Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หนึ่งภาพสารพัดปัญหาริมถนน – ทางเท้า – รถเมล์ workpointTODAY นำภาพและคำถามจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ไปถามว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ว่าเห็นปัญหาอะไรในภาพบ้าง แล้วจะแก้ไขได้ยังไง

หมายเลข 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร – ก้าวไกล

ในรูปนี้มีอะไรให้ด่าบ้าง โห ผมคิดว่าภาพที่อยู่ตรงกลางสำคัญสุดเนาะ แต่ไม่ใช่ว่าภาพประกอบไม่ได้สำคัญนะ ตรงกลางมันสะท้อนไงว่าระบบขนส่งสาธารณะของประเทศเรามันเป็นอย่างนี้มาชั่วนาตาปีแล้วอะ ก็จะเป็นโอกาสอันดีของกรุงเทพมหานครที่จะดำเนินการได้สองเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง ทำตั๋วอุดหนุน สมมติง่ายๆ จ่ายเงินค่าตั๋ว 70 บาท ใช้ได้จริง 100 บาท กับรถเมล์ที่ตรงตามสเปคของเรา สองสำหรับเส้นทางฟันหลอ ไม่มีบริษัทไหนไปขออนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานครก็จะไปขอใบอนุญาตเสียเอง แล้วก็จัดจ้างการเดินรถเสียเอง เราก็จะสามารถที่จะปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครได้ โดยที่เราตั้งเป้าขาดทุนได้ ระบบขนส่งสาธารณะไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอากำไรจากประชาชน เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่กำไร แต่คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่างหาก โดยที่กรุงเทพมหานครอุดหนุนเข้าไปเพื่อทำให้คนที่ใช้รถเมล์ประมาณ 5-7 แสนคน หรืออาจจะไปถึง 1 ล้านคน ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นในฐานะที่เป็นคนกรุงเทพฯ

เรื่องที่สองนะครับ ทางเท้า เรื่องๆ นี้มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากๆ เมืองๆ นี้ผลักภาระการระแวดระวังให้กับคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด แล้วปรากฏว่าถ้าเกิดวันไหนเราไม่ระวังแล้วเราเกิดอุบัติเหตุ เราถูกด่านะ จำได้ป่ะว่าตอนเด็กๆ เราถูกสอนยังไง เดินบนทางเท้า ต้องเดินระวังตาม้าตาเรือ เจอฝาท่ออ้อมสิ หลบก็จบแล้วเนี่ย เมืองอะไรอะที่มันผลักภาระของการระแวดระวังให้กับคนได้ถึงขนาดนี้ ทางเท้านี่ก็เป็นแค่ส่วนนึง สายไฟระโยงระยางระเกะระกะ หลายคนก็บอกว่าอะไรล่ะ เฮ้ย สายพวกนี้มันเป็นสายสัญญาณ ไฟไม่ดูดหรอก ผมถามประชาชนคนทั่วไปใครมันจะรู้ล่ะว่าไอ้สายที่มันห้อยต่องแต่งมันจะดูดหรือมันไม่ดูด ต้องไปมีความรู้อีกหรือว่าสายไหนดูดสายไหนไม่ดูด ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครสามารถจัดการได้ คุณเข้าใจแล้วยังว่าทำไมเมืองกรุงเทพมหานครถึงเป็นเมืองที่ไม่เคยร่ม เพราะตราบใดก็ตามคุณเอาสายลงดินไม่ได้ ต้นไม้กำลังจะงามคุณก็มาตัด เหมือนกับครูตัดผมนักเรียนนั่นแหละ ตัดไม่เป็นทรงเลย สุดท้ายเมืองที่เราหวังว่าจะมีร่มเงาจากต้นไม้ มันไม่เคยมี เพราะตราบใดก็ตามที่คุณยังไม่เอาสายไฟลงดิน แล้วนี่อยู่ในถนนใจกลางเมืองซะด้วย ซึ่งมันควรจะลงดินได้แล้วถูกไหม

