Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการ Social Distancing กำลังทำให้หน้าตาของห้องเรียนต้องเปลี่ยนแปลงไป

หากในเดือนกรกฎาคมโรงเรียนทั่วประเทศเปิดทำการสอนตามปกติ จำนวนนักเรียนต่อห้องจะต้องลดลงหรือไม่ แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น นักเรียนต้องนั่งห่างกันเท่าไหร่ โรงเรียนจะมีจำนวนห้องเพียงพอต่อเด็กหรือไม่ คุณครูจะสามารถสอนนักเรียนในจำนวนคลาสที่เพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า และหากว่าสุดท้ายภาครัฐเลือกการเรียนออนไลน์เป็นทางออก ช่องทางนี้จะสามารถรองรับเด็กทุกคนได้จริงหรือไม่

workpoint TODAY ชวนผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้สอน พศิน หวังไพบูลย์ นิสิตชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เรียน และผศ.จิรมน สังณ์ชัย ในฐานะผู้ปกครอง มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

และอยากเชิญชวนไปถึงภาครัฐให้ช่วยกันขบคิดอย่างจริงจังว่า เปิดเทอมใหม่นี้ หน้าตาของห้องเรียนควรเป็นอย่างไร

(บนซ้าย) ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล – อาจารย์ / (ล่างซ้าย) ผศ.จิรมน สังณ์ชัย – ผู้ปกครอง / (ล่างขวา) พศิน หวังไพบูลย์ – นิสิต

ช่องว่างขนาดใหญ่ของการเข้าไม่ถึงดิจิตอล

ผศ.อรรถพล เริ่มเปลี่ยนมาสอนผ่านระบบออนไลน์ ทั้งหมด 5 วิชา ตั้งแต่ช่วงหลังมิดเทอมหรือประมาณต้นเดือนมีนาคม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อาจารย์บอกว่าตลอด 7 สัปดาห์ของการสอนต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพราะบรรยากาศของผู้เรียนแต่ละสัปดาห์ไม่เหมือนกัน ช่วงสัปดาห์แรกๆ นิสิตยังปรับตัวไม่ค่อยได้ หลายคนต้องกลับบ้านหรือย้ายหอฉุกเฉิน ที่สำคัญนิสิตบางคนเข้าไม่ถึงช่องทางดิจิตอล

เราได้เรียนรู้ว่า แม้แต่เด็กมหา’ลัยก็มีปัญหาการเข้าถึงดิจิตอล นิสิตจุฬาฯ บางคน เมื่อเขากลับบ้านต่างจังหวัดแล้วต้องเรียนออนไลน์ เขาไม่สามารถเรียนได้ กว่าทางมหาวิทยาลัยจะส่งซิมมือถือไปให้เด็กทุนก็ผ่านไป 3-4 สัปดาห์แล้ว อันนี้มันสะท้อนภาพใหญ่ว่า การเข้าถึงดิจิตอลเป็นช่องว่างที่กว้างพอสมควร”

ผศ.อรรถพล ชี้ว่าบริบทชีวิตของนักเรียนนักศึกษามีความแตกต่างหลากหลายมาก “ผมเจอนิสิตครุศาสตร์ เมื่อกลับบ้านแล้วเขาไม่สามารถเปิดกล้องเรียนได้ เพราะที่บ้านมีปู่ย่าตายาย มีน้องๆ อยู่ด้วยเต็มไปหมด นิสิตบางคนต้องเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปนั่งเรียนที่โต๊ะม้าหินหน้าบ้าน เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้ได้แค่ตรงนั้น ระหว่างเรียนเขาต้องปิดไมค์ ไม่อย่างนั้นจะมีเสียงมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านด้านหลังตลอดเวลา นี่คือบริบทของเด็กมหา’ลัยนะครับ ถ้าเป็นเด็กประถม เด็กมัธยม จะยิ่งท้าทายมากขึ้น ฉะนั้นหากเราจะผลักเด็กทุกคนไปเรียนออนไลน์หมด จะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

 

การเรียนออนไลน์ ไม่ใช่อัดคลิปแล้วคาดหวังว่าเด็กจะเปิดดู 7 คาบต่อวัน

ผศ.อรรถพล บอกว่าที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการปรับตัวฉุกเฉินให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งที่ยังเปิดเทอมอยู่ช่วงที่เกิดการระบาด จะต้องเปลี่ยนมาสอนออนไลน์โดยไม่ได้เตรียมหลักสูตร หรือกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับการเรียนออนไลน์เอาไว้

