Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กตัญญูทำไม ในเมื่อเราอยู่คนเดียวได้: ชวนมองปรากฏการณ์ทางสังคมเกาหลีที่เปลี่ยนไปใน The Glory

ซีรีส์เกาหลีที่ร้อนแรง น่าจับตามอง และใคร ๆ ก็ต้องพูดถึงช่วงนี้คงไม่พ้น The Glory ผลงาน Original Series จากแพลตฟอร์ม Netflix หลังจากที่ Part 2 ตอน 9 ถึง 16 ได้ปล่อยออกมาให้รับชมในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ไม่ถึงวันก็ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งประเภท TV Show ในประเทศไทย ถัดมาอีกสามวันทะยานขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งของโลก ยังไม่รวมติดอันดับ TOP10 กว่า 89 ประเทศทั่วโลก ด้วยเรื่องราวการแก้แค้นของ “มุนดงอึน” ครูชั้นประถมศึกษาที่กลับมาเอาคืนเพื่อนในวัยเด็กที่เคยใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายเธออย่างแสนสาหัส  นอกจากความเข้มข้นของเนื้อเรื่องที่ตัวละครต่างเชือดเฉือนกันแล้ว  ธาตุแท้หรือด้านมืดในจิตใจมนุษย์ก็เป็นอีกด้านที่ผู้ชมติดตามว่าตัวละครจะไปสุดถึงขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน (학폭: 학교 폭력) The Glory ยังมีประเด็นเชิงวัฒนธรรมที่น่าขบคิดและปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสังเกตให้ชวนติดตามอยู่ มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

 

(เนื้อหาบางส่วนต่อไปนี้ อาจเปิดเผยเนื้อเรื่องบางช่วงของซีรีส์เล็กน้อย แต่ไม่เฉลยหรือคลี่คลายประเด็นสำคัญ)

 

ขงจื๊อ ค่านิยมที่ฝากรากลึกในสังคมเกาหลีจากอดีตสู่ปัจจุบัน

ภาพจาก :: https://blog.naver.com/free7790/223042449401

ภาพจาก :: https://blog.naver.com/free7790/223042449401

อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา แต่ในเรื่องความเชื่อนั้น มีชาวเกาหลีไม่น้อยศรัทธาความเชื่อท้องถิ่นอย่างการทรงเจ้าเข้าผี หรือ ลัทธิมูซก (무속 신앙) ดังที่เราเห็นฮง-ยองแอ แม่ของพัคยอนจินเดินทางไปทำพิธีขับไล่วิญญาณร้าย หรือขอเครื่องรางจากแม่หมอมาพกติดตัว ลัทธิมูเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนเกาหลีก่อนที่ประเทศจะรับศาสนาพุทธเข้ามาในสมัยสามอาณาจักร  พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนัก ส่งอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรมโดยรวมในช่วงอาณาจักรโครยอ (ปี 918-1392) ขณะเดียวกันลัทธิหรือแนวคิดขงจื๊อ (유교; 儒敎) ซึ่งเป็นเสมือนหลักในการปกครองก็เป็นที่แพร่หลายในชนชั้นกษัตริย์และขุนนางในยุคโครยอ

นักปราชญ์จูซี (朱熹) หรือจูจื่อ (นามยกย่อง) ภาพจาก :: http://bhoffert.faculty.noctrl.edu/HIST230/20.ZhuXi.html

ในราวปลายศตวรรษที่ 12 ปลายสมัยราชวงศ์ซ่งของจีน ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบความคิดขงจื๊อในจีน จูซี (Chu Hsi / Zhu xi)  ได้ศึกษาคำสอนทางสังคมของขงจื๊อ และจัดทำระเบียบคำสอนใหม่ เช่น หลักปรัชญาการปกครองแบบขงจื๊อ ปรัชญาด้านความคิดและจิตใจ  แนวคิดเรื่องระบบครอบครัว เรียกแนวคิดดังกล่าวกว่า “ลัทธิขงจื๊อใหม่” (Neo-Confucianism; 성리학; 性理學)  นอกจากลัทธิขงจื๊อใหม่จะให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว การทำความดี เช่น การกตัญญูรู้คุณ และจงรักภักดีต่อผู้ปกครองตามแนวคิดขงจื๊อเดิมแล้ว ยังเน้นคำสอนว่ารัฐต้องมีผู้ปกครองที่สติปัญญาและคุณธรรม โดยที่สติปัญญาและคุณธรรมต้องได้มาจากการศึกษาแนวคิดขงจื๊ออย่างแตกฉาน

