Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดำเนินมาเข้าปีที่ 2 ตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์สงครามจะเริ่มมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น รัสเซียกำลังบุกหนักในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน โดยเฉพาะในเมืองบาคห์มุต ส่วนยูเครนก็พยายามต่อต้านไม่ให้กองทัพรัสเซียยึดเมืองแห่งนี้ได้ การต่อสู้ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือด 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับท่าทีของจีน ที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับรัสเซีย แม้จีนจะออกมาเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อ เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่แผนดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้รับการยอมรับจากบรรดาชาติตะวันตกแล้ว จีนในตอนนี้ยังถูกจับตาด้วยความสงสัยว่า มีแผนจะส่งอาวุธช่วยรัสเซียทำสงครามยูเครนปี 2 หรือไม่ 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงต้องบอกว่าสงครามยูเครนในตอนนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะนอกจากผู้เล่นตัวหลักอย่างรัสเซีย และยูเครน ซึ่งมีชาติตะวันตกหนุนหลังมาตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนี้กลับมีจีนเข้ามาเอี่ยวด้วย ยิ่งล่าสุดเพิ่งมีรายงานออกมาว่า สหรัฐฯ ได้เริ่มเดินเกมปรึกษาชาติพันธมิตรตะวันตก ถึงความเป็นไปได้ที่จะคว่ำบาตรจีน ถ้าวันใดวันหนึ่งจีนให้การสนับสนุนทางทหารกับรัสเซียจริงๆ 

หากข้อกังวลของสหรัฐฯ เป็นจริง และมีการคว่ำบาตรตามมา แน่นอนว่า ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลายอย่างไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ กำลังสั่นคลอนหนักจากหลายประเด็น ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้แค่สร้างบาดแผลและความสูญเสียให้กับแค่สองประเทศคู่ขัดแย้ง แต่ผลกระทบจากสงครามได้แผ่ขยายไปทั่วโลก อย่างที่เห็นได้ชัดๆ ในเรื่อง เศรษฐกิจ ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้น เกิดวิกฤตด้านอาหาร ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง 

แม้ในวันนี้ทุกคนจะยังหวังว่าสงครามจะยุติลงในเร็ววัน แต่น่าเสียดายที่ทางออกสงครามยังคงไร้วี่แวว ท่ามกลางคำถามที่ว่าสงครามครั้งนี้จะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน จุดจบของสงครามจะเป็นอย่างไร นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกหลายราย มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ 

 

มาร์กาเร็ต แม็คมิลแลน นักประวัติศาสตร์สงครามและศาสตราจารย์กิตติคุณที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อธิบายสถานการณ์สงครามในตอนนี้ไว้กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างกับปรากฏการณ์เดจาวูทางประวัติศาสตร์ที่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 เหมือนกันกับสงครามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยยกตัวอย่างเมื่อครั้งที่สตาลินบุกฟินแลนด์ในช่วงฤดูหนาว 1939 ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ไม่ต่างกันเลย 

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์แม็คมิลแลนกล่าวว่า ถึงจะบอกว่าเป็นเดจาวู แต่ความขัดแย้งในแต่ละสถานการณ์ต่างก็มีลักษณะเฉพาะที่ต่างกันไป ซึ่งหากจะวิเคราะห์ถึงจุดจบของสงครามที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้ แนวโน้มที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้นั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่น่าเป็นไปได้ 

ศาสตราจารย์แม็คมิลแลนระบุว่า สถานการณ์ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นมากกว่า น่าจะเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อต่อไป โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็อ่อนล้าลงทุกที แต่ไม่มีฝ่ายใดที่เต็มใจจะยอมรับกับความพ่ายแพ้ และในที่สุดแล้วอาจกลายมาเป็นความขัดแย้งที่ฝังแน่น หรือถูกบังคับให้พักรบอย่างไม่เต็มใจ 

