Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ หลังอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญ อาจ “ตีความ” เพื่อให้เขาได้เป็นนายกฯ ต่อไปเรื่อยๆ อีกหลายปี workpointTODAY จะอธิบายสถานการณ์อย่างเข้าใจง่ายที่สุดใน 12 ข้อ

1) ในอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่มีกำหนดว่าสามารถครองตำแหน่งได้กี่ปี ถ้าชนะการเลือกตั้งกี่รอบ ก็อยู่ไปเรื่อยๆ ได้ตามนั้น แต่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 มีการแก้ไขว่า นายกฯ จะไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ “8 ปีติดต่อกัน” (ถ้าเป็น 4 ปี เว้น 4 ปี แล้วกลับมาเป็นอีก 8 ปี แบบนี้ไม่มีปัญหา)

2) หลังจากคสช. ยึดอำนาจ ในปี 2557 คสช. ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง แล้วแต่งตั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา โดยในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ของมีชัย ระบุว่า “นายกรัฐมนตรี จะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

การร่างเงื่อนไขแบบนี้ขึ้นมา เพื่อป้องกันการผูกขาด ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งถืออำนาจนานเกินควร ตามหลักคิดที่ว่า ประเทศต้องเปลี่ยนแปลงหาผู้นำคนใหม่อยู่เสมอ

3) สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย 2 วาระ

วาระแรก – เกิดขึ้นหลังจากเขาทำรัฐประหาร ก่อนจะผลักดันตัวเองผ่านสนช. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557

วาระสอง – เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 โดยพรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนสนับสนุนมหาศาลโดยเฉพาะจากวุฒิสมาชิก ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. (คะแนนโหวตของวุฒิสมาชิก 250 คน เลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ 249 คน) พล.อ.ประยุทธ์ จึงขึ้นเป็นนายกฯ สมัยสอง ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562

ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะอยู่ครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ถ้าหากอยู่ต่อเกินแม้แต่วันเดียว ก็จะทำผิดเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญของประเทศระบุไว้

4) อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะมีฝ่ายที่เรียกร้องว่า ในช่วงสมัยแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่คสช. ยึดอำนาจ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งปกติ เพราะฉะนั้นไม่ควรนับรวมในเวลา 8 ปีด้วย เช่น นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์ข้อความว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “คิดถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง 3 ปี 1 เดือน 6 วันเท่านั้น”

เช่นเดียวกับ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เคยกล่าววาทะ “ถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยก่อน ก่อนที่จะไปคิดถึงระบบ (รถไฟ) ความเร็วสูง” ก็เห็นคล้ายกันว่า ช่วงเวลาที่เริ่มนับตำแหน่งนายกฯ ควรไปนับตอนมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว นายสุพจน์กล่าวว่า “ความเห็นของผม ไม่ใช่นิยมชมชื่นนายกฯ ปัจจุบัน แต่คือการตีความตามกฎหมายและหลักนิติศาสตร์”

สถานการณ์ตอนนี้ จึงมีฝ่ายที่บอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงจากตำแหน่งได้แล้ว อยู่ครบ 8 ปีแล้ว จะตีความหาประโยชน์ให้ตัวเองไปถึงไหน กับอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องสิ้นสุดวาระ ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565

5) สำหรับแนวทางในปัจจุบันนี้ จะมีทางออก ที่เป็นไปได้ทั้งหมด 3 ทาง

ทางออกที่ 1 – พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงจากตำแหน่งทันที ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ เพื่อเป็นการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญไทยต่อไป จำนวน 8 ปี คือการนับรวมตั้งแต่วันแรก ที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตั้งแต่การยึดอำนาจในปี 2557 คุณไม่ต้องเล่นคำอะไรให้ซับซ้อน ในเมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ มีขึ้นเพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจ แล้วถ้าให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งมากกว่านี้ มันยิ่งกว่าการสืบทอดอำนาจเสียอีก

ทางออกที่ 2- พล.อ. ประยุทธ์ จะอยู่ต่อไปได้ จนถึงปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย โดยการตีความแบบนี้จะมองว่า ตอนเป็นนายกฯ แบบยึดอำนาจไม่นับ จะเริ่มนับตอนเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ถ้าหากการตีความออกมาตามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ได้ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2570 และถ้าเป็นจริง จะทำให้เขาเป็นนายกที่อยู่ในตำแหน่งติดต่อกัน นานที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย นั่นคือ 12 ปี กับอีก 10 เดือน

ทางออกที่ 3 – พล.อ. ประยุทธ์ จะอยู่ต่อไปได้ จนถึงปี 2568 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า โดยการตีความแบบนี้ จะมองว่ากฎหมายต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้ (6 เมษายน 2560) ถ้าเป็นวิธีการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2568