เกาหลีรับแนวคิดขงจื๊อใหม่เข้ามาในช่วงปลายสมัยโครยอ แต่เป็นที่นิยมศึกษาในกลุ่มขุนนางรุ่นใหม่ ยังไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้น ต่อมาเมื่อนายพล อีซองเกย หรือพระเจ้าแทโจ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์โชซอน (ปี 1392-1897) ได้ทรงอุปถัมภ์ลัทธิขงจื๊อใหม่อย่างเป็นทางการ และนำมาประยุกต์ปรับใช้ให้เข้ากับสังคมเกาหลี โดยผนวกรวมเข้าไปใช้กับการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ประเพณีและพิธีกรรม เพื่อให้สมาชิกในสังคมมีจริยธรรม รวมถึงสังคมมีความสงบ และเป็นระเบียบ ระบบขงจื๊อในเกาหลีจึงมีเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของตน และส่งอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมกระทั่งในปัจจุบัน

แม้ศาสนาคริสต์จะถูกเผยแผ่ในเกาหลีช่วงปลายสมัยโชซอน แต่แนวคิดขงจื๊อใหม่ก็ยังฝังรากลึก เป็นแนวปฏิบัติที่คนเกาหลียึดถือมาถึงทุกวันนี้  ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ” หรือ เชซา (제사; 祭祀) เป็นพิธีแสดงการคารวะวิญญาณของบรรพบุรุษ รวมทั้งเทพยดาฟ้าดิน โดยนำอาหารมาเซ่นไหว้ ผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่จะเป็นลูกชายคนโตของตระกูล  พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษมีด้วยกันสองลักษณะ คือ คีอิล (기일; 忌日) หรือการเซ่นไหว้ในวันที่บรรพบุรุษเสียชีวิต จัดในตอนกลางคืน และ ช่า-รเย (차례; 茶禮)  การเซ่นไหว้ในวันปีใหม่และเทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือวันชูซ็อก (추석) จัดในตอนกลางวัน ในเรื่อง The Glory เราจะได้เห็นฉากหนึ่งที่พระเอก หรือคุณหมอยูจองกลับไปบ้านเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ในวันที่พ่อเสียชีวิต มีการเขียนป้ายบูชาบรรพบุรุษ (지방; 紙榜) เพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณ

ขอบคุณภาพจากซีรีส์ The Glory Ep.4

ขอบคุณภาพจากซีรีส์ The Glory Ep.4

เรื่องราวความดราม่าที่เกิดขึ้นใน The Glory มีส่วนเกี่ยวพันกับแนวคิดขงจื๊ออยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ “สถาบันครอบครัว” เมื่อมุนดงอึน ตัวเอกของเรื่องถูกแม่ทอดทิ้ง ขายศักดิ์ศรีของลูก และทำลายชีวิต ธรรมเนียมขงจื๊อหนึ่งที่คนเกาหลีเคร่งครัดยึดถือมาตั้งแต่สมัยโชซอนคือ “ซัมกัง-โอ-รยุน” (삼강오륜; 三綱五倫) หรือ กฎระเบียบ 3 ประการ และจริยธรรม 5 ประการ  โดยระเบียบ 3 ประการจะพูดถึงหลักปฏิบัติ 3 ข้อ คือ “ข้าราชการพึงต้องจงรักภักดีต่อกษัตริย์” “บุตรชายพึงต้องเลี้ยงดูบิดา” และ “ภรรยาพึงต้องดูแลสามี ”ส่วนจริยธรรม 5 ประการนั้นจะพูดถึงความสัมพันธ์ย่อย 5 ข้อดังนี้

  1. กษัตริย์กับข้าราชบริพารพึงต้องมีคุณธรรมต่อกัน (กษัตริย์ต้องให้เกียรติข้าราชบริพาร และข้าราชบริพารต้องจงรักภักดีต่อกษัตริย์)
  2. พ่อแม่กับลูกๆพึงต้องใกล้ชิด สนิทสนมกัน (พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูก ลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่)
  3. สามีภรรยาพึงต้องมีการแบ่งแยก (ทำหน้าที่ของตัวเองให้เหมาะสม)
  4. ผู้อาวุโสและผู้น้อยพึงต้องมีลำดับ (ทั้งคู่ต่างต้องเคารพซึ่งกันและกัน)
  5. สหายต่างต้องเชื่อใจ ไว้ใจซึ่งกันและกัน

