explainer องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยงานวิจัย เกี่ยวกับวัคซีนจากบริษัท Sinovac ออกมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลว่าวัคซีนยี่ห้อนี้ดีพอหรือไม่ ที่จะถูกรับรองเป็นวัคซีนที่ใช้การได้ทั่วโลกในอนาคต
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเชิงกลยุทธ์ขององค์กรอนามัยโลก (SAGE) ได้สรุปผลเอาไว้ในเอกสาร 32 หน้า และด้วยความที่วัคซีนจากบริษัท Sinovac จะมีความเกี่ยวพันกับไทยโดยตรง เพราะเป็นวัคซีนที่จะถูกใช้งานในประเทศไทยกับบุคคลทั่วไป workpointTODAY จะไปไล่เรียงสถิติตัวเลขที่สำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนได้พิจารณา ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ก่อนถึงวันฉีดจริง
สำหรับ Sinovac ถูกอนุมัติให้ใช้งานได้จากองค์กรกำกับเรื่องยาที่ประเทศจีน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2021 ปัจจุบันถูกใช้งานใน 32 ประเทศ โรงงานผลิตวัคซีนออกมาแล้ว จำนวน 260 ล้านโดส โดยทีมงานจาก WHO ได้รีวิวข้อมูลจากการฉีดวัคซีนจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย จีน, บราซิล, อินโดนีเซีย, ตุรกี และชิลี และสรุปเป็นข้อมูลสำคัญดังนี้
– หลังจาก 14 วันที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว ร่างกายจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 67%
– หลังจาก 14 วันที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว ถ้าติดเชื้อโควิด จะป้องกันร่างกายไม่ให้ป่วยถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 85%
– หลังจาก 14 วันที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว ถ้าติดเชื้อโควิด จะป้องกันร่างกายไม่ให้ป่วยหนักถึงขั้นเข้าไอซียูได้ 89%
– หลังจาก 14 วันที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว ถ้าติดเชื้อโควิด จะเพิ่มโอกาสมีชีวิตรอดได้ 80%
– ในการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างในประเทศชิลี ที่รับวัคซีนไป 3.6 ล้านโดส ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2020 ถึง 2 มีนาคม 2021 คนฉีด Sinovac จะได้รับผลข้างเคียงรุนแรง ในอัตราส่วน 2.67 คน ต่อ 100,000 คน
– ข้อมูลที่องค์กรอนามัยโลกได้รับ สามารถยืนยันได้ว่า Sinovac มีประสิทธิภาพไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ที่ตุรกี Sinovac ป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ 84%, ชิลี ป้องกันได้ 67%, อินโดนีเซีย ป้องกันได้ 65% และ บราซิลป้องกันได้ 51% แต่ค่าเฉลี่ยของทุกประเทศอยู่ที่ตัวเลข 67%
– สำหรับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการทดลองใช้ Sinovac ไม่กี่ประเทศ แต่รายงานจากประเทศชิลีระบุว่าใช้แล้วได้ผล
[ การตัดเกรดจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเชิงกลยุทธ์ของ WHO ถึงวัคซีน Sinovac ]
– ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อของคนอายุ 18-59 ปี
ผลลัพธ์ : มั่นใจมาก ว่าคนอายุ 18-59 ปี ถ้าฉีดครบ 2 โดส จะได้รับภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19
– ความปลอดภัยของผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นหลังฉีด สำหรับคนอายุ 18-59 ปี
ผลลัพธ์ : มั่นใจปานกลาง ว่าคนอายุ 18-59 ปี จะไม่พบความเสี่ยงเรื่องผลข้างเคียงรุนแรง
– ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป
ผลลัพธ์ : มั่นใจปานกลาง ว่าคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ถ้าฉีดครบ 2 โดส จะได้รับภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19
– ความปลอดภัยของผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นหลังฉีด สำหรับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป
ผลลัพธ์ : มั่นใจต่ำ ว่าคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันมากพอ
[ บทสรุปในภาพรวม ]
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก จะเห็นได้ชัดเจนว่า Sinovac มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อได้สูงถึง 67% โดยตัวเลข 51% ที่ตกเป็นข่าวในช่วงแรก เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศบราซิลเท่านั้น จึงมีการเชื่อมโยงกันว่า Sinovac อาจตอบสนองไม่ดีนัก กับสายพันธุ์ที่เกิดในบราซิล
ข้อดีของ Sinovac คือฉีดแล้ว จะสร้างภูมิคุ้มกันได้แน่นอน การมีภูมิคุ้มกัน 67% ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย และที่สำคัญคือวัคซีนสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงในระดับที่ต้องเข้าโรงพยาบาล อย่างน้อยถ้าฉีด ก็จะลดภาระของแพทย์และพยาบาลไปได้มาก นอกจากนั้นถ้าสุดท้ายติดเชื้อไปแล้ว แต่มีวัคซีนอยู่ ก็จะป้องกันไม่ให้อันตรายถึงชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของ Sinovac จากรายงานฉบับนี้ คือเรื่องความปลอดภัยของกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ที่มีตัวอย่างน้อยเกินไป ดังนั้นองค์การอนามัยโลก จึงใช้คำว่า “Low level of confidence” หรือไม่มั่นใจว่าถ้าฉีด ให้คนอายุมากกว่า 60 ปี แล้วจะได้รับผลข้างเคียงหรือไม่
สำหรับประเทศไทย วัคซีนที่จะใช้กับคนส่วนใหญ่ในประเทศคือ AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ส่วนวัคซีนที่ใช้รองลงมาคือ Sinovac โดยนับจากเดือนกุมภาพันธ์ ไทยนำเข้า Sinovac มาแล้วจำนวน 3.5 ล้านโดส จากนั้นจะได้รับเพิ่มอีก 5 แสนโดส ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จากการบริจาคของประเทศจีน และองค์การเภสัชกรรมจะสั่งซื้อเพิ่มอีก 2 ล้านโดสช่วงปลายเดือนนี้
สรุปรวมแล้วไทยจะมี Sinovac ในมือทั้งหมด 6 ล้านโดส สำหรับประชากร 3 ล้านคน โดยล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันแล้วว่า เห็นชอบกับแนวทางฉีด Sinovac ให้ประชาชนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยให้เหตุผลว่า ผลการศึกษาของประเทศจีนมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ขณะที่กรมควบคุมโรคมาขยายความในวันนี้ว่า ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ จะได้ฉีดวัคซีนของ AstreZeneca ทั้งหมด ส่วน Sinovac จะเป็นเพียงอีกอ็อปชั่นหนึ่ง ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้วัคซีนเร็วขึ้นในพื้นที่ระบาดเท่านั้น
สำหรับวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ณ ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ยี่ห้อ ได้แก่ Pfizer, AstraZeneca, Johnson&Johnson, Covishield, Moderna และ Sinopharm ขณะที่ Sinovac กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าจะอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคมนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก https://bit.ly/2RvjFwd