SHARE

คัดลอกแล้ว

ข่าวใหญ่ระดับโลกในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่าการชุมนุมในฮ่องกงเพื่อต่อต้านจีนซึ่งตอนนี้ลากยาวมา 3 เดือนแล้ว กลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติซึ่งดูไม่มีทางจะสงบลงง่ายๆ ยิ่งการชุมนุมยืดเยื้อ โอกาสจะเกิดความรุนแรงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากผู้ชุมนุมหญิงคนหนึ่งถูกตำรวจยิงกระสุนถุงถั่วเข้าที่ดวงตา จนเป็นไปได้สูงว่าเธออาจจะตาบอด เมื่อภาพปรากฏออกไป ชาวม็อบฮ่องกงก็ตัดสินใจยกระดับการชุมนุมด้วยการปิดสนามบินเป็นเวลา 2 วัน และนับจนถึงตอนนี้เริ่มมีการใช้กระสุนจริงแล้ว

จากที่เราจะได้ยินความคิดเห็นทางการเมืองจีน-ฮ่องกง แค่จากทางภาครัฐและภาคประชาชน แต่พอเหตุการณ์บานปลาย เหล่าดาราชาวจีน-ฮ่องกงจึงออกมาพูดถึงเรื่องนี้กันกว่าครึ่งวงการ ทว่าเสียงที่เปล่งออกมาจากบรรดา “คนดัง” กลับไม่ค่อยมีใครอยู่เคียงข้างชาวฮ่องกง โดยรายที่ดังที่สุดเห็นจะเป็นรุ่นใหญ่สายบู๊อย่าง เฉินหลง ซึ่งประกาศว่าเขาอยู่ข้าง “จีน” ทั้งที่ตัวเขาถือเป็นนักแสดงขวัญใจชาวฮ่องกง ได้เงินได้ทองมหาศาลจากชาวฮ่องกงมาหลายสิบปี แน่นอนว่าบรรดาผู้ชุมนุมต่างผิดหวังในตัวเขาอย่างยิ่ง

หลิวอี้เฟย (Liu Yifei)

อย่างไรก็ตามกระแสก่นด่า เฉินหลง กลับไม่หนักหนามากอย่างที่คิดในเวทีโลกเมื่อเทียบกับ หลิวอี้เฟย นักแสดงสาวเจ้าของบท มู่หลาน ใน Mulan ฉบับหนังคนแสดงของดิสนี่ย์ ที่ออกมาโพสต์ความคิดของตัวเองลง Weibo ว่าเธอสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรืออีกนัยหนึ่งคือการบอกว่าเธอสนับสนุนภาครัฐ (ซึ่งอยู่ฝั่งของทางการจีนอีกที) ไม่ได้อยู่ข้างเหล่าผู้ชุมนุม “ฮ่องกงช่างน่าอัปยศเสียจริงๆ”

จริงอยู่ว่า หลิวอี้เฟย (รวมทั้ง เฉินหลง และใครต่อใคร) สามารถแสดงความคิดเห็นเช่นนั้นได้ แต่อย่าลืมว่าคนอื่นก็มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นเช่นกัน และผลที่ออกมาคือการลุกฮือของเหล่าผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลก ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของเธออย่างหนักหน่วง เกิดกระแสการต่อต้านว่าจะไม่ไปดูหนังเรื่อง Mulan ที่เธอนำแสดงและจะเข้าฉายในเดือนมีนาคม 2020 หลายคนยังก่อหวอดทางโลกโซเชี่ยล ติดแฮชแท็กว่า #BoycottDisney ประกาศว่าจะไม่สนับสนุนผลงานของค่ายดิสนี่ย์ผู้สร้างตามไปด้วย แน่นอนว่าดิสนี่ย์ย่อมไม่ถูกใจสิ่งนี้ 

และเมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม ดิสนี่ย์จัดงาน D23 Expo 2019 ขึ้นเพื่อแถลงข่าวถึงบิ๊กโปรเจ็คท์ต่างๆ ที่เตรียมปล่อยออกมาในช่วง 1-2 ปีนี้ ในงานยังมีการปล่อยฟุตเทจเพิ่มเติมของ Mulan ด้วย แต่ หลิวอี้เฟย ไม่ได้ปรากฏตัวบนเวทีหลังจากตอนแรกมีกำหนดการว่าเธอจะขึ้นเวทีด้วย การตัดสินใจดังกล่าวไม่ว่าจะมาจากทางค่ายหนังหรือตัวเธอเองก็ตาม อย่างน้อยก็ไม่สร้างบาดแผลหรือข่าวด้านลบเพิ่มเติม ซึ่งอาจทำลายโอกาสในการทำเงินของหนังมากไปกว่านี้ แต่จะลบรอยแผลที่เกิดขึ้นไปแล้วทันไหม แน่นอนว่าไม่

ในขณะที่คนด่า หลิวอี้เฟย กันเยอะ แต่ก็มีคนปกป้องเธอไม่น้อยเหมือนกัน หลายๆ คนยกเหตุผลว่า เธอ (รวมถึงนักแสดงชาวจีนทั้งหลาย) จำเป็นต้องแสดงออกเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเธอเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ การแสดงออกว่าต่อต้านจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของเธอเต็มๆ และบางคนยังตั้งข้อสังเกตว่าเธอประกาศสนับสนุนเจ้าหน้าที่เพราะถูกทางการจีนบังคับ 

แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมว่ารัฐบาลสั่งมาก็ตาม แต่ก็มีความเป็นไปได้ในเมื่อจีนคือประเทศเผด็จการ กระทำสิ่งที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพผู้อื่นเสมอ หาก “ผู้มีอำนาจ” จะหลังไมค์ไปสั่งการใครต่อใครก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ถึงกระนั้น หากเธอถูกบังคับจริงๆ การยอมแสดงความคิดเห็นเช่นนี้เพื่อหน้าที่การงาน เพื่อความสุขและความสบายใจของตัวเองสามารถยอมรับได้จริงเหรอ?

หลิวอี้เฟย เกิดที่ประเทศจีน เธอและครอบครัวย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ได้สัญชาติอเมริกันตอนอายุ 10 ขวบ แต่เธอยังไปๆ มาๆ ประเทศบ้านเกิด เล่นหนังเล่นละครที่จีนอยู่บ่อยครั้ง การที่เธอออกจากประเทศที่ปิดกั้นทางความคิด ไปอยู่ในดินแดนที่ “เปิดกว้าง” ด้านเสรีภาพและการแสดงออก ในแง่หนึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับระบบความคิด เรื่องเกี่ยวกับความรักชาติซึ่งปลูกฝังใส่เธอมาตั้งแต่เด็ก แต่น่าเสียดายไม่น้อย แม้จะได้ไปอยู่ในประเทศที่เปิดกว้างเรื่องสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก และภาคภูมิใจในความเป็นประชาธิปไตย เธอกลับยังสนับสนุนความเป็นเผด็จการและความรุนแรง การเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เวลานักแสดงหรือคนดังแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทีไร มักจะส่งผลให้นักแสดงคนนั้นโดนด่ามากกว่าได้รับคำชม จนทำให้หลายคนบอกว่า คนเป็นดารานักแสดงไม่ควรแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะแสดงออกทีไรก็เป็นแบบนี้ทุกที ซึ่งเป็นเป็นประเด็นที่ผิดไปไกล และกรณีนี้ก็เช่นกัน 

ในโลกที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก นักแสดงก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่อง แต่ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาด้วยเช่นกัน หากแสดงความคิดเห็นไม่เข้าท่าออกมา ไม่ว่าใครก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์กลับ 

