Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในโลกทุนนิยม เงินเปรียบเสมือนออกซิเจน ทุกคนต้องการในระดับที่เพียงพอเพื่อมีชีวิตรอด หากใครไม่มี ก็ขาดใจตายได้ง่ายๆ

แต่ในประเทศไทย ประชาชนหลักล้านคนยังคงเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และต้องดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อไขว่คว้าอากาศหายใจ เป็นความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกอยู่คู่สังคมไทยมาหลายทศวรรษ

ยิ่งโควิด-19 แพร่ระบาด ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยยิ่งแยกห่างกันมากขึ้น โดยธนาคารโลกเปิดเผยว่ามีคนไทยยากจนมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาราว 1.5 ล้านคน จากการตกงานและจำนวนชั่วโมงที่ทำงานต่อวันลดลง ทำให้ขาดเงินมาหมุนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

นอกจากการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เข้าใจสถานการณ์และใส่ใจประชาชนทุกกลุ่ม หนึ่งในหนทางบรรเทาปัญหานี้คือการใช้พลังของเทคโนโลยีทางการเงินหรือ ‘FinTech’ เข้ามาช่วยผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อย่างเท่าเทียมกัน

แต่ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ลงทุนทำ FinTech ในไทยเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะยังมีอุปสรรคอยู่ เพราะต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูงกว่า ต้องผ่านข้อบังคับต่างๆ และอาศัยการลงทุนระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

คำถามคือ ในวันที่ลมหายใจของคนจนกำลังรวยริน ภาครัฐ ธนาคาร นักลงทุน และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพควรทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อผลักดันให้ FinTech ที่ช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสเติบโตในไทยและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทั่วทุกภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน

[ กลไกช่วยคนยากจนให้เข้าถึงบริการทางการเงินด้วย FinTech ]

คนยากจนอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ‘คนชายขอบ’ และ ‘ผู้ต่อสู้ดิ้นรน’ ตามงานวิจัยชื่อ ‘การวิจัยความเหลื่อมล้ำในระดับโลก : คำอธิบายว่าด้วยชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยร่วมสมัย’ ของ ผศ. ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ และคณะ

โดย ‘คนชายขอบ’ หมายถึงกลุ่มผู้ที่เกิดมาโดยไม่มีต้นทุนชีวิตจากรุ่นพ่อแม่ ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการใด เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน หรือผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง

ส่วน ‘ผู้ต่อสู้ดิ้นรน’ คือกลุ่มคนที่พอมีทุนทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง เข้าถึงสวัสดิการบางส่วน แต่เสี่ยงตกงานได้ง่าย หากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อย่างภัยธรรมชาติหรือโรคระบาดอย่างโควิด-19 เช่น ผู้ประกอบอาชีพค้าขายรายวัน

บริการทางการเงินที่คนกลุ่มนี้ใช้เป็นหลักคือ ‘Save, Spend, Lend และ Pay’ หรือการออม ซื้อของ กู้ยืม และชำระเงิน

แม้เป็นบริการพื้นฐาน แต่ข้อมูลจาก LINE BK ในเดือนตุลาคมปี 2562 พบว่า ในไทยมีกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (Unbanked) ประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็น 18%

ส่วนอีก 45% เป็นผู้ใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน (Underbanked) คือมีบัญชีกับสถาบันการเงิน แต่เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์อื่นและไม่ได้เก็บออมในระยะยาว

สาเหตุมีหลายข้อ เช่น ธนาคารอยู่ห่างไกล การเดินทางไปไม่คุ้มค่า ไม่กล้าไปธนาคารเพราะกลัวถูกปฏิเสธ หรือขาดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เป็นต้น

แต่หลังจากที่ธนาคารพัฒนา FinTech มาช่วยขยายบริการทางดิจิทัล ทำให้เกิดการใช้จ่ายผ่าน QR Code พร้อมกับที่ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้มากขึ้นถึง 50 ล้านคน

รวมทั้งถูกกระตุ้นให้ใช้งานจากโครงการเยียวยาของภาครัฐช่วงโควิด-19 การเข้าถึงบริการทางการเงินประเภท Save, Spend และ Pay จึงสะดวกขึ้น ธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นเมื่อเห็นโอกาสของตลาดก็ร่วมเข้ามาเล่นในสนามนี้

เช่น เมื่อปีที่แล้ว LINE จับมือกับธนาคารกสิกรไทย จัดตั้ง LINE BK เพื่อเปิดบริการ ‘Social Banking’ ให้คนทำธุรกรรมบนช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลบน LINE

นอกจากช่องทางออนไลน์ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีมาตรการสนับสนุนให้มีตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) เพื่อกระจายการให้บริการ เช่น ‘ตู้บุญเติม’ ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 130,000 ตู้ กระจายอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ

โดยในปีนี้ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (FSMART) เตรียมเปิดให้บริการถอนเงินสดผ่านตู้บุญเติม เพื่อให้เป็น ‘Mini ATM’ หรือตัวแทนธนาคารชุมชนที่ใช้รับ ฝาก ถอนเงิน ได้อย่างเต็มรูปแบบ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน

[ การกู้ยืมในวันที่ครัวเรือนไทยมีหนี้มหาศาล ]

ส่วนบริการด้านกู้ยืม (Lending) ยังคงมีอุปสรรคในการเข้าถึงอยู่บ้าง โดยทั่วไปแล้วผู้มีรายได้น้อยสามารถขอกู้ยืมผ่านบริการ 3 รูปแบบหลัก คือ

1.Microfinance จากธนาคารพาณิชย์และ Non-bank ต่างๆ เช่น สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชุมชนเป็นหลัก

2.Nano Finance หรือสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ไม่แน่นอน เพื่อให้นำเงินไปประกอบอาชีพ รวมถึงช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ

การกู้ยืมประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ยังต้องผ่านการตรวจเอกสารและประวัติ และต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการกู้ยืมทั่วไปในระบบ โดยมีเพดานอยู่ที่ 33% ต่อปี แต่ก็ถือว่าถูกและปลอดภัยกว่าการกู้ยืมนอกระบบ

3.Pico Finance หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ให้กู้ยืมเพื่อนำเงินไปใช้ในเรื่องอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยมีข้อจำกัดคือผู้ยื่นกู้ต้องมีถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดเดียวกับผู้ปล่อยกู้

แต่ที่ผ่านมา คนจำนวนมากยังไม่สามารถขอกู้สำเร็จ แม้จะลองขอจากหลายแห่ง เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอน

หรือถึงมี ก็ยังคงต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน เพราะสถาบันการเงินจำเป็นต้องตรวจสอบประวัติให้มั่นใจว่าผู้ยื่นกู้มีความสามารถและยินดีที่จะจ่ายเงินคืนเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสีย

ยิ่งเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ยอดหนี้เสีย (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น 12% จาก 3.92 แสนล้านบาทในปี 2562 เป็น 4.63 แสนล้านบาทในปี 2563 และหนี้ครัวเรือนระดับประเทศก็พุ่งสูงทะลุ 90% ของ GDP ในไตรมาส 1 ปีนี้

กล่าวโดยง่ายคือ หากประเทศไทยเป็นคนหนึ่งคนที่มีรายได้ 100 บาท เขาจะต้องนำเงินไปจ่ายหนี้เกือบ 90 บาท

สถานการณ์แบบนี้ทำให้การกู้ยืมในระบบเป็นเรื่องยาก แต่ความต้องการกู้ของประชาชนยังคงสูงขึ้นทวีคูณ อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ หากดูช่วงไตรมาสสองของปี 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ครั้งแรก จะพบว่าจำนวนการค้นหาคำว่า ‘เงินกู้’ และ ‘เงินด่วน’ ใน Google Trends เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

เมื่อสิ้นหนทาง หลายคนเลือกไปกู้ยืมเงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ทั้งที่ยังจัดการหนี้ก้อนเก่าไม่หมด พอจ่ายคืนตามกำหนดไม่ได้ ดอกเบี้ยก็ถูกทบไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นวงจรอันเลวร้าย และสถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้อีกต่อไปแล้ว

[ ในวิกฤตยังมีโอกาส ด้วยศักยภาพของการให้บริการทางดิจิทัล ]

แต่ข้อจำกัดของการกู้ยืมเงินกำลังค่อยๆ ถูกแก้ไขในปัจจุบัน เมื่อ FinTech เข้ามาช่วยธนาคารและบริษัทที่ให้บริการทางการเงินสามารถปล่อยกู้ผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Lending)

โดยอาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อจากหลายแหล่งเพื่อพิจารณาการปล่อยกู้ แทนการใช้ข้อมูลดั้งเดิมอย่างสลิปเงินเดือนหรือเครดิตบูโร

เช่น การนำข้อมูลการใช้บริการอินเทอร์เน็ต พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ และการใช้จ่ายบน E-commerce ของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ก่อนตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ หรือเรียกว่าการคำนวณแบบ ‘Alternative Credit Scoring’

รวมไปถึงการพัฒนาขึ้นของเทคโนโลยียืนยันตัวตน (KYC หรือ Know Your Customer) ผ่านระบบดิจิทัล เช่น การส่งหลักฐานยืนยันตัวตนทางออนไลน์ด้วยเทคโนโลยี Biometrics ที่อาศัยข้อมูลทางชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้า

