Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

Rocket Media Lab แหล่งข้อมูลดิบติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย-National Endowment for Democracy (NED) ชวนร่วมพูดคุยภายใต้บรรยากาศเดือนแห่งความหลากหลายกับการเคลื่อนตัวของภาพพจน์ LGBTQ ในสื่อบันเทิงอย่างซีรีส์วาย

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา แฟนเพจเฟซบุ๊ก Rocket Media Lab ชวนคนในวงการซีรีส์วายและนักวิชาการ เปิดเสวนา จักรวาลซีรีส์วายไทย : โลกของชายแท้รักกันยังเหมือนเดิมอยู่ไหม พร้อมบทสำรวจ ‘จักรวาลซีรีส์วายไทย ปี 2020-2021 : โลกของชายแท้รักกันยังเหมือนเดิมอยู่ไหม’ ผ่านทาง Clubhouse

มีผู้ร่วมวงสนทนาได้แก่ ชานันท์ ยอดหงษ์-นักเขียน/นักวิชาการ เจ้าของหนังสือ ‘นายใน’ และ ‘หลังบ้านคณะราษฎร’ , และ RAINAVENE-ยูทูบเบอร์ผู้ทำคอนเทนต์รีวิวนิยาย/ซีรีส์วาย

สังคมไทยนิยามซีรีส์วายอย่างไร?

เริ่มต้นการพูดคุยถึงการนิยามและการจัดสถานะว่า สังคมไทยจัด ‘ชีรีส์วาย’ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ LGBTQ หรือไม่ ? และสังคมไทยตั้งความคาดหวังกับการขับเคลื่อนประเด็นทางเพศในสื่ออย่างซีรีส์วายอย่างไร? โดยหนึ่งในผู้ร่วมสนทนาได้อภิปรายว่า “บางครั้งผู้ชมละครอาจคาดหวังมากไปที่วายจะต้องมาขับเคลื่อนสิ่งที่ LGBTQ เป็น ในแง่ที่ว่าเป็นการคลุมถุงชนตัวละคร บางครั้งการพัฒนาเส้นทางของอัตลักษณ์ตัวละครหรือเนื้อหาให้สอดรับกับชีวิตของ LGBTQ มันไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนด้านสิทธิได้”
โดยมีการอภิปรายไปถึงเรื่องราวและตัวตนของ LGBTQ ในสื่อไทยในยุคแรก ๆ อย่าง รายการแม่บ้านสมองไว-โดยคุณเทิ่ง สติเฟื่อง ชายออกสาวยุคแรก ที่ถ่ายทอดบุคลิกเชิงขบขันในหน้าจอทีวีอย่างช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อปี 2498 ได้สร้างภาพจำต่อกลุ่ม LGBTQ ภายใต้อัตลักษณ์บนมิติความบันเทิง จนกลายเป็นภาพจำหลักของ LGBTQ ในไทยในเวลาต่อมา

วายในวรรณกรรมและเส้นทางการต่อสู้

ในแง่พลวัตการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมวาย ได้มีการอภิปรายไปถึงตัวตนและวัฒนธรรมวายในวรรณกรรมอย่างนิยายวาย, การ์ตูนมังงะ ในยุคทศวรรษ 2540 ที่บริบทสังคมขณะนั้นจัดที่ทางวัฒนธรรมวายให้เป็นเรื่องผิดศีลธรรมอันมาจากการสถาปนากรอบจารีตแบบไทย ทำให้วัฒนธรรมการเสพวายกลายเป็นเรื่องหลบซ่อน

โดยหนึ่งในผู้อภิปรายได้เล่าว่า “จำได้ว่า เวลาจะไปซื้อนิยายวายในยุคนั้นต้องเป็นสมาชิก หรือต้องมีเพื่อนที่เป็นสมาชิกของร้านหนังสือ แล้วไปถึงไม่ได้ซื้อง่ายๆ นะ ต้องมีตอบคำถาม 20 คำถาม แล้วคนขายถึงจะหยิบสต๊อกออกมาให้เราเลือก บางร้านต้องไปหยิบมาจากหลังรถเพื่อเอามาให้เรา คือมันไม่ใช่หนังสือที่จะวางขายได้แบบโจ่งแจ้ง”

จะเห็นว่าที่ทางของวัฒนธรรมวายมีเรื่องราวของการต่อสู้ กว่าจะกลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของสาววาย, หนุ่มวาย ที่กว่าจะได้ ‘ลงเรือพายกัปตัน’ และเสพ ‘โมเมนต์ชวนจิ้น’ ระหว่างผู้ชายในปัจจุบันกันฟินๆ แบบเต็มอิ่มครบอรรถรส

