Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

พื้นที่ห้องขนาด 4 x 8 ม. อาจเล็กไปสำหรับคนบางคนที่อาศัยอยู่เพียงคนเดียว แต่สำหรับ “คนอีกโลก” พื้นที่แค่นั้นใช้สำหรับเป็นที่นอนของคนมากกว่า 20 คน ไม่ต้องอธิบายถึงความแออัด เมื่อคนที่อยู่ในสภาพนั้นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยการเคารพ “สิทธิ” ของกันและกัน ในพื้นที่นอนคนละ 1 ศอก

แม้โลกในคุกจะไร้อิสรภาพเพียงใด แต่ในความรู้สึกของคนที่ถูกจองจำยาวนาน และเพิ่งพ้นโทษกลับออกมา เขาเหล่านั้นกลับรู้สึกว่า “เขากลายเป็นคนแปลกหน้าของโลกใบนี้”

“อิสรภาพมันหมดไป แต่เสรีภาพน่าจะมีได้”  คือคำที่ ชาตินวภพ กล่าวเมื่อต้องเล่าถึงความรู้สึกขณะที่อยู่ข้างใน เขาโดนโทษประหารชีวิต ที่ถูกลดหย่อนเหลือจำคุก 12 ปี ในสภาวะที่คุกมีนักโทษล้นเรือนจำ มันหนักหนาสาหัส แออัดในทุกกิจกรรม หากไม่สามารถปลดเปลื้อง “ความรู้สึก” ที่พันธนาการในจิตใจได้ ชีวิตอาจต้องจบลงที่ติดโรค เป็นบ้า หรือแม้แต่ฆ่าตัวตาย

อรสม สุทธิสาคร นักเขียนเชิงสารคดี ผู้รักประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของการเมืองไทย เธอศึกษา “โลกอีกใบ” หลังกำแพงตั้งแต่ในวัยเด็ก เธอรู้ “ประวัติศาสตร์” ที่เกิดขึ้นใน “เรือนจำกลางบางขวาง” ตั้งแต่ พ.ศ.2470 – 2500 อย่างลึกซึ้ง และนั่นเป็นประตูด่านแรกที่เธอรู้จักคำว่า อิสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ อันเป็นที่มาของการคิดโครงการเพื่อกอบกู้เสรีภาพในจิตใจผู้ต้องขัง นั่นคือ โครงการปั้นดินให้เป็นบุญ

นอกจากจะสร้างคุณค่าในที่ซึ่งคน “รู้สึกไร้ค่า” ความเคารพนับถือตัวเองนอกจากจะไม่มีแล้ว ความภาคภูมิใจก็เลือนหาย โครงการปั้นดินให้เป็นบุญจึงเข้าไปในฐานะที่สอนผู้ต้องขังให้ “ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่น” “สอนให้รู้จักความสุขจากการให้” และนั่นคือทางออกทางจิตใจที่เยียวยาผู้ต้องขังให้มีกำลังใจ และสำนึกรู้ มีชีวิตในคุกอย่างมีเสรีภาพทางใจ และพ้นโทษออกมาเป็นพลเมืองดีของสังคม

ชาตินวภพ อธิบายช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำบางขวางว่า “เป็นการยากมากที่จะบอกให้คนฟังรับรู้ เข้าใจ เหมือนกับปลาถามนกว่าอากาศเป็นอย่างไร เหมือนกับนกถามปลาว่าน้ำเป็นอย่างไร ช่วงเวลา  12 ปีในคุกของผม แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ 3 ปีแรก ถ้าบอกว่านรกมีความทุกข์ทรมาน การรับโทษหลากหลายแบบ ช่วงเวลา 3 ปีแรกในคุกมันหนักหนาสาหัสกว่านั้น

“3 ปีต่อมา เป็นช่วงเวลาที่ดิ่งลงไปอีก ถ้าตอนนี้น้ำหนักสัก 70 กิโล จะลดเหลือ 50 กิโลได้เลย เพราะเริ่มรับรู้แล้วว่าคิดหวังอะไรไม่ได้อีกแล้ว ภาษาคุกเขาเรียกว่า ‘รั่ว’ คือกินก็กิน ไม่กินก็ไม่กิน นอนก็นอน ไม่อาบน้ำก็ไม่อาบน้ำ คือปล่อยตัว ใครที่ร่างกายไม่แข็งแรงอาจติดโรคจากความไร้สุขภาวะ และบางคนอาจเริ่มมีอาการทางจิต

“3 ปีสุดท้าย ผมเริ่มรู้แล้วว่า เราจะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์ หลายคนเสียชีวิต หลายคนเป็นบ้า แต่จังหวะผมดี ตอนที่โครงการนี้เข้าไป ผมได้กำลังใจอย่างมาก เพราะครูสอน มีการคอมเมนต์ แม้ในคุกจะมีข้อจำกัดมาก แต่คำสอนของครูทุกท่านทำให้เราก้าวข้าม “คุกในใจ” นั้นไปได้ เกิดความสงบจากภายในโดยแท้จริง”

