Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้จบลงแล้ว พรรคฝั่งรัฐบาลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ประชาชนโหวตลงคะแนนเสียงให้ตัวแทนจากฝ่ายค้าน ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในสมัยหน้า

ความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจอยู่ในมือประชาชน ถ้าหากมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันยังบริหารงานไม่ดีพอ ในการเลือกตั้งสมัยต่อไป ประชาชนก็จะไปเลือกตัวแทนจากพรรคอื่นเพื่อมาทำหน้าที่ดูบ้าง workpointTODAY สรุปการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แบบเข้าใจง่ายใน 19 ข้อ

1) ประเทศเกาหลี ในอดีตปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ แต่ในปี 1910 ญี่ปุ่นมายึดเกาหลีเป็นเมืองขึ้น ทำให้ระบอบกษัตริย์จึงถูกล้มเลิกไป

ญี่ปุ่นยึดเกาหลี 35 ปีเต็ม จนถึงปี 1945 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก เกาหลีจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนเหนือ สหภาพโซเวียตรับเอาไปดูแล และส่วนใต้ สหรัฐอเมริการับเอาไปดูแล

2) ในฝั่งเกาหลีใต้ เมื่อสหรัฐฯ รับผิดชอบเอาไปดูแล จึงปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยให้ พร้อมกับแนะแนวทางในการเลือกผู้นำประเทศ ด้วยการโหวตหาประธานาธิบดี โดยเกาหลีใต้ในช่วงแรก จะเลือกประธานาธิบดีทุกๆ 4 ปี เหมือนที่สหรัฐฯ ทุกอย่าง

3) เกาหลีใต้ เปลี่ยนแนวทางการเลือกประธานาธิบดีมาหลายแบบ เช่น บางช่วงให้ ส.ส. เลือก แต่นับจากปี 1987 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ใช้ระบบ Popular Vote คือให้ประชาชนเลือกประธานาธิบดีโดยตรง ผู้สมัครคนไหนได้คะแนนเสียงเยอะที่สุด ก็เป็นผู้นำประเทศ ทุกอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา

โดยการเลือกประธานาธิบดี 1 ครั้ง ผู้ชนะจะอยู่ในวาระ 5 ปี และจะสามารถเป็นประธานาธิบดีได้แค่ 1 สมัยเท่านั้น ไม่สามารถลงซ้ำป้องกันตำแหน่งได้ เพื่อป้องกันการผูกขาด

4) ในการเลือกตั้งปี 2012 พัก กึน-ฮเย จากพรรคลิเบอร์ตี้ ที่มีแนวทางอนุรักษนิยม คว้าชัยชนะ ได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศ อย่างไรก็ตาม เธอไปมีส่วนพัวพันกับการทุจริต ทำให้ถูกสภายื่นเรื่อง Impeachment หรือทำการถอดถอน จนต้องหลุดจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และโดนคดีอาญาตามมาอีกด้วย

5) เมื่อคนจากพรรคลิเบอร์ตี้ ที่เป็นฝั่งอนุรักษ์นิยม ไปมีส่วนพัวพันกับการทุจริตแบบนี้ ทำให้ในการเลือกตั้งหาประธานาธิบดีคนใหม่ในปี 2017 ประชาชนจึงลงโทษพรรคลิเบอร์ตี้ ด้วยการไปเลือก มุน แจ-อิน ตัวแทนจากพรรคประชาธิปไตย (Democratic) ที่มีจุดยืนทางการเมืองคือฝั่งซ้าย ด้วยคะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์

มุน แจ-อิน ได้คะแนนเสียง 41.1% ส่วน ฮอง จุน-พโย จากพรรคลิเบอร์ตี้ ได้คะแนนเพียง 24.0% เท่านั้น เป็นช่องว่างคะแนนที่ห่างกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เกาหลีใต้ปรับมาใช้รูปแบบ Popular Vote นี่คือการตอบโต้ของประชาชน พรรคไหนที่มีส่วนพัวพันกับการทุจริต ก็จะไม่ยอมเลือก แล้วไปกาให้คนจากอีกพรรคแทน

ในปี 2017 มุน แจ-อิน จึงได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ถือเป็นการเปลี่ยนขั้วจากอนุรักษ์นิยม มาเป็นเสรีนิยมแทน

6) ความเห็นต่อประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ที่เกาหลีใต้แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือชื่นชอบ โดยเฉพาะฝีมือในการบริหารงานช่วงโควิด-19 ที่ดี เกาหลีใต้เป็นชาติพัฒนาแล้วที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่นิวซีแลนด์เท่านั้น