ขอสุดท้ายได้ไหม คุณเห็นตามสองฝั่งฟากถนนป่ะ ที่เป็นตึกแถว แต่เดิมมันคือพื้นที่เศรษฐกิจให้เกิดการค้าการขายใช่ไหม พื้นที่ตึกแถวสองฝั่งฟากถนนเป็นไงล่ะ ไม่เหลือแล้ว คุณอยากทำการค้าคุณต้องไปเช่าพื้นที่ห้าง ต้องไปเช่าพื้นที่นายทุน แล้วเมืองๆ นี้มันจะเหลืออะไรให้กับคนในยุคๆ นี้บ้าง ผมว่าเศรษฐกิจต้องโอบรับการเดินทางและการสัญจรได้แล้ว ไม่ใช่โอบรับการเคลื่อนย้ายเคลื่อนที่ด้วยรถยนต์ส่วนตัวนะครับ ไม่เอาละ เดี๋ยวดูเยอะก็ด่าเยอะ

หมายเลข 3 สกลธี ภัททิยกุล – อิสระ

ครับที่ให้ด่าได้บ้างเนี่ย โอเค เอารวม ๆ ไม่นับว่าเป็นงานของใครก่อนนะครับ สายสื่อสารที่รกรุงรังนะครับ รถเมล์เก่า ฝาท่อไม่เรียบ กับทางเท้า เส้นจราจร เส้นขาวแดงเลือน แล้วก็มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า แล้วก็รถโคตรติดเลย แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ทาง กทม. ที่เกี่ยวกับหน้างานเนี่ย ผมว่าไอ้เรื่องสายสื่อสารเนี่ยมันสามารถร่วมกับ กสทช. ได้ ในการที่จะจัดเก็บนะครับ เรื่องฝาท่อก็ กทม. อยู่แล้ว ก็ต้องมาทําให้มันเรียบรวมถึงทางเท้าที่ผุพัง ส่วนเรื่องการขีดสีตีเส้นสัญญาณขาวแดงหรือเส้นจราจรก็งาน กทม. อยู่แล้วนะครับ เรื่องมอเตอร์ไซค์บนทางเท้าอันนี้ก็งาน กทม. เหมือนกัน ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งผมก็ปรับอยู่แล้วทุกครั้งสองพันบาท ส่วนรถเมล์เก่าอันนี้เป็นของ ขสมก. นอกเหนือจากงาน กทม. แต่ว่าถ้าเป็น กทม. ทําเนี่ย ก็เป็นรถบัส Feeder EV เราจะทําเป็นรถใหม่ เพราะฉะนั้นไอ้กงไอเก่านี่ถ้า กทม. ทําคงไม่ได้เห็น

หมายเลข 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ – ประชาธิปัตย์

การเห็นภาพ อันดับแรกต้องจัดลำดับความสำคัญนะ เพราะว่าให้ด่านี่ด่าได้เป็นวันเลยเยอะจริงๆ ความสำคัญที่สุดของเมืองคือใคร คือคน แล้วคนไหน คนเดิน ฉะนั้นอันดับแรกเลย คนเดินมาก่อน ถูกไหมฮะ เห็นทางเท้าไหม เดินไปลงท่อแล้ว ท่อไม่เรียบ เห็นทางเท้าทรุดไหม เสาไฟถึงแม้ว่าไม่ได้มาอยู่ตรงกลาง แต่ว่าปล่อยอย่างนี้เห็นท่อไฟไหมครับ ติดดินเลย อันตรายอีก ต้องให้มีมาตรฐาน เอกชนเห็นเขาทำทางเท้าไหม ทำแล้วอยู่เป็นสิบปีอะ อยู่ติดกันทำได้ แล้วกรุงเทพฯ อะทำไมทำไม่ได้ล่ะครับ ไปดูรายละเอียดจะรู้เลยว่า ทางเท้ากรุงเทพฯ นี้มาตรฐานไม่เหมือนทางเท้าเอกชน ปรับมาตรฐานให้เหมือนทางเท้าเอกชนเท่านั้นแหละครับ ไม่ต้องเอาเงินมาปะผุ

