Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนหลายประเด็นปัญหา จะถูกยกมาพูดถึงอย่างเปิดเผยมากขึ้น เรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนไทย จากปัญหาปากท้อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การศึกษา กระทั่งมาถึงบาดแผลทางใจของเยาวชน ที่เกิดจากปัญหาสุขภาพจิต หลายประเด็นดังกล่าวเริ่มทำพิษและส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามาถ่างขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้สูงกว่าเดิม ปัญหาเดิมที่มี จึงกลายเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ควรรีบแก้ไขโดยเร็ว 

อันที่จริง หลายปีที่ผ่านมาประเด็นสุขภาพจิตวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายหน่วยงานเองก็เคยมีความตื่นตัวและพยายามจะออกนโยบายเพื่อให้ความรู้และบรรเทาปัญหา แต่เพราะลักษณะการออกแบบนโยบายที่เมืองไทยคุ้นชิน มักจะเป็นรูปแบบบนลงล่าง (top-down) คือการนำผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการมาเป็นคนกำหนดนโยบาย ผลลัพธ์ที่ได้จึงอาจไม่ตอบโจทย์ เกาไม่ถูกที่คัน หรือเรียกได้ว่าไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

นี่คือความท้าทายที่ Thailand Policy Lab หรือห้องปฏิบัติการออกแบบนโยบายสาธารณะ ก่อตั้งโดยความร่วมมือของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เล็งเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขและเสนอให้มีการรับฟังเสียงของประชาชน เพื่อนำมาประกอบในกระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะ เป้าหมายก็เพื่อหาทางออกที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

โครงการ Mental Health Policy for Youth by Youth นับเป็นอีกกิจกรรมที่เป็นตัวอย่างของการนำแนวคิดการรับฟังเสียงของประชาชนมาใช้ออกแบบนโยบาย เพราะน้อง ๆ เยาวชนคือกลุ่มที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตโดยตรง การดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการหาทางออกของปัญหา จึงเป็นแนวทางที่จะพาให้เราสามารถค้นหาทางแก้ได้จากต้นตอของสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่

ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้จากกิจกรรม ยังถูกนำเสนอแก่คณะกรรมการที่ล้วนเป็นบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษาและภาคจิตวิทยาเด็ก ก่อนจะเปิดเผยไอเดียต่อสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป และนำไปพัฒนาต่อในกระบวนการทดลองเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานจริง

หัวใจสำคัญ คือ นโยบายที่เกิดจากการร่วมมือสร้าง (co-create)

จุดเริ่มต้นของโครงการ Mental Health Policy for Youth by Youth มาจากผลลัพธ์ของงานวิจัยเชิงนโยบายของ Thailand Policy Lab ที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับ Well-Being หรือ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ ของเยาวชนไทยในช่วงโควิด-19 ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนผ่านแบบสอบถาม การทำ Focus Group รวมถึงการทำ Social Listening หรือการกวาดความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มักใช้กันในวงการธุรกิจ โฆษณา หรือแวดวงการตลาด เพื่อสำรวจความต้องการของผู้บริโภค โดยผลการศึกษาชี้ว่า เยาวชนมองว่าสุขภาพจิตคือเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุด 

คราวนี้ข้อมูลที่ได้มาจากเครื่องมื้อดังกล่าวถูกนำมาใช้ออกแบบเป็นกิจกรรม Policy hackathon โดยแบ่งโจทย์การออกแบบเป็นนโยบายสุขภาวะจิตของเยาวชนออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ Protection นโยบายเพื่อแก้ไขและรักษาสุขภาพจิต Prevention นโยบายเพื่อป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิต Promotion นโยบายเพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพจิต และ Future of Learning นโยบายด้านการศึกษาที่ใส่ใจสุขภาพจิต

พงศ์ปณต ดีคง ผู้ช่วยด้านนวัตกรรมสังคมและนโยบาย Thailand Policy Lab เผยว่า เรายึดหลักว่ากระบวนการนี้ต้องเป็นการ co-create (ออกแบบร่วมกัน) ที่ไม่ใช่แค่ว่าเราเก็บข้อมูลเสร็จแล้วไปทำนโยบายเอง แต่มันคือการสร้างร่วมกัน ซึ่งการสร้างร่วมกันแปลว่าเยาวชน ภาครัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องมา co-create นโยบายเหล่านี้ การจัด hackathon เป็นเทรนด์ที่เราเห็นว่าน้อง ๆ เยาวชนน่าจะอยากมาสมัคร  มันจึงเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจในการนำมาใช้เพื่อออกแบบนโยบายครั้งนี้” 

