Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเป็นประเด็นใหญ่ของโลกมาพร้อม ๆ กับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงโลก (Climate Change) ซึ่งเหมือนโรคร้ายที่ยิ่งนานวันก็ยิ่งแสดงอาการออกมาชัดเจนมากขึ้น ดังจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโลกต้องพบกับภัยพิบัติรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

นอกจากความเสียหายอันควบคุมไม่ได้จากภัยธรรมชาติแล้ว หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับทรัพยากรธรรมชาติที่นานวันยิ่งถูกถลุงออกมาใช้ในปริมาณที่มากและรวดเร็วเกินกว่าที่โลกจะรับไหว เพื่อตอบรับกับความต้องการของวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยมที่ถูกสร้างให้ความต้องการคงที่พอเพื่อผลิตผลกำไรภายใต้ฉากของคำโฆษณาสวยหรูแห่งการพัฒนาคนหลายส่วนถูกละทิ้งให้ยอมรับ และเสียสละในความเจริญที่พวกเขาไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์มีโอกาสได้พูดคุยกับ สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชน หรือ Community Health Impact Assessment Platform in Southeast Asia เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 ระหว่างลงพื้นที่ถ้ำหินปูน ตำบลดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู จึงนำแง่มุมของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก การจัดการทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมไทยมาฝากกัน

“การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลกในปัจจุบันนี้มันเลวร้ายขึ้นทุกที แล้วก็ความแปรปรวนของอากาศสิ่งที่มันกระทบก็คือเรื่องของการผลิตอาหาร มันไม่ใช่แค่ทำให้เรารู้สึกว่าพายุมันแรงขึ้น เราร้อน หรือเราหนาวมากขึ้น แต่ความแปรปรวนของอากาณแบบนี้มันจะส่งผลต่อการเติบโตของพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะพืชที่มันเป็นอาหาร พอมันมีผลต่อการเติบโตของพืชปุ๊บ แน่นอน มันจะส่งผลต่อเรื่องของอาหารของเราในภาพรวม”  สมพรอธิบายถึงนิยามของสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง จากที่ก่อนหน้านี้เราพูดคุยกันก่อนเริ่มสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการถึงงานวิจัยปี 2562 ที่ชี้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาตินี้นี้จะนำมนุษย์ไปสู่สงครามแย่งชิงทรัพยากร

ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่าไทยเห็นปรากฎการณ์การแย่งชิงทรัพยากรแล้วหรือไม่ เช่นจากกรณีแม่น้ำโขงแห้ง แต่สมพรรีบขัดบทก่อนที่ผู้สื่อข่าวจะเข้าใจผิดเสียก่อน โดยกล่าวว่าเวลาพูดถึงสงครามน้ำอาจจะไม่ได้มีแค่ตัวแปรเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น

“Climate Change เป็นส่วนหนึ่งเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศก็มีผลต่อเรื่องของระบบน้ำ แต่ส่วนหนึ่งที่อาจจะมีผลต่อเรื่องของการจัดการน้ำจนทำให้เกิดสงคราม ปัจจุบันเราก็จะเจอเขื่อน อย่างเช่นกรณีแม่น้ำโขงแห้งในปัจจุบัน ส่วนหลัก ๆ เลยก็คือมันเกิดจากการสร้างเขื่อนหลายตัวบนลำน้ำแล้วมันก็มีการกักน้ำไว้ การไหลตัวของน้ำมันไม่เป็นไปตามธรรมชาติ พอไม่เป็นไปตามธรรมชาติมันก็จะมีผลต่อประเทศที่ใช้น้ำ (คน)ที่เขาปลูกผักอยู่ล่ะ ที่เขาทำการเกษตรอยู่ล่ะ น้ำมันก็ไม่สามารถที่จะเอาไปใช้ในการเกษตรได้ หรืออย่างเช่น มองจากกลุ่มเปราะบางก็ได้ กลุ่มที่ชาวบ้านทำการเกษตรริมโขงของเขานี่ พอน้ำไม่ขึ้นตรงตามฤดูกาลแล้ว ถึงฤดูนี้ฉันควรที่ได้ปลูกผักได้ อยู่ ๆ ปล่อยน้ำมา น้ำท่วมแปลงผักของเขา ตรงนี้ก็เสียหาย ก็จะมีผลต่อเรื่องของพันธุ์ปลาในแหล่งนำ้ด้วย นอกจากตัวเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มันไปคุกคาม”

