Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

‘Memoria’ เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของ เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เรื่องที่สองของเขาที่ได้รางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์รางวัลเดียวกับที่เขาได้จาก ‘สัตว์ประหลาด’ เมื่อปี 2004 แต่เป็นครั้งแรกที่เขาทำภาพยนตร์เป็นภาษาต่างประเทศ และเป็นการร่วมงานแบบเต็ม ๆ ครั้งแรก กับ ทิลด้า สวินตัน ซึ่งเข้าฉากเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมาในโรงภาพยนตร์

เรื่องราวของ Memoria เกินขึ้นเมื่อ ‘เจสสิก้า’ (รับบทโดย ทิลด้า สวินตัน) หญิงสาวตื่นขึ้นมาพร้อมเสียงระเบิดดังก้องในหัว ขณะที่เธอมาเยี่ยมน้องสาวที่ป่วยในเมืองโบโทกา ประเทศโคลอมเบีย เธอจึงตามหาว่าเสียงนั้นที่มีเพียงเธอที่ได้ยินคือเสียงอะไร และมันมาจากที่ไหนกัน

ด้วยพล็อตเรื่อง Memoria จึงเป็นภาพยนตร์ที่มีเสียงเป็นหนึ่งในตัวละครหลัก การเข้าไปในโรงภาพยนตร์เพื่อสัมผัสกับความเงียบที่ล้อมรอบตัวเราอย่างสมบูรณ์ เสียงของอากาศ ลมพัด ที่ขับให้เสียงระเบิดในหัวของเจสสิก้าชัดเจนขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ชูรสชาติของเรื่องได้อย่างดีที่สุด ระหว่าที่เราเดินทางตามหาเสียงลึกลับนั้นไปกับเจสสิก้า ภาพยนตร์ก็ได้หลอกล่อให้เราตามหาเสียงเดียวกันนั้นในความทรงจำของเราเช่นกัน ซึ่งเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของอภิชาติพงศ์เมื่อเขามีอาการ Exploding Head Syndrome (EHS) หรืออาการหัวระเบิด เมื่อปี 2016 และมันก็อยู่กับเขานับปีก่อนจะหายไป ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคนอนไม่หลับ เมื่อเราได้ยินเสียงระเบิดในหัว มักเกิดขึ้นเมื่อตอนใกล้หลับหรือกลางดึก แต่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและหายเองได้ แต่เสียงที่อยู่ในหัวซึ่งยากจะอธิบายได้ถูกนำมาผสมไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมกับการตามหาความทรงจำในประเทศโคลอมเบียได้อย่างไร บทสัมภาษณ์นี่จะไขปริศนาให้ฟัง

 นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของคุณที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปนและยังถ่ายที่โคลอมเบียอีกด้วย ทำไมถึงเลือกสถานที่นี้  มันมีอิทธิพลต่อการกำกับและเขียนบทของคุณอย่างไร

 เจ้ย-อภิชาติพงศ์: เพราะมันไม่ใช่ประเทศไทยครับ (หัวเราะ) ณ จุดหนึ่งในปี 2015 มั้ง ผมรู้สึกเหมือนผม ต้องหาอะไรใหม่เพื่อท้าทายตัวเองผมเลยไปที่โคลัมเบียในปี 2017 และค้นพบ สถานที่ ผู้คน …เรื่องราว ที่ตรงกับสะท้อนเรื่องราวที่สะท้อน เข้ากันกับตัวผม และความทรงจำของผมกับประเทศไทย และอีกหลาย ๆ อย่าง ผมก็เลยคิดว่า แล้วทำไมไม่เป็นที่นี่ล่ะ ผมก็เลยติดต่อทิลด้า เพราะว่ามันเป็นความฝันของเราที่จะไปที่ไหนสักที่ที่เราไม่รู้จัก และพวกเราจะได้เป็นเหมือนกับเด็ก ที่แค่ฟังและมองดู โดยที่ไม่ได้มีคอนเซปต์นู่นนี่ นี่คือที่มาของ Memoria

และในฐานะนักแสดงสถานที่มีอิทธิพลกับงานของคุณอย่างไรบ้างคะ

ทิลด้า สวินตัน: ฉันรักการไปสถานที่ ๆ ฉันไม่เคยไป และให้ความรู้สึกสดใหม่กับฉัน ฉันรักการเดินทางมาตลอด ฉันเดินทางบ่อยเมื่อตนเป็นเด็ก พ่อของฉันก็เดินทางมามาก การค้นพบว่าตัวเองอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ มันเชื่อมโยงสู่จิตใจของผู้เริ่มต้น สำหรับฉัน และมันก็เป็นประเด็นแรก ๆ ที่ฉันและคุณเจ้ยคุยกันเมื่อตั้งใจจะทำงานร่วมกัน คำถามคือที่ไหนล่ะ และอย่างค่อนข้างรวดเร็ว

