Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

‘Hellbound ทัณฑ์นรก’ เป็นซีรีส์ Netflix Original เรื่องใหม่ที่พุ่งขึ้นแท่น Top 10 ซีรีส์ฮิตบน Netflix ใน 71 ประเทศทั่วโลกในทันทีหลังจากที่เข้าฉาย ด้วยการส่งต่อกระแสซีรีส์เกาหลีจาก Squid Game การันตีความสนุกจากฝีมือของผู้กำกับ ‘ยอนซังโฮ’ ที่มีผลงานดังอย่าง Train to Busan 

ในปีสองปีนี้เราได้เห็นภาพยนตร์และซีรีส์มากมายที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมและความอ่อนแอของอำนาจรัฐจากเกาหลีใต้ แต่ Hellbound มีความแปลกใหม่กว่าด้วยนำเสนอประเด็นนี้เชื่อมโยงกับศาสนาและความเชื่อของคน เพราะเมื่อรัฐและกฏหมายไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เมื่อภัยพิบัติหรือความอยุติธรรมมาเยือน ก็คงเหลือแต่เพียงการอ้อนวอนต่อพระเจ้า หรือการภาวนาให้กรรมเวรมีจริงเท่านั้น

Hellbound ทัณฑ์นรก ถูกดัดแปลงมาจาก webtoon ชื่อเดียวกัน บอกเล่าเรื่องราวของ ปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นกลางกรุงโซลเมื่อมีอสุรกายปริศนาลากคนบาปไปลงนรก ทำให้กลุ่มสัจธรรมใหม่ และ ประทาน ‘จองจินซู’ (รับบทโดนยูอาอิน) ที่คอยเผยแพร่เรื่องปรากฏการณ์นี้มาก่อนถึง 10 ปี เรืองอำนาจขึ้นมา ประชาชนต่างหวาดกลัวเมื่อมีกลุ่มหัวศรที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับคนที่คิดต่าง แต่ก็ยังมีคนที่กล้าตั้งคำถามกับปรากฏการณ์และเร่ิมค้นหาสิ่งที่จะมาคานอำนาจของศาสนาใหม่นี้

Executor

[บทความต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์]

ผู้กำกับยอนซังโฮกล่าวไว้ว่าเขาอยากจะนำเสนอการเกิดของตรรกะที่เข้ามาแทนที่เมื่ออำนาจรัฐล่มสลาย ตั้งแต่เปิดเรื่องผู้ชมจึงได้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของอำนาจรัฐผ่านตัวละครอย่าง ‘จินคยองฮุน’ (รับบทโดย ยังอิกจุน) ที่เป็นตำรวจแท้ ๆ แต่กลับไม่สามารถลงโทษคนร้ายที่ฆาตกรรมภรรยาของเขาได้ และตลอดตอนที่ 1-3 เราจึงได้เห็นกระบวนการเติบโตของ ‘สัจธรรมใหม่’ และการสร้างความเชื่อหรือความจริงชุดใหม่ขึ้นมาได้อย่างง่ายได้ดาย คล้ายกับภาพสะท้อนการเปิดเผยหรือสร้างข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เพียงแค่มีหลักฐานทีจับต้องได้อย่างคลิป เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ การนำมาตีความไปในทิศทางทีต้องการ มีผู้นำความเชื่อที่น่าเชื่อถือ การบ่มเพาะรอเวลาอันเหมาะสม ตบท้ายด้วยการจัดการผู้เห็นต่าง ก็สามารถเปลี่ยน ‘ความเชื่อ’ ให้กลายเป็น ‘ความจริง’ ได้

Angel

ส่วนตอนที่ 4-6 นำเสนอให้เห็นการสืบทอดอำนาจ การขยายตัวของความเชื่อ และแสดงให้เห็นว่าในบางครั้ง ศาสนา การทำบาป และการแยกคนดีกับคนชั่วอาจจะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อยึดโยงอำนาจไว้ของคนบางกลุ่มเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้คำสอนที่ควรจะทำให้โลกกลายเป็นดินแดนในอุดมคติ เพราะมนุษย์จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการทำดี กลายเป็นบทบัญญัติที่ให้กำเนิดนรกเพราะคำสอนเหล่านั้นถูกเผยแพร่และบังคับใช้โดยคนที่กระหายอำนาจ

Hellbound จึงเป็นเสมือนภาพจำลองการปกครองในระบอบเทวาธิปไตย (Theocracy) อย่างสมัยโบราณที่ ‘เทพ’ เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดผ่านทางผู้นำที่นำสารของพระเจ้ามาเผยแพร่ ผ่านทางตัวประทานจองจินซูและกลุ่มสัจธรรมใหม่ที่ความผิดชอบชั่วดีและการบริหารถูกตัดสินโดยตัวแทนของพระเจ้าอย่างที่เราได้เห็นตัวอย่างในฉากที่กลุ่มสัจธรรมใหม่ควบคุมรายการสารคดีในช่องโทรทัศน์