เห็นรถเมล์แล้ว เฮ้อ เศร้าใจฮะ บอกเป็นข้อมูลให้เวิร์คพอยท์เลยครับ รถเมล์ ขสมก. มี 2,800 คัน มีรถที่เพิ่งซื้อไหมไม่ถึง 500 คันนะครับ ที่เหลือ 2,000 กว่าคัน เก่าหมด รถร่วมก็เก่านะครับ เก่าไม่พอ เห็นไอ้นี่ไหม คือเห็นสภาพฝุ่นไหม แสดงว่าควันดำ แม้แต่รถตัวเองยังดำเลย เพราะงั้นรถเมล์ดีเซลน่ะเลิกใช้เถอะ กรุงเทพฯ เนี่ยต้องริเริ่มทำรถเมล์ไฟฟ้า แล้วบริการได้ถูก เพราะต้นทุนมันถูกกว่า 4 เท่า และมาดูตรงนี้ ถามหน่อยเถอะครับ ไม่ต้องเป็นถึงคนพิการหรอกครับ เป็นเด็กจะขึ้นไปเนี่ย อันนี้เขาเรียกรถเมล์ชานสูง เลิกใช้เถอะครับ ปัจจุบันรถเมล์ชานต่ำคือเรียบฟุตปาธเลย

สายไฟแบบนี้ทุกท่านรู้ไหมครับว่าสายส่วนใหญ่ไม่ใช้แล้วครับสายทองแดง เดี๋ยวนี้สายสื่อสารเขาใช้ไฟเบอร์ออฟติก เพราะงั้นตรงนี้ถึงเวลาสังคายนาสักทีนึง ตรงนี้ กทม. สามารถเป็นเจ้าภาพสังคายนาได้ ก่อนที่จะปรับปรุงลงใต้ดินในเส้นทางสายหลัก พระราม 4 เนี่ยก็ถือเป็นเส้นหลักแล้วนะครับ ไอ้ตรงนี้ก็ต้องเอาลง มอเตอร์ไซค์บนฟุตปาธเห็นป่ะ ไม่รู้จอดหรือวิ่งนะครับ เอาเป็นว่าถ้าเกิดขึ้นฟุตปาธได้ แสดงว่ามอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ก็คุ้นเคยกับการขึ้นฟุตปาธใช่ไหมครับ แบบนี้ไม่ได้แล้วครับ คนเราเนี่ย เปลี่ยนนิสัย Mindset เปลี่ยนทันทีไม่ได้หรอกครับ มันต้องปลูกฝังแต่เด็ก แต่กว่าเด็กอนุบาลจะโตขึ้นมา 20 ปี กรุงเทพฯ ไม่รู้ไปถึงไหนแล้วครับ เพราะงั้นจะจัดการได้ ต้องทำให้เขารู้ว่าเขาทำผิดเขาโดน

ตรงนี้เห็นเลยว่าแถวพระราม 4 อาคารเก่าเยอะ ดูสิครับ เก่าจริงๆ เห็นไหม ตั้งใจเลยครับว่าเป็นผู้ว่าฯ จะสังคายนาข้อมูลครับว่ากรุงเทพฯ เนี่ยมีอาคารเก่าที่เป็นสีแดง คือต้องลงไปช่วยเขาอะ ต้องยอมรับนะครับพอพูดแบบนี้หลายคนก็กลัว เพราะทุกคนต่อเติมกันหมด ไม่ว่าครับ แต่ขอไปช่วยแนะนำได้ไหมครับ เนี่ยแหละครับดูคร่าวๆ และปิดท้ายด้วยต้นไม้ อื้ม ขอโทษทีเกาะกลางถนนเนี่ยมีไว้ทำไม มีไว้ให้รถไปรดน้ำต้นไม้ขวางทางจราจรตอนเช้าๆ ป่ะ ถ้าเกิดไม่มีเกาะกลางถนนเราปรับบริหารการจราจรได้ทันทีเลย ตรงนี้มันก็มีเลนจราจรมากขึ้น เอาพลาสติกไปปักๆๆ ไว้เหมือนต่างประเทศ นี่ก็คือสิ่งที่ผมเห็น ที่จริงแล้วก็พูดไปได้ทั้งวันแหละครับ