เพราะเมื่อตอนนั้นที่เราเริ่มคุยว่าจะทำงานด้วยกัน คุณเจ้ยยังไม่เคยสร้างงานนอกประเทศไทยเลย แล้วฉันก็ใคร่รู้และกังวลเล็กน้อย ว่าจะยืนอยู่จุดไหนในเฟรมของเขาที่ประเทศไทย ส่วนนึงเพราะว่ามันมีหลุมพรางมากมาย และความรู้สึกแปลกกับการ…เหมือนกับแทรกตัวเข้ามาในสถานที่ ๆ ไม่เหมาะสม จากนั้นเราก็รู้ได้ว่า เราทั้งคู่ต่างอยากเป็นคนแปลกหน้า เราอยากเลือกสถานที่ ๆ เราทั้งสองคนไม่รู้จัก และไม่รู้จักในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน คุณเจ้ยไปที่โคลัมเบียก่อน ฉันไปในปีถัดมา และเราสัมผัสได้ว่า เราทั้งคู่ต่างรู้สึกเชื่อมโยงกับสถานที่ในฐานะคนแปลกหน้า หรือแน่นอน ในฐานะคนที่มีเพื่อนไปด้วย เพราะเราสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้กับเพื่อน ๆ แต่ว่าเรานั้นเหมือนเป็นเด็ก อย่างที่คุณเจ้ยบอก

คือได้ยินมาว่าคุณทั้งสองตัดสินใจที่จะไม่คุยเรื่องปูมหลังตัวละครกัน เป็นเพราะการเล่นกับสิ่งที่ไม่รู้หรือเปล่า

ทิลด้า สวินตัน: มันไม่ใช่ว่าเราไม่ได้คุยกันเรื่องที่สำคัญมาก ๆ นะคะ เราแค่ไม่ได้สนใจในเรื่องนั้นเราไม่อยากชี้นำผู้ชมไปให้เชื่อว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องที่สลักสำคัญอะไรเป็นพิเศษ สิ่งที่คุณมีคือสิ่งมีชีวิต มนุษย์…ไม่มากก็น้อย ที่กำลังตอบสนอง และนั่นคำสิ่งที่สำคัญ รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในประวัติชีวิตของเธอ หรือเธอใช้ชีวิตที่ไหน มีความสำคัญน้อยกว่ามาก เทียบกับการเผชิญหน้าเธอในฐานะสิ่งมีชีวิตที่กำลังตอบสนองกับปัจจุบัน

ภาพจาก :: https://web.facebook.com/kickthemachine.official

อย่างหนึ่งที่เด่นชัดมากในภาพยนตร์เรื่องนี้คือเสียง ทราบมาว่ามันมาจากอาการ Exploding Head Syndrome ของคุณเจ้ย การวิธีค้นหาเสียงนั้นเป็นอย่างไร และเสียงที่เราได้ยินในภาพยนตร์เหมือนกับสิ่งที่คุณได้ยินในหัวตอนนั้นเป๊ะเลยไหม

เจ้ย-อภิชาติพงศ์: มันใกล้เคียงนะครับ แต่ไม่ได้เหมือนเป๊ะ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเลียนเสียงนั้นเพราะมันไม่ใช่เสียง มันเป็นอะไรในหัว และมีแค่ผมเท่านั้นที่ได้ยิน มันจะมีฉากในภาพยนตร์ที่เจสสิก้าพยายามจะค้นหาเสียงนั้น แต่สำหรับผมมันใกล้เคียงแต่นั่นคือแนวคิดหลักของภาพยนตร์ การพยายามที่จะแปลความหมายให้ผู้อื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง เพื่อที่จะได้ยินมันอีกครั้ง

พลอยได้ไปชมนิทรรศการล่าสุดของพี่เจ้ยมา ซึ่งก็คือนิทรรศการ A Minor History ที่มูลนิธิ 100 ต้นสน สังเกตได้ว่างานนี้ก็ประกอบไปด้วยเสียงและการค้นหาความทรงจำที่หายไปด้วย เช่นเดียวกับตัวภาพยนตร์ พลอยทราบว่าเราควรจะตีความกันเอง แต่ในมุมมองของตัวละครและนักแสดง มันเหมือนกับมีความสัมพันธ์ของบุคคล กับเสี้ยวประวัติศาสตร์ที่หายไป และอะไรที่เป็นแรงขับดันให้คนตามหามันคะ

