SHARE

คัดลอกแล้ว

ใครสักคนหนึ่งกล่าวว่าอารมณ์ขันผูกโยงกับความรู้สึกต้อยต่ำ ตลกในยุคแรกจึงเป็นลักษณะของ Slapstick หรือตลกเจ็บตัว ก่อนตลกในยุคต่อ ๆ มาจะพัฒนามาเป็นการล้อเลียนคุณลักษณะที่ผู้เล่นตลกรู้สึกว่าต้อยต่ำ เช่น รูปร่างสูงต่ำดำขาว อัตลักษณ์ทางเพศ ความพิการ เรียกเสียงฮาให้คนดูส่วนใหญ่ได้รู้สึกโล่งใจที่ตนเองไม่เผชิญสิ่งเหล่านั้น

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา สำนักข่าว The Matter รวบรวมมุกตลกที่ปรากฎในรายการตลกแห่งหนึ่ง ในบรรดามุกตลกยอดนิยม 10 ประเภทนั้น สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือมุกตลกรูปลักษณ์ที่ชิงพื้นที่ความตลกไปเกือบ 10%

แต่ในโลกที่ก้าวไปข้างหน้าทุกวัน เกิดกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น มุกเหล่านี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คนบางกลุ่มมองว่าควรจะหายไป แต่ทุกครั้งที่มีกระแสเรียกร้องเรื่องนี้ปะทุขึ้นมา หนึ่งในคอมเมนต์ที่เราจะเห็นกันจนชินตาคือ “นี่เราจะตลกกันไม่ได้แล้วใช่ไหม”

เรื่องนี้เป็นเรื่องของภาษาโดยตรง แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกตะวันตกมีการถกเถียงประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 1960 ความหมายของการ “เหยียด” เริ่มเกิดขึ้นมาหลังจากมีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิคนดำและสิทธิสตรีขนานใหญ่ และนั่นเป็นที่มาจากคำว่า ความถูกต้องทางการเมือง  (Political Correctness) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าพีซี

เรื่องภาษา ว่าด้วย พีซี

เราอาจจะเคยได้ยินคนเรียกคนอื่นว่า “ไอ้อ้วน” “อีดำ”  หลักการของพีซีต่อต้านการแสดงออกแบบนี้ โดยเสนอให้เปลี่ยนภาษาเสียใหม่ ไม่ให้แสดงออกมากระทบความแตกต่างหลากหลาย ทั้งทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความยากดีมีจน หรือรูปร่างหน้าตา เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะแพร่ขยายไปทั่วโลก

ในช่วงแรก ๆ คำว่าพีซีถูกใช้ในมหาวิทยาลัยก่อน ก่อนจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับชาติ ผลพวงจากพีซีทำให้ในยุคหนึ่ง เราเลิกเรียกคนผิวสีว่า “นิโกร(Negro)” ให้เรียกว่า “คนดำ(Black)” แทน พอยุคหนึ่งผ่านไป คำว่าคนดำพีซีไม่พอ ยังมีคนเห็นว่าเป็นคำเหยียดอยู่ มีกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “แอฟริกัน อเมริกัน” แทน

พอถึงจุดนี้ คนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นแค่การเปลี่ยนคำไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า และการเปลี่ยนแค่คำพูด มันช่วยแก้ปัญหาได้จริงๆ มากน้อยแค่ไหน บางคนถึงกับบอกว่าเรื่องแบบนี้บางทีคนขาวก็พยายามมากเกินไป คิดไปเองว่าเรียกคนดำว่าคนดำแล้วจะเป็นการเหยียด ทั้งๆ ที่คนดำก็เรียกตัวเองว่าคนดำจริงๆ แต่คนผิวสีบางกลุ่มก็พอใจที่จะถูกเรียกว่า แอฟริกันอเมริกันมากกว่า เพราะเป็นคำที่แสดงถึงรากและที่มาของเขามากกว่ารูปร่างลักษณะภายนอก