ด้วยพื้นฐานของการเสพวรรณกรรมวายที่กล่าวไปนี้เอง นิยายส่วนหนึ่งที่เป็นกระแส ได้กลายร่างมาเป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านสายตาผู้ชมบนจอแก้ว และแพลตฟอร์มในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในรูปแบบของซีรีส์วาย โดยมีการกล่าวถึงการสร้างตัวละครบนซีรีส์วาย ว่า “ส่วนใหญ่เราจะเห็นการสร้างความเป็นชาย (Masculinity) ในตัวละครอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกต้องเรียนวิศวะฯ ต้องเล่นฟุตบอล ชอบความรุนแรง เคยคบผู้หญิงมาก่อน แล้วมาเจอนายเอก ซึ่งมักจะเริ่มต้นด้วยการไม่ถูกกัน มีปมขัดแย้งกัน แล้วสักพักก็มารักกัน”

ความเป็นชายเพื่อขับเน้นความเป็นชายในซีรีส์มันมีปัญหาไหม?

หนึ่งในผู้ร่วมสนทนาได้ขยับขยายจากความพยายามสร้างความเป็นชายในซีรีส์ผ่านการสร้างบุคลิกตัวละครที่ขับเน้นความเป็นชาย มายังเรื่องที่เรามองข้ามไปอย่าง ‘การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)’ โดยผู้ร่วมสนทนามีอาชีพเป็นอาจารย์ในระดับชั้นมัธยมต้นที่ได้เห็นลูกศิษย์รับรู้ภาพบางอย่างในซีรีส์ที่อาจเป็นการสร้างความเข้าใจที่ไม่ดีในเรื่องเพศ “อย่างฉากหนึ่งของซีรีส์ที่ผู้ชายด้วยกันผลักลงเตียง คนดูอาจจะคิดว่าไม่มีอะไร มันก็ผู้ชายด้วยกัน แต่เราว่ามันเป็นเรื่องของ consent ความยินยอมด้วยส่วนหนึ่ง ”

มีการนำประเด็นไปเสริมต่อด้วยเรื่องของการพัฒนาบทละครและซีรีส์ ที่ควรสร้างภาพลักษณ์ของ LGBTQ ในทิศทางที่ดีขึ้น ให้ตัวตนหรือแง่มุมทางเพศได้สอดรับกับมิติเชิงเพศวิถี โดยยกกรณีการถกเถียงกันในซีรีส์อย่าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ (ที่เพิ่งเกิดแฮชแท็ก #แปลรักฉันให้ใครดู ในช่วงที่เสวนานี้กำลังถกเถียงกันอยู่ ) ในประเด็นที่ว่าซีรีส์ดังกล่าวนั้นก้าวข้ามเส้นบางๆระหว่าง ‘ซีรีส์วาย’ ไปสู่ ‘ชีรีส์ LGBT’ แล้วหรือไม่? โดยก็มีการแสดงความคิดเห็นจากผู้ร่วมฟังเป็นจำนวนมาก หนึ่งในผู้ฟังร่วมการพูดคุย กล่าวว่า “ส่วนตัวเคยทำวิทยานิพนธ์เรื่องการประกอบสร้างตัวละครชายรักชายในซีรีส์วาย และคิดว่าแปลรักฯ ได้ก้าวข้ามไปสู่ซีรีส์ LGBT เรียบร้อยแล้ว” โดยมีการขยายว่าตัวละครอย่าง ‘โอ้เอ๋ว’ มีการเปิดตัวและแสดงเพศวิถีของตนเองว่าชอบผู้ชายตั้งแต่ต้น พร้อมไปด้วยการยอมรับและแสดงออกในลักษณะ ‘ความสาว’ แบบไม่ปิดบังต่อกลุ่มเพื่อน ดังนั้นแล้วเราจะพบว่าทิศทางการพัฒนาบทบาทของตัวละครก็กำลังมีทิศทางที่ดีขึ้น