แฟ้มภาพแม่น้ำโขงแห้งขอด

 

เราเคยเชื่อกันว่าเขื่อนเป็นหนึ่งในตัวแทนของ “การพัฒนา” แต่สมพรกล่าวว่าแนวคิดเรื่องการพัฒนาในยุคนี้ที่บริบททางธรรมชาติเปลี่ยนไป เราต้องรื้อสร้างความคิดเรื่องการพัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

“มันไม่ใช่ว่าบริหารสิ่งแวดล้อมไม่ดี แต่มันหมายถึงเรื่องของว่าการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมันควรที่จะต้องมาคิดใหม่ ในอดีตเวลาที่เราพูดถึงเรื่องของการพัฒนาต่าง ๆ เราก็จะเอาเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติมาใช้”

เธอยกตัวอย่างการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ของไทย ที่ในอดีตเราเชื่อว่าจะนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่คำนึงว่าทรัพยากรนั้น ๆ ก็มีวันหมด มิหนำซ้ำยังไม่ได้คำนึงถึงผลเสียทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่จะตามมา

“อย่างเช่น เราเจอแก๊สในอ่าวไทย สี่สิบปีที่แล้วเราเจอแก๊สในอ่าวไทย เราก็บอกว่า เราก็จะตื่นเต้น เราก็จะเป็นประเทศอุตสาหกรรม เรามีโรงกลั่นน้ำมัน เรามีปิโตรเคมีที่ใหญ่มาก แต่สุดท้ายภายใต้ความสะดวกสบาย แต่ว่าเราก็ต้องมาแบกรับกับมลพิษทางอากาศ มีสารก่อมะเร็งเต็มไปหมดเลย ปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล มีปลาตายไปหมดเลย มีสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในทะเล ในแหล่งน้ำใต้ดิน ในน้ำผิวดิน ในขณะเดียวกันมันก็จะมี อย่างเช่น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ต้องการใช้น้ำ ก็จะต้องดึงน้ำจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่เข้าไปป้อนให้อุตสาหกรรม ซึ่งเกษตรกรรมเองนี่ก็ไม่ได้รับการที่จะจัดสรรน้ำลงไป มันก็จะเกิดการแย่งชิงแบบนี้ ในอดีตเราก็จะเจอแก๊สเราก็เอามาใช้ เราไปขุดเจอแร่ เราก็เอาแร่ตรงนั้นขึ้นมาทำอุตสาหกรรมแล้วมันก็เกิดเรื่องของมลภาวะเต็มไปหมดเลย แต่ว่าในปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะทำตัวแบบเดิมได้อีกแล้ว ต้องมาดูว่าท่ามกลางสภาวะแวดล้อม ซึ่งอากาศก็เป็นพิษ ในขณะซึ่งน้ำใต้ดินผิวดินมันไม่ใช่แค่ไม่พออย่างเดียวภายใต้การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศด้วยนะ มีเรื่องของการ สารพิษที่มันปนเปื้อนเต็มไปอีก ป่าไม้ที่มันลดลง ภูเขาที่มันเคยเป็นแหล่งอาหารเราก็ระเบิดเอาหินไปสร้างถนน สร้างคอนโด สร้างตึกใหญ่ ๆ คือทรัพยากรมีอยู่จำกัดน่ะ อาจจะต้องถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาทบทวนว่าเราจะมาจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมยังไงแล้วเราจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแล้วก็ทรัพยากรเหล่านี้ขึ้นมาได้ยังไงเพื่อที่จะนึกถึงอนาคตของคนรุ่นหน้าด้วย

ที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ออกมาประท้วงเรียกร้องว่าเขาไม่ได้ต้องการการพัฒนาที่พวกเขาถูกทิ้งไว้กับปัญหา ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมมีแนวโน้มที่จะมองว่าคนเหล่านี้ “ขวางการพัฒนา” และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวไม่ยอมเสียสละ เราถามว่าสมพรว่าเธอคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