มีตัวอย่างการเปลี่ยนคำที่ประสบความเสร็จอยู่บ้าง เช่น เรื่องคำนำหน้าชื่อ ในโลกของภาษาอังกฤษ ผู้ชายเกิดมาก็เป็นคำว่า “มิสเตอร์(Mister)” มิสเตอร์ทอมป์สัน มิสเตอร์สมิทธ์ เลย แต่ผู้หญิงไม่ได้เป็นแบบนั้น ตอนเด็ก ๆ พวกเธอใช้ชื่อพ่อ เป็น “มิส (Miss)” นางสาวสมิทธ์ พอแต่งงานกับนายปีเตอร์สันก็เป็น “มิสซิส (Misses)” นางปีเตอร์สัน การเปลี่ยนชื่อโดยใช้การแต่งงานเป็นการเปลี่ยนผ่านทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกว่าพวกเธอไม่มีชื่อเป็นของตัวเอง ปี 1983

แคนดิเดทรองประธานาธิบดีคนหนึ่งชื่อ เกรัลดิน เฟอเรโร ขอให้เรียกเธอว่า ”มิส” ตามด้วยนามสกุลเกิดของเธอได้ไหม เรื่องนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ใหญ่โตมากเหมือนว่าการเปลี่ยนคำนำหน้าแค่คำเดียวจะทำให้สถาบันครอบครัวล่มสลาย แต่จากเรื่องคอขาดบาดตายในคราวนู้น ปัจจุบัน “มิส” กลายเป็นคำกลาง ๆ ของการเรียกผู้หญิงอย่างให้เกียรติโดยไม่จำเป็นต้องรู้สถานะการสมรส และสถาบันครอบครัวของสหรัฐอเมริกาก็ยังอยู่ดี

เกรัลดีน เฟอเรโร (Geraldine Ferraro) รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา

ฝรั่งเศสไปไกลกว่าด้วยการยกเลิกการใช้คำว่า “มาดมัวแซล (mademoiselle)” ซึ่งใช้เรียกหญิงที่ยังไม่ได้สมรสในเอกสารราชการไปเลยตั้งแต่ปีค.ศ. 2012 เนื่องจากหลายคนรู้สึกว่าเป็นคำดูถูก เหมือนโดนเรียกว่า “สาวน้อย” ตลอดเวลา ทั้งที่จริงคนไม่ได้แต่งงานก็มีอยู่มากมายและเป็นช่วงวัยไหนก็ได้ทั้งนั้น

แต่การเปลี่ยนคำ หรือการเปลี่ยนภาษาไม่ได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเสมอไป ที่ฝรั่งเศสเจ้าเดิมเคยมีกระแสการเรียกร้องให้เขียนภาษาโดยไร้เพศ เพราะภาษายุโรปที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาลาตินมีการแบ่งเพศอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส หากเราจะกล่าวถึงนักดนตรีหญิงล้วน เราจะใช้คำว่านักดนตรีผู้หญิงหลายคน (musiciennes) แต่ถ้าในกลุ่มนักดนตรีสาว 5  คน มีผู้ชายเพียงคนเดียว เราก็จะเปลี่ยนมาใช้คำว่านักดนตรีผู้ชายหลายคนทันที (musicienes) หรือการกล่าวถึงนักดนตรีคนเดียวโดยไม่เจาะจงเพศ ภาษาฝรั่งเศสมาตรฐานจะใช้เพศชายเพื่ออธิบายกลุ่มที่มีทั้งเพศชายและเพศหญิงว่า “un musicien” คนฝรั่งเศสเลยปิ๊งไอเดีย คิดการเขียนที่ทำให้ทุกเพศปรากฎออกมาอย่างเท่าเทียมกัน เรียกว่า “Écriture inclusive”  หรือ “การเขียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คือแทนที่จะเลือกเขียนคำว่า musicien ในการอธิบายนักดนตรีทุกเพศ​ เราก็เขียนว่า musicien/ne ในประโยคไปเลย เพื่อให้เห็นทั้งสองเพศในคราวเดียว

แน่นอนว่าเกิดกระแสตีกลับอย่างแรง เนื่องจากทำให้การเขียนประโยคยาวขึ้นโดยไม่จำเป็น สุดท้ายก็ยังถกเถียงกันไม่สิ้นว่าการเขียนแบบนี้ควรนำมาปรับใช้หรือไม่จนทุกวันนี้