แม้ทุกข์จะถาโถมมากมาย แต่คนในคุกที่ปลงกับชีวิตได้ จะสำนึกผิดต่อสิ่งที่เคยทำ นรกและสวรรค์จึงเกิดขึ้นในนั้น ข้างในเรือนจำที่โหดที่สุด

“ไม่ว่าจะนรก สวรรค์ มันอยู่ในคุกหมดเลย อยู่ที่เราจะมอง อิสรภาพ เสรีภาพ และสันติภาพมันเกิดขึ้นในนั้น ในคุกที่มีที่นอนแค่ศอกเดียว ถ้าเราไม่มีเสรีภาพต่อกัน ต้องทะเลาะกันทุกวัน เพราะนอนหายใจรดกัน บางคนนอนกัดฟัน บางคนนอนกรน ผมยอมรับเลยว่า ในคุกมีเสรีภาพมากกว่าข้างนอก”

ครั้นได้รับการลดหย่อนโทษ และออกมา ใครที่ไม่เคยถูกขังไว้ยาวนาน ย่อมไม่มีทางเข้าใจ เมื่อคุกไม่ได้ขังไว้เพียงแค่ร่างกาย แต่การถูกขังไว้นานๆ มันก็เนิ่นนานพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็น “ส่วนเกิน” ของสังคม เมื่อโลกข้างนอกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างรวดเร็วและแทบจะสิ้นเชิง  จึงเกิด “ช่องว่าง” หรือ “หลุมดำ” ของกาลเวลา เมื่อออกมา เขากลายเป็นคนแปลกหน้าของสังคม

“ชีวิตช่วงออกจากคุก 2 เดือนแรกมันไม่ใช่ชีวิตเริ่มจากศูนย์ แต่เป็นชีวิตที่ติดลบ ออกมาถึง หลานสาวซื้อโทรศัพท์ให้ ผมงงเลย ตอนเข้าไปเป็นโทรศัพท์หมุนๆ แล้วตำบลหนึ่งมีไม่กี่เครื่อง ผมออกมาต้องมาศึกษาวิธีอยู่บนโลกใหม่ โลกที่เคว้งคว้างมาก” ประทวน ติดคุกอยู่ 16 ปี เล่าย้อนความไปถึงวันที่ได้รับอิสรภาพ วันนี้เขาดำรงชีพสุจริต ขายน้ำมะพร้าว แต่กว่าจะเจออาชีพนี้ เขาล้มลุกคลุกคลาน หมดตัว อ่อนแอ แต่เขาไม่อยากกลับไปในคุกอีก จึงต่อสู้อย่างยากลำบาก กระทั่งตั้งตัวได้

ด้านหนุ่มที่ออกจากคุกในวัย 37 ปี หนึ่ง ศรนารายณ์ เล่าถึงวันแรกที่ออกจากคุกไว้ไม่ต่างกัน “พอก้าวขาออกมา ผมดีใจมาก เราไม่ตาย ก่อนหน้าที่รู้ว่าจะได้ออกมา ผมฝันถึงโลกข้างนอก ผมอยากมีชีวิตมาใช้ข้างนอก วันสุดท้ายในคุก ผมไม่กล้ากินอะไรเลย กลัวท้องเสีย ไม่กล้านอน เพราะกลัวนอนไม่ตื่น ผมนึกฝันถึงโลกภายนอก แต่พอหลับไปได้หน่อยนึง กลับมาฝันถึงโลกข้างในอีก ผมไม่ต้องการเจอภาพนั้นอีกแล้ว

“พอออกมา ผมเจอแม่กับน้อง แม่ถามคำแรกหิวมั้ย กินอะไร พอต้องเดินข้ามถนน ผมกะระยะข้ามไม่ถูก ต้องให้หลานตัวเล็กจูงข้ามถนน มันเป็นสะเทือนแรกว่า โตขนาดนี้ต้องให้หลานจูงข้ามถนน พอเข้าร้านข้าว ผมไม่กล้าสั่งอาหาร ไม่รู้สั่งอาหารยังไง มันเป็นสะเทือนที่สองที่ทำให้รู้ว่า เรามาจากโลกอีกใบ” 16 ปี 3 เดือน 15 วัน ในคุก ได้แยกเขาออกจากสังคม

หลุมอากาศของคนพ้นโทษ เรียกให้เห็นภาพชัดต้องบอกว่าคือ “ตราบาป” แม้จะได้รับโทษแล้วอย่างสาสม  แต่ตราบาปก็เป็นแผลในจิตใจที่เขาเหล่านั้นเอาไว้ใช้ “กักขังตัวเอง”