ที่ทางของ ‘ผู้หญิง’ และสถานะบทบาทในซีรีส์วาย

มาถึงการเปิดประเด็นถึงที่ทางของตัวละครอื่นในซีรีส์วายอย่าง ‘ผู้หญิง’ ที่ผู้ร่วมสนทนาได้ตั้งประเด็นชวนคุยว่า บทบาทของผู้หญิงในซีรีส์วาย เป็นการลดทอนหรือกดทับคุณค่าทางเพศของหญิงในเรื่องหรือไม่ มีการกล่าวว่า “อย่างตัวละครผู้หญิงในซีรีส์วาย มักจะแบน คือไม่ค่อยมีบทบาท หรือเป็นฝ่ายที่ต้องเสียใจ อกหักจากที่..อาจจะแฟนหรือผู้ชายที่ไปชอบ ไปรักกับผู้ชาย ซึ่งมันสามารถพัฒนาบทหรือหาทางลงที่ดีกว่านี้ได้ อย่างเรื่องกลรักฯ เราจะเห็นว่าทางฝ่ายชายก็มีแฟนผู้หญิงอยู่แล้ว แต่แฟนผู้หญิงไปนอกใจ แล้วทางผู้ชายก็ไปมีใจให้กับรุ่นน้อง(ผู้ชาย)อีก เราจะเห็นว่าบทของผู้หญิงมักจะลงด้วยอะไรแบบนี้ไม่กี่อย่าง”

ซีรีส์วายสามารถสร้างการขับเคลื่อนไปกับขบวนการ LGBT ได้ไหม?

เป็นประเด็นที่เปิดการถกเถียงกันยาวในวงสนทนา โดยข้อถกเถียงมาจากการที่ผู้ฟังได้ตั้งคำถามว่า ในเมื่อซีรีย์วายไทยมันมากมายขนาดนี้แล้ว ทำไมมิติทางสังคม ประเด็นปัญหาต่างๆ มันถึงไม่ถูกแก้ไขและสะท้อนออกมาบ้างในซีรีส์ ซึ่งในประเด็นนี้มีผู้เขียนบทซีรีส์มาร่วมวงสนทนาด้วย มีการกล่าวถึงเบื้องหลังการสร้างซีรีส์ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาบทที่ส่วนใหญ่นำมาจากนิยายที่ถูกเขียนไว้หลายปี ก่อนที่ประเด็นการขับเคลื่อนที่กำลังเป็นข้อถกเถียงจะเกิดขึ้น ดังนั้นในแง่ของคนทำงานก็กำลังพัฒนาบทอยู่ตลอด ทั้งนี้ก็มีการทิ้งเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “บางทีเวลาเราจะไปสอดเรื่องการขับเคลื่อนหรือให้ซีรีส์วายมันสะท้อนมิติของ LGBT ก็เป็นอันตรายเหมือนกันนะ ตรงที่ว่า..คนที่ดูจากซีรีส์อาจจะคิดและรับรู้ไปแล้วว่าเนี่ยไง มันเปิดกว้างแล้ว เราเห็นในซีรีส์ เราเปิดรับความหลากหลายแล้ว ซึ่งบางครั้งในสังคมจริงๆ ความบันเทิงกับการเรียกร้องสิทธิ มันอาจจะเป็นคนละเรื่องกัน และยังต้องต่อสู้ไปอีกมาก”

เรียกได้ว่าประเด็นอย่างซีรีส์วายเต็มไปด้วยมิติมากมายที่สะท้อนต่อความเข้าใจหรือการรับรู้ของผู้คนในสังคมไทย ผ่านการสนทนาพูดคุยร่วมกันระหว่างคนในแวดวงและนักวิชาการ รวมไปถึงผู้บริโภคซีรีส์ ที่ได้ตั้งประเด็นจำนวนมาก เพื่อคาดหวังต่อสื่อของไทยให้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีพร้อมยังกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้บริโภคช่วยกันส่งเสียงกันออกมา เพื่อให้คนทำงานได้รับรู้ เราอยากเห็นการปรับเปลี่ยนอะไร ก็ต้องบอกเขา มันก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทำได้

ทั้งนี้แม้ว่าภาพสะท้อนของ LGBTQ ในซีรีส์วายยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงและความคลุมเครือของที่ทางในอัตลักษณ์ของตัวละครและยังต้องการเวลาอีกมากกว่าความคาดหวังของผู้ชมและทรัพยากรของผู้จัดจะเข้าจุดสมดุลในการสร้างและผลิตงานที่ตอบโจทย์ทั้งตัวงบประมาณและความต้องการของผู้บริโภค แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายปีและยังไร้วี่แววที่จะเห็นผลคือการเรียกร้องการรองรับสิทธิพลเมืองของกลุ่ม LGBTQ ในไทย ที่วันนี้เราเอง ไม่ว่าใคร แม้ไม่ใช่หนุ่มวายหรือสาววาย ก็ต้องร่วมกันออกมาส่งเสียงไปพร้อมๆ กับสื่อของไทยที่กำลังปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ต่อวัฒนธรรมของ LGBTQ ที่วันนี้มิใช่เป็นเพียงแค่ความบันเทิงอีกต่อไป

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า