เจ้ย-อภิชาติพงศ์: มันเป็นเรื่องส่วนตัวเสมอครับ ผมสามารถพูดแทนได้แค่ในมุมมองของผมว่าผมแค่อยากจะเก็บรักษาหรือทำความเข้าใจ เพราะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผมเติบโตมา มันมีประวัติศาสตร์การเมืองที่ซ่อนอยู่ ซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือเรียนของเรา และเมื่อเรากลับไปยังที่เหล่านั้น เราคุยกับผู้คน หรือแค่อยู่ที่นั่นแล้วมองไปยังแม่น้ำโขง มันก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกใหม่กับเรื่องราวของสถานที่ และในขณะเดียวกันก็สัมผัสได้ถึงตัวตนใหม่ของเราเอง ที่ไม่ได้ถูกหล่อหลอมมาโดยโรงเรียนหรือรัฐ และ A Minor History คือความพยายามนั้น ไม่ใช่เพื่อการสั่งสอน แต่เพื่อเก็บและแบ่งปัน นิทรรศการมีสองส่วน ส่วนแรกที่จริงแล้วจะเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองและการฆาตกรรม ที่จริงแล้วเนื้อหาค่อนข้างหนัก แต่อันล่าสุดมันเป็นส่วนตัวมากกว่ามาก เกี่ยวกับความฝัน เงา และความงดงามด้วย

แล้วสำหรับทิลด้าและเจสสิก้า ทำไมคนเราถึงตามหาความทรงจำที่หายไป หรืออะไรที่ทำให้ตัวละครตามหาความทรงจำที่หายไป

ทิลด้า สวินตัน:  มันเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก และฉันคิดถึงมันบ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงต้นของโรคระบาด ว่าความสัมพันธ์ระกว่าเราและความทรงจำมันชัดเจน…ไม่สิ ไม่ชัดเจน แต่มันได้ถูกส่องสว่างขึ้นมาในตอนนี้ ฉันไม่รู้ว่าสำหรับคุณเป็นอย่างไร แต่สำหรับฉัน ฉันมองหาช่วงเวลาก่อน 2020 มากขึ้นเล็กน้อย มันเหมือนกับมีอะไรเปิดขึ้นมา เหมือนนางฟ้ากำลังออกจากเกาะ แบบ อู้ว… 2019 เธอช่างดูห่างไกลมากกว่าที่ควรจะเป็นมากเลย ทั้งที่มันก็แค่สองปีที่แล้ว รู้สึกเหมือนมีอะไรเปิดออกมา

ฉันคิดว่าเราค้นหา เพราะเรามีบทสนทนากับตัวเองเกี่ยวกับตัวตนของเราอยู่เสมอ และตัวตนของเรา ถ้ามันมีอยู่จริง ซึ่งฉันไม่แน่ใจ ฉันเป็นผู้มีศรัทธาในอัตลักษณ์ของคนเราอย่างมาก แน่นอนว่าไม่ใช่ตัวตนที่ถาวร แต่ถ้าเราต้องการหาการปลอบโยนในรูปแบบของอัตลักษณ์ ถ้าอย่างนั้น ความทรงจำของเรา ความรู้สึกของเราต่อประวัติศาสตร์ของเราเอง พัฒนาการตลอดชีวิตของเรา เป็นเรื่องสำคัญ และเพื่อที่จะ… ฉันเองก็ไม่รู้ แต่จากการที่ใช้เวลากับพ่อแม่ผู้สูงอายุ ในช่วงเดือนและปีท้าย ๆ ของชีวิต ฉันได้รู้ว่าความทรงจำกลายเป็นเรื่องที่สำคัญขึ้นมาก ๆ สำหรับพวกเขา มันเหมือนกับการสัมผัสได้ถึงตัวตนในการดำรงอยู่ของพวกเขา และเราสามารถเลือกได้ว่าความสัมพันธ์นั้นจะเป็นอย่างไร เราจะเลือกที่จะอ่อนโยนกับตัวเอง ปล่อยความทรงจำเหล่านั้นไปและไม่ต่อสู้มากมายเมื่อจะยึดมันไว้ หรือเราอาจพยายามสร้างสะพานไปสู่ความทรงจำ ฉันคิดว่ามันไม่ได้มีคำตอบที่ผิด มันเป็นอะไรก็ได้ แต่มันคือการเต้นรำระหว่างเราและความรู้สึกกับตัวเรา เมื่อมองย้อนไปในความทรงจำของตัวเอง และแน่นอนมันก็มีสิ่งที่เราเสนอในภาพยนตร์ คือความงดงามของการแบ่งปันความทรงจำของผู้อื่น และคนอื่นแบ่งปันความทรงจำของเรา การมีความทรงจำมารวมอยู่ด้วยกัน มันเป็นอีกขั้นของการผ่อนคลาย หากเรายกความทรงจำให้ผู้อื่นแบกรับได้ แล้วเราก็อาจจะเป็นอิสระมากขึ้น