“ผมคิดว่าอาจารย์มหา’ลัยหลายๆ คนเจอปัญหาเดียวกัน คือเราจะใช้เลคเชอร์ 3 ชั่วโมง ไม่ได้อีกแล้ว นิสิตเริ่มไม่ไหวกัน หลายคนบ่นว่าต้องฟังคลิปตลอดเวลา หลังสงกรานต์มา 2 สัปดาห์นี้ เราเห็นได้ชัดเจนเลยว่านิสิตล้าหมดแล้ว นี่เป็นบทเรียนจากฝั่งมหา’ลัยซึ่งเป็นเด็กโตนะครับ ฉะนั้นโรงเรียนต้องตั้งหลักดีๆ เพราะตอนนี้หลายที่เข้าใจผิดว่า สอนออนไลน์คือถ่ายคลิปแล้วคาดหวังให้เด็กเรียนที่บ้านด้วยการดูคลิป 7 คาบต่อวัน เด็กๆ น่าจะยิ่งสู้ไม่ไหว” ผศ.อรรถพล กล่าว

ด้าน พศิน นิสิตชั้นปีที่ 1 บอกว่าการเรียนออนไลน์เหนื่อยกว่าการเรียนในห้องเรียน “เราต้องแบ่งเวลาเองทั้งหมด ไม่มีการกำหนดว่าวันนี้ต้องเรียนวิชานี้ อยู่ที่ตัวเราเองว่าวันนี้สะดวกเรียนกี่โมง มองในแง่ดีก็ไม่ต้องตื่นเช้ามาเรียน เมื่อก่อนต้องตื่น 8 โมงเพื่อมาเรียนคาบเช้า ปัจจุบันก็อาจจะตื่นเที่ยงแล้วค่อยเรียน แต่เราก็จะต้องเรียนให้ครบทุกวิชาตามที่อาจารย์ลงคลิปเอาไว้ มันก็หนักอยู่ครับ คลิป 3 ชั่วโมง แต่เราไม่ได้เรียน 3 ชั่วโมงแน่นอน สมาธิหรือสติเราไม่ได้อยู่ครบทั้ง 3 ชั่วโมง ต้องมีช่วงที่หยุดพัก อาจจะพักสักชั่วโมงนึง ทำนู่นทำนี่ แล้วค่อยกลับมาเรียนต่อ”

เมื่อถาม พศิน ว่าในฐานะผู้เรียนเขาอยากให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง พศินตอบว่า “อย่างน้อยก็น่าจะให้ใช้โปรแกรมเดียวกัน หรือเว็บไซต์เดียวกันทุกวิชา เพราะตอนนี้เวลาเรียน วิชานึงใช้แอปฯ นึง อีกวิชานึงใช้อีกโปรแกรมนึง กลายเป็นว่าเราจะต้องมีโปรแกรมทุกตัว แอปฯ ทุกตัว เพื่อที่จะเรียนได้ครบทุกวิชาครับ”

 

สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญและอาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียน

ผศ.จิรมน ในฐานะผู้ปกครอง เล่าว่าโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่ลูกสาวเรียนอยู่ต้องปิดไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม ทำให้ลูกสาวยังเรียนไม่ครบคอร์ส ทางโรงเรียนจึงชดเชยให้โดยการสอนผ่านระบบออนไลน์ ก่อนเริ่มเรียนผู้ปกครองจะต้องศึกษาข้อตกลงและให้ความยินยอมก่อน เนื่องจากเป็นเด็กเล็ก

“ลูกสาวอายุ 6 ขวบกว่าค่ะ เราเห็นว่าแค่ 2 สัปดาห์ 2 ครั้ง เลยคิดว่าให้ลูกเรียนแล้วกัน จะได้จบคอร์สไป ปกติเวลาเรียนที่โรงเรียน ครั้งหนึ่งจะเรียน 2 ชั่วโมง พอมาเรียนออนไลน์ปุ๊บเหลือแค่ 1 ชั่วโมง เรียนผ่านโปรแกรม Zoom ปกติลูกสาวเป็นเด็กที่สมาธิค่อนข้างดี คือเราประเมินจากที่คุณครูประจำชั้นบอกนะคะ ปรากฏว่าพอเรียนออนไลน์ เขาสนใจได้ไม่นาน สมาธิหลุดพอโดนรบกวนจากเด็กคนอื่นๆ เพื่อนในห้องวันนั้นมี 8 คน เหมือนว่าเด็กวัยนี้จะยังไม่สามารถเรียนผ่านหน้าจอได้เป็นเวลานาน” ผศ.จิรมน บอก

