Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เกิดอะไรขึ้นกับจีนตอนนี้ที่เศรษฐกิจทำท่าซึมยาว สถานการณ์นี้ย่อมส่งผลกับไทยและอีกหลายประเทศ เมื่อเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับจีนอย่างมาก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและธุรกิจการค้าต่าง ๆ

TODAY Bizview สรุปสถานการณ์จีนที่จำเป็นต้องรู้ในตอนนี้ให้ฟัง

ปัญหาของจีนตอนนี้ ไล่เรียงจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาส่งออกชะลอตัว ปัญหา Trade War กับสหรัฐอเมริกา ที่ลามมาเป็น Tech War งัดกันตั้งแต่ชิปเซมิคอนดักเตอร์จนถึงแข่งกันเป็นผู้นำเอไอ หนำซ้ำยังซ้ำเติมด้วยปัญหาวิกฤตความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจเอกชนที่มีต่อรัฐบาลสีจิ้นผิง นับตั้งแต่ที่จีนออกนโยบายต่อต้านการผูกขาดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ส่งผลต่อบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆของจีนทั้งเทนเซ็นต์ อาลีบาลา ฯลฯ ตอนนั้นจีนประกาศว่าจะพยายามลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำและคนจนส่วนใหญ่ลง แต่วิธีนี้กลายเป็นปัญหาห่วงโซ่ตามมาจนคนว่างงาน โดยเฉพาะการว่างงานในกลุ่มคนรุ่นใหม

จีนประกาศจีดีพี ไตรมาสล่าสุดเติบโตได้ต่ำ 6.3% ผิดคาดจากที่นักวิเคราะห์ประเมินว่าน่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 7% เพราะมีการเปิดเมืองคลายล็อคดาวน์แล้ว

ตัวเลขคนว่างงานในจีนตอนนี้เยอะขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนเพิ่งเรียนจบ ทำให้เกิดเทรนด์อาชีพใหม่ ที่คนรุ่นใหม่ไปสมัครทำงานเป็น “ลูก Full Time” ให้พ่อแม่จ้างทำสารพัดเรื่องจิปาถะให้และจ่ายเงินเดือนให้พวกเขาแทน ที่กลายเป็นแบบนี้มีการวิเคราะห์ว่า พอทางการจีนเข้มงวดกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมาก ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจนการจ้างงานลดลง ขณะที่คนรุ่นใหม่ในจีนส่วนมากเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีกันมา ผลคือตลาดงานด้านเทคโนโลยีมีไม่พอกับกลุ่มคนเรียนจบใหม่ และยังมีคนที่ตกงานถูกเลิกจ้างในธุรกิจเทคโนโลยีด้วย ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น

ส่วนปัญหานอกประเทศคือความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาที่มีผลต่อเศรษฐกิจ

สภาพจีนตอนนี้นักวิเคราะห์ต่างคาดหมายว่าเศรษฐกิจจีนจะยังไม่ฟื้นกลับมาได้ในยุคก่อนโควิด จะซึม ๆ แบบนี้ไปอีกระยะ

สิ่งที่จะฉุดเศรษฐกิจจีนให้ซึมยาว คือวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่กินสัดส่วนจีดีพีมาก เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจของจีน แต่ตอนนี้สภาพตลาดอสังหาฯในจีนยอดขายบ้านต่ำมาก บริษัทอสังหาฯต้องลดพนักงานลง

วิกฤตอสังหาฯของจีน(เล่าแบบรวบรัด) เกิดจากผู้ประกอบการ บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ต่างนำเงินจากยอดขายพรีเซลที่ร้อนแรง รวมทั้งกู้ยืมจากธนาคารมาขยายการลงทุนในโครงการอสังหาต่อไปเรื่อย ๆ เข้าทำนองหมุนเงิน ทำแบบนี้อยู่หลายปี จนต่อมารัฐบาลจีนออกกฎเกณฑ์ ตรวจสอบและประเมินการกู้ยืมของบริษัทพัฒนาอสังหาฯให้เคร่งครัดขึ้น หรือที่เรียกว่านโยบายสามเส้นแดง (Three red lines) ที่การจะปล่อยกู้ให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯได้ต้องเข้าเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้นสุด ๆ