จะสังเกตได้ว่าหลักปฏิบัติและจริยธรรมดังกล่าว มีจุดร่วมประการหนึ่งที่สำคัญคือการเชื่อเรื่องการเคารพ จงรักภักดีต่อผู้ที่มีอำนาจ หรือผู้อาวุโส  ในครอบครัวพ่อเป็นหัวหน้า เป็นคนที่ใหญ่สุด มีหน้าที่ดูแลครอบครัว เปรียบเสมือนหัวหน้ารัฐที่ดูแลผู้ใต้ปกครอง  ในขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ใต้ปกครองคือลูก ภรรยา เปรียบเสมือนประชาชนที่ต้องเชื่อฟัง เคารพ ทำตาม

เมื่อแนวคิดขงจื๊อกำลังถูกสมาชิกในสังคมเกาหลีท้าทาย

คำสอนข้อหนึ่งที่แนวคิดขงจื๊อใหม่เน้นย้ำคือเรื่อง “ความกตัญญู” (효; 孝) ลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่  ภรรยาต้องมีความกตัญญูต่อสามี  ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองต้องมีความกตัญญูต่อผู้ปกครอง  นอกจากนี้ในสมัยโชซอนยังมีหลักจริยธรรมขงจื๊อว่าด้วยการเป็นภรรยาและลูกสะใภ้ที่ดี (열녀효부; 烈女孝婦) อีกด้วยซึ่งเป็นลักษณะของผู้หญิงต้นแบบ ควรเอาเป็นตัวอย่าง กล่าวคือ ภรรยาต้องมีความซื่อสัตย์ต่อสามี และลูกสะใภ้ต้องมีความกตัญญู ปรนนิบัติพ่อแม่สามี  ผู้หญิงเกาหลีในฐานะภรรยาจึงต้องจงรักภักดีต่อสามี เหมือนลูกที่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่

ในซีรีส์ The Glory เราจะพบว่าแนวคิดเรื่องความกตัญญูได้ถูกสั่นคลอนลงจากการประพฤติตัวไม่เหมาะสมของผู้ที่มีอำนาจ หรือผู้อาวุโส เมื่อ ชองมีฮี หรือแม่ของดงอึนไม่ได้ปฏิบัติตามจริยธรรม หน้าที่การเลี้ยงดูลูก นอกจากจะเพิกเฉย ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของลูกในวัยเด็กแล้ว ยังเห็นแก่เงิน ขายศักดิ์ศรีและเกียรติของลูกให้อำนาจของเงินอีกด้วย เมื่อดงอึนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ยังกลับมาทำร้ายจิตใจและหน้าที่การงานของลูก ด้วยการเป็นเครื่องมือของศัตรูลูกสาวตนเอง หรือจะเป็น อีซอกแจ สามีของแม่บ้าน คังฮยอนนัม ที่ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายภรรยา และลูกสาว (가정폭력) มิหนำซ้ำยังขูดรีดเงินจากภรรยาไปดื่มเหล้า

The Glory (L to R) Yeom Hye-ran as Kang Hyeon-nam, Song Hye-kyo as Moon Dong-eun in The Glory Cr. Graphyoda/Netflix © 2023

สิ่งที่ดงอึนในฐานะลูก และคังฮยอนนัมแสดงออกกลับไปยังผู้ที่มีอำนาจเหนือตนในความสัมพันธ์ครอบครัว มิได้เหมือนละครคุณธรรมของไทยบางเรื่อง เช่น ทองเนื้อเก้า (2556)  แม้วันเฉลิมจะไม่ได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดูจากลำยองผู้เป็นแม่  เพราะลำยองเอาแต่ติดเหล้า เมายาดอง และการพนัน สิ่งที่วันเฉลิมเลือกทำคือการกตัญญูรู้คุณบุพการี ดูแลแม่ยามป่วยไข้  และตอบแทนคุณแม่ด้วยการเป็นเสาหลักของครอบครัว ตลอดจนบวชให้ลำยองได้เกาะชายผ้าเหลืองในบั้นปลายชีวิต  แต่ดงอึนกับคุณป้าฮยอนนัมกลับเลือกที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องสิทธิ และความเป็นอยู่ของตัวเองที่ควรได้รับ โดยใช้วิธีแก้แค้น จัดการผู้เป็นแม่ และสามีที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจให้หายไปจากชีวิตของพวกเธอ โดยไม่สนใจแนวคิดขงจื๊อใหม่ที่สังคมยึดถือปฏิบัติมา