“มันคือชนัก คือรอยสักของชีวิต มันทำให้เรากลายเป็นคนขี้ระแวง ทั้งที่บางคนเขาอาจไม่รู้จักเราเลยด้วยซ้ำ แต่เราก็ไม่กล้าไปคุยกับเขา ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์มันลดน้อยลง ความภาคภูมิใจในชีวิตมันไม่มีเลย ผมรู้สึกตัวเองต่ำต้อย” สวงก์ เล่าด้วยแววตาอย่างผู้ที่เชื่อว่า วันหนึ่งเขาจะผ่านความรู้สึกตรงนี้ไปได้ และประกอบอาชีพสุจริตอย่างพอเพียงที่บ้านไร่หลังน้อยในที่ไกลแสนไกล กับความสุขเล็กๆ ที่เห็นพ่อวัย 82 ปีนั่งยิ้มทั้งวัน ความสุขจากการได้อยู่หน้ากับครอบครัว วันนี้กลายเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่และน่าหวงแหนไว้สำหรับสวงก์ ผู้รับโทษไปแล้วกว่า 16 ปี 35 วัน

แม้ว่าเขาจะเคยรังสรรค์ผลงานวรรณกรรม และได้รับรางวัลทรงคุณค่าอย่าง รางวัลชมเชยวรรณกรรมแว่นแก้ว จากหนังสือรอยสักชีวิต ที่เอาชีวิตที่เดินผิดพลาดของตัวเองออกมาเผยแพร่ ไม่ให้คนเดินทางผิด แม้กระนั้นความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ก็เป็นเรื่องที่เขาต้องพยายามก้าวผ่านไป

“อยู่ในคุกตามวัฏจักร เป็นนักโทษชั้นนี้ๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ตามชั้นมันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น พอโครงการของอาจารย์เข้าไป มันมีพื้นที่ให้เราแสดงออก อย่างเรียนเขียนเรื่องเล่าฯ มันเป็นพื้นที่ให้แสดงสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา ตอนนั้นผมได้อ่านงานของ อ.เนาวรัตน์, อ.เสกสรรค์ งานท่านยิ่งใหญ่มาก ผมอยากเขียนได้แบบนั้น พอผมเขียนไปส่ง อ.อรสม เหมือนแกถือไม้เรียวฟาดลงมาที่กลางใจ “เขียนอะไรของแกเนี่ย เขียนให้ง่าย แต่งามสิ” มันเป็นคำพูดที่ไม่ใช่แค่ส่งผลในงานเขียน แต่มันหมายรวมถึงการใช้ชีวิตด้วย “ง่ายแต่งาม ไม่ต้องฟุ้งซ่านอะไรเลย พอเราใช้ชีวิตง่ายปุ๊บ มันก็สงบ” หนึ่ง ซึ่งในวันนี้กลายเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ชีวิตที่ถูกจองจำในคุก เขาเรียนจบปริญญาตรีแล้ว 2 ใบ และได้ปริญญาโทอีก 1 ใบ

ชีวิตของคนทั้ง 4 อดีตของผู้ถูกคุมขัง แม้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของคนในเรือนจำ แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า โทษที่ได้รับนั้นสาสมแล้ว เขาเหล่านั้นถูกกังขังไว้เนิ่นนานพอที่จะเข็ดหลาบ สำนึกตัว และกลับมาเป็นคนดีของสังคม ส่วนโครงการปั้นดินให้เป็นบุญ ก็ทำหน้าที่ของโครงการเพื่อผู้ด้อยโอกาสได้อย่างแท้จริง

สมดังเจตนารมณ์จากบุคคลมากมาย อาทิ โครงการกำลังใจ ในพระดำริของพระองค์ภาฯ, พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายโสภณ ยิ้มปรีชา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง, เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาเรือนจำกลางบางขวาง, อรสม สุทธิสาคร, ดร.ธนาทร เจียรกุล, อ.ภูษิต รัตนภานพ และคณาจารย์จิตอาสาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, เครือข่ายพุทธิกา รวมถึงจิตอาสา และผู้บริจาคเงินสบทบทุนโครงการปั้นดินให้เป็นบุญ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมปั้นพระในเรือนจำ

แม้จะเป็นโอกาสเพียงแค่น้อยนิดที่ส่งเข้าไปในเรือนจำ แต่ก็ส่งผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจในดินแดนที่ไร้ซึ่งอิสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ ถ้าการให้ชีวิตใหม่แก่คนที่กลับตัวกลับใจ จะเป็นการเพิ่มคนดีของสังคม

อย่างน้อยก็ให้เขาเหล่านั้นได้มีสิทธิ์ดำรงชีพอย่างสุจริตบนโลกใบนี้ ในฐานะของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ! นอกรั้วเรือนจำ

สนับสนุนโครงการปั้นดินให้เป็นบุญที่ FB: ปั้นดินให้เป็นบุญ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า