หมายเลข 6 พล...อัศวิน ขวัญเมือง – อิสระ

เต็มที่เลยด่าเรื่องสายสื่อสารเนี่ย มันมีที่ขออนุญาตถูกต้องกับการไฟฟ้า ถามว่าเรามีอํานาจไหม เราไม่มี สายไฟฟ้าเนี่ยมันต้องใช้ทักษะของการไฟฟ้า ผมกําลังจะทําเอาสายสื่อสาร สายสื่อสารอย่างเดียวนะ เราให้ 4-5 บริษัทประมูลไปแล้วกําลังจะเอาลงดิน ถ้าเอาลงดินเสร็จแล้ว ตรงนี้มันต้องหมดไป แต่ข้อกฎหมายล่ะ บางครั้งที่เขาเช่ากับการไฟฟ้าเอาไว้ สมมติว่าผมอยู่ไปตัดฉับฉับฉับฉับเลยไปโดนเอาที่เขาขออนุญาตไว้ เราผิดกฎหมาย หรือ สมมติว่าไปแอบแขวนไว้เนี่ยแล้วตัดไปปั๊บพวกเน็ตต่างๆ เขาจะด่าใครล่ะ อ้าว กทม.ไปตัดหมดเลย ชาวบ้านดูอะไรไม่ได้เลย อันนี้คือเป็นปัญหาซึ่งเราไม่สามารถจะแก้ไขได้คนเดียว ผมทําหนังสือถึงการไฟฟ้าเลยนะให้มาตัด เขาก็พยายามค่อยๆ ช่วยกันแก้ไขอยู่อะ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ใส่ใจ ผมทําหนังสือถึง กสทช. ซึ่งเกี่ยวข้อง เขาก็พยายามแจ้งให้มา แต่ว่าก็ต้องเรียนตรงๆ บางคนก็ดื้อไม่ยอมมาเอาออกอะ  แต่ถามว่าแก้ไขไหมกําลังทํา ทํามาสองปีแล้ว เฉพาะถนนสายหลักกับสายรองประมาณ 2,500 กิโลเมตรนะ แต่เราทําไปได้ประมาณ 250 กิโลเมตร ขณะนี้เราหาบริษัทประมูลไว้เรียบร้อยมาแยกเป็นสี่ที่ กําลังรอเรื่องข้อกฎหมายของ กสทช. เท่านั้นเอง เพราะถ้าอนุมัติมาเรียบร้อยแล้ว เราก็จะลงมือทํา ต้นแบบที่เราทําตัวอย่างไปแล้ว 7.5 กิโลเมตร เฉพาะสายสื่อสารอย่างเดียวนะ เราทําไปแล้ว ตอนนี้ไม่ต้องวางแผนอะไร ถ้ามาก็ไปเชื่อมต่อในสิ่งที่เราทําไว้เก่าไม่เกินสามปีเนี้ยมันจะเสร็จหมด

สองเรื่องฝาท่อที่มันกระเดิดขึ้นมาเนี่ย อย่างนี้นะ เดินลงไปถามว่าไม่ได้ก้มลงมองเท้าอาจจะสะดุดได้ ขณะนี้เราก็แก้ไขไปเยอะแล้วนะ ปรับฝาท่อให้มันเรียบ เรากําลังปรับถนน แล้วก็อีกอย่างหนึ่งบางครั้ง ผู้พิการ ทางม้าลายบางที่เขาข้ามถนนได้ไหม เขาช่วยตัวเองได้นะ เขาเข็นล้อไปงี้ได้แต่เขายกขึ้นไม่ได้ เพราะมันต่างระดับกัน ถูกไหม ประมาณ 10-15 ซม. ผมก็ปรับทางลาดหมด สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เฉพาะสายสีเขียวเนี่ย เราทำลิฟต์ให้ครบทั้งหมดแล้วสามสิบสองสถานี