นอกจากนี้ซีรีส์ยังสะท้อนให้เห็นว่า ในสังคมที่หวาดกลัวหรือในสถานการณ์เมื่อรัฐหรือวิทยศาสตร์ใด ๆ ไม่สามารถช่วยอะไรผู้คนได้ เป็นช่วงที่ศาสนาเติบโตมากที่สุด สอดคล้องกับกระแสทั่วโลกที่ก่อนหน้าโควิด-19 จะมาเยือน ความนิยมในการมีศาสนานั้นลดลงไปเรื่อย ๆ ดูได้จากงานวิจัยของ Pew Resarch Center ในปี 2018 ที่บอกว่าผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 40 ใน 41 จาก 106 ประเทศตอบว่าพวกเขาไม่ได้มีศาสนาที่เฉพาะเจาะจง แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 งานวิจับจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนค้นพบว่ามีการค้นคำว่า ‘บทสวดมนต์ (prayer)’ มากขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 90 ประเทศ ดังน้ันหากเปรียบ Hellbound เป็นการสะท้อนให้เห็นการเติบโตของศาสนาใหม่ ตอนที่ 1-3 ก็คงเหมือนกับยุคทอง ส่วนตอนที่ 4-6 ของ Hellbound อาจจะเหมือนยุคหลังที่ศาสดาจากไป คำสอนถูกเผยแพร่ในวงกว้าง แต่ก็ทำให้ถูกตีความไปในทิศต่าง ๆ จนเกิดความเชื่อเป็นกลุ่มย่อยอย่างกลุ่มหัวศรที่แม้จะเกิดจากพื้นฐานเดียวกัน แต่ก็สุดโต่งจนทำให้มีกระแสต้านจนสั่นคลอนความมั่นคงของศาสนานั้นได้

ความเหลื่อมล้ำที่แทบจะกลายเป็นลายเซ็นของซีรีส์เกาหลีเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ Hellbound เอื้อมไปแตะแม้จะไม่ใช่ประเด็นที่เด่นเท่าไหร่ แต่ก็นำเสนอมุมที่น่าสนใจ เพราะต่างกับเรื่องอื่น ๆ ที่มักจะเสนอให้เห็นว่าเบื้องหลังคนเลว มักมีอดีตที่น่าเห็นใจอยู่ แต่ Hellbound กลับชวนให้เราตั้งคำถามว่าปมในใจหรือชีวิตลำเค็ญเป็นสาเหตุที่ทำให้คนทำบาปหรือไม่ หรือที่จริงปูมหลังอันโหดร้ายที่ส่งให้ผู้กระทำผิดได้รับความเห็นใจจากสังคม ทำให้พวกเขาหมดความละอายใจ เหมือนที่ตัวประทานจองจินซูพูดไว้ในเรื่องว่า

“ทำไมมนุษย์ถึงก่อบาปเหรอครับ เหล่าคนที่อ้างว่าทำเพื่อนเพื่อนมนุษย์และคนที่อ้างว่ามนุษย์คือบรรทัตฐานของคุณค่าต่างก็บอกแบบนี้ครับ เพราะสภาพแวดล้อมที่เติบโตมาแร้นแค้น เพราะความไม่เท่าเทียมของโครงสร้างสังคม เพราะมีความบกพร่องทางจิตใจ เพราะดื่มเหล้า เพราะเมายา บาปน่ะมันดำรงอยู่เพราะมนุษย์อยากจะก่อบาปครับ จากการปฏิเสธสิ่งนี้ มนุษย์จึงสูญสิ้นความละอายใจ ความสำนึกผิด การกลับใจ และการไถ่บาปครับ”

Jung Jinsu

ความเท่าเทียมในเรื่องนี้จึงมีความน่าสนใจเพราะชนชั้นในเรื่อง ไม่ได้ถูกแบ่งออกตามฐานะความยากดีมีจน แต่แบ่งเป็นคนบาปและคนดี และผู้ชมจะไม่ได้เจาะลึกลงไปสู่อดีตเพื่อสร้างความเห็นใจจากชะตากรรมที่น่าสงสารของคนบาปที่จะถูกลงทัณฑ์ แต่ตรงเข้าไปสู่การรับโทษที่เท่าเทียมไม่มีข้อยกเว้น จาก speech ของประทานจองจินซูเมื่อต้นเรื่องและการดำเนินเรื่องในตอน 1-3 ทำให้ในตอนต้นเราอดคล้อยตามไปไม่ได้ว่าทางเลือกของการที่สังคมจะดำรงอยู่ในความเกรงกลัวและละอายต่อบาปอาจจะเป็นเรื่องที่ดี

แต่เมื่อเรื่องคลี่คลายต่อไปในตอนถัด ๆ มา เรากลับมีคำถามใหม่ขึ้นมาว่าการตัดสินแบบนี้ยุติธรรมจริงหรือไม่เพราะการลงทัณฑ์ของพระเจ้าในเรื่องดูจะไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังสะกิดให้เราตั้งคำถามเรื่องความเชื่ออย่างเช่นบาปกำเนิดในตอนที่เด็กทารกที่เพิ่งเกิดโดนทูตสวรรค์แจ้งให้ตายตั้งแต่ยังไม่มีชื่อ ในขณะที่นักเลงในคราบนักบุญของกลุ่มสัจธรรมใหม่ยังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ ความเที่ยงธรรมของพระเจ้าที่ที่ถูกสร้างไว้ในตอนต้นจึงค่อย ๆ แตกร้าวก่อนจะพังทลายเป็นชิ้นในตอนสุดท้าย