นอกจากนั้นมุน แจ-อิน ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วง 5 ปีของเขาที่เป็นประธานาธิบดี มีภาพยนตร์และซีรีส์ จำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ รวมถึงกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศ แต่ภาครัฐก็ไม่ได้ห้ามปราม ตรงข้าม กลับส่งเสริมให้มีอิสระเต็มที่ จนเป็นที่มาของการคว้ารางวัลออสการ์ของ Parasite รวมถึงการบูมของซีรีส์ชื่อดัง Squid Game

7) แม้จะมีคนบางกลุ่มที่ชื่นชอบ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งวิจารณ์การทำงานอย่างเผ็ดร้อน ว่ามุน แจ-อิน และพรรคประชาธิปไตย ยังไม่ดีพอที่จะเป็นผู้นำประเทศในวาระต่อไป

The Economist วิจารณ์ว่า “ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน สัญญาไว้ตอนหาเสียงว่า จะยุติสายสัมพันธ์ของนักการเมืองกับกลุ่มธุรกิจให้ได้ จะทำการย้ายออฟฟิศประธานาธิบดี จาก Blue House ที่อยู่ห่างจากตัวเมือง เข้ามาอยู่ใจกลางเมืองแทน จะสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้นสำหรับประชาชนในประเทศ นอกจากนั้นจะนำพาความสงบสุขมาสู่คาบสมุทรเกาหลีด้วย”

“แต่หลังจากผ่านไป 5 ปี เขาไม่สามารถทำอะไรที่สัญญาไว้ได้สักอย่าง ปัจจุบันประธานาธิบดีก็ยังอยู่ที่ Blue House ที่เดิม เขาปล่อยให้อี แจ-ยอง ทายาทรุ่น 3 ของซัมซุง ที่มีคดีติดสินบน รอดพ้นคุกด้วยการทำทัณฑ์บน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็ใช่ว่าจะดี นักศึกษาจบมาแล้วหางานทำยากลำบาก ส่วนความสงบกับเกาหลีเหนือก็ไม่เกิดขึ้น ทุกวันนี้เกาหลีเหนือขยายคลังอาวุธมิสไซล์ และหัวรบนิวเคลียร์ ไม่มีทีท่าว่าความสงบในคาบสมุทรเกาหลีจะมีในเร็ววันนี้”

8 ) เมื่อมุน แจ-อิน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทำให้ประชาชนจึงแตกเป็นสองฝ่าย บางกลุ่มบอกว่าจะลองเลือกพรรคเดิมต่อเพราะเห็นใจที่ต้องมาบริหารประเทศในช่วงโควิดพอดี แต่อีกส่วนบอกว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เมื่อทำตามที่หาเสียงไว้ไม่ได้ ก็ควรให้โอกาสพรรคใหม่ดูบ้าง

9) การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประจำปี 2022 มี 2 ผู้สมัครที่เป็นแคนดิเดทคนสำคัญ ได้แก่ อี แจ-มยอง จากพรรคประชาธิปไตย พรรคเดียวกับมุน แจ-อิน ที่มีจุดยืนคือเสรีนิยม เป็นฝ่ายซ้าย และอีกคนคือ ยุน ซอก-ยอล จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ที่เป็นฝ่ายขวา อนุรักษ์นิยม ปัญหาคือ ทั้ง 2 คนไม่มีใครที่เพอร์เฟ็กต์ ต่างมีจุดอ่อนด้วยกันทั้งคู่

10) อี แจ-มยอง (57 ปี) เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกยองกี เขาได้รับฉายาว่าเป็นขวัญใจชนชั้นแรงงาน เพราะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อติดการพนัน และตัวเขาเองก็เคยทำงานในโรงงานผลิตถุงมือมาก่อน ดังนั้นจึงตั้งเป้าหมายจะสร้างความเท่าเทียมในสังคมขึ้น ให้ผู้มีรายได้น้อยได้ลืมตาอ้าปาก ขณะที่นโยบายของเขาก็โดนใจวัยรุ่น เช่น เตรียมออกกฎหมาย Free School Uniform ไม่บังคับเด็กใส่ชุดนักเรียน เป็นต้น
แต่อี แจ-มยอง มีจุดอ่อนคือ เขามีข่าวพัวพันกับการทุจริตเรื่องการอนุญาตสร้างอสังหาริมทรัพย์ ในสมัยที่เขาเป็นนายกเทศมนตรี เขตซองนัม และที่เป็นปริศนาคือ พยานที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น 3 คน ต้องเสียชีวิตอย่างลึกลับ แม้จะสาวเรื่องไปถึงเขาไม่ได้ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า จริงๆ แล้วเขาอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องก็เป็นได้