ผู้สื่อข่าว : เข้าใจว่า ขสมก. อยู่นอกเหนืออํานาจของผู้ว่าฯ กทม. แต่ว่าถ้าเป็นผู้ว่าฯ อีกสมัยหนึ่งจะสามารถทํายังไงให้รถเมล์มีคุณภาพหรือว่าน่าใช้มากกว่านี้ไหมคะ

มันต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลนะ คือถามว่า ผมบอกให้เปลี่ยนรถผมไม่มีอํานาจ มันเป็นงานของขนส่งทางบกเขา เราได้แต่บอกเขาบอกว่า ไปติงเขาบอกว่า เอ๊ะ รถมันน่าจะดีกว่านี้ ก็อย่างที่ทราบๆ กันอยู่แล้ว ขสมก. ตอนนั้นนํารถเข้ามา 400 กว่าคันก็ยังใช้ไม่ได้อยู่ตอนนี้ มันมีปัญหาอะไรเขาก็แล้วแต่ เราคงจะไปก้าวล่วงในสิ่งที่เราไม่มีอํานาจนั้นไม่ได้ เราได้แต่บอกเขา เขาทําก็โอเค ถ้าเขาไม่ทําเราก็ไปบังคับเขาไม่ได้

หมายเลข 7 รสนา โตสิตระกูล – อิสระ

ก็ภาพนี้ก็คือหนึ่งรถเมล์ เก่ามากนะคะ หลังคาก็ปุปะ แล้วก็ดูสกปรกมากนะคะ ทางเท้าก็มีฝาท่ออะไรต่อมิอะไรซึ่งไม่เรียบร้อย คนเดินมาอาจจะตกท่อได้หรืออาจจะสะดุดล้มทำให้บาดเจ็บได้ แล้วก็รวมไปถึงสายไฟต่างๆ ที่รกระเกะระกะซึ่งก็ทำให้กรุงเทพฯ​ ดูแล้วมันก็ไม่น่าดูอะนะคะ ทางเท้ากับถนนมันบ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำมากเลย ว่าคนสัญจรไม่มีโอกาสที่เขาจะมีทางเท้าที่เดินอย่างปลอดภัย แม้แต่คนพิการเช่นมนุษย์ล้อทั้งหลายเนี่ย เดินถนนแบบนี้เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางลงอะไรต่อมิอะไร หรือคนพิการทางสายตาเนี่ย ก็อาจจะไม่มีเส้นทางที่จะบอกว่าให้คุณเดินตรงไหน ตรงไหนเป็นอุปสรรคให้กับคุณอะนะคะ

แล้วก็ในแง่ของรถเมล์ที่มันเก่ามาก มันก็จะปล่อยควัน ซึ่งอาจก็ต้องดูด้วยว่าควันดำ ซึ่งไอ้ควันดำเหล่านี้มันก็ทำให้เกิด PM 2.5 ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้มันจะต้องทำกันอย่างจริงจังนะคะ ในแง่ที่ กทม. ยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพในการเจรจา ไม่ว่าจะเป็น ขสมก. ไม่ว่าจะตำรวจอะไรทั้งหลายเนี่ย ในการจัดการกับรถควันดำอย่างจริงจัง ควรจะพยายามเปลี่ยนให้รถต่างๆ นี้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่ง ขสมก. สามารถทำได้นะคะเพราะว่าเป็นรถสาธารณะของหน่วยงานรัฐ แล้วก็ไอ้พวกรถมอเตอร์ไซค์ทั้งหลายเนี่ย หนึ่งเราอยากจะทำโซลาร์รูฟสักแสนหลังคาเรือน เพื่อที่จะลดรายจ่ายให้ประชาชน สามารถที่จะเอามาชาร์จแบตเตอรี่ให้กับรถมอเตอร์ไซค์ ทีนี้ไอ้ตรงส่วนนี้นะคะ เราสามารถที่จะเชื่อมต่อกับเอกชนที่เขาจะมาทำลิสซิ่งอะไรต่อมิอะไรเนี่ย ที่จะให้คนขับรถมอเตอร์ไซค์ส่งของ ส่งอาหาร รับส่งผู้โดยสารเนี่ย สามารถผ่อนในราคาที่ย่อมเยา เป็นโอกาสอันหนึ่งที่จะทำให้กรุงเทพฯ นี้ ลดในเรื่องรถติดอาจจะลำบาก ยากหน่อยนะ แต่อย่างน้อยรถติดแล้วทำให้อากาศเสียน้อยลงมันก็เป็นผลประโยชน์อันหนึ่งอะนะคะ