แต่ก็อย่างที่เห็นกันว่าความคิดเห็นของ หลิวอี้เฟย รวมทั้งบรรดาคนที่ออกมาโปรชาวจีนทั้งหลาย ห่างไกลจากความเข้าท่า เป็นการสนับสนุนความรุนแรงสนับสนุนให้มีการเลือดตกยางออก และการกีดกันสิทธิ์ของผู้อื่น การอยากเห็นคนบาดเจ็บและอาจถึงขั้นล้มตาย เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนเช่นนั้นเหรอ? เขื่อว่าหลายคนคงตอบคำถามนี้ได้ไม่ยาก อย่าลืมว่า เหตุการณ์ประท้วงของคนฮ่องกงมีผู็บาดเจ็บ มีผู้เสียหายจริงๆ และอาจเป็นไปได้ว่าจะถึงขั้นเสียชีวิตในอนาคต ไม่ว่า หลิวอี้เฟย จะโดนรัฐบาลจีนบีบบังคับจริงหรือไม่ แต่เชื่อได้ว่าความเจ็บปวดที่เธอจะต้องเจอนั้นเทียบไม่ได้เลยกับเหล่าผู้ชุมนุมที่ออกมาปกป้องสิทธิ์ในการแสดงออก พวกเขาเหล่านี้กำลังต่อสู้กับสิ่งที่ทรงอำนาจกว่าตัวเองหลายเท่า พวกเขาอาจจะไม่มีวันได้สัมผัสกับอิสรภาพ เงินทอง และความมีหน้ามีตาในสังคมโลกได้เท่ากับนักแสดงผู้ถือสัญชาติ “อเมริกัน” อีกแล้ว หากว่าทางการจีนเกิดอยากจัดหนักขึ้นมา

คำถามต่อไปคือ แล้วเราควรจะต้องวางตัวอย่างไร เราควรดูหนัง Mulan และสนับสนุนดิสนี่ย์อยู่หรือไม่ หรือไม่ไปดูเลยดี?

ประเด็นนี้ละเอียดอ่อนและตัดสินใจยากมากไม่แพ้กัน เพราะหากคนที่เราชื่นชอบ คนที่เราเรียกตัวเองว่าเป็น “แฟนผลงาน” ดันแสดงทัศนะทางการเมืองที่บิดเบี้ยวขึ้นมา การจะตัดสินใจบอกลาคนที่เรารักย่อมยากกว่าคนที่เราไมไ่ด้มีความผูกพันมาตั้งแต่ต้น แต่การเป็นแฟนของศิลปิน ของนักแสดงที่เราชื่นชอบ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเข้าข้างและปกป้องตลอดเวลาแม้กระทั่งในช่วงเวลาที่ทำผิด โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของความเป็นความตายของคนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Mulan มีศักยภาพสูงมากที่จะทำเงินทั่วโลกในระดับพันล้านดอลลาร์ แต่หากสุดท้ายผู้คนจำนวนมากเกิดบอยคอต Mulan ขึ้นมาจริงๆ จนรายได้หดหายไปหลายร้อยล้าน (ดิสนี่ย์ไม่ถูกใจสิ่งนี้แน่นอน) ก็น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญต่อตัวของ หลิวอี้เฟย ว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยไม่แยแสในการต่อสู้ของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องจะให้ผลลัพธ์เช่นไร

ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนกว่า Mulan จะเข้าฉาย ยังมีเวลาให้คนจำนวนมากตัดสินใจว่าจะไปดูหรือไม่ไปดู (แต่เชื่อว่านับจนถึงตอนนี้ หลายคนตัดสินใจไปเรียบร้อยแล้ว) ในขณะเดียวกัน ยังมีเวลาสำหรับตัวของ หลิวอี้เฟย เองเช่นกันว่าจะตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วยการขอโทษ และให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง แม้ว่าโอกาสที่กรณีหลังจะเกิดขึ้นดูจะยากกว่าชัยชนะของชาวฮ่องกงที่มีต่อทางการจีนก็ตาม

บทความโดย ปารณพัฒน์ แอนุ้ย

ฮ่องกงชุมนุมยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2562 แล้ว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า