ส่วนความเป็นไปได้ที่จะเห็นการสู้รบยุติลงในเวลาอันใกล้นี้ ศาสตราจารย์แม็คมิลแลนยืนยันว่า ยังไม่เห็นโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์แบบนั้นในเร็วๆ นี้

 

⚫️ รัสเซียไม่ใช่อิหร่านหรือเซอร์เบีย

สำหรับคำถามว่า สงครามครั้งนี้จะจบลงในทิศทางไหน ศาสตราจารย์แม็คมิลแลน อธิบายว่า เมื่อวิเคราะห์จากสงครามหลายครั้งในอดีต บางทีปัจจัยที่จะทำให้ความขัดแย้งถึงคราวยุติ หรือคู่ขัดแย้งจะยอมหันหน้ามาเจรจากัน อาจมาจากแรงกดดันภายนอก โดยยกตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างเซอร์เบียและคอซอวอ ซึ่งจบลงหลังจากที่นาโตยื่นมือเข้าไปแทรกแซงด้วยปฏิบัติการทางอากาศโจมตีกองกำลังเซอร์เบีย จนเซอร์เบียยอมถอยออกจากคอซอวอ ก่อนที่สงครามจะยุติลงด้วยการทำข้อตกลงคูมาโนโว 

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์เจเรมี มอร์ริส ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสถานการณ์ทั่วโลกจากมหาวิทยาลัยออร์ฮูสในเดนมาร์ก ยังได้อธิบายเสริมถึงเรื่องนี้ โดยเปรียบเทียบระหว่างสงครามยูเครนกับสงครามระหว่างอิรัก-อิหร่าน ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งครั้งนั้นชาติตะวันตกก็เข้ามามีบทบาทในสมรภูมิเช่นเดียวกันว่า 

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างสงครามทั้งสองครั้งนี้ก็คือ “มีสงครามตัวแทนเกิดขึ้นทับซ้อนอยู่” โดยเมื่อครั้งเกิดสงครามอิรัก-อิหร่าน สหรัฐฯ และชาติตะวันตกได้เข้าไปช่วยอิรักในการต่อกรกับอิหร่าน ซึ่งเป็นชาติที่ใหญ่กว่ามาก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองในตะวันออกกลางอย่างชัดเจน จนอิรักเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามช่วงแรก 

แต่สำหรับสถานการณ์ในยูเครน การที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกเข้าไปช่วยจัดหาอาวุธให้ แม้จะต่างกันอยู่ที่เป็นความช่วยเหลือแบบค่อยเป็นค่อยไปและระมัดระวัง ทั้งๆ ที่พวกเขาสามารถจัดหาอาวุธที่มีความซับซ้อนและรวดเร็วตามที่ยูเครนต้องการได้ แต่การดำเนินการแบบนี้ก็ยังพอทำให้ชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางสงครามยูเครนได้เช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความช่วยเหลือและแรงกดดันจากชาติตะวันตกมาเกี่ยวข้อง แต่ศาสตราจารย์มอร์ริสมองว่า สงครามครั้งนี้อาจจะต้องยืดเยื้อไปอีกยาวนาน เนื่องจากรัสเซียมีความแตกต่างจากอิหร่านและเซอร์เบียอยู่ตรงที่ รัสเซียเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ สามารถผลิตยุทโธปกรณ์เองได้ ทั้งยังมีกำลังพลสำรองอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่สงครามและการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกกลับไม่ได้ส่งผลกระทบจนให้พวกเขาอ่อนแอลงจนไม่สามารถทำสงครามได้ โดยในปีที่แล้วเศรษฐกิจรัสเซียหดตัวลงแค่ 2% กว่าๆ เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก จึงมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเดินหน้าทำสงครามต่อไปอีกหลายปี จนกว่าพวกเขาจะบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ 

 