เยาวชนทั้ง 7 กลุ่ม จะถูกแบ่งตามความสนใจว่าอยากออกแบบนโยบายหัวข้อไหน โดยก่อนจะเริ่มออกแบบนโยบาย แต่ละกลุ่มจะได้รับการปูพื้นฐานความรู้ ทำความรู้จักและเข้าใจเส้นทางของการสร้างนโยบายว่าต้องผ่านขั้นตอนใดบ้าง รวมถึงรับฟังข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาพจิตในไทยและต่างประเทศจากผู้เชี่ยวชาญ ก่อนจะเริ่มแบ่งกลุ่มทำงาน เพื่อให้เหล่าเยาวชนได้มีโอกาสนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยน วิเคราะห์ และเลือกประเด็นปัญหาที่ทุกคนสนใจ อยากสร้างเป็นนโยบายใหม่ขึ้น

“น้อง ๆ หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับกระบวนการออกแบบนโยบาย หรือขั้นตอนการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ในกิจกรรมนี้ หน้าที่ของวิทยากรจึงมีความสำคัญมาก เพราะเขาต้องให้คำแนะนำ และพาน้อง ๆ ต่อจุดตั้งแต่ต้นตอไปจนถึงทางออกของปัญหา” พงศ์ปณต เสริม

แต่ละกลุ่มจะได้มีโอกาสทำกิจกรรม ecosystem mapping เพื่อสำรวจปัญหาในระบบนิเวศของนโยบายที่สนใจศึกษา ทำความเข้าใจภาพรวมว่ามีใครเกี่ยวข้องในสมการบ้าง ขั้นต่อไปคือการเริ่มวิเคราะห์ปัญหา (problem analysis) โดยนำข้อมูลที่สืบค้นได้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับวิทยากรและเพื่อนร่วมกลุ่ม ก่อนที่แต่ละกลุ่มจะสรุปและกำหนดประเด็นปัญหาที่ทุกคนสนใจ และตั้งโจทย์  “How might we…?” ขึ้นมาเพื่อช่วยกันหาทางออก หลังจากที่ได้ข้อเสนอแนะของแต่ละกลุ่มมา ก็จะถึงเวลาหยิบไอเดียไปนำเสนอแก่คณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อนโยบาย

นโยบายของ ‘วัยรุ่น’ ที่ ‘วัยรุ่น’ ออกแบบ

สำหรับผลลัพธ์จากการร่วมกิจกรรมออกแบบนโยบายสุขภาพจิตเยาวชน นับว่าเยาวชนแต่ละกลุ่มสามารถประมวลหาทางออกในแต่ละด้านออกมาได้อย่างเป็นระบบ มีความเป็นไปได้ ทั้งยังน่าสนใจ workpointTODAY ยกตัวอย่างข้อเสนอแนะจากเยาวชนบางกลุ่มมาให้คุณได้ลองอ่านทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

กลุ่ม Protection 1 มุ่งเน้นไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เด็กวัยรุ่นไทยจำนวนมากต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับความเครียดและความวิตกกังวล สมาชิกกลุ่มได้นำเสนอนโยบายการป้องกัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เยาวชน ผ่านนโยบาย 3 ระดับ ได้แก่ Student well-being support หรือการบริการให้คำปรึกษาภายในโรงเรียน โดยระบุให้มีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแบบส่วนตัวกับเด็ก Expressive activities หรือกิจกรรมที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น การพาเยาวชนไปทำกิจกรรมอาสาเพื่อเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และเปิดพื้นที่ในการล้อมวงระบายความเครียด หรือพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่เยาวชน 

หรือข้อเสนอแนะจากกลุ่ม Prevention 2 ที่เสนอนโยบายการคัดกรองเพื่อช่วยให้การดูแลสุขภาพจิตเยาวชนทั่วถึงมากขึ้น โดยแบ่งระดับการคัดกรองออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 

      1. ระดับสังเกตการณ์
      2. ระดับให้คำปรึกษาจากอาจารย์แนะแนว 
      3. ระดับให้คำปรึกษาออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญเชิงลึก 
      4. ระดับส่งต่อการรักษาให้โรงพยาบาล

อีกหนึ่งข้อเสนอของกลุ่ม Prevention 2 คือการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตลงไปในหลักสูตรบทเรียน สร้างความตระหนักรู้ในหมู่เยาวชน เพื่อให้พวกเขาสามารถสังเกตและทำความเข้าใจสุขภาวะทางจิตของตนเองและผู้อื่นได้ 

