SHARE

คัดลอกแล้ว

“การเมืองกับคนไทยมันถูกแบ่งแยกกันมาตลอดว่าอย่าไปแตะ ยิ่งเราเป็นคนในวงการบันเทิงเรายิ่งต้องทำตัวเป็นกลางที่สุด มันก็เลยเป็นอย่างนี้มาตลอด แล้ววันนี้การที่มีคนออกมาพูดมันเลยดูเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันควรเป็นเรื่องปกติ” 

บทสัมภาษณ์ของอวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงวัย 24 ปีที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ในขณะนั้นประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงครุกรุ่นของประเด็นการอุ้มหาย การคุกคามผู้เห็นต่าง สิทธิมนุษยชนและการเมือง กลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้คาดหวังและเรียกร้องให้ผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงแสดงจุดยืนต่อประเด็นเหล่านี้เพราะคนในวงการบันเทิงถูกมองว่าเป็นผู้มีต้นทุนทางสังคมสูงและการสื่อสารของพวกเขาสามารถเรียกความสนใจจากมวลชนได้มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป

จนนำมาซึ่งกระแสเรียกร้องผ่านแฮชแท็ก #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง หากดาราคนใดออกมาแสดงออกหรือ CallOut ก็จะได้รับเสียงชื่นชมและช่วยกันนำผลิตภัณฑ์ที่ดาราท่านนั้นๆ เป็นพรีเซ็นเตอร์มาโปรโมตเพื่อสนับสนุนดาราที่ได้ชื่อว่าเป็น #ดาราประชาธิปไตย แต่หากดาราท่านใดที่ยังไม่สนใจประเด็นการเรียกร้องเหล่านี้เพียงเพราะป้องกันแรงกระทบที่อาจเกิดกับตัวเองหรือแสดงออกในเชิงสนับสนุนแนวคิดฝั่งเผด็จการอนุรักษ์นิยมก็จะถูกคว่ำบาตรทางออนไลน์ด้วยการติดแฮ็ชแท็ก #ดาราสลิ่ม การคว่ำบาตรทางสังคมในยุคโซเชียลมีเดีย (เรียกอีกอย่างว่า Cancel Culture) นั้นเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกในยุคปัจจุบัน

ในสังคมไทยกระแส ‘Cancel Culture’ เริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2563 ที่กระแสการเมืองโดยคนรุ่นใหม่ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง ทำให้เกิดการคว่ำบาตรทางออนไลน์จนนำไปสู่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงต่อผู้มีชื่อเสียงหรือดาราคนนั้นๆ เนื่องจากออกมาแสดงความเห็นที่ขัดแย้งต่อแนวคิดของผู้สนับสนุนหรือมวลชน แต่ขณะเดียวกันผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าปีนี้เองกลับเป็นปีที่คนในวงการบันเทิงเริ่มออกมาแสดงความเห็นหรือแสดงจุดยืนทางการเมืองมากกว่าปีก่อนๆ จึงเกิดคำถามว่าที่ผ่านมาปัจจัยใดที่ทำให้ดาราไทยมักไม่ยอมออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งพบว่าประเด็นการแสดงออกของดารานั้นผูกโยงกับเรื่อง “ทุน” ของค่ายใหญ่ ระบบอุปภัมภ์และการไม่มีสิทธิในผลงานของตนเอง

ดาราในแง่มุมหนึ่งจึงเป็นเพียงแรงงานนอกระบบที่ไม่มีความมั่นคงในสวัสดิการใดๆ ของรัฐ แม้ภาพลักษณ์โดยรวมจะถูกมองว่ามีความหรูหราร่ำรวยรายได้ดี แต่อีกมุมหนึ่งดาราก็เป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังผูกโยงกับการที่สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้คุณค่าด้านงานศิลปะเท่าที่ควร งานศิลปะจึงไม่ได้เป็นตัวแทนของการเมือง ในทางตรงกันข้ามงานศิลปะเช่น ละคร ภาพยนต์ เพลง มักผูกโยงกับเรื่องราวของรักโรแมนติกซึ่งเล่าผ่านตัวละคร (ในที่นี้หมายถึงดาราที่รับบทแสดง) สังคมไทยจึงผูกโยงดาราไว้กับภาพความสวยหรูในนิยายที่จบลงอย่างสุขสมหวัง โดยไม่เคยคาดหวังว่าดาราจะต้องออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นการเมือง ดังนั้นเมื่อดาราออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำให้ผู้ชมรับไม่ได้เพราะคาดหวังจะได้เห็นเพียงความสนุกสนานและความบันเทิงจากดาราเพียงเท่านั้น