⚫️ จุดจบของสงครามอาจขึ้นอยู่กับยูเครน 

หากมองตามสถานการณ์ที่กล่าวมาด้านบน โอกาสที่สงครามจะดำเนินต่อไปอีกนานดูเหมือนจะเป็นไปได้สูง แล้วความขัดแย้งครั้งนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน มีผู้เชี่ยวชาญหลายรายวิเคราะห์ไว้ว่า การที่สงครามยืดเยื้อ อาจทำให้ชาติตะวันตกเริ่มเบื่อหน่าย และมองไม่เห็นประโยชน์จากการทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อช่วยเหลือยูเครนอีกต่อไป หรือในอีกแง่หนึ่ง เมื่อพวกเขามองว่ายูเครนได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธ และการฝึกฝนกำลังพลจนมีความก้าวหน้าทางทหารมากไป ถึงเวลานั้น อาจมีคำขู่ออกมาจากบรรดาชาติที่เคยให้การสนับสนุนว่าจะลดความช่วยเหลือแก่ยูเครนลง 

แต่ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์บรานิสลัฟ สลันเชฟ นักวิชาการด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานดิเอโก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาสงครามและยุติความขัดแย้ง ได้เสนอมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยระบุว่า ความคิดที่ว่ายูเครนจะถูกกดดันจนต้องยุติสงครามนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ มีโอกาสน้อยมากที่ชาติตะวันตกจะสามารถยับยั้งไม่ให้ยูเครนยึดคืนดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดไปโดยไม่ชอบธรรมกลับมาเป็นของพวกเขา

“นี่เป็นเพียงมุมมองจากฝั่งตะวันตก ที่คิดว่าจะสามารถควบคุมชาวยูเครนได้ แต่ในความเป็นจริง เราไม่มีวันที่จะกดดันพวกเขาได้อย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์สลันเชฟ ระบุ และอธิบายต่อไปว่า ถึงสหรัฐฯ และชาติตะวันตกจะขู่ว่าจะไม่ส่งอาวุธหรือให้การสนับสนุนพวกเขาอีกต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะไม่เกรงกลัว เพราะยูเครนรู้ดีว่า ถึงอย่างไรชาติตะวันตกก็ไม่มีทางที่จะปล่อยให้พวกเขาล่มสลาย เพราะนั่นเท่ากับว่าจะทำให้รัสเซียมีอิทธิพลมากขึ้น

“เมื่อชาติตะวันตกตัดสินใจแล้วว่ายูเครนมีความสำคัญ ก็จะต้องให้การสนับสนุนพวกเขาต่อไปจนถึงที่สุด ซึ่งนั่นหมายความว่า ชาวยูเครนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าพวกเขาจะหยุดความขัดแย้งครั้งนี้ลงเมื่อไหร่” ศาสตราจารย์สลันเชฟ กล่าว

ส่วนคำถามที่ว่าสงครามครั้งนี้จะยุติลงได้อย่างไร ศาสตราจารย์สลันเชฟยังคงยืนยันว่า การเจรจาคือทางออกเดียว แต่การเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทั้งสองฝ่ายมีความคาดหวังและมองเห็นประโยชน์ที่จะได้มาจากสันติภาพมากกว่าการทำสงครามกันต่อ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเป็นเช่นนั้นได้เลย 

โดยศาสตราจารย์สลันเชฟได้อธิบายเสริมถึงเรื่องนี้ว่า แม้ปูตินจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสนามรบ แต่ดูเหมือนว่ารัสเซียได้เตรียมตัวมาแล้วสำหรับการต่อสู้ที่ยาวนาน และเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะต้องได้รับชัยชนะ จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีใครมาทำให้พวกเขายอมเจรจา แม้แต่จีน ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ไม่น่าจะสามารถบังคับปูตินในเรื่องนี้ได้