The Glory Song Hye-kyo as Moon Dong-eun in The Glory Cr. Graphyoda/Netflix © 2023

แม้แต่ “ครูบาอาจารย์” ซึ่งเป็นผู้อาวุโส ได้รับการยกย่องนับหน้าถือตาในสังคม และนักเรียนต่างให้ความเคารพ ระลึกถึงพระคุณ  หากประพฤติตัวไม่เหมาะสม บกพร่องในหน้าที่วิชาชีพอย่างครูคิมจงมุน ครูประจำชั้นของดงอึนในช่วงมัธยมปลายที่เพิกเฉย มองข้ามการทำร้าย และใช้ความรุนแรงในโรงเรียน ปล่อยให้ดงอึนกลายเป็นเหยื่อของเพื่อน ๆ ที่เข้ามาคุกคาม และกระทำชำเรา ทารุณกรรมต่าง ๆ  ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมุนดงอึนเลือกที่จะเขียนความจริงดังกล่าวลงในใบลาออก  คิมจงมุนกลับเลือกที่จะปฏิเสธข้อเท็จจริง ให้ดงอึนแก้ไขสาเหตุการลาออกครั้งนี้  และยังใช้ความรุนแรงด้วยการทุบตีเธออีกด้วย  ในการดำเนินเรื่องของ The Glory Part 1 เราจึงได้เห็น “ครู” บุคคลที่น่าจะได้รับความเคารพ และการยกย่องจากผู้น้อยในสังคม กลายเป็นเป้าหมายคนหนึ่งที่ดงอึนต้องการแก้แค้น และเอาคืนเพื่อกู้เกียรติยศของเธอกลับคืนมา

วัฒนธรรมการรวมกลุ่มกำลังสลายกลายเป็นปัจเจกนิยม

มีคนเคยชวนสังเกตว่าขวดเบียร์ของฝรั่งกับเอเชียนั้นต่างกัน หากเป็นฝั่งเอเชีย ขนาดขวดเบียร์จะใหญ่ สามารถแบ่งกินกันได้หลายคน ในขณะที่ขวดเบียร์ของฝรั่ง ฝั่งอเมริกา ยุโรปบางประเทศขวดเบียร์จะมีลักษณะกะทัดรัด สำหรับกินได้คนเดียว  สาเหตุอาจจะเป็นเพราะคนเอเชียมองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในสังคม ชอบการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

คนเกาหลีหากจะกล่าวถึงประเทศของตนเอง  บ้านของตัวเอง บริษัทของตัวเอง ลูกสาวของฉัน สามีของฉัน คำแสดงความเป็นเจ้าของที่คนเกาหลีใช้กันคือ “อู-รี” (우리)  เช่น 우리 남편 [อู-รี นัมพยอน]  ถ้าให้แปลตรงตัวเป็นภาษาอังกฤษจะได้ว่า our husband  ซึ่งฟังแล้วดูแปลก เพราะไม่มีคนไทย หรือฝรั่งชาติไหน ใช้คำว่า our หรือ “ของพวกเรา” แสดงความเป็นเจ้าของสามี  เหมือนผู้พูดกำลังแบ่งปันสามีตัวเองให้ใครอยู่  แต่คำว่า  우리 남편 [อู-รี นัมพยอน]   สำหรับคนเกาหลีเป็นเรื่องปกติ และใช้กันทั่วไป ผู้ฟังเข้าใจได้ในความหมาย my husband หรือ สามีของฉัน