พิธีกร: ฉันชอบที่คุณบอกว่ามันคือการผ่อนคลายมากเลยค่ะ

ทิลด้า สวินตัน: ฉันคิดว่ามันคือเป้าหมายสำหรับฉันเลยล่ะค่ะคือการวางภาระลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เอามันลงจากบ่าของเราในวันสุดสัปดาห์ เท่านั้น

ภาพจาก :: https://web.facebook.com/kickthemachine.official

มีอะไรจะฝากถึงผู้ชมชาวไทย สำหรับผลงานแรกในภาษาอังกฤษและความเชื่อมโยงของภาพยนตร์เรื่องนี้กับผู้ชมไหมคะ

 เจ้ย-อภิชาติพงศ์: ผมว่ามันเป็นเวลาที่ภาพยนตร์ได้อยู่ในโรง ลองไปสัมผัสประสบการณ์ดู ถ้าหากคุณสงสัยเกี่ยวกับการฟัง และเพื่อผ่อนคลายอย่าที่ทิลด้าบอก เพื่อพักผ่อน เพื่อหยุดคิด และเพื่อพบเจอกับภาพยนตร์ที่ต่างออกไป ที่อาจจะเป็นการสะท้อนความเชื่อมโยงที่บางทีเราได้มองข้ามไป หรือที่เราไม่เคยค้นพบในตัวของเราเองและในโลกนี้ ว่าตลอดเวลาพวกเราวิ่งตามหาอะไรบางอย่างเพื่อเติมเต็มหัวใจที่ว่างเปล่าของเรา แต่ที่จริงภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับผม มันแค่กำลังเสนอว่ามันไม่ได้ว่างเปล่าเลย เพราะมันถูกเติมเต็มด้วยคนอื่นอีกมากมายด้วย เพราะพวกเราต่างก็เชื่อมโยงกัน ผูกพันด้วยความทรงจำและอะไรก็ตาม…เช่น อากาศ… และนั่นอาจจะนำมาซึ่งความรู้สึกที่แบบ…อิ่ม เท่านั้นเองครับ

ทิลด้า สวินตัน: ฉันอยากแนะนำ โดยเฉพาะกับผู้ชมชาวไทยที่รู้จักงานของคุณเจ้ย และจากที่ฉันเข้าใจได้ค่อนข้างถูกต้อง มีความภูมิใจในตัวเขาในฐานะศิลปินชาวไทย ฉันคิดว่าหนึ่งในความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเฟรมภาพของเขาแม้จะถ่ายที่ไหน ก็ยังเป็นเฟรมของเขา

และบางทีความเชื่อมโยงระหว่างเฟรมของเขาในโคลัมเบีย เฟรมของเขาในไทย หรือเฟรมของเขาไม่ว่าจะเป็นที่ไหนต่อจากนี้ สก๊อตแลนด์ หรือ ไอซ์แลนด์ หรือ อินเดีย หรือที่ไหนก็ตาม มันเป็นสากลที่สุดในระดับจักรวาล และนั่นคือสิ่งที่งดงามที่สุดที่จะนำเสนอเกี่ยวกับศิลปะ ว่ามันไม่ได้ยึดติดกับเชื้อชาติ มันไม่ได้ถูกนำด้วยการขีดกันเขตแดนแม้แต่น้อย และในหลายครั้งที่เรามองเหรมผ่านกล้องที่คุณเจ้ยและคุณสยมภูเซ็ตไว้ในโคลัมเบีย แล้วเราพูดกันว่า “มันเหมือนเมืองไทยเลย” มันเป็นไปได้แล้วในตอนนี้ที่จะมองภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ของเขาแล้วพูดว่า “ดูเหมือนฟินแลนด์ ดูเหมือนออสเตรเลีย” และฉันคิดว่าสิ่งนี้อาจจะเป็นการเผยให้ผู้ชมชาวไทยที่รู้จักเฉพาะงานที่ผลิตในไทยของเขา ให้รู้สึกว่า “ทั้งหมดนี้มันแทนกันได้ มันใช้ได้ เชื่อมโยงได้ ทั้งหมดนี้คือหนึ่งเดียวกัน”

อ้างอิง:

https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/films/features/memoria-apichatpong-weerasethakul-interview-b1992346.html

https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21907-exploding-head-syndrome-ehs#:~:text=Exploding%20head%20syndrome%20(EHS)%20is%20a%20type%20of%20sleep%20disorder,wake%20up%20during%20the%20night

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า