แล้วทำไมปูตินถึงไม่ยอมถอย ศาสตราจารย์แม็คมิลแลนอธิบายคำตอบของคำถามนี้ว่า “นี่คือสงครามของปูติน เขาเดิมพันสงครามนี้ด้วยศักดิ์ศรี ยิ่งรัสเซียสูญเสียมากเท่าใด ก็ยิ่งยากที่เขาจะหยุด” ซี่งคำอธิบายนี้ ทำให้ทฤษฎีที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเคยวิเคราะห์ไว้ว่า จุดจบของสงครามอาจต้องย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ซึ่งก็คือการที่ปูตินยอมจบสงครามที่เขาเริ่มขึ้นมาเองนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย 

ส่วนในฝั่งของยูเครน การที่พวกเขาจะยอมจำนนให้กับรัสเซียนั้น ก็ดูเหมือนจะไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะพวกเขายังคงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศอย่างท่วมท้น เห็นได้จากโพลล์สำรวจความคิดเห็นชาวยูเครนส่วนใหญ่ ล้วนสนับสนุนให้รัฐบาลสู้ต่อ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า พวกเขามองว่าผลจากความพ่ายแพ้หรือกระทั่งการเจรจานั้น อาจโหดร้ายอย่างที่คาดไม่ถึง ซึ่งหมายถึงการที่พวกเขาจะต้องเสียดินแดนบางส่วนที่ถูกรัสเซียยึดครองอยู่ตอนนี้ไปตลอดกาล และยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีอะไรที่จะสามารถรับประกันได้เลยว่า ในอนาคตพวกเขาจะไม่ถูกรัสเซียเข้ามารุกรานเพื่อยึดดินแดนใดไปอีก 

 

⚫️ ท้ายที่สุดจะไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ

สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน จนถึงวันนี้ยังคงไม่มีใครบอกได้ แม้จะมีผู้สังเกตการณ์บางคนที่วิเคราะห์ไว้ว่า ความพ่ายแพ้ในสมรภูมิอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ปูตินหมดอำนาจลงในวันใดก็วันหนึ่ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งยืดเยื้อยาวนานและมีค่าใช้จ่ายมหาศาล จนนำไปสู่การปฏิวัติบอลเชวิคในปี 1917 

แต่ในมุมมองของศาสตราจารย์มอร์ริส ความหวังว่าปูตินจะหมดอำนาจในเร็วๆ นี้ไม่ทางเป็นไปได้ ยิ่งโอกาสที่จะมีใครลุกขึ้นมาโค่นล้มปูตินก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะในเวลานี้ ซึ่งยังคงมองไม่เห็นว่าจะมีใคร หรือกลุ่มใด ที่จะพยายามขึ้นมามีอำนาจในรัสเซีย ขณะที่ปูตินยังคงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งศาสตราจารย์มอร์ริสระบุว่า นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อการกำหนดอนาคตของสงครามยูเครน 

“ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะจบลงได้ในขณะที่ปูตินยังคงเรืองอำนาจอยู่ แม้ยูเครนจะสามารถผลักดันรัสเซียไปอยู่ชายแดนได้ทั้งหมด แต่ถ้าปูตินยังอยู่ในอำนาจ ผมไม่คิดว่าจะมีทางใดที่ทำให้เขายอมเข้ามาเจรจาได้” ศาสตราจารย์มอร์ริสกล่าว

มุมมองศาสตราจารย์มอร์ริสยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยุติลงด้วยการเจรจาสันติภาพในเร็วๆ นี้ แทบจะเป็นไปได้เลย โอกาสที่สงครามจะยุติลง ในทางที่ดีที่สุด อาจเป็นเพียง การกำหนดเขตปลอดทหารบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ คล้ายกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ หรือที่แย่ไปกว่านั้นก็คือสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องมีการเจรจาสงบศึกในที่สุด

แต่ไม่ว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงอย่างไร สิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้ก็คือบาดแผลและความเจ็บปวดที่ถูกทิ้งไว้กับยูเครน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกไปอีกนาน

 

ที่มา : Al Jazeera

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า