การใช้คำว่า อู-รี” (우리)  ขยายคำนาม แสดงความเป็นเจ้าของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน บริษัท เพราะมีแนวโน้มว่าคนเกาหลีมองว่าครอบครัว บริษัท และตัวเองนั้นถือเป็นสิ่งเดียวกัน  ผู้ฟังจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของผู้พูด คนเกาหลีมีวัฒนธรรมในองค์กรค่อนข้างเข้มข้น เชื่อกันว่าบริษัทเหมือนบ้านและครอบครัวของตน ผลประโยชน์ของบริษัทต้องมาก่อน   หรือว่าถ้าฉันประสบความสำเร็จแล้ว ต่อมาครอบครัวก็จะประสบความสำเร็จตามด้วย

ลักษณะเด่นของสังคมเกาหลีที่ว่านี้เรียกว่า “แนวคิดนิยมการรวมกลุ่ม” (Collectivism; 집단주의) กล่าวคือ สมาชิกในสังคมให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของส่วนรวม สนใจความคิดเห็นส่วนมากของคนในกลุ่มมากกว่าตัวเอง ส่งผลให้คนเกาหลีมักทำอะไรเป็นกลุ่มก้อน สไตล์เดียวกัน เช่น สวมเสื้อโค้ทหรือ long padded jacket สีดำกันทั้งถนน หรือรองเท้าไนกี้รุ่นเดียวกันทั้งรถไฟฟ้า  ใครที่ทำตัวแปลกแยก ไม่พยายามเข้ากลุ่ม หรือโดดเด่นจะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม  ดังนั้นการแสดงความเห็นต่างจากส่วนรวม  หรือเป็นตัวของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในสังคมเกาหลี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การเหยียดเพศหรือเชื้อชาติ ตลอดจน การกลั่นแกล้ง ล้อเลียนในโรงเรียน

แนวคิดนิยมการรวมกลุ่ม เป็นค่านิยมและวัฒนธรรมพื้นฐานที่อยู่ในสังคมเกาหลีมาตั้งแต่ในอดีต เห็นได้จากการรวมกลุ่มของชาวไร่ชาวนาในการทำการเกษตร การทำพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องความอุดมสมบูรณ์ของพืชผล ตลอดจนการทำอาหารร่วมกัน เช่น การหมักกิมจิร่วมกันก่อนเข้าฤดูหนาว (คิมจัง; 김장)  และแบ่งกันกินกับเพื่อนบ้าน อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นตามร้านปิ้งย่าง คนเกาหลีมักจะแบ่งปันกับข้าว เครื่องเคียงกับเพื่อนหรือครอบครัวบนโต๊ะอาหาร  ทำให้บางครั้งเวลาเข้าร้านปิ้งย่าง จึงมีการกำหนดจำนวนลูกค้าอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเกาหลีก็เปลี่ยนตามไปด้วย เราเริ่มเห็นร้านอาหารสำหรับลูกค้าที่นั่งท่านคนเดียว เพราะกระแสการกินข้าวคนเดียว (혼밥) หรือดื่มเหล้า (혼술) ตามลำพังเริ่มเป็นที่นิยม  แม้แต่การเดินทางไปเที่ยวคนเดียว (혼행) ก็เริ่มมีชาวเกาหลีทำ vlog สไตล์นี้มากขึ้น  ทำให้การครองตัวเป็นโสด ไม่คิดจะแต่งงานมีลูก ไม่ใช่เรื่องแปลกของคนเกาหลีอีกต่อไป ถึงขนาดมีการบัญญัติสร้างคำว่า “พี-ฮน” (비혼) ใช้เรียกคนโสดที่ไม่คิดจะแต่งงาน ขอขึ้นคานตลอดไป  เพราะก่อนหน้านี้เกาหลีมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสถานะสมรสแค่สองคำคือ “คยอ-รน” (결혼) คือแต่งงานแล้ว กับ “มี-ฮน” (미혼) คือคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน แต่อนาคตจะแต่ง