ส่วนไอ้เรื่องสายไฟเนี่ย ตอนนี้เขาก็มีระบบในการที่จะเอาท่อร้อยสาย ซึ่งกรุงเทพธนาคมของ กทม. เนี่ย ก็มีหน้าที่ในการทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่มีการทำมาก่อนในหลายๆ พื้นที่เนี่ย ดิฉันคิดว่าในนโยบายของตัวเองก็ต้องการที่ให้ทำเรื่องนี้ต่อให้ครบถ้วนทั้งหมด ในแง่ที่จะเอาไอ้สายสื่อสารทั้งหลาย หรือสายไฟฟ้าลงดิน อันนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นในภาพนี้ก็มีสามปัญหา คือปัญหาเรื่องทางสัญจรสำหรับผู้คน มันต้องเป็นทางสัญจรที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ไม่ใช่ว่าเราคิดแต่ถนนสำหรับรถ แต่คุณไม่คิดถึงทางสัญจรสำหรับประชาชนเลย อันนี้จะต้องทำฮะ รถทั้งหลายที่เก่ามาก ปล่อยควันดำอะไรต่อมิอะไร สร้าง PM 2.5 ต้องมีการเข้มงวดอย่างจริงจังนะคะ แล้วก็สายไฟพวกนี้ควรจะต้องเอาลงดินค่ะ

หมายเลข 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ – อิสระ

โห มีอะไรให้ด่าได้บ้างเหรอ ก็รถเมล์แน่นอน ถูกปะ สายเคเบิลที่รุงรังอยู่ ถูกปะ แล้วก็ฟุตปาธก็มีฝาท่อที่มันกระเดิดซึ่งอาจจะหกล้มได้ ใช่ไหม ทาง ป้าย ตัวขาวแดงก็ไม่ค่อยชัดเจน แล้วมีอะไรอีก มอเตอร์ไซค์ อย่างอื่นก็ โอเค ผมว่าแค่นี้ก็พอแล้วมั้งที่จะด่า

รถเมล์เองมันอยู่ใน ขสมก.ซึ่งมันเป็นมหาอมตะนิรันดร์กาลนะ ผมว่ารถเมล์เอง กทม.ต้องเสนอทางเลือกให้ประชาชนโดยการเดินรถเองในบางเส้น ใช่ปะ เหมือนปัจจุบันเราเดิน BRT อยู่ จริงๆ แล้ว กทม. มีสิทธิที่จะขอเส้นทางเดินรถจากกรมการขนส่งทางบกได้แล้ว เพราะงั้นจริงๆ แล้วเราสามารถเลือกรถเมล์ทำเองที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในบางเส้นทาง แล้วไปเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าได้ ซึ่งมีหลายที่นะ ผมว่ามีหลายจุดในกรุงเทพฯ เลยที่เส้นเลือดฝอยพวกนี้ยังเข้าไปไม่ถึง คือเรามองว่ารถเมล์เนี่ยเป็นระบบเส้นเลือดฝอยที่มันพาเราถึงบ้าน ทางฟุตปาธเป็นเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่คือ BTS คือ MRT คือรถไฟฟ้าที่แบบลงทุนเยอะๆ อะ คือของเราเนี่ยลงทุนเส้นเลือดใหญ่เยอะ แต่เส้นเลือดฝอยพวกนี้เราไม่ค่อยได้ลงทุน ทำให้เราไปถึงบ้านไม่สะดวกไง เรามาได้แค่ป้ายรถไฟฟ้า แล้วเราก็ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ เดิน ผจญภัยอีกนานเลย เพราะงั้นตรงนี้คือ กทม. ต้องมาดูเรื่องเส้นเลือดฝอยให้เยอะขึ้น