ตัวอย่างการเปลี่ยนคำ มีทั้งตัวอย่างที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และตัวอย่างที่ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่มีบางประเด็นที่เราจะเห็นได้จากตัวอย่างทั้ง 2 คือ

  1. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภาษาที่ใช้มาอย่างยาวนาน ก็ย่อมมีกระแสต้านกลับจากสังคมเป็นธรรมดา ทั้งในรูปแบบว่ายุ่งยาก ฝืน หรือคิดมากไปหรือเปล่า
  2. มีคนได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางภาษาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนดำที่ได้ยืนยันว่าเขาเป็นคนอเมริกา หรือผู้หญิงที่ได้ยืนยันว่าชีวิตของเธอไม่ได้ผูกติดกับสามี

จริง ๆ แล้วข้อถกเถียงเรื่องการห้ามพูดนู่นพูดนี่เพื่อรักษาน้ำใจกันพาเราไปไกลมาก มีคนเสนอว่าการใช้ภาษาอ้อม ๆ เป็นการซุกปัญหาใต้พรม ทั้งที่จริงเราควรจะพูดตรง ๆ แล้วแก้ปัญหา อีกฝ่ายก็เสนอว่าการพูดตรง ๆ ไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการสร้างภาพเหมารวมในสิ่งที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งถูกมองว่ามีศักดิ์ศรีต่ำกว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ข้อถกเถียงเหล่านี้ทำให้เราย้อนกลับมาคิดว่า แล้วการเล่นตลกด้วยมุกเหยียดล่ะ เป็นการพูดตรง ๆ หรือมันสร้างปัญหาภาพจำซ้ำ ๆ กันแน่

 

มุกเหยียด คิดมากไป หรือเป็นพิษภัยจริง ๆ 

ฝรั่งก็มีตลกที่เล่นมุกเหยียดรูปร่างหน้าตา ชาติพันธุ์ และคุณลักษณะต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ข้อถกเถียงก็แบ่งออกเป็น 2 แบบ

บางคนเชื่อว่ามุกเหยียดไม่ได้มีความหมายอะไรมาก เป็น “แค่มุกตลก” ไม่ได้มีพิษภัยต่อใคร คนกลุ่มนี้จะมองว่าการปิดกั้นมุกเหยียดจะนำไปสู่การเซนเซอร์และเป็นอันตรายต่อเสรีภาพทางการพูด

แต่ก็มีนักวิชาารกลุ่มหนึ่งที่มองว่ามุกตลกที่เป็นมุกเหยียดนั้น เป็นการสะท้อนอคติที่วนเวียนอยู่ในสังคมโดยตรง งานวิจัยชิ้นหนึ่งถึงกับชี้ว่าการได้ยินเรื่องตลกข่มขืนบ่อย ๆ ทำให้ผู้ชายคิดว่าการข่มขืนไม่ใช่เรื่องร้ายแรง

งานอีกชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะกังวลกับรูปร่างตัวเองมากขึ้นหลังได้ยินเรื่องตลกที่วิจารณ์ร่างกายคนโดยตรง และสรุปว่า เราอาจไม่รู้สึกว่าการเล่นตลกทำให้โลกถล่ม ฟ้าทลาย แต่มุกแบบนี้ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจคนฟังได้จริง ๆ

แต่มุกเหยียดไม่ได้เป็นอาวุธของคนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าใช้กดคนอื่นได้อย่างเดียว มุกเหยียดจะกลายเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ ถ้าเราชิงใช้มุกพวกนี้เหยียดตัวเองก่อน เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาดาราตลกคนดำ เอามุกเหยียดคนดำมาเล่นเองแล้วคนฟังไม่รู้สึกว่าเป็นการเหยียด คนพิการก็เล่นขำขันกับความพิการ แถมยังรู้สึกว่าเป็นการตัดพ้อแบบฮา ๆ ต่อความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น 