ส่วนการเรียนที่โรงเรียน ผศ.จิรมน บอกว่าช่วงนี้โรงเรียนยังไม่เปิดเทอม แต่คุณแม่ก็จะพยายามหากิจกรรมให้ลูกสาวได้เรียนรู้วิชาต่างๆ ตามคำแนะนำของคุณครูประจำชั้น

“ในไลน์กลุ่มที่มีคุณครูประจำชั้นอยู่ คุณครูก็ถามมาว่าปิดเทอมเด็กๆ ทำอะไรบ้าง อย่างตัวเองพาลูกออกไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต คุณครูเลยบอกว่าคุณแม่ทำอย่างนี้ได้ไหมคะ หนึ่งนะคะ วิชาเลข ให้น้องทำบัญชีว่าวันนี้ซื้ออะไรมาบ้าง แล้วบวกเลขออกมา สอง วิชาภาษาอังกฤษ คุณแม่ให้น้องเขียนคำศัพท์ของที่ซื้อ แล้วก็วาดรูปด้วย จะได้ได้ศิลปะ สามก็คือ คุณแม่จะทำซุป ให้น้องช่วยทำอาหาร เป็นวิชาคหกรรม เสร็จแล้วคุณแม่ให้น้องจดสูตรว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง เป็นวิชาเขียนไทย พอมีกิจกรรมอย่างอื่นก็ทำลักษณะเดียวกัน”

“สิ่งที่คุณแม่ทำ ประเทศสิงคโปร์เรียกว่า Home-Based Learning คือไม่ใช่นั่งเรียนที่บ้าน แต่ชีวิตที่บ้านของเด็กเป็นอย่างไร เอาตรงนั้นเป็นตัวตั้งแล้วบูรณาการให้เกิดการเรียนรู้” ผศ.อรรถพล กล่าวเสริม

 

ต้องไม่คาดหวังว่าพอเรียนออนไลน์แล้วจะต้องทำทุกอย่างเหมือนในห้องเรียน

ผศ.อรรถพล บอกว่าชีวิตของผู้เรียนเมื่ออยู่บ้านนั้นเปลี่ยนไป “ผมดูจากลูกศิษย์ตัวเอง พอกลับไปอยู่บ้าน เขามีภาระที่บ้านด้วย หลายคนคุณพ่อคุณแม่ตกงาน ทำข้าวกล่องขาย เราจะบังคับเขาให้มาเรียน 3 ชั่วโมงเต็มๆ วันนึง 2-3 วิชา โดยที่ข้างหลังเขา พ่อแม่กำลังแพ็คของลงกล่อง เด็กไม่ไหวครับ ถ้าอาจารย์ยังคงทำงานบนความเชื่อเดิม เช่น ยังคงสอนโดยการบรรยายอยู่ โดยเปลี่ยนการบรรยายมาเป็นคลิป หรือโรงเรียนยังคิดว่า เด็กจะต้องเรียนวันละ 7 คาบ คาบละ 50 นาที มันไม่ได้แล้ว”

“เราต้องคิดว่าใน 1 สัปดาห์ คาดหวังให้เด็กมีประสบการณ์อะไรบ้าง ต้องออกแบบ แบ่งการเรียนเป็นก้อนๆ ให้ผู้เรียนจัดเวลาของตัวเองได้ มีคำถามปักหมุดในแต่ละบทเรียน หรือมอบหมายงานที่ทำให้เราตามเช็กได้ว่าเด็กกำลังเรียนรู้อยู่ โดยไม่เป็นภาระของเด็กมากเกินไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันไม่ใช่การเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ เพราะมันยังไม่ถูกออกแบบมาเพื่อการนั้น ถ้าเราไปดูการเรียนการสอนออนไลน์จริงๆ อย่างระบบ MOOC หรือ Coursera จะเห็นว่าคลิปแต่ละคลิปตอนหนึ่งยาว 10-15 นาที นี่เต็มที่แล้ว”

นอกจากนี้ ผศ.อรรถพล ยังบอกอีกว่าการเรียนการสอนควรจะต้องสลับออนไลน์กับออฟไลน์ได้ ออฟไลน์คือมาเจอตัวกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน

ส่วนการประเมินผล ผศ.อรรถพล เห็นว่าคงใช้การสอบแบบเดิมไม่ได้แล้วเช่นกัน “เราต้องประเมินจากการทำงาน จากชิ้นงานของเด็ก ให้ตัวงานสะท้อนความสามารถ กลับมาที่หัวใจของการศึกษา คือการเตรียมเด็กให้มีสมรรถนะติดตัว ไม่ใช่วิชาความรู้ในการท่องจำ ถ้าเราไม่คุยกันเรื่องนี้ พอเปิดเทอมครูทุกคนจะจัดหนักให้เด็กเรียนอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด”

ผศ.จิรมน เสริมว่า “ถ้าเกิดเปิดเทอมแล้ว เวลาเรียนเหลือน้อย คิดว่าวิชาหลักยังไงก็คงต้องเรียน แต่วิชาเสริมอ่ะค่ะ อาจจะใช้ทักษะชีวิตหรือบูรณาการเอา พ่อแม่เข้าใจ เราช่วยกันเสริมได้ อย่างเช่นวิชาพละ เดี๋ยวตอนเย็นคุณแม่พาวิ่งเล่นได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการชดเชย หรือเรียน 7 วัน เพราะยังไงเด็กจะต้องหยุดพักบ้าง หรืออย่างวิชาหน้าที่พลเมือง เราก็บอกลูกให้สวมหน้ากากเวลาออกไปข้างนอก เปลี่ยนเป็นแบบนี้ไปก่อน แทนที่จะนั่งท่องตำราว่าหน้าที่พลเมืองจะต้องทำยังไง”

 

การเรียนการสอนเทอมหน้าทุกฝ่ายต้องขบคิดและออกแบบร่วมกัน

ผศ.อรรถพล บอกว่าเทอมนี้ยังโชคดีที่เรียนผ่านมาหนึ่งเทอมแล้ว อาจารย์พอจะรู้จักนิสิตบ้าง ยังติดตามตัวกันได้ แต่ปีการศึกษาหน้าเด็กเข้ามาใหม่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนไม่เคยมีมาก่อน ถ้าต้องเรียนออนไลน์ ต้องทำงานเป็นทีม อันนี้เป็นโจทย์ยาก

“ถ้าเลือกเรียนออนไลน์ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะใช้แพลตฟอร์มอะไร โรงเรียนจะใช้อะไร อย่างไร เท่าที่ผมทราบมาสาธิตจุฬาฯ จะใช้ Courseville สาธิต มศว ประสานมิตร ใช้ Microsoft Team แค่นี้ก็คนละแบบกันแล้ว ซึ่งคุณครู นักเรียน ผู้ปกครองจะต้องมาเรียนรู้วิธีใช้ ส่วนโรงเรียนของ สพฐ. ยังไม่ชัดเจนเลยว่าจะไปทิศทางไหน”

ผศ.อรรถพล มองว่ากระทรวงศึกษาธิการควรจะกำหนดนโยบายเป็นไกด์ไลน์ที่ค่อนข้างยืดหยุ่น แล้วสนับสนุนให้อำนาจการตัดสินใจไปอยู่กับโรงเรียนมากที่สุด เพราะโรงเรียนมีความแตกต่างหลากหลาย คุณครูควรดึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดึงชุมชนเข้ามาช่วยกันออกแบบการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ชีวิตเด็กจริงๆ

“เด็กเล็กถ้าต้องเรียนที่บ้าน ต้องมีผู้ปกครองช่วยวางแผน เราต้องนึกถึงพ่อแม่ที่มีบริบทไม่เหมือนกัน พ่อแม่ที่ต้องทำงาน มันต้องมีระบบที่ช่วยดูแลเด็ก มี Child Care Center ในชุมชน มี Student Care Center ในบางโรงเรียน ทั้งหมดต้องมีการออกแบบล่วงหน้า”

“ผมคิดว่าเราชะล่าใจเกินไป เห็นบรรยากาศการเตรียมความพร้อมน้อยมากๆ เด็กนักเรียนทั้งประเทศมี 10 ล้านคนนะครับ คุณครู 4 แสนคน ถ้าไม่เตรียมให้ดี อลเวงแน่ๆ ในเวลาอันใกล้นี้ นี่เป็นโจทย์ที่ผมอยากฝากให้กับผู้เกี่ยวข้องได้พูดคุยขบคิดกัน แล้วก็เอาชีวิตของเด็กเป็นตัวตั้งให้มากในการออกแบบ” ผศ.อรรถพล ทิ้งทาย

 

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า