อย่างไรก็ตามยังคงมีจุดให้เราสังเกตว่าถึงแม้เราจะไม่ได้โฟกัสไปที่ฐานะของตัวละครมากนักแต่ยังคงมีตัวละครอย่าง VIP หน้ากากขาว ผู้สนับสนุนใหญ่ของกลุ่มสัจธรรมใหม่ที่มาชมแบบลอยตัวอยู่เหนือปัญหา และการที่เรื่องเน้นให้เห็นคนที่ถูกลงทัณฑ์เป็นคนจากในชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าที่แท้แล้วกลุ่ม VIP คือผู้อยู่เบื้องหลังการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งเราต้องรอดูในซีซั่นต่อไปว่าประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมจะถูกเล่นหรือขยายต่อไปหรือไม่

เมื่อเรื่องดำเนินไปเหตุการณ์อื่น ๆ ในเรื่องก็ยิ่งดึงให้เราเปลี่ยนข้างมาเห็นใจ ‘คนบาป’ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นชีวิตของเขาก่อนที่จะโดนลงทัณฑ์ก็ตาม เพราะพวกเขาได้กลายเป็นเหยื่อที่ถูกกลุ่มหัวศรค้นประวัติมาประจานและตีความชีวิตอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ทำให้เราเห็นว่าแม้พวกเขาจะเป็นคนบาป แต่ก็สมควรที่จะได้รับสิทธิที่จะจากไปอย่างเงียบ ๆ และครอบครัวของเขาที่ไม่ได้ทำผิดอะไรก็ควรจะได้มีชีวิตอย่างปลอดภัยต่อไป

การกระทำของกลุ่มหัวศรชวนให้นึกถึงวัฒนธรรมการการแบนซึ่งพบเห็นกันได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลกในโลกออกไลน์ ที่มักเริ่มต้นด้วยความตั้งใจเรียกร้องสิ่งที่ดีให้กับสังคม แต่ในบางครั้งก็แปรสภาพกลายเป็นการบุลลี่ ขุดอดีตมาโจมตี นำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาแฉ โดยคนบางกลุ่มที่อ้างว่าทำให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง และสร้างผลกระทบด้านลบลามไปถึงคนรอบตัวของคนบาปในเรื่อง หรือใครก็ตามที่เห็นต่าง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการใช้ความรุนแรงของกลุ่มหัวศรและการบังคับใช้ความเชื่อทางศาสนาที่รุนแรง

ทำให้เมื่อยิ่งเรื่องดำเนินไปภาพของเพชฌฆาตที่ทุบตีฉีกทึ้งและเผาร่างมนุษย์กลับไม่น่ากลัวเท่ากับมนุษย์และนักบวชในแจ็กเก็ตสีเขียวอ่อนด้วยซ้ำ ย่ิงชี้ให้เราเห็นว่านรกอาจจะไม่ถูกสร้างโดยพระเจ้าแต่ผู้คนต่างหากที่สร้างนรกขึ้นมา การฟื้นคืนชีพในตอนสุดท้ายของพัคจองจา หญิงบาปที่โดนลงทัณฑ์ไปเมื่อต้นเรื่องจึงเป็นเหมือนการยืนยันว่านรกไม่ได้อยู่ที่อื่นแต่อยู่บนโลกของเรานั่นเอง

เมื่อรวมประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้ที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมได้ทั่วโลก บวกกับการเก็บรายละเอียดในงานภาพและองค์ประกอบศิลป์ยิ่งทำให้ Hellbound เป็นซีรีส์ที่น่าประทับใจ ทั้งการเลือกใช้มุมกล้องที่เน้นประเด็นของแต่ละซีนได้อย่างดี เช่นฉากที่ประทานจองจินซูให้สัมภาษณ์นักข่าว การเลือกถ่ายจากมุมต่ำทำให้สถานะความเป็นตัวแทนของพระเข้าของเขาชัดขึ้น หรือการใช้สีที่หม่นหมองยิ่งขับให้ความฉูดฉาดรุนแรงของสีเรืองแสงในฉากกลุ่มหัวศร ทำให้พวกเขาดูสุดโต่งขึ้นไปอีก สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ทำให้ Hellbound เป็นซีรีส์ที่เล่าเรื่องได้สมบูรณ์และไม่น่าแปลกใจที่ซีรีส์จะได้รับความนิยมไปทั่วโลกไม่แพ้ Squid Game

 

อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=FCWfxKD45nw

https://www.pewforum.org/2018/06/13/young-adults-around-the-world-are-less-religious-by-several-measures/

Bentzen, Jeanet, In Crisis, We Pray: Religiosity and the COVID-19 Pandemic (May 2020). Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=3615587

https://nypost.com/article/what-is-cancel-culture-breaking-down-the-toxic-online-trend/

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า