“พี่คิดว่าจริง ๆ แล้วคนทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ดีมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี พี่ว่ามันเป็นไปตามสิทธิที่ทุกคนเท่าเทียมกันที่มันควรจะได้ มันไม่ได้หมายความว่าเพื่อความสะดวกสบายของคนอีกกลุ่มนึง ฉะนั้นคนกลุ่มน้อยน่ะ คุณจะต้องเสียสละไปเถอะ พี่ว่าเราน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น อย่างเรื่องของเราต้องการพลังงาน แน่นอนแหละเรายังต้องการไฟฟ้า เราต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ว่าถ้าเป็นอดีตก็จะบอกว่า ฉันว่าสร้างเขื่อนเพื่อไปผลิตไฟฟ้า ฉะนั้นมันจะท่วมหมู่บ้านคุณ คุณย้ายออกไปซะ แต่ว่าเรามีทางเลือกอื่นอีกไหม แทนที่จะบอกว่าคนกลุ่มน้อยต้องเสียสละคิดทางเลือกอื่น อย่างเช่นคุณต้องการพลังงาน จะเห็นได้ว่ามันไม่ได้จำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะต้องให้คนออก หรือไม่ต้องจำเป็นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้วคนที่อยู่โดยรอบจะต้องแบกรับมลพิษหรือจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนการประกอบอาชีพเพื่อที่จะได้ไฟฟ้าขึ้นมาสำหรับทุกคน แต่เราอาจจะต้องคิดทางเลือกอื่นแล้ว เราอยากได้ไฟฟ้าแล้วมีทางเลือกไหนอีกไหม ที่เราสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าได้ที่มันไม่จะต้องมีใครต้องเสียสละเพื่อใคร ก็เลยคิดว่าเวลาที่เราพูดถึงเรื่องการเสียสละ เราต้องคิดหลาย ๆ ทางเลือก มันอาจจะไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องมีคนนึงได้แล้วคนนึงต้องเสียแล้วก็ต้องเสียสละไป”

แล้วมองการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันอย่างไร?

“ไม่ตอบโจทย์เลยมันจะต้องกลับมาคิดใหม่ก็คือว่ามันควรจะกระจายอำนาจ (decentralised) ก็คือว่าทุกคน ชุมชนควรที่จะมีสิทธิแล้วก็มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รัฐควรที่จะมองแค่เป็นภาพใหญ่ๆ เป็นภาพใหญ่ แต่ว่ารายละเอียดในการจัดการมันควรที่จะให้ชุมชนเขามีสิทธิเข้าไปบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือชีวิตของเขาเอง”

เธอเริ่มยกตัวอย่างจากในพื้นที่ที่เราอยู่กัน พื้นที่ตำบลดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู มีกรณีพิพาทเรื่องเหมืองหินปูนทับซ้อนกับป่าชุมชน ขณะที่เหมืองหินปูนอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นแหล่งแร่อุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านยืนยันว่าตามระเบียบของกรมป่าไม้กำหนดว่าผู้ประกอบการเหมืองต้องได้รับความยินยอมจากชาวบ้านบริเวณรอบ ๆ เสียก่อน

“การรวมศูนย์ทุกอย่างเช่น กรณีที่ดงมะไฟนี่ สาเหตุของปัญหานี่มันไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวบริษัทเข้ามาบริษัทเข้ามาสัมปทานแล้วก็เขาทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบแล้วก็ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมแค่นั้น จริง ๆ แล้วสาเหตุหลัก ๆ ของมันมันมาจากเรื่องของการกำหนดนโยบาย ในเรื่องของการใช้ทรัพยากร หินก่อสร้าง หินอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นยังไงก็จะมาจากการที่กำหนดนโยบายจากส่วนกลาง ก็คือกางแผนที่ดูแล้วก็ดูแหล่งหินของประเทศไทยว่ามีตรงจุดไหนบ้างแล้วจากนั้นก็ประกาศออกมาซะว่า อ่ะ ให้ตัวตรงจุดนี้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมแล้วก็ให้สิทธิบริษัทเอกชนได้เข้าไปสัมปทานได้ ฉะนั้นพอมันเป็นแบบนี้เสร็จปุ๊บมันก็จะกลายเป็นว่า พอเอกชนเขาพอเอกชนเขามาขอสัมปทาน นโยบายที่รัฐเปิดนะ เพราะรัฐประกาศเป็นแหล่งหินหนิ เขาก็มีสิทธิ เพราะฉะนั้นนักธุรกิจก็บอกว่าเขามีสิทธิที่จะเข้าไปสัมปทาน เพราะว่าเป็นธุรกิจของฉัน พอมาเสร็จปุ๊บชุมชนก็บอกว่าใช้ประโยชน์จากภูเขาตรงนี้อยู่ มันเป็นแหล่งอาหารของฉัน มันเป็นแหล่งเก็บน้ำใต้ดินของฉัน พื้นที่เพาะปลูก พื้นที่เกษตร มาระเบิดตรงน้ีได้ยังไง มันก็เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น กลุ่มนักธุรกิจก็มีความเสี่ยงเรื่องทางธุรกิจ ชาวบ้านเองก็มีความขัดแย้งต่าง ๆ เกิดขึ้น”