ซึ่งทำให้บริการครอบคลุมไปถึงลูกค้าที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วย ทำให้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสถาบันการเงินเพื่อส่งเอกสาร และไม่จำเป็นต้องรอการพิจารณานานหลายสัปดาห์เหมือนเมื่อก่อน ส่วนผู้ปล่อยกู้เองก็สามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงจากการปล่อยกู้

ยิ่งเก็บข้อมูลได้มากเท่าไร ผู้ปล่อยกู้สามารถใช้เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผลและจัดสรรบริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์การเงินแต่ละคน

เช่นในประเทศจีนที่ธุรกิจด้าน E-commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว JD.com ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลบนแพลตฟอร์มเพื่อปล่อยสินเชื่อระยะสั้นให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน โดยในปี 2562 JD.com สามารถควบคุมความเสี่ยงให้ระดับหนี้เสียอยู่ต่ำกว่า 0.1%

[ เมื่อความรู้ทางการเงินคือวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันชั้นดีสำหรับกลุ่มคนยากจน ]

แม้ FinTech จะช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วยปลายนิ้ว แต่อาจเป็นเพียงยาบรรเทาอาการปวดชั่วคราวเท่านั้น หากคนยังไม่รู้จักวางแผนเก็บออมและสร้างวินัยทางการเงินที่ดี พวกเขาอาจสร้างหนี้ให้พอกพูนจนบานปลาย หรือถูกหลอกจากผู้ประสงค์ร้ายที่หาประโยชน์ผ่านช่องทางดิจิทัล

สิ่งสำคัญที่คนต้องเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วยคือ ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ที่เปรียบเสมือนวัคซีนช่วยป้องกันโรคในระยะยาว ซึ่ง FinTech เข้ามามีบทบาทตรงนี้ได้เช่นกัน

เช่น ‘Noburo’ แพลตฟอร์มสวัสดิการทางการเงินที่เน้นทำงานกับกลุ่มพนักงานผู้มีรายได้น้อยของบริษัทต่าง ๆ โดยสอนความรู้ควบคู่ไปกับการใช้หลัก Gamification ช่วยสร้างพฤติกรรมวางแผนทางการเงินและเก็บออมให้เหมือนเล่นเกม เมื่อทำภารกิจสำเร็จ พวกเขาจึงจะได้รับวงเงินสินเชื่อไว้เบิกถอน พร้อมความรู้ทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ FinTech ไทยที่ช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของสังคม

[ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน FinTech เพื่อผู้มีรายได้น้อยของไทย ]

ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอาจยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดและยังมีข้อควรระวัง เช่น ระบบที่ออกแบบมาเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ให้บริการทางการเงินอาจมีอคติ (Bias) จากผู้พัฒนา ทำให้เกิดเกณฑ์ในการวิเคราะห์ที่ไม่เหมาะสมและกีดกันการเข้าถึงของกลุ่มคนบางส่วนไปโดยปริยาย เป็นต้น

เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม โปร่งใส และ FinTech ที่มุ่งบริการผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเติบโต หน่วยงานกำกับดูแลและภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการปรับข้อกำหนดและแนวทางของผู้ให้บริการทางการเงิน

โดยควรผลักดันให้เกิดโครงสร้างแบบ Open Banking ที่ทุกผู้ให้บริการทางการเงินยินยอมและสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานตามกรอบที่กำหนดอย่างรวดเร็ว

โครงสร้างเช่นนี้จะช่วยให้เกิดการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการที่ใดก็ได้เปลี่ยนธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินไม่ให้มุ่งหวังความได้เปรียบจากข้อมูลที่มากกว่าเพียงอย่างเดียว แต่เน้นไปที่การบริการลูกค้าเป็นหลัก ทั้งนี้ ต้องมีการคุ้มครองข้อมูลของประชาชนโดยอนุญาตให้เก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้นด้วย

นอกจากการกำกับดูแลแล้ว ภาครัฐยังสามารถใช้ FinTech เพื่อพัฒนาการให้บริการทางการเงินตามนโยบายของประเทศ เช่น ในโครงการบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ประชาชนสามารถนำมาลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม ค่าเดินทาง และใช้ซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า

โดยในปี 2564 มีจำนวนผู้ถือบัตรนี้อยู่ 13.8 ล้านคน แต่หากย้อนกลับไปในปี 2560 ปัญหาสำคัญที่พบคือมีผู้มาลงทะเบียนขอรับบัตรคนจนประมาณ 14 ล้านคน

ทั้งที่เมื่อตรวจสอบแล้วพบผู้มีสิทธิตามเกณฑ์ของรัฐเพียง 11 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งอาจมีคนที่ไม่ได้จนตามเกณฑ์ได้รับสิทธิ ในขณะที่คนควรได้รับสิทธิกลับไม่ได้รับ

