รองโฆษก อสส. อธิบายเหตุผลเพิกถอนหมายจับเดิมและขอหมายจับใหม่คดีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนดาบตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิตเมื่อปี 2555 เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมชี้แจงแต่ละข้อหาอายุความไม่เท่ากัน
วันที่ 25 ส.ค. 2563 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงคดีที่การไปขอศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส อีกครั้งว่า เหตุผลที่ต้องมีการเพิกถอนหมายจับเดิมและออกหมายจับใหม่ เนื่องจากเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
ส่วนการนับอายุความในแต่ละข้อหาจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุคือในปี 2555 จึงทำให้แต่ละข้อหาตามที่ออกหมายจับใหม่มีอายุความไม่เท่ากัน ดังนี้
1. ข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ประเภท 2 (โคเคอีน) หรือโคเคน โดยผิดกฎหมาย จะหมดอายุความในปี 2565
2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถผู้อื่นเสียหาย มีผู้ถึงแก่ความตาย จะหมดอายุความในปี 2570
3. ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหายและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที มีอายุความเพียง 5 ปี จึงหมดอายุความไปแล้ว
ส่วนขั้นตอนต่อไป หลังจากที่ตำรวจทำสำนวนคดีที่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมเสร็จสิ้นแล้ว อัยการก็จะเร่งนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะทำงานทันที โดยจะดูว่าที่ให้สอบสวนเพิ่มเติมตามที่สั่งการไปนั้นเพียงพอฟ้องหรือไม่ เช่นว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎต่อสังคมก่อนหน้านี้หรือไม่ หากพอฟ้องก็จะเร่งรัดเรื่องการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี ส่วนเรื่องการออกหมายจับสากล เป็นหน้าที่ของตำรวจในการประสานงาน เป็นคนละส่วนกับความรับผิดชอบของอัยการ เว้นแต่จะเข้าสู่ขั้นตอนการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ทั้งนี้ นายประยุทธ อธิบายเพิ่มเติมว่า “คำว่าอายุความทางคดี” หมายถึงการที่ตำรวจ หรืออัยการ ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องศาล เมื่อส่งฟ้องศาลแล้วก็จะหยุดนับอายุความ ที่สำคัญคือต้องติดตามตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องศาลให้ได้