สายไฟฟ้าลงดินเนี่ยจริงๆ แล้วไม่ใช่สายไฟฟ้า เป็นสายสื่อสาร เพราะสายไฟฟ้าจะอยู่เหนือขึ้นไป ปัญหาของกรุงเทพฯ ที่รกรุงรังก็คือสายสื่อสารลงดิน อันนี้ กทม.จริงๆ แล้วได้อำนาจจาก กสทช. มาแล้วในการดำเนินการ แต่ยังมีปัญหาเรื่องผู้ลงทุน เรื่องอะไรอยู่ นี่ผมว่า กทม. ต้องเร่งดำเนินการต่อ แต่ก็ต้องอย่าให้เป็นภาระกับผู้บริโภค เพราะสมมติใช้เงินเยอะในการเอาลงดินถูกไหม แล้วก็ไปคิดแพงกับผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการก็ไปคิดต่อกับผู้บริโภค เพราะงั้นต้องให้เหมาะสม แต่ว่าสุดท้ายแล้วอนาคตก็ต้องเอาลงดินให้หมด พอเอาสายสื่อสารลงดินได้ ต้นไม้มันจะสวยงาม จะแผ่ร่มเงา สามารถตัดเล็มให้มันเป็นทรงได้ ส่วนเรื่องฟุตปาธอันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเลย เพราะว่าการเดินมันสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมืองถูกไหม เพราะว่าเป็นตัวที่ช่วย เป็นเส้นเลือดฝอย แล้วเมืองไหนที่เดินได้เดินดี ผมว่ามันแสดงถึงคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วจริงๆ แล้วมันมีมิติอื่นด้วยนะ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ

ถ้าเมืองที่เดินได้มันจะเกิดเศรษฐกิจ ร้านค้าริมทางขายของได้ แถมที่คนจะไปเดินบน Sky Walk กันหมด ซึ่งไม่มีกิจกรรมธุรกิจ งั้นผมว่าเรื่องฟุตปาธเป็นเรื่องสำคัญแล้ว กทม.ต้องให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้งบประมาณตรงนี้เยอะนะ เงินที่ลงไปที่เขตอาจจะมีเขตละไม่กี่ล้านบาท ผมว่าต้องตั้งเป้าอย่างน้อยทำ 1,000 กม. ฟุตปาธให้ได้ Universal Design คือคนพิการไปได้ คนแก่ไปได้ วีลแชร์ไปได้ จริงๆ แล้วถามว่า 1,000 กม. เยอะไหม ไม่เยอะ เรามี 50 เขต เขตละ 20 กม.เอง ถนนเรามี 6,000 กม. ใน กทม. เพราะงั้นจริงๆ แล้วตั้งเป้าไว้เลย แล้วก็จัดความสำคัญให้เอางบมาลงก่อน แล้วก็เนี่ยผมว่าเส้นสีอะไรอย่างนี้ก็ต้องตีให้ดีนะ ขาวแดงให้ชัด ทางม้าลายก็ต้องตีให้ชัด ให้มันมีความสว่างเพื่อความปลอดภัย

หมายเลข 11 น..ศิธา ทิวารี – ไทยสร้างไทย

ความยุ่งเหยิงของสายไฟที่ระเกะระกะนะครับ แล้วก็หน่วยงานแต่ละหน่วยงานก็จะมีสายของตัวเอง มีอะไรอย่างนี้เยอะแยะไปหมด เป็นรถเมล์ ซึ่งก็จะบอกว่าพยายามที่ทำให้ดูเหมือนใหม่ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด แล้วก็ไม่ได้มีความจริงใจที่จะเข้ามาทำให้มันดีเนี่ยก็เป็นรถเมล์เก่า แล้วก็จะเห็นว่าการจราจรก็แบบนี้ครับ ความปลอดภัย ประตูรถก็จะไม่ได้ปิดนะครับ แล้วก็รถติด