ลักษณะสังคมที่สมาชิกในสังคมให้ความสำคัญ มองค่านิยมการพึ่งพาตัวเอง รักความเป็นอิสระ ปรารถนาที่จะทำตามเป้าหมายในชีวิตตนเอง คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ของสังคม เราเรียกว่า “แนวคิดปัจเจกนิยม” (Individualism; 개인주의)  ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และโลกของทุนนิยมที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น  คนในสังคมจึงต้องแข่งขัน แก่งแย่งชิงดี เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ความเป็นปัจเจก บางครั้งก็กลายเป็นความเห็นแก่ตัว  เน้นแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงคนรอบข้าง หรือสังคมที่ตัวเองอยู่  ลักษณะดังกล่าวเรียกว่า “อัตตานิยม” (Egoism; 이기주의)  เห็นได้ชัดในซีรีส์เรื่อง Squid Game (2021) เมื่อผู้เข้าแข่งขันในเกม ต่างต้องการเป็นผู้ชนะ เพื่อคว้าเงินรางวัลทั้งหมด โดยไม่คิดจะแบ่งให้ใคร ทำให้มิตรภาพ และความรักที่เคยเกิดขึ้นนอกการแข่งขัน กลับกลายเป็นเพียงของจอมปลอมที่ทุกคนใส่หน้ากากเข้าหากัน  ผู้เข้าแข่งขัน 218 โจซังอูเป็นคนที่แสดงอัตตานิยมได้ชัดที่สุด ถึงแม้เขาจะเป็นเพื่อนบ้าน และสนิทสนมกับพระเอก ซองกีฮุน แต่เขาก็เลือกที่คอยเอาเปรียบ และหาทางปัดให้กีฮุนตกอยู่ในสถาการณ์ลำบากเพื่อตกรอบเสมอ ยังไม่นับรวม หนุ่มปากีสถาน อับดุล อัลลา ที่เชื่อใจซังอูหมดใจ จนสุดท้ายต้องถูกทรยศ

ในซีรีส์ The Glory มุนดงอึนเติบโต และใช้ชีวิตมาอย่างโดดเดี่ยว ปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด โดยไม่มีครอบครัว และเพื่อนฝูงอยู่เคียงข้างเหมือนเพื่อนคนอื่น เป้าหมายในชีวิตเธอมีแต่การแก้แค้นคนที่ทำลายชีวิตเธอ อาจเป็นเพราะดงอึนถูกมองเป็นคนแปลกของสังคม เธอจึงถูกเหยียดหยามรังแกจากสังคมที่เธออยู่   กระทั่งเธอเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ การเข้ามาเป็นครูในโรงเรียนเอกชน ก็ดูเหมือนจะทำให้เธอถูกเพื่อนร่วมงานจับตามอง โดนหมั่นไส้ ถูกใช้ให้รับผิดชอบงานเยอะกว่าคนอื่น  แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เป็นผลกระทบกับดงอึนเลยแม้แต่น้อย  เพราะเธอให้ความสำคัญกับตัวเองมาเป็นอันดับหนึ่ง  ไม่ได้สนใจ และไม่อยากจะสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานสักคน แม้แต่กับป้าสายสืบฮยอนนัม เธอก็ขีดเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว  ไม่เคยเปิดช่องว่างให้ป้าแกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเธอ

The Glory Song Hye-kyo as Moon Dong-eun in The Glory Cr. Graphyoda/Netflix © 2023

ความเป็นปัจเจก รักอิสระ คำนึงถึงความคิดและความรู้สึกของตัวเองเป็นหลักยังเห็นได้จากพระเอก พ่อไมโครเวฟของเรา คุณหมอจูยอจอง ตามปกติในสังคมเกาหลี หากบ้านไหนทำธุรกิจใหญ่โต เป็นเจ้าของกิจการโรงพยาบาล แล้วยิ่งลูกหรือทายาทเป็นหมอด้วยแล้ว แน่นอนว่าพ่อแม่ต้องอยากให้ลูกสืบทอดกิจการ และทำงานในโรงพยาบาลของตัวเอง  แต่ยูจองกลับเลือกจะขอแม่ออกไปเปิดคลินิกเป็นของตัวเอง และได้ใช้ชีวิตในแบบของเขา ได้เติมเต็มเป้าหมายและเส้นทางของคนที่เขารัก  มากกว่าจะอยู่บนกองเงินกองทองของครอบครัว

