้รอบคอบ ส่วนที่อยากเปิดให้ประชาชนเห็น คือค่าใช้จ่ายต่อปี” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุเกี่ยวกับการเปิดสัญญาฯ

นายชัชชาติ ยังย้ำด้วยว่า ปัญหาเร่งด่วนคือเรื่องหนี้ ที่ดอกเบี้ยเดินอยู่ แต่การจะจ่ายหนี้ต้องให้แน่ใจว่า ถูกตามกระบวนการก่อน ไม่ใช่มีหนี้มาแล้วคิดว่าถูกแล้วจะจ่าย ต้องให้รอบคอบเพราะว่าเป็นเงินภาษีของประชาชนทุกคน มีระเบียบปฏิบัติที่ต้องดำเนินการอยู่ สภากทม. จะเปิดวันที่ 6 ก.ค. นี้จะได้ทำงานร่วมกัน เพราะสภากทม. เป็น 1 ใน 4 ขององค์ประกอบในการพิจารณาเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเหมือนบางเรื่อง สภากทม. ไม่ได้รับทราบ แต่ไม่ได้เพราะสภากทม. คือตัวแทนประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ส่วนต่อขยายที่ 2 สภากทม. ไม่ได้อนุมัติเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ นายชัชชาติ ตอบว่า ต้องไปถามสภาอีกที แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ สุดท้ายแล้ว สภาต้องเอาส่วนนี้ไปอยู่ในงบประมาณที่จะจ่ายรายปี เพราะฉะนั้นที่มาที่ไป ก่อหนี้อะไรสภาก็ต้องรู้ก่อนว่าสุดท้ายต้องตั้งงบประมาณจ่ายค่าเดินรถรายปี อันนี้คือเรื่องให้มันโปร่งใส ก็ไม่ได้ว่าใครผิดใครถูกนะ แต่คิดว่าตรงนี้ต้องทำให้กระบวนการมันรอบคอบให้ตัวแทนประชาชนได้มาเห็นตัวเลขจริงๆ ตัวเลขเราก็มีหมดแล้วแหละ ถ้าเกิดใช้สัญญาเดิม ปี 72-85 ค่าใช้จ่ายต่อปีเป็นเท่าไหร่ ค่าโดยสารก็สามารถคำนวณได้ว่าควรจะเก็บเท่าไหร่

ถ้าเรายังคงสัญญาปี 72-85 อยู่ ค่าโดยสารขึ้นขึ้นอยู่กับ ต้นทุนในการจ้างเอกชนเดินรถ ต้นทุนเราไม่ใช่การบริหารจัดการ ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่จะคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ อันนั้นเป็นเรื่องในอุดมคติ แต่ชีวิตจริง ต้นทุนในการเดินรถ คือ เงินที่เราจ้างเอกชนเดินรถ เพราะฉะนั้นค่าโดยสารต้องสอดคล้องกับต้นทุน ยกเว้นเราจะยอมควักเงินจ่ายทดแทน แต่เราคงไม่สามารถเอาเงินที่ไม่ได้นั่งบีทีเอสมาชดเชยคนที่นั่งบีทีเอสไม่มาก ดังนั้นจากนี้ถึง ปี 72 ก็มีแค่เรื่องส่วนต่อขยายที่ 2 ว่า จะเก็บเงินเท่าไหร่ และหนี้

เมื่อถามว่า การเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 จะเริ่มเมื่อใด รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ตอบเสริมว่า น่าจะเริ่มได้ในเดือนสิงหาคมนี้

ภาพจาก : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า