นักแสดงกับความเห็นทางการเมือง

จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าด้วยประเด็น ‘Hollywood Should (Mostly) Stay Out of Politics’ หรือ ‘นักแสดงกับความเห็นทางการเมือง’ ระบุว่า “ดาราหรือคนในวงการบันเทิงอยู่ควรจะเป็นบนพรมแดง มากกว่าการออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง” ในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ผลสำรวจโดยส่วนมากจะแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้ต้องการให้ดาราคนดังออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ความเป็นจริงแล้วนักแสดงและศิลปินหลายคนก็มักออกมาแสดงความคิดเห็นของพวกเขาผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) หรือคานเย่ เวสต์ (Kanye West) เป็นต้น

สาเหตุที่คนดังต้องระวังการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเพราะดาราอยู่ในสถานะหรืออยู่ในตำแหน่งที่พิเศษกว่าคนทั่วไป หากคนธรรมดาพูดเรื่องการเมืองบทสนทนานั้นก็เป็นเพียงการคุยกันปกติ แต่ถ้าเมื่อใดที่คนดังออกมาแสดงความเห็น ก็ต้องยอมรับว่าสามารถเรียกความสนใจจากคนในสังคมได้มากกว่าจริงๆ

ส่วนวงการบันเทิงประเทศไทย ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ได้มีสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “บทบาทของศิลปินและละครไทยในปัจจุบัน” ในประเด็นที่ถามว่า การที่นักแสดง นักร้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมีผลทำให้ไม่ติดตามผลงานใช่หรือไม่ ร้อยละ 65.1 บอกว่า  “ไม่ใช่” ขณะที่ร้อยละ 26.4 บอกว่า “ใช่” และร้อยละ 8.5 บอกว่า “ไม่แน่ใจ” ถัดมาในปี 2563 หลังจากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทางหน่วยสลายการชุมนุมได้นำรถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้ามาสลายผู้ชุมนุม ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวจบลงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทุกสายอาชีพหนึ่งในนั้นก็คือดารา นักแสดง กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอิทธิพลและรับหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนพบว่า ดาราที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนประชาธิปไตยมีกลับมียอดผู้ติดตามสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โฟกัส – จีระกุล ยอดฟอลโล่อินสตราแกรม (@focusbabyhippo) ของเธอพุ่งสูงขึ้นกว่า 5 หมื่นคนภายในช่วงไม่กี่วันหลังจากที่เธอออกมาแสดงจุดยืนเรื่องการเมือง

น้ำตาล ชลิตา ส่วนเสน่ห์ (@namtanlitaa) มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สประจำปี 2016 ออกมาโพสต์สนับสนุนการชุมนุมของม็อบวันที่ 17-18 ตุลาคม รณรงค์ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบรวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ ซึ่งถ้านับตั้งแต่วันที่ลงโพสต์สนับสนุนม็อบวันที่17 ตุลาคม เธอมียอดผู้ติดตามเพิ่ม 1 หมื่น 2 พันบัญชี

ระบบอุปถัมภ์ เม็ดเงินโฆษณา สัมปทานผูกขาดและการควบคุมสื่อของรัฐบาล ตัวแปรที่ทำให้ดาราไม่ยึดโยงกับประชาชน

