Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

การสู้รบในสมรภูมิยูเครนที่กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ดูเหมือนว่าตัวละครจะไม่ใช่แค่สองประเทศคู่ขัดแย้ง แต่ยังมีมหาอำนาจของโลกเข้ามามีบทบาทสำคัญ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้กำหนดอนาคตสงคราม 

ฝ่ายหนึ่งคือสหรัฐฯ มหาอำนาจแห่งซีกโลกตะวันตก ที่กำลังเล่นบทผู้นำชาติพันธมิตรในยุโรป คอยมอบความช่วยเหลือ สนับสนุนอาวุธแก่ยูเครน เพื่อไปต่อสู้รับมือกับผู้รุกรานอย่างรัสเซีย ขณะที่อีกฝ่ายก็เป็นถึงมหาอำนาจในโลกตะวันออกอย่างจีน ซึ่งออกตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในสงครามมาตั้งแต่แรก ทั้งยังเสนอตัวจะเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ท่ามกลางข้อกังขาถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย 

สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้กลายมาเป็นประเด็น จุดชนวนความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่คุกรุ่นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ให้โหมกระพือมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่จีนกำลังถูกตั้งคำถามถึงจุดยืนที่แท้จริงต่อสถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อมาปีกว่า แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่จีนระบุว่ารัสเซียเป็นผู้รุกรานในสงครามนี้ตามที่ประชาคมโลกเห็นสอดคล้องกัน 

ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจ ปะทุหนักขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลว่า จีนอาจมีแผนส่งอาวุธช่วยรัสเซียทำสงครามในยูเครน ก่อนจะเริ่มเดินเกมปรึกษาชาติพันธมิตรถึงความเป็นไปได้ที่จะคว่ำบาตรจีน หากมีการส่งอาวุธช่วยรัสเซีย ทำให้จีนออกมาตำหนิและตอบโต้ว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูล ทั้งยังย้ำซ้ำๆ ด้วยว่า จีนสนับสนุนการเจรจาอย่างสันติ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะคลี่คลายความขัดแย้งลงได้ 

สำนักข่าวรอยเตอร์สได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ที่มาจากการทบทวนบทความเกือบ 100 บทความในวารสารด้านกลาโหมมากกว่า 20 ฉบับ เผยให้เห็นอีกมิติที่กำลังเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งก็คือการห้ำหั่นดูเชิงกันระหว่างมหาอำนาจของโลกทั้งสองชาติ 

รอยเตอร์สระบุในรายงานว่า จากการวิเคราะห์บทความเหล่านั้น เผยให้เห็นความเคลื่อนไหวสำคัญในอุตสาหกรรมทางการทหารของจีนว่า มีการเฝ้าจับตาและพิจารณาถึงแสนยานุภาพของยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านการทหารของสหรัฐฯ ในช่วงที่สหรัฐฯ ส่งอาวุธและมอบความช่วยเหลือให้กับยูเครน 

บทวิเคราะห์ชี้ว่า เทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่จีนกำลังเฝ้าจับตาคือ ดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) รถถังประจัญบาน และเฮลิคอปเตอร์ต่อต้านจรวดพิฆาตรถถังจาเวลิน (Javelin) เพื่อวางแผนเตรียมรับมือหากสหรัฐฯ นำเทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์เหล่านี้มาใช้ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในภูมิภาค 

รอยเตอร์สอธิบายว่า ที่จีนให้ความสนใจกับดาวเทียมสตาร์ลิงก์ เพราะเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำที่มีความโดดเด่นในเรื่องการให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในด้านการติดต่อสื่อสารในสมรภูมิที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทำลายโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสาร หรือแม้แต่มีการรบกวนสัญญาณวิทยุสื่อสารแบบธรรมดา โดยมีบทความด้านกลาโหมของจีนเกือบ 10 ชิ้นกล่าวถึงเทคโนโลยีนี้ ในแง่ของความจำเป็นที่จีนจะต้องมีเทคโนโลยีในระดับที่เท่าเทียมกัน หากเกิดศึกกับสหรัฐฯ ขึ้นจริง 

“ประสิทธิภาพยอดเยี่ยมที่สตาร์ลิงก์แสดงให้เห็นในสมรภูมิยูเครน จะกระตุ้นให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างกว้างขวาง รวมถึงในการสู้รบที่อาจจะเกิดขึ้นในเอเชีย” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมการทหารแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ระบุในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง และเสริมว่า “สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จีนจะต้องพัฒนาเครือข่ายดาวเทียมให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน เพื่อหาวิธีทำลาย หรือปิดการใช้งานเครือข่ายดาวเทียมนี้ให้ได้

นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ส ยังค้นพบประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือเหล่านักวิจัยชาวจีนต่างก็มองเห็นไปในทางเดียวกันว่า ปัจจุบันการทำสงครามด้วยโดรนนั้น มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนมากกว่า จากที่เห็นในสมรภูมิยูเครน และขณะเดียวกัน บรรดานักวิจัยต่างก็กระตุ้นให้รัฐบาลเรียนรู้จากความเสียหายของรัสเซียในสมรภูมิที่เกิดจากขีปนาวุธสติงเจอร์ (Stinger) และจรวดพิฆาตรถถังจาเวลิน (Javelin) 

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สระบุว่า ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเหล่านี้ไปยังกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แต่ไม่ได้การตอบสนองกลับมา จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อสรุปดังที่กล่าวมาจะสามารถสะท้อนความคิดของผู้นำด้านการทหารจีนได้มากน้อยเพียงใด 

แต่คอลลิน โก๊ะ นักวิชาการด้านความมั่นคงจากมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า ความขัดแย้งในยูเครนเป็นแรงผลักดันให้บรรดานักวิทยาศาสตร์การทหารของจีนพยายามที่จะพัฒนาแบบจำลองสงครามไซเบอร์ และคิดหาวิธีป้องกันระบบต่อต้านอาวุธสมัยใหม่ของชาติตะวันตกให้ดีขึ้น 

“สตาร์ลิงก์เป็นเรื่องใหม่ที่พวกเขาต้องกังวล เพราะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลเรือนขั้นสูงกับการทหารในแบบที่พวกเขาไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายๆ” โก๊ะกล่าว และระบุต่อว่า นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว เขาไม่แปลกใจเลยหากว่าจีนจะกำลังศึกษาปฏิบัติการของทั้งสองฝ่ายในสมรภูมิยูเครน เพราะสำหรับจีนแล้ว แม้จะมีการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอยู่ตลอด แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือประสบการณ์การรบในสนามจริงของกำลังพล นับตั้งแต่สงครามเวียดนามในปี 1979 จนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 จีนก็ไม่เคยทำสงครามใหญ่กับชาติใดอีกเลย 

 

ที่มา Reuters

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า