The Glory Lee Do-Hyun as Joo Yeo-jeong in The Glory Cr. Graphyoda/Netflix © 2023

อีกตัวละครหนึ่งที่มีความเป็นปัจเจกสูงคือพัคยอนจิน เธอคือผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศชื่อดังของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง แน่นอนว่าในสถานีโทรทัศน์ต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มข้น  รุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่ เชื่อฟังหัวหน้า หรือมีความสามัคคีกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน อย่างที่เราเห็นกันในซีรีส์ 18 Again (2020)  แม้จองดาจองจะอายุเยอะ แก่คราวแม่ แต่ก็ต้องก้มหัวให้หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานบางคนที่เข้ามาทำงานก่อน หลังเลิกงานก็ต้องไปสังสรรค์ กินข้าวร่วมกับเจ้านายและเพื่อน ๆ ในฝ่าย (회식) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในองค์กร หรือฉลองให้กับความสำเร็จกับผลงาน บางครั้งก็มีไปต่อที่ร้านเหล้าหรือคาราโอเกะ  ทว่าพัคยอนจินไม่ได้เป็นแบบจองดาจอง เธอสวย เลิศ เชิด ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่แคร์ใครสักคนในที่ทำงาน แม้จะถูกใครนินทา หรือจ้องจับผิด เธอก็สามารถยืนหยัดในองค์กรได้อย่างสง่าผ่าเผย แม้แต่ตอนที่ถูกเพื่อนในกลุ่มแฉ ปล่อยคลิปที่ยอนจินบูลลี่ ทำร้ายร่างกายเพื่อนในวัยมัธยม จนทำให้ภาพลักษณ์ชื่อเสียงของสถานีต้องอับอาย และฉาวโฉ่  ยอนจินไม่เลือกที่จะประนีประนอม หรือขอโทษหัวหน้าสักคำเดียว สิ่งที่เธอทำคือตัดสินใจลาออกทันที โดยไม่คิดเสียดายโอกาสในวิชาชีพแม้แต่น้อย

ขอบคุณภาพ :: JTBC

The Glory Im Ji-yeon as Park Yeon-jin in The Glory Cr. Graphyoda/Netflix © 2023

จะเห็นได้ว่าสังคมเกาหลีในปัจจุบันไม่ได้ดำเนินตามแนวคิดขงจื๊อที่ยึดถือมาตั้งแต่สมัยโชซอนอีกต่อไป แนวคิดและค่านิยมที่ฝังรากกำลังค่อย ๆ ถูกขุดรากถอนโคนขึ้นมาผ่านการสื่อสารโดยใช้สื่อที่ทรงอิทธิพลในศตวรรษที่ 21 อย่างซีรีส์หรือละคร เพราะซีรีส์เป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิดกับคนในสังคม เราอาจมองเห็นความท้าทายของสังคมสมัยใหม่ หรือปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านกระจกหรือหน้าต่างที่เรียกว่าละครไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ต้องยอมรับว่า The Glory เป็นซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก และมียอดการรับชมสูงสุดในแพลตฟอร์ม Netflix อาจเป็นเพราะว่าผู้ชมรู้สึกพึงพอใจที่ได้เห็นแนวคิด ค่านิยมในอดีตถูกนำมาตีความ และแสดงออกในมุมมองใหม่ ไม่ได้โลกสวยฟ้าสดใสเป็นซีรีส์สอนใจทั่วไปอย่างที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็น่าติดตามต่อไปว่าแนวคิดค่านิยมดั้งเดิมของเกาหลีจะมีการปรับตัวให้สามารถคงอยู่ร่วมกับกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมถึงคนเกาหลีรุ่นใหม่จะเผชิญ รับมือกับความท้าทายและความเป็นสังคมสมัยใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน

 

ข้อมูลอ้างอิง

ภาษาไทย

ไพบูลย์ ปีตะเสน. (2565). ประวัติศาสตร์เกาหลี: จากยุคเผ่าพันธุ์ถึงยุคสาธารณรัฐใหม่. แสงดาว.

สาขาวิชาภาษาเกาหลี ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ. (2566). หลักสูตรการอบรมเพื่อผลิตผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทย ประจำปี 2566. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Hyun Ah Moon. (2560.) การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเกาหลี และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวเกาหลี. (พรรนิภา ซอง, แปล). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาอังกฤษ

Cho Yong-hee, Han Yumi, & Tcho Hye-young. (2017). Korean Culture in 100 Keywords. Darakwon.

ภาษาเกาหลี

권미경, 박은경. (2021). 한국어와 한국 문화에 대한 프로젝트. 쭐라롱껀대학교의 인문대학의 학문적 기관.

연세대학교 한국어학당. (2012). 연세 한국어 읽기4. 연세대학교 출판부.

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า