หากย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ของละครโทรทัศน์กับสังคมไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2498 – 2516 พบว่า ในการจัดทำละครแต่ละเรื่อง คณะละครต้องใช้เงินประมาณ 500 – 15,000 บาทโดยเงินที่ได้มานั้น คณะละครได้มาจากผู้อุปถัมภ์รายการซึ่งผ่านนายหน้า เมื่อผู้อุปภัมภ์ให้เงินทุนในการทำละครแล้ว คณะละครก็ต้องจัดละครตามที่ผู้อุปถัมภ์พอใจหรือตามรสนิยมคนดูและต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการจัดทำละครของแต่ละสถานีละครแต่ละเรื่องกว่าจะปรากฎสู่สายตาผู้ชมได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอน “ด้านการเมือง” โทรทัศน์ถือเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการประชาสัมพันธ์สิ่งต่างๆ ให้ประชาชนมาตั้งแต่แรกเริ่ม รัฐบาลมีอำนาจควบคุมรายการต่างๆ ของทุกสถานีและใช้ละครเป็นสื่อระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เพราะละครโทรทัศน์สามารถสื่อสารเรื่องราวกับประชาชนได้และเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลได้โดยที่ประชาชนไม่รู้ตัว (Soft Power) เช่นในปี พ.ศ. 2512 ตอนนั้นจะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร  กระทรวงมหาดไทยจึงจัดแสดงละครเรื่อง “การใช้สิทธิในการเลือกตั้ง” เนื้อเรื่องต้องอยู่ในขอบเขตความต้องการของรัฐบาล รัฐบาลควบคุมโดยผ่านทางสถานีซึ่งมีผลบังคับใช้ต่อคณะละครทุกคณะที่ต้องการหารายได้ อีกประเด็นหนึ่งที่คณะละครต้องคำนึงคือ “รสนิยมของคนดู” ที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคมแต่สุดท้ายแล้วก็ต้องไม่ไปขัดกับหลักเกณฑ์การพิจารณาบทละครด้วย

นอกจากการอุปถัมภ์แล้ว ประเด็นเรื่องของสัมปทานรัฐผูกขาดที่ทำให้ทีวีมีเพียงไม่กี่ช่องโดยเฉพาะในสมัยก่อนมีทีวีดิจิตอล ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ดาราไม่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง บทบาทของสัมปทานรัฐที่ผูกขาดเพื่อทีวีไม่กี่ช่องในยุคก่อนมาจนถึงช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตัลในปัจจุบัน การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ “ทีวีดิจิตอล” ของ กสทช. ใน พ.ศ. 2556 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบ “ใบอนุญาต” ภายใต้คลื่นความถี่ใหม่ จากที่ถูกผูกขาดโดยระบบทีวีของรัฐ-สัมปทานของรัฐ ในทีวีแอนะล็อกเดิมมานานหลายสิบปี การเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จะเป็นโอกาสให้กลุ่มทุนหน้าใหม่เข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจโทรทัศน์แบบฟรีทีวี (free-to-air) มากขึ้น ช่วยทำลายการผูกขาดภายในอุตสาหกรรม อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของกลุ่มทุนสื่อเดิมอีกด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องเม็ดเงินโฆษณา ในอดีตสื่อโทรทัศน์ถือเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย มีอัตราการเข้าถึงประชากร 98% และเป็นแหล่งรวมเม็ดเงินจากการโฆษณามูลค่ามหาศาล ขณะที่แนวทางการผกูขาดธุรกิจของสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยนั้นชัดเจนว่าใช้การผูกสัมพันธ์กับอำนาจทางการเมือง ทั้งการเมืองเชิงโครงสร้าง-สถาบันที่เป็นทางการและสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนธุรกิจสื่อกับขั้วอำนาจทางการเมืองเพื่อผูกขาดช่องทางการทางธุรกิจและกีดกันไม่ให้กลุ่มทุนสื่ออื่นๆ สามารถเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ได้ในลักษณะเดียวกัน กำแพงของการผูกขาดสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยถูกทำลายลงไปบางส่วนด้วยเทคโนโลยีผ่านดาวเทียม เปิดช่องให้กลุ่มทุนสื่ออื่นๆ เริ่มดำเนินกิจการสถานีทีวีดาวเทียมอย่างจริงจัง เริ่มวางระบบการผลิตเนื้อหารายการที่มีคุณภาพ มีความเป็นมืออาชีพสูง มีแผนงานธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น สร้างความหลากหลายในแง่เนื้อหาและลดการผกูขาดความเป็นเจ้าของสื่อลง การแข่งขันในแง่ธุรกิจเช่าเวลา-โฆษณาจะมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ช่วยให้บริษัทหรือองค์กรธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีทางเลือกมากขึ้นและแนวโน้มอัตราค่าโฆษณาเฉลี่ยลดลงด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่โทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลักที่สื่อสารกับคนจำนวนมากของประเทศ บอร์ดของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรียกได้ว่ามีเป็นผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการรับรู้ของประชาชน และมีอำนาจกำกับสื่อ ภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. อำนาจของ กสทช. บิดเบี้ยวมากขึ้น โดยเฉพาะจากอำนาจตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 ที่ให้อำนาจ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ และยิ่งเข้มข้นมากขึ้น เมื่อ คสช. ได้มีประกาศแก้ไขเพิ่มเติมในฉบับที่ 103/2577 ที่ให้อำนาจ กสทช. สามารถสั่งปิด หรือระงับสถานีโทรทัศน์ช่องใดก็ได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าสื่อนั้นอยู่ภายใต้การครอบงำและการกำกับของรัฐและนายทุนมาตลอด โดยที่ไม่สามารถผลิตชิ้นงานหรือผลงานที่มีเสรีภาพทางความคิดได้อย่างแท้จริงเลย