จากนั้นในช่วงเริ่มการหาเสียงเลือกประธานาธิบดี เขาโดนสื่อมวลชนจี้คำถามเรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มมาเฟีย แต่อี แจ-มยอง เลี่ยงที่จะตอบคำถามดังกล่าว

นอกจากนั้น ภรรยาของอี แจ-มยอง ยังเคยถูกกล่าวหาว่าใช้งบประมาณรัฐ ไปรูดบัตรเครดิตเพื่อเอาไปใช้จ่ายส่วนตัว ในขณะที่สามีอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ อีกด้วย ถือว่ามีจุดด่างพร้อยให้สื่อได้เล่นงานอยู่เหมือนกัน

11) ในขณะที่คู่แข่ง ยุน ซอก-ยอล (61 ปี) ไม่เคยเล่นการเมืองมาก่อน เขาเป็นอัยการสูงสุดของเกาหลีใต้ และเป็นคนทำคดีทุจริตของอดีตประธานาธิบดี พัก กึน-ฮเย

ด้วยผลงานที่จับต้องได้ ทำให้ยุน ซอก-ยอล มีภาพลักษณ์ของข้าราชการที่ซื่อสัตย์ ผู้คนเชื่อว่า คนที่ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยมาตลอดอาชีพ ก็จะรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ ถ้าหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
หาก อี แจ-มยอง เป็นขวัญใจคนยาก ยุน ซอก-ยอล ก็เป็นขวัญใจของชนชั้นกลางขึ้นไป เขามีภาพลักษณ์ที่ยอดเยี่ยม พ่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยยอนเซ แม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหญิงอีหวา ส่วนตัวเขาเรียนจบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโซล หนึ่งใน 3 สถาบันของ กลุ่ม SKY ที่ถือว่าดีเลิศที่สุดในประเทศ

ชิน กี-วุค ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อธิบายว่า ยุน ซอก-ยอล เป็น “ไอคอน” ของประชาชนสายอนุรักษ์นิยม เพราะเป็นคนเดียวที่มีแนวโน้มจะโค่นล้มผู้สมัครจากฝ่ายเสรีนิยมได้

แต่ ยุน ซอก-ยอล ก็มีแผลเยอะเช่นกัน เขาโดนสังคมโลกวิจารณ์ว่าเป็นพวก Anti-Feminist หรือต่อต้านสิทธิสตรี เพราะประกาศชัดเจนว่านโยบายหลักของเขาคือการยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว เพราะมองว่าการมีอยู่ของกระทรวง เป็นการส่งเสริมความไม่เท่าเทียมเสียมากกว่า

12) อธิบายคือที่เกาหลีใต้ มีกลุ่มผู้ชายจำนวนมาก ที่มองว่าตัวเองจำเป็นต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารอย่างน้อย 2 ปี เสียโอกาสในชีวิตไปตั้งมากมาย แต่ภาครัฐยังให้สิทธิพิเศษกับเพศหญิงผ่านทางกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวอีก ดังนั้นไม่อยากให้ภาครัฐเพิ่มข้อได้เปรียบให้เพศหญิงอีก พอนโยบายของยุน ซอก-ยอล ประกาศว่าจะยุบกระทรวง จึงไปโดนใจฐานเสียงของผู้ชายวัยรุ่น และในวัยทำงานแล้วจำนวนมาก
นอกจากนั้น ยุน ซอก-ยอล เตรียมจะออกกฎหมาย “เพิ่มโทษ” ให้กับคนที่แจ้งความเท็จในคดีอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งในเรื่องนี้บางคนก็เห็นด้วย เพราะมีข่าวผู้หญิงโกหกตำรวจว่าโดนข่มขืน จนทำให้ชื่อเสียงของฝ่ายชายที่โดนกล่าวหาด่างพร้อยไปตลอดชีวิต แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มโทษ เพราะแบบนี้ฝ่ายหญิงที่โดนกระทำอาจจะไม่กล้าเปิดออกมาต่อสู้ เพราะถ้าแจ้งความแล้วไม่มีหลักฐานเอาผิดได้ ตัวเองก็อาจโดนลงโทษสถานหนักจากภาครัฐ