แต่การจะเล่นมุกย้อนกลับแบบนี้สำคัญมากว่าใครเป็นคนเล่นมุก และภาพลักษณ์ของเขาแสดงความเข้าใจปัญหานั้นจริง ๆ มากน้อยเพียงใด ถ้าคนที่บริภาษคนแต่งกายคล้ายพระบนรถตู้ว่า “อีกะเทย” ไม่ได้เป็นเพศหลากหลายด้วยก็อาจจะโดนกล่าวหาว่าเหยียดเพศได้ และบทสนทนา “อีกะเทย” “มึงสิกะเทย” ก็อาจไม่ได้กลายเป็นมุกตลกที่คนในสังคมพูดยั่วล้อกันได้แบบไม่รู้สึกผิด

https://www.facebook.com/mb.marlbo/posts/2222493577793231

ที่มาขอบทสนทนาชวนหัวในตำนาน “อีกะเทย-มึงสิอีกะเทย”

ถึงกับมีมีม (Meme) อธิบายเรื่องนี้ว่า คนที่มีสิทธิเล่นมุกเหยียดเพศได้ คือคนที่เป็นกลุ่มเพื่อน LGBT เท่านั้น เพราะมั่นใจได้ว่าถึงอย่างไรอย่างไรเขาจะไม่ลดทอนสิทธิของคนอื่นจริงๆ

มีมล้อเลียนมาตราฐานของการตัดสินว่าใครควรได้สิทธิในการเล่นมุกเหยียดเพศ

 

แล้วถ้ามัวแต่ PC มันจะยังตลกได้ไหม?

แต่ไม่ใช่ว่าดาราตลกทุกคนจะแตกฉานความรู้ด้านปัญหาของคนชายขอบ หรือเป็นคนชายขอบเองไปเสียทุกด้านได้ มีเสียงสะท้อนว่าเราจะเล่นตลกในเรื่องที่เราไม่ใช่เจ้าของปัญญาไม่ได้เลยเชียวหรือ แล้วจะยังเล่นตลกอะไรได้อีกบ้าง?

เจอร์รี ไซนด์เฟล (Jerry Seinfeld) ดาวตลกของสหรัฐฯ ก็เป็นคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามนี้ โดยกล่าวผ่านรายการช่อง ESPN ว่าดาวตลกคนอื่น ๆ ล้วนแต่ไม่กล้าเข้าไปเล่นในมหาวิทยาลัย เนื่องจากต้องระวังนู่นระวังนี่เต็มไปหมด เขาเชื่อว่าเวลาคนพูดว่านี่มันเหยียดเพศ หรือนี่เหยียดผิว เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันหมายถึงอะไร ตัวเขาเองไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย แต่คนรอบข้างดูจริงจังเอามาก ๆ เขาคิดว่าการระวังคำพูดมากเกินไปเป็นเรื่องไร้สาระ และสิ่งนี้กำลังทำลายวงการตลก

แต่ก็มีตลกหลายคนจากทั่วโลกออกมาพูดว่า จริง ๆ แล้วการเล่นตลกโดยไม่ต้องทำร้ายใครสามารถทำได้จริงๆ

ดับบลิว คาโม เบล (W. Kamau Bell) ดาวตลกแห่งช่อง CNN ของสหรัฐฯ เผยประสบการณ์ในสารคดีของ Vox ตอนความถูกต้องทางการเมืองว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเคยเลือกใช้คำว่า “นางเพศยา(Bitch)” ในมุกของตัวเอง ครั้งนั้นเขาถูกต่อว่าจากเพื่อนคนหนึ่ง พอการแสดงครั้งต่อมาเขาจึงลองเปลี่ยนจากคำว่า Bitch เป็นอาชีพของคนที่เขาเล่าถึงแทน ผลปรากฎว่าคนก็ยังขำอยู่เหมือนเดิม

โซฟี ฮาเกน ดาราตลกชาวอังกฤษก็เชื่อว่า เราสามารถเล่นตลกโดยที่ยังเคารพคนอื่นได้ไม่ยาก เพียงแค่เลือกคำที่ไม่ทำร้ายใคร เธอจริงจังกับเรื่องนี้มากถึงขนาดจ้างคนมาตรวจมุกแต่ละมุกก่อนแสดงจริง