ละครกับสังคมไทยที่ประเด็นทางการเมือง สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่เคยถูกพูดถึง

ละครโทรทัศน์เป็นผลงานการสร้างสรรค์ผลงานของมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในสังคม เมื่อมนุษย์เป็นผู้ผลิตละครโทรทัศน์ ละครจึงมีความสัมพันธ์กับสังคม ละครโทรทัศน์อยู่ใต้อิทธิพลของเงื่อนไขและปัจจัยทางสังคม ทั้งรูปแบบและเนื้อหาย่อมผูกพันกับสังคมและเป็นไปตามสภาพความเป็นจริงในสังคม โดยสภาพสังคมเหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและนโยบายการปกครองของผู้นำแต่ละคน

ในช่วงปี พ.ศ 2498 – 2516 สังคมไทยอยู่ในภาวะที่สับสน ยุ่งเหยิงทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในด้านการเมืองรัฐบาลแต่ละสมัยได้ประกาศนโยบายว่าจะปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย จะปรับปรุงเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้า จะปรับปรุงด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย สุขภาพอนามัยเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและจะส่งเสริมด้านศีลธรรมจรรยาพร้อมทั้งเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงการเมืองไทยตลอดระยะเวลา 19 ปี การปกครองประเทศไทยไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญในทุกยุคทุกสมัย การเลือกตั้งก็มีการโกงคะแนนเสียง มีการปฏิวัติรัฐประหารบ่อยครั้งและภายในกลุ่มผู้ปกครองก็มีความขัดแย้งกันเอง การปกครองในช่วง 19 ปีนั้น เรียกได้ว่าเป็นการปกครองแบบเผด็จการเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิติขจร ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะครึ่งๆ กลางๆ ไม่เข้าใจทิศทางการเมืองที่แน่นอน ในด้านเศรษฐกิจแม้จะมีการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งปรับดุลการค้า สงวนอาชีพให้คนไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้า เปิดการค้าขายกับต่างประเทศเพื่อส่งเสริมสินค้าไทย แต่ประชาชนโดยทั่วไปก็ยังคงอดอยากโดยเฉพาะในชนบทและค่าครองชีพสูงขึ้นในทุกๆ ด้านและทุกปี เมื่อเป็นดังนี้ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ขาดแคลนที่อยู่อาศัย อาชญากรรม นักโทษ มิจฉาชีพและโสเภณีเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประชาชนอยู่ในภาวะกดดันที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่ ทำให้หันเข้าหาไสยศาสตร์และสิ่งเสพติด คอมมิวนิสต์ก็แทรกแซงประเทศมากขึ้นทุกปี ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายปราบปรามอย่างเด็ดขาด