13) ด้วยนโยบายที่แข็งกร้าว ทำให้ยุน ซอก-ยอล ถูกต่อต้านจากกลุ่มสิทธิสตรีที่เกาหลีใต้ สาเหตุเพราะปัจจุบัน เกาหลีเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่คนสองเพศมีรายได้ห่างกันมากที่สุดในโลก (ห่างกัน 32%) รวมถึงในสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.หญิงแค่ 19% เท่านั้น ยังไม่นับวิถีชีวิตทั่วๆ ไป ที่ผู้หญิงมักได้รับความเสียเปรียบมากกว่าฝ่ายชาย มีฝ่ายหญิงจำนวนมากที่โดนแอบถ่ายวีดีโอลับ เอาไปแบล็คเมล์ในอินเตอร์เน็ต ดังนั้นถ้าต้องมายุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศฯ อีก แปลว่าฝ่ายหญิงก็จะโดนกดทับหนักยิ่งกว่าเดิมเข้าไปอีก

14) ดังนั้นการเลือกตั้งในครั้งนี้ จึงเป็นการต่อสู้กันของจุดยืนทางการเมืองของประเทศด้วยว่า คนส่วนใหญ่เห็นอย่างไรกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ถ้าหากคนส่วนใหญ่มองว่าฝ่ายชายที่ต้องไปออกรบ ควรได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างมากกว่า ก็จะเลือก ยุน ซอก-ยอล ที่เป็นฝ่ายขวา แต่ถ้ามองว่าคนสองเพศควรได้รับสิทธิต่างๆ ที่เท่าเทียมกัน ก็จะเทคะแนนไปเลือก อี แจ-มยอง ที่เป็นฝั่งซ้ายแทน

15) เมื่อผู้สมัครทั้งสองคน ไม่มีใครดีพร้อม ต่างคนต่างมีแผล ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกวิจารณ์ว่าประชาชนแค่ต้องเลือกว่า “ใครแย่น้อยกว่า” เท่านั้น พัก แซง-อิน ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโซลกล่าวว่า “นี่เป็นการเลือกตั้งที่มีแต่การโจมตีจุดด้อยของฝั่งตรงข้าม มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ชนะจะเป็นคนที่สังคมเกลียดน้อยกว่าเพียงแค่นั้น”

16) วันที่ 9 มีนาคม การเลือกตั้งประธานาธิบดีมาถึง ทั้ง 2 คนทำแต้มไล่บี้กันอย่างเข้มข้น ท่ามกลางผู้ออกมาใช้สิทธิ์สูงถึง 77.1% ของประชากรทั้งประเทศ ปรากฏว่าผู้ชนะคือ ยุน ซอก-ยอล ได้คะแนนโหวตไป 16.39 ล้านคะแนน ส่วนคู่แข่ง อี แจ-มยอง ได้คะแนนโหวต 16.14 ล้านคะแนน นี่เป็นการต่อสู้ที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งเกาหลีใต้ เพราะช่องว่างระหว่างกันของทั้งคู่ ห่างกันไม่ถึง 1% เท่านั้น

เดอะ การ์เดี้ยน สื่ออังกฤษ วิเคราะห์ว่า ผู้คนหักลบเหตุผลแล้ว ตัดสินใจเปลี่ยนพรรคดีกว่า เพราะในช่วง 5 ปี ของพรรคประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หลายอย่าง เช่น ราคาบ้านในโซลที่พุ่งสูงขึ้น จนมนุษย์เงินเดือนธรรมดาไม่สามารถหาซื้อได้แล้ว เช่นเดียวกับ เรื่องการจ้างงานที่คนจบมาแล้วหางานทำไม่ได้ คือไม่รู้ว่า ยุน ซอก-ยอลจะดีไหม แต่ก็น่าเสี่ยงกว่าไปเลือกพรรคเดิมให้ทำงานเป็นผู้นำต่ออีก 5 ปี

17) การได้รับเลือกของ ยุน ซอก-ยอล สร้างความหนักใจหลายประการในสังคมเกาหลีใต้ อย่างแรกคือเรื่องประสบการณ์ของเขาในเวทีการเมือง เพราะเขาทำงานเป็นอัยการมาตลอด เพิ่งจะกระโดดมาเป็นนักการเมืองจากแคมเปญนี้เท่านั้น จึงมีความไม่สบายใจว่า ในเวลานี้ เป็นช่วงที่วิกฤติที่สุด โควิด-19 ก็ยังอยู่ แถมยังมีสงครามยูเครน-รัสเซียอีก ขณะที่ความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือก็ยังมีความตึงเครียด เช่นเดียวกับการวางตัวของประเทศ ว่าควรเอนเอียงไปทางไหนมากกว่า ระหว่างสหรัฐฯ หรือ จีน ดังนั