6) กระแสสังคม และนักวิชาการในประเทศไทย ต่างระบุชัดเจนว่า ทางออกที่ 1 ดูจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด โดยผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า “ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้านะครับ ไม่ได้มีธงว่าต้องช่วยเนี่ยะ ดูยังไงก็ต้องถือว่าครบ 8 ปีแล้วในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ก็มันเขียนว่าอย่างนั้น แล้วการตีความแบบที่บอกว่า รัฐธรรมนูญเพิ่งประกาศใช้ ปี 2560 จะไปนับย้อนหลังไม่ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่า การห้ามนับย้อนหลังมันไม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจ เพราะอำนาจต้องถูกควบคุม ดังนั้นผมคิดว่ามันชัดเจนนะ”

7) ขั้นตอนต่อไปนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าพล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ หรือต้องหยุดการปฏิบัติงานทันทีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้

8 ) ดังนั้นตอนนี้ อนาคตของประเทศไทย ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดหน้าที่ตอนนี้ หรือ ได้อยู่ต่อไปอีก 5 ปี จึงจะอยู่ที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปริญญา มีความกังวลใจเช่นกัน “ตามกฎหมาย มันชัดอยู่แล้วว่านายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ แต่ในการตีความมันก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้พิพากษาข้างมาก 5 จาก 9 คน เห็นอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น”

“ผมพูดอย่างไม่อ้อมค้อม ศาลรัฐธรรมนูญของเราก็มีความเป็นศาลการเมืองพอสมควร ด้วยความเคารพนะครับ ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าถ้าเป็นเรื่องของพล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินให้ท่านไม่เคยแพ้ ส่วนถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามกันก็มักจะแพ้ ผมว่าที่ผ่านมาก็ผ่านไปแล้ว แต่คราวนี้มันจะเป็นอีกครั้ง ที่จะพิสูจน์ว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านยึดอะไรในการวินิจฉัย”

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คสช. ก็เขียนขึ้นมาเอง ถ้าอยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่คนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน ก็ต้องบังคับใช้ ถ้านายกฯ ไม่ลงจากตำแหน่งเอง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสิน”

9) อย่างไรก็ตามปัญหาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ในจำนวน 9 คน มี 2 คน ที่ถูกแต่งตั้งจาก สนช. และอีก 5 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดยวุฒิสมาชิก แต่ทั้ง สนช. และ วุฒิสมาชิก ก็โดนแต่งตั้งโดย คสช. อีกที ดังนั้นจึงมีการวิจารณ์ว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ และอาจเอนเอียงให้ทางฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับคสช.

10) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้หวั่นใจใดๆ เขากล่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์เคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่อยู่เหนือกฎหมาย จึงขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักการและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นเดียวกัน เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ และไม่เกิดความวุ่นวาย”

“ที่ถูกต้อง ควรไปฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตีความกันไปตามความเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง”
จริงๆ แล้วมีประเด็นที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้ความเห็นเอาไว้ ในการประชุมว่า “การนับรวมระยะเวลา ต้องนับรวมทั้งก่อนและหลัง ปี 2560” แต่นายธนกร ได้ตอบโต้ว่า นั่นเป็นแค่บันทึกการประชุมไม่ใช่มติ จึงไม่ควรนำมาใช้อ้างอิง

11) สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญให้พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่ง คนที่มีโอกาสได้เป็น มีอยู่ 5 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกยื่นรายชื่อเอาไว้ตั้งแต่ปี 2562 ประกอบด้วย
– นายอนุทิน ชาญวีรกูล
– รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
– คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
– นายชัยเกษม นิติสิริ
– นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ถ้าพล.อ.ประยุทธ์โดนให้ออกจากตำแหน่ง จะมีการประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. เพื่อทำการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยใน 5 คนนี้ ใครได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง จะได้เป็นนายกฯ
แต่ถ้าจะไม่เอาใน 5 คนนี้ ก็มีทางเลือกเช่นกัน โดยใน 5 คน ต้องไม่มีใครเลยได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของ 2 สภา จากนั้นจะเปิดช่องให้มีการ “เชิญคนนอก” เข้ามาร่วมโหวตเป็นนายกฯ ได้ ซึ่งหลายคนเชื่อว่า อาจเป็นเกมการเมือง ที่จะให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาเป็นนายกฯ แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้

12) แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ทั้งหมดอยู่ที่การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ว่าจะตัดสินใจให้พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ หรือพอแค่นี้ ซึ่งสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญของความน่าเชื่อถือในหลักนิติศาสตร์ของประเทศไทยด้วย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า