จากสภาพสังคมไทยที่อยู่ในภาวะไม่ดีนักทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะด้านการเมืองสับสนวุ่นวายมาก แต่ละครที่ออกอากาศในช่วง 19 ปีนั้นกลับมีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองอยู่เพียง 5 เรื่องจากทั้งหมด เนื้อเรื่องของละครทั้ง 5 เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหรือเรื่องที่คล้ายกับเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะนโยบายของสถานีที่ห้ามเสนอละครเกี่ยวกับการเมืองและละครที่เป็นปฏิปักษ์หรือขัดต่อนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งประชาชนก็ไม่ให้ความนิยมเพราะสภาพความเป็นอยู่ที่บีบคั้นให้อยู่ในความตึงเครียดทุกๆ ด้าน การดูละครโทรทัศน์จึงดูเพื่อความบันเทิง ผ่อนคลายความตึงเครียดมากกว่าที่จะดูเพื่อตอกย้ำความเป็นจริงที่ประสบอยู่ทุกวัน ช่วงเวลาดังกล่าวจะเห็นได้จากจำนวนละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักมีออกอากาศมากที่สุดถึง 75 เรื่อง โดยใน 75 เรื่องนี้เป็นเรื่องความรักของหนุ่มสาวหรือชายหญิงที่แต่งงานกันแล้ว และถึงแม้ว่าความรักในละครจะมีอุปสรรคต่างๆ นานา คนดูก็คงได้รับความบันเทิงและคลายความตึงเครียดมากกว่าการดูละครที่มีเนื้อเรื่องเหมือนกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่

หากพิจารณาในด้านการจัดทำละครกับสภาพทางสังคมแล้วพบว่า ละครโทรทัศน์ออกอากาศในจำนวนสูงขึ้นทุกปีจากสมัยจอมพล ป. และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่ในยามที่เหตุการณ์การเมืองผันผวนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จำนวนละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศจะลดจำนวนครั้งลงเช่น ช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญญกรรมและเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองประเทศ ละครโทรทัศน์ลดจำนวนออกอากาศลงจนถึงปี พ.ศ. 2509 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2510 ถึงพ.ศ. 2515 ละครโทรทัศน์เริ่มออกอากาศเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปีพ.ศ. 2514 –  พ.ศ. 2515 เป็นปีที่เหตุการณ์บ้านเมืองตึงเครียดโดยเฉพาะด้านการเมือง แต่กลับมีละครออกอากาศในจำนวนสูง แสดงให้เห็นว่าประชาชนเห็นละครโทรทัศน์เป็นเครื่องผ่อนคลายความตึงเครียด แต่พอถึงปีพ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นปีที่มีความผันผวนทางการเมือง มีเหตุการณ์นองเลือดและมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองประเทศ ละครโทรทัศน์ออกอากาศเป็นจำนวนน้อยลงทุกสถานี สภาพทางสังคมจึงมีผลต่อเนื้อเรื่องของละคร จำนวนครั้งและผู้จัดเสนอละครด้วย

จะเห็นว่าตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ละครไทยไม่เคยหลุดพ้นไปจากเรื่องความรักใคร่ของชายหญิงเลย  คำถามคือ ทำไมไทยจึงไม่มีละครที่ทำพล็อตออกมาเหมือนอย่างเรื่อง Tudor หรือ Game of Thrones ของต่างประเทศที่พูดเรื่องการเมืองและอำนาจเลย ? เพราะรสนิยมการชมละครของคนไทยยังไปไม่ถึงหรือเพราะประเด็นเหล่านี้ล้วนยึดโยงกับความเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย การไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงในสังคมจึงไม่เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางความคิดและการสร้างสรรค์งานศิลปะที่สามารถพูดถึงประเด็นทางการเมืองได้ เพราะสังคมไทยอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงพอ ทำให้ดาราไทยวนเวียนอยู่กับการรับบทรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างชายหญิง รักระหว่างชนชั้นหรือเรื่องราวของสามีภรรยาที่ถูกจับแต่งงานทั้งที่ไม่ได้รักกันเพียงเท่านั้น