ข้อเสนอจากกลุ่ม Promotion 2 เสนอให้มีการผลักดันให้เกิดพูดถึงประเด็นสุขภาพจิตในสื่อที่มีอยู่แล้วอย่างถูกต้อง และมีความเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้น สมาชิกกลุ่มให้ความเห็นว่า แม้ปัจจุบันจะมีสื่อที่พยายามผลิตผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต แต่ผลงานหลาย ๆ ชิ้นกลับยังสร้างภาพจำเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในเชิงลบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรผลักดันและเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตสื่อได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถนำเสนอประเด็นสุขภาพจิตผ่านสื่อได้อย่างปราศจากอคติ และเสนอให้มีการกำกับดูแลและตรวจสอบเนื้อหาก่อนเผยแพร่ เพื่อให้สื่อนั้นมีเนื้อหาเหมาะสมกับสังคมไทย

สำหรับกลุ่ม Future of Learning 3 เสนอให้มีแพลตฟอร์มกลางชื่อ ‘Breakout room’ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงครู นักจิตวิทยา นักเรียน และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ให้มารับรู้ปัญหา รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น นโยบายนี้จะสามารถทำให้เด็กที่กำลังเผชิญปัญหาสามารถเข้าถึงคำแนะนำจากนักจิตวิทยา และช่วยลดปัญหาความเครียด ทั้งยังสามารถทำเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลสถานการณ์สุขภาพจิตของเยาวชนไทย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องสามารถหารือและหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

ศักยภาพของต้นกล้าแห่ง ‘ความเปลี่ยนแปลง’

“ก่อนหน้านี้เรามีคำถามว่าเยาวชนไทยจะทำได้ไหม เขาจะเข้าใจปัญหาพอที่จะออกแบบนโยบายได้หรือเปล่า ตอนแรกเรายังมีความกังวลกันอยู่ แต่พอได้ฟังไอเดียของน้อง ๆ ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจและมีความละเอียด ถ้าได้รับคำแนะนำที่ดีก็จะต่อยอดเป็นนโยบายที่ทำจริงได้” พงศ์ปณต ตัวแทนจาก Thailand Policy Lab กล่าว

เช่นเดียวกับความเห็นของ สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการที่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลลัพธ์ของกิจกรรม Policy hackathon ครั้งนี้ว่า 

“หลังจากที่ได้นั่งฟังข้อเสนอของน้อง ๆ ทั้ง 7 กลุ่ม ผมหมดข้อสงสัยที่เคยตั้งไว้ว่า เยาวชนไทยที่ยังเรียนไม่จบจะสามารถช่วยเราออกแบบนโยบายได้หรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายที่สำคัญและจะส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ กิจกรรมนี้พิสูจน์แล้วว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเข้าร่วมกระบวนการวิเคราะห์ปัญหา และออกแบบนโยบายสาธารณะของเรา โดยเฉพาะประเด็นที่จะส่งผลต่ออนาคตของเขาอย่างประเด็นสุขภาพจิต ในอนาคตเราจะนำผลการทดลองและผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่ได้ไปพิจารณาเพื่อมองหาช่องทางในการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบนโยบายสาธารณะ เพื่อปรับปรุงให้กระบวนการออกแบบนโยบายของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดในสังคมได้”

ก้าวต่อไปของเส้นทางการออกแบบนโยบายโดยเยาวชนเพื่อเยาวชน พงศ์ปณต ตัวแทนจาก Thailand Policy Lab กล่าวทิ้งท้ายถึงในกิจกรรม Policy hackathon ว่า  

“ผมหวังว่าจิตวิญญาณของนักสร้างความเปลี่ยนแปลงในที่นี้จะไม่หายไป เราต้องการคนแบบนี้มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง คนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอภาครัฐ หลังจากนี้เราจะมองหาพาร์ทเนอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะทั้ง 7 ของน้อง ๆ เป็นจริง”

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามความคืบหน้าของกิจกรรม Mental Health Policy for Youth by Youth หรือต้องการอ่านนโยบายสุขภาพจิตที่ออกแบบโดยเยาวชน เพื่อเยาวชนทั้งหมด สามารถติดตามได้ผ่านช่องทางของ Thailand Policy Lab หรือคลิก https://thailandpolicylab.com/ 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า