โซฟี ฮาเกนเป็นดาราตลกที่ต่อต้านการเล่นมุกเหยียดอย่างเอาจริงเอาจัง ในขณะเดีวกันเธอก้เป็นนักรณรงค์ให้สังคมเลิกมีอคติกับคนอ้วนด้วย

นิช คูมาร์ ดาราตลกชื่อดังของอังกฤษอีกคนหนึ่งก็คิดว่าการบอกให้ตลกหยุดเหยียดจะเป็นจุดจบของวงการเป็นเรื่องเกินจริง เขาเชื่อว่าการพูดตลกแต่ละครั้งไม่น่าจะต้องกังวลมาก เพียงแต่อย่าพูดอะไรโดยที่ไม่รับผิดชอบ และต้องทำการบ้าน

นิช คูมาร์ ดาราตลกที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของสหราชอาณาจักร จัดรายการประจำที่ช่อง BBC 2

ตัวเขาเองยังเคยยกสถิติมากางเพื่ออธิบายให้คนเข้าใจว่าสิ่งที่เขาพูดไม่ได้ทำร้ายใครแต่มีหลักฐาน และทุกคนก็ดูยังสนุกกับโชว์อยู่เหมือนเดิม การทำให้ตลกหรือไม่เป็นเรื่องของการทำการบ้านอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ เจมส์ โวโรนิกกี้ (James Woroniecki) ผู้อำนวยการสถานบันเทิง The 99 Club ซึ่งมีชื่อเสียงในกรุงลอนดอนยังคอนเฟิร์มว่าการเลือกไม่เล่นมุกเหยียด ไม่ได้ทำให้ตลกประสบความสำเร็จน้อยลง เขาเผยว่าในช่วงที่ผ่านมานี้พบว่าตลกหลายคนรู้ดีว่ากระแสสังคมเปลี่ยนไปแล้ว การเลือกใช้คำของตลกก็พัฒนาตามเวลา เขาเองยังคิดว่าตลกที่มีศิลปะจะต้องจับความรู้สึกของคนได้ ซึ่งจะทำให้มุกที่ยิงไป ทำให้คนขำได้จริง ๆ ไม่ใช่หงุดหงิด

พอล เอฟ ทอมสกิน นักแสดงตลกชาวสหรัฐอเมริกัน ถึงกับตั้งข้อสันนิษฐานว่า จริงๆแล้วเวลาที่คนดูไม่รู้สึกตลกกับมุกเหยียดต่าง ๆ มันเป็นเพราะคนดูคิดมากเกินไป หรือมันแค่เป็นมุกที่ฝืดแล้วจริงๆในสมัยนี้

 

เขาบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่สังคมเปลี่ยน ความรู้สึกตลกกับบางเรื่องก็เปลี่ยน ที่ผ่านมาดาราตลกหากินกับมุกเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เช่นเล่นมุกเหยียด เพราะรู้ว่าเป็นสูตรสำเร็จว่าเล่นไปแล้วคนต้องสนใจแน่นอน แต่ถ้าเป็นตลกมืออาชีพก็ต้องทำการบ้านมากพอที่จะพัฒนาตามสังคมที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญ ถ้าเลือกที่จะเล่นมุกสุ่มเสี่ยงแล้ว ก็ต้องยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาให้ได้ด้วย เพราะคำวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเสรีภาพทางการพูดเหมือนกัน

พูดไปพูดมาก็เหมือนต้องวนกลับมาที่ประเด็นคลาสสิกในเรื่องการกำกับสื่อของสังคม แน่นอนว่าเราอาจจะยังตอบไม่ได้ว่าสื่อต้องนำสังคม หรือสังคมควรนำสื่อ ขณะที่วงการตลกหมุนได้ด้วยระบบตลาดและการแย่งชิงกลุ่มผู้ชม การปล่อยมุกเหยียดกระชากอารมณ์การันตีเรตติ้งและสร้างรายได้ แต่ก็เป็นเรื่องน่าท้าทายว่าวงการตลกจะมีศากยภาพพอที่จะทำให้ทุกคนยิ้มได้โดยไม่มีใครต้องเจ็บปวดหรือไม่

บทความโดย วศินี พบูประภาพ , Digital Journalist

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า