ดารา : แรงงานนอกระบบที่ชีวิต (ก็) มีความเสี่ยง

เมื่อพูดถึง “แรงงานนอกระบบ” สิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงมักจะเป็นภาพของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว แรงงานนอกระบบหมายถึงคนทำงานทั้งในฐานะเจ้าของกิจการ นายจ้าง และลูกจ้าง ที่อยู่ในภาคการผลิตที่ไม่ได้จดทะเบียนกับรัฐ หรืออาจถูกจ้างงานในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ คือไม่มีสัญญาจ้างชัดเจน ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีสิทธิและไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ ตามกฎหมายแรงงาน หนังสือ Fifty Shades of Work เขียนโดยคุณณัฐเมธี สัยเวช ก็รวบรวมเรื่องราวของแรงงานนอกระบบหลากหลายสถานะ ตั้งแต่ระดับรายได้สูง มีทางเลือกและอำนาจต่อรองค่อนข้างมาก ไปจนถึงรายได้ต่ำ ทางเลือกและอำนาจต่อรองน้อยหรือเรียกได้ว่าแทบไม่มีเลย

ประเด็นนี้คุณ อินทิรา หรือทราย เจริญปุระ ดารานักแสดง กล่าวในเสวนาเปิดตัวหนังสือ Fifty Shades of Work หลายเฉดชีวิตนอกระบบ ณ ร้าน Let’sSay café  หนังสือที่รวบรวมบทสัมภาษณ์จากแรงงานนอกระบบ 11 คนว่า “ดาราก็เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้มีสวัสดิการอื่นๆ ที่ปรับปรุงล่าสุดก็จะมีประกันอุบัติเหตุ แต่ไม่นับว่าเจ็บคอ คออักเสบ ปอดชื้นจะเบิกไม่ได้ ถ้าบาดเจ็บหนักๆ จากในกองจึงจะเบิกได้ ถ้าเบิกได้ก็จะถือว่ามีเมตตา สัญญาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นการเล่นละครต้องถ่าย 5 ตอนก่อน ถึงจะได้รับเงิน ถ้าละครไม่ได้ออกอากาศก็จะไม่ได้เงิน ค่าใช้จ่ายทุกอย่างทั้งค่าข้าว ค่าเดินทาง ก็ต้องออกไปเองก่อน ถ้าเราเรื่องมากเขาก็ไม่เอาเรา เลือกไม่ค่อยได้ว่าอยากเล่นหรือไม่อยากเล่นบทไหน ถ้าเล่นเป็นผีก็อาจต้องเป็นผีไปตลอด อินทิราเล่าต่อว่า ในวงการยังต้องขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นเด็กใครอีก แต่ถ้าไม่ได้เป็นเด็กใครเลยก็เสี่ยงว่าจะไม่ได้งาน คนกำหนดคือนายจ้าง ทุกตำแหน่งในวงการนี้ ตั้งแต่ดารา ผู้ช่วยผู้กำกับ ทีมกล้อง ทีมเสียง ทีมไฟ ล้วนใช้งานกันตามความคุ้นเคย ไม่มั่นคงและไม่มีมาตรฐานเดียวกัน คนมองว่าดาราไม่น่าจุนเจือ สบาย ไม่ได้มองเป็นอาชีพเหมือนเป็นพยาบาล ช่างเย็บเสื้อ ทั้งๆ ที่ดาราก็มีต้นทุนที่เป็นทักษะ หกโมงเช้า รับประทานอาหาร เสียเงินค่ารถ น้ำมัน ทางด่วน ไปถึงก็ต้องทำงานและจ่ายระหว่างวันเช่นกัน”