จังหวะของนโยบายนี้ออกมาเมื่อปี 2020 ดันเป็นช่วงก่อนเกิดเหตุโควิดไม่กี่เดือน ผลคือ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาจากโควิดเข้าไปด้วยอีก ภาคอสังหาฯเลยเกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบ มีโครงการก่อสร้างอสังหาฯที่สร้างไม่ได้ตามแผน ผู้คนตื่นตระหนกกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค เมื่อผู้คนกลัวไม่กล้าจ่ายสินเชื่อบ้าน เพราะห่วงว่าจะสร้างไม่เสร็จ ทั้งยังไปแห่ถอนเงินออกจากธนาคารที่ปล่อยกู้อสังหาฯด้วย และหันมาเน้นเก็บออมเงินมากขึ้นแทนการลงทุนอสังหาฯ ภาคธุรกิจอสังหาฯจึงซบเซา จนตอนนี้แม้แต่โครงการก่อสร้างเสร็จแล้วก็ร้างไม่มีคนซื้อ ตอนนี้ราคาอสังหาฯในจีนมีราคาลงมาอย่างมาก ถึงขนาดที่บางโครงการในบางเมืองจัดโปรโมชั่นลดแล้วไม่พอ แถมแล้วแถมอีก คอนโดบางโครงการแถมเป็นชั้นให้ก็ยังมี

อีกจุดสำคัญ คือ นโยบายที่เคร่งครัดของรัฐบาลสี จิ้นผิง ที่มีต่อภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่ทำให้เอกชนต่างระแวดระวังมากขึ้น กรณีเชือดไก่ให้ลิงดูคือการลงโทษปรับเงินเทนเซ็นต์ และอาลีบาบาประเด็นการผูกขาด

รวมแล้วจีนกำลังเจอปัญหาสงครามการค้า นโยบายเคร่งครัดของตัวเองต่อภาคเอกชน ส่งออกไม่ดี อสังหาฯกำลังวิกฤต การบริโภคในประเทศไม่ฟื้น

พอไปติดตามดูบรรยากาศภาคเอกชนในจีนตอนนี้ ต่างก็ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลสี จิ้นผิงจะสนับสนุนธุรกิจเอกชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้จริงหรือไม่ แม้ก่อนนี้ ‘คณะโปลิตบูโร’ ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางและนโยบายของจีนจะออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีมาตรการที่จะออกมาเพิ่มให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการและนักลงทุนบอกว่า กำลังรอดูมาตรการที่เป็น ‘รูปธรรม’ ไม่ใช่แค่คำแถลง หนึ่งในนั้นที่หวังกันไว้ คือ นโยบายผ่อนคลายภาคอสังหาฯ

ตอนนี้จีนต้องทำอย่างไร นักวิเคราะห์บอกว่า หัวใจสำคัญ คือต้องเร่งฟื้นการลงทุนภาคเอกชนและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน สี จิ้นผิงบอกว่าจะดึงเศรษฐกิจออกจากวิกฤตความเชื่อมั่นที่รุนแรงให้ได้

ทางการจีนประกาศจะเร่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น ให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น เพราะสภาพตอนนี้ผู้คนรู้สึกไม่มั่นใจและกังวลจึงเลือกจะเก็บออมเงินไว้แทนที่จะใช้จ่าย ทำให้วงจรเศรษฐกิจที่ซึมอยู่แล้วยิ่งซึมไปอีก

ตอนนี้ธุรกิจจากต่างประเทศที่มาลงทุนในจีนก็เกิดความกังวลกับอีกเรื่อง นั่นคือ “กฎหมายต่อต้านการสอดแนม” ฉบับแก้ไขใหม่ของจีนที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้่นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กฎหมายนี้จีนต้องการจะเพิ่มความมั่นคงด้านไซเบอร์ ถ้าไปดูเนื้อหาสาระของกฎหมายฉบับนี้เข้มข้นมากเกี่ยวกับการระแวดระวังกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเป็นการเข้าข่ายจารกรรมความลับของชาติ แน่นอนว่ากฎหมายนี้มีผลทางจิตวิทยาต่อบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีน

สัญญาณความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่แผ่รัศมีให้เห็นชัดเจนเลย คือสัปดาห์ที่แล้ว Ark Invest บลจ.ดังสัญชาติสหรัฐฯ เจ้าของกองทุนหุ้นเทคโนโลยีที่ขึ้นชื่อเรื่องสร้างผลตอบแทนทะลุเพดานมานักต่อนัก ประกาศว่า กองทุนเรือธงอย่าง ‘Ark Innovation ETF’ (ARKK) ที่เน้นลงทุนในหุ้นนวัตกรรม มีการลดสัดส่วนหุ้นจีนจนเหลือศูนย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีน

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ในจีนว่าทำไมเศรษฐกิจจีนถึงดูซึมยาวกว่าที่คิด และทำไมภาคเอกชนจีนถึงมีปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล สี จิ้นผิง

สภาพนี้ทำให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทยส่วนที่เชื่อมโยงและพึ่งพาจีนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวว่าที่สุดแล้วครึ่งปีหลังนี้นักท่องเท่ียวจีนอาจไม่มา(เข้าเป้า)ตามนัด

 

 

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า