อันดับแรกครับ เรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานนะครับ ตรงนี้เป็นอุปสรรคของการทำงานของส่วนราชการที่จะให้บริการกับประชาชน คือจะไม่มีการประสานงานกันเลย ไม่ใช่เฉพาะสายไฟที่เราเห็นนะครับ เรื่องการขุดกลบ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาอะไรต่างๆ หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งมวลชนเนี่ย มันไม่ได้เฉพาะ กทม. อย่างเดียว เพราะ feeder มันก็ต้อง feed จากชานเมืองเข้ามา ซึ่งก็จะไปเกี่ยวพันกับจังหวัดใกล้เคียงนะครับ ตัวสายไฟเนี่ย มันก็แสดงให้เห็นว่าเฉพาะหน่วยงานที่ต้องใช้สายเนี่ย ทั้งเรื่องโทรคมนาคมของการสื่อสาร ขององค์การโทรศัพท์ ของไฟฟ้า ของอะไรต่างๆ ที่ใช้ หรือของเอกชนเนี่ย ไม่เคยได้มีการบริหารจัดการรวมกันเลย เพราะฉะนั้นเนี่ยการบริหารจัดการตรงนี้ กทม.ต้องรวมศูนย์ แล้วก็มีผู้ว่าฯ กำกับดูแลทุกส่วน ผอ.เขต ประสานงานทุกส่วน

แล้วก็รถติดเห็นอยู่แล้ว ในภาพก็มีรถติด แล้วรถเมล์ซึ่งบุโรทั่งแบบนี้ก็ควรจะปรับ แล้วก็อีกหน่อยก็อาจจะเป็นไฟฟ้า เป็นอะไรอย่างนี้ ก็มีการพัฒนาการไปนะครับ รถไฟฟ้าที่เราสร้างขึ้นมาเนี่ยไม่ใช่ขนส่งมวลขน ขนส่งมวลขนของเราเนี่ยกลับเป็นรถเมล์บุโรทั่งหรือโกโรโกโสที่เราเห็นอยู่เนี่ยครับ อันนี้คือขนส่งมวลชนของเราที่แท้จริง เพราะว่าแมสของคนกรุงเทพฯ มีฐานะแค่นี้ ขึ้นรถแบบนี้ได้ เพราะฉะนั้นเนี่ยเราต้องเข้าไปบริหารจัดการใหม่ กทม.ในฐานะที่เป็นแม่งานในการรับผิดชอบกรุงเทพมหานคร คุณต้องทำรถไฟฟ้าให้เป็นขนส่งมวลขนให้กับคนส่วนมากของกรุงเทพฯ สามารถขึ้นได้

รถตุ๊กตุ๊กซึ่งในภาพไม่เห็น แต่ว่าเมื่อก่อนเนี่ยเราจะเห็นอยู่เยอะ เดี๋ยวนี้ก็หายไป ตุ๊กตุ๊กเนี่ยคุณมีพันล้าน คุณก็ไม่สามารถ branding ประเทศที่เอาคำว่า ตุ๊กตุ๊ก ให้ดังไปทั่วโลกได้ แต่ว่าตรงนี้เราควรจะเอากลับมา แล้วก็เป็นการบริหารจัดการโดยที่ใช้ตุ๊กตุ๊กโดยที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ผมมองว่าจะซัพพอร์ต จะสนับสนุนเอกชนให้ใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เพราะฉะนั้นเนี่ยย่านกลางเมืองแทนที่จะวิ่งไปใกล้ๆ จะนั่งมอเตอร์ไซค์ไปเฉี่ยวไปชน หัวเข่ากระแทกบ้างอะไรบ้าง ก็นั่งตุ๊กตุ๊ก แล้วฝรั่งก็ชอบนั่ง แล้วเป็นไฟฟ้าที่ไม่เปลือง ไม่ก่อมลภาวะ ไม่ก่อให้เกิดเสียง ผมว่าก็จะดี ก็จะเป็นนโยบายหนึ่งในการสนับสนุนนะครับ

 

อ่านเพิ่ม

รีแอคนักแคสเกมดัง ArMzi กับบทสัมภาษณ์ผู้ว่าฯ กทม. จาก workpointTODAY

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า