ในส่วนนี้ FinTech สามารถเข้ามาช่วยเหลือในด้านการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคัดกรองคนได้แม่นยำขึ้น รวมถึงศึกษาต่อได้ว่านโยบายรูปแบบต่าง ๆ ได้ผลไปในทิศทางที่ดีจริงหรือไม่ เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง

[ เมื่อทั้ง Ecosystem ของ FinTech ไทยต้องปรับตัว ]

ในส่วนของผู้ประกอบการ FinTech ที่มุ่งบริการกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและช่วยเหลือสังคม การรวมตัวกันและสร้างเกณฑ์ประเมินความครอบคลุม (Inclusiveness) ของบริษัทเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้น

เพราะที่ผ่านมา นักลงทุนที่มุ่งหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม (Impact Investor) ไม่สามารถจำแนกและประเมินผลกระทบจาก FinTech ประเภทดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เมื่อขาดข้อมูล การตัดสินใจลงทุนจึงเป็นไปได้ยาก

ช่องว่างตรงนี้ทำให้ในต่างประเทศมีหน่วยงานอย่าง MIX และ Center for Financial Inclusion (CFI) ที่ร่วมกันพัฒนามาตรฐานของ ‘Inclusive FinTech’ ขึ้นมาและผลักดัน 50 สตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่ทำงานด้านนี้รอบโลกเป็นประจำทุกปี เป็นหนึ่งในตัวอย่างของระบบนิเวศที่เข้มแข็งและน่าเรียนรู้

ส่วนสถาบันการเงินดั้งเดิมอย่างธนาคาร ซึ่งมีข้อมูลทางการเงินของประชาชนอยู่มหาศาล มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายและเงินทุนก้อนใหญ่ ก็ควรลงทุนใน FinTech เพื่อกลุ่มคนยากจนมากขึ้น

จากการคำนวณของ McKinsey พบว่า ธนาคารอาจสูญเสียรายได้มากถึง 29-35% หากไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาจะไม่ต้องหวังพึ่งธนาคารอีกต่อไป และเปลี่ยนไปใช้บริการทางการเงินจากผู้เล่นรายใหม่ได้ทุกเมื่อ

เช่น กู้ยืมแบบ P2P (Peer-to-Peer Lending) ผ่านแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง จับคู่การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน

ตัวอย่างคือ Zopa แพลตฟอร์มในสหราชอาณาจักรที่จับคู่ผู้กู้ที่ต้องการเงินทุนกับนักลงทุนที่มีเงินเหลือไว้ด้วยกันตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ โดยปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 470,000 รายที่กู้ยืมรวมแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท

โดยในไทยก็มีธุรกิจรูปแบบนี้แล้ว แต่ยังอยู่ใน Regulatory Sandbox ซึ่งเปิดพื้นที่ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ FinTech นำนวัตกรรมทางการเงินมาทดสอบกับผู้ใช้งานจริง ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ยังต้องติดตามต่อในอนาคตว่าบริการรูปแบบนี้จะเป็นอย่างไร หากมีการใช้งานในวงกว้าง

เมื่อสถานการณ์การเงินในระดับโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในสนามอยู่เรื่อย ๆ ทุกภาคส่วนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว รวมถึงร่วมมือกันผลักดันเทคโนโลยีและผู้ประกอบการด้าน FinTech ให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน

เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนมีโอกาสได้รับออกซิเจนที่เพียงพอแก่การหายใจ ไม่มีใครถูกปล่อยให้หลงลืมอยู่ตรงชายขอบและต้องดิ้นรนอย่างสุดกำลังเพื่อมีชีวิตต่อไป

บทความชิ้นนี้เป็นผลงานของ ‘ปัน หลั่งน้ำสังข์’ และ ‘อภิชญา ฉกาจธรรม’ จากทีม The Revolution Times ผู้เข้าแข่งขันการประกวดนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/941872

https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ri-fintech-survey

https://www.marketingoops.com/digital-life/digital-lending/

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_13May2021-3

https://www.the101.world/poor-economics/

https://www.prachachat.net/finance/news-709198

https://thematter.co/thinkers/welfare-card/70624

https://www.prachachat.net/finance/news-617100

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645220

https://www.posttoday.com/economy/news/645037

https://waymagazine.org/informal-economy-and-class/

https://www.cgap.org/research/covid-19-briefing/microfinance-and-covid-19-principles-regulatory-response

https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ri-open-banking-regulation

https://www.gsbresearch.or.th/gsb/economics/8181/

https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Highlights/FSMP2/FinancialAccessSurveyOfThaiHouseholds_2018.pdf

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_17May2021.aspx

http://www.fpojournal.com/pico-finance-thailand/

https://issuu.com/salforest/docs/fintech_and_financial_inclusion-fin

https://www.brandbuffet.in.th/2020/10/line-bk-social-banking-with-personal-loan/

https://www.themix.org/data-standards

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า