จริงๆ แล้วการเป็นดารานั้นไม่ได้ต่างไปจากอาชีพอื่นๆ เพราะต้องมีการสะสมทุนและการหารายได้มาก็มีต้นทุนเช่นกัน  คอนเซปต์ของทุนเซเลบริตี้ (Celebrity Capital) คือเป็นเรื่องของการสะสมความสนใจ (Attention Economy) การมีชื่อเสียงหรือการเป็นที่รู้จักนั้นคืออำนาจอย่างหนึ่ง นอกจากนี้การเป็นคนดังยังส่งผลต่ออิทธิพลด้านความคิดผู้อื่นได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ซีอีโอของแอปเปิ้ลที่ผู้คนมักจะตั้งคำถามว่าเขามีแนวคิดอย่างไรต่อเรื่องต่างๆ คนดังยังสามารถยังสามารถแปรรูปจากชื่อเสียงเพื่อสิ่งอื่นได้อีก เช่น การกุศล คนดังเหล่านี้สามารถเรียกร้องเงินบริจาคจำนวนมากได้ไม่ยากและรวดเร็วด้วย ทุกแง่ทุกมุมของเซเลบริตี้ยังเป็นที่สนอกสนใจจากคนทั่วไป ทั้งสิ่งที่พวกเขาชอบ ลักษณะภายนอก บุคลิกภาพของเขา ชื่อเสียงหรือแม้แต่พฤติกรรมในอดีต ทุนของเซเลบริตี้นั้นยึดโยงอยู่กับทุนทางชื่อเสียง ซึ่งถูกสร้างจากความน่าเชื่อถือ เครดิต ความไว้วางใจได้และความรับผิดชอบ เซเลบริตี้จะถูกนำเสนอให้เป็นตัวแทนของแบรนด์สินค้า เป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจได้เช่นกัน

จากสิ่งที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วระบบโครงสร้างวงการบันเทิงไทยที่ผ่านมาก็ไม่ได้เอื้อต่อเสรีภาพของดาราในความสามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ การแสดงออกของดาราต่อประเด็นทางการเมืองนั้นจึงมีราคาที่ต้องจ่ายและต้องแลกมากับหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ปัจจุบันที่โครงสร้างของวงการบันเทิงไทยเริ่มเปลี่ยนไป ดาราเริ่มอาศัยแพลตฟอร์มอย่าง Instagram , Facebook, Youtube เพื่อสร้างคอนเทนต์ของตัวเองและสามารถสื่อสารกับแฟนคลับ ผู้ติดตามได้มากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านค่ายใหญ่เหมือนในอดีต ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกของดาราเริ่มมีมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันดาราเริ่มออกมาแสดงความคิดและความเป็นตัวของตัวเองได้และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีดาราออกมาแสงความเห็นทางการเมืองมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ ขณะเดียวกันในอนาคตดาราที่ไม่ได้สร้างความผูกโยงกับมวลชน (Engagement) ทางอุดมการณ์ ความใกล้ชิด การเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจผู้คนโดยทางใดทางหนึ่ง ก็อาจะถูกลืมเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปและมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทน

อ้างอิง : Barrie Gunter. Celebrity Capital: Assessing the Value of Fame. London : Bloomsbury, 2014.

Bourdieu P. The forms of capital. In J. Richardson (Ed). Handbook of Theory and Research for the Sociology of Education. 241-258. New York : Greenwood, 1986.

ณัฐเมธี สัยเวช. FIFTY SHADES OF WORK: หลายเฉดชีวิตนอกระบบ. กรุงเทพมหานคร: KLED THAI CO.,LTD, 2016.

เพาวิภา ภมรสถิตย์. ความสัมพันธ์ระหว่างละครโทรทัศน์กับสังคมไทย. บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528.

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเมืองของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย. 2556.

สมิตานัน หยงสตาร์. อัด อวัช นักแสดงกับการแสดงความเห็นทางการเมือง “มันควรเป็นเรื่องปกติ”. [online]. เข้าถึงได้จาก : https://www.bbc.com/thai/thailand-54113869

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์). โพลเผยดาราเคลื่อนไหวการเมืองไม่มีผลกับการติดตามผลงาน. [online]. เข้าถึงได้จาก : https://www.posttoday.com/ent/news/279323

JOANNA PIACENZA. Hollywood Should (Mostly) Stay Out of Politics. [online]. เข้าถึงได้จาก : https://morningconsult.com/2018/10/10/hollywood-should-mostly-stay-out-politics/

Liam Glen. Why Do Celebrities Keep Speaking Out On Politics?. [online]. เข้าถึงได้จาก : https://www.thepavlovictoday.com/why-do-celebrities-keep-speaking-out-on-politics/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า