ไม่ใช่แค่กรณีดงมะไฟ เธอเชื่อว่าปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศทั้งที่กระบี่ พัทลุง ภาคเหนือ สระบุรี ล้วนเกิดจากการรวมอำนาจการจัดการทรัพยากร โดยปัญหาไม่ได้อยู่แค่ในอุตสาหกรรมเหมืองหิน แต่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น พลังงานก็มีปัญหานี้

“ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเวลาที่มันมีการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางแล้วมันไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างดีพอมันก็จะเกิดความขัดแย้ง อันนี้อย่างเช่นเรายกตัวอย่างเรื่องของนโยบาย เรื่องของหินเนอะ นโยบายพลังงานก็เหมือนกัน คือวางแผนพัฒนาพลังงานของประเทศแผน PDP ก็จะเห็นได้ว่ามีคณะกรรมการส่วนี้มีแผนกำหนดว่าตกลงแล้วการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าปีนี้จะกี่เปอร์เซ็นกี่เปอร์เซ็นแล้วจะต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ถ้าเราต้องการที่จะนำพลังงานมาป้อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ มันจะต้องมาจากไหนบ้าง ก๊าซ ถ่านหิน นิวเคลียร์ เขื่อน พลังงานแสงอาทิตย์ต่าง ๆ มันก็ต้องถูกกำหนดจากคณะกรรมการชุดหนึ่งก็อาจจะต้องมีข้อมูลมาสับสนุนบ้าง แต่ว่าถามว่าสาธารณะที่เขาได้ใช้พลังงานด้วยเขามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือเปล่า และการกำหนดว่าพื้นที่นี้ควรตั้งนิวเคลียร์ พื้นที่นี้ควรจะตั้งถ่านหิน คนในพื้นที่มีสิทธิเลือกหรือเปล่า ไม่ แล้วเราก็จะเห็นปมความขัดแย้งตรงนี้เต็มไปหมดเลย

การกระจายอำนาจ คือการให้คนในชุมชนมีสิทธิตัดสินใจตั้งแต่ช่วงแรกของการกำหนดนโยบาย

“ฉะนั้นปัญหามันอยู่ที่นโยบาย ที่ทุกภาคส่วนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมว่าคนท้องถิ่นที่เขา คือทรัพยากรธรรมชาติอยู่กับเขา เขาไม่ได้มีส่วนร่วมเข้าไปตัดสินใจตั้งแต่วางนโยบายเลย อยู่ ๆ เขามาเห็นอีกทีนึง อ้าว โครงการมาถึงบ้านเขาแล้ว แล้วเขาจะรับมือกับมันยังไง แล้วเขาจะเข้าไปมีส่วนร่วมยังไง แล้วเสียงของเขาจะมีความหมายแค่ไหน ฉะนั้นตรงนี้มันเป็นปัญหาเต็มไปหมดเลย ฉะนั้นถ้าจะแก้เรื่องนี้ ในทุกเรื่องเลยต้องแก้ตั้งแต่การกำหนดนโยบายสาธารณะ ว่าทุกภาคส่วนควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ นโยบายสาธารณะนี่มันควรที่จะคำนึงถึงเรื่องของความเป็นธรรม คือมันควรจะเป็นนโยบายที่จะยึดประโยชน์สาธารณะจริง ๆ ที่มันไม่ควรจะถ่างความเหลื่อมล้ำน่ะ”

ทั้งนี้ เพราะการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ มีผลโดยตรงว่าประชาชนในพื้นที่จะมีแหล่งอาหาร-น้ำพอสำหรับยังชีพหรือไม่

“ยกตัวอย่างที่เรามาที่ดงมะไฟ แล้วก็เกี่ยวข้องกับที่เราคุยเรื่องของวิกฤตอาหาร วิกฤตน้ำที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างตอนนี้ดงมะไฟเนี่ยมันเป็นที่ภูเขา นิเวศน์แถวนี้มันเป็นแหล่งอาหาร มันเป็นป่าธรรมชาติ เป็นป่าสงวน แล้วชาวบ้านแถวนี้ก็มีกลุ่มอนุรักษ์ป่าของเขา แล้วเขาก็มีป่าชุมชนด้วย ฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้เขาใช้เป็นแหล่งอาหารเป็นหลักเลย ฉะนั้นเวลาเขาต่อให้วันนึงเขาไม่มีเงิน ไม่มีอะไร เขาเดินเข้าป่าเขาก็มีอาหารกินครบ 3 มื้อ ก็พอยังชีพอยู่ได้ แล้วเขายังพอสามารถที่จะมีตัวเก็บผักเก็บอะไรไปขายเป็นรายได้เสริมได้อีกตามฤดูกาล ถ้าวันนึงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ลูกหลานที่ไปทำงานอยู่โรงงานทำงานในเมือง โรงงานปิดตัวลง เขากลับบ้านมา ถ้าไม่มีอะไรอย่างน้อยเขาก็มีอาหารกิน แต่ถ้ากลับบ้านมาแหล่งอาหารตามธรรมชาติก็ไม่เหลือแล้ว แล้วกลุ่มพวกนี้”

เธอกล่าวว่าการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร เกี่ยวข้องโดยตรงกับปากท้องของคนในพื้นที่และนำไปสู่อาชญากรรมในสังคมได้เมื่อคนไร้ที่พึ่งตามธรรมชาติ

“เขาจะยังชีพได้ยังไง กลุ่มที่เปราะบาง กลุ่มคนจนที่สุด พวกที่มีรายได้ประจำก็อาจจะรู้สึกว่าฉันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่เรากำลังพูดถึงกลุ่มคนจนในสังคมน่ะ ที่เขาด้อยโอกาส กลุ่มพวกนี้พอเขาหลังชนฝาถามว่าเขาจะชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปยังไง โอกาสที่มันจะเกิดปัญหาเรื่องของการลักเล็กขโมยน้อยเพื่อความอยู่รอด มันก็จะผลักชีวิตไปในทางลบมากขึ้น อันนี้มันก็จะเป็นผลสืบเนื่องตามมา เป็นผลกระทบทางสังคมที่มันอาจจะมองไม่เห็นแต่มันถูกซ่อนอยู่ หรือความเครียดที่มันเกิดขึ้นต่าง ๆ มันก็อาจนำมาสู่ความรุนแรงในบ้าน ในชุมชน อันนี้มันเป็นมิติทางสังคมที่มันซ่อนอยู่”

สมพรทิ้งท้ายว่าปัญหานี้อยู่ในขั้นของวิกฤติการณ์แล้ว หากใส่ใจชีวิตของคนรุ่นหน้าก็ต้องเร่งฟื้นฟูและเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรเสมือนเป็นสิ่งที่มีอยู่ไม่จำกัดโดยไว

“ฉะนั้นการพยายามที่จะรักษาทรัพยากรธรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมให้ดีทุกคนก็จะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย แล้วเขาก็จะสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพอยู่ได้มันช่วยลดผลกระทบด้านนี้ออกมาได้เยอะเลย โดยเฉพาะในยุคที่มันการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมันกำลังเข้าขั้นวิกฤติ แล้วมันจะนำไปสู่วิกฤติอาหาร วิกฤติน้ำ เรายิ่งควรที่จะต้องใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างระมัดระวัง แล้วเราก็ควรจะต้องฟื้นฟูที่มันเสียหาย ที่เราเคยใช้ ที่คนรุ่นก่อน ๆ ใช้มาแล้ว เราควรจะต้องฟื้นฟูให้มันกลับมาใกล้เคียงมากที่สุด เพื่อให้คนรุ่นหน้าใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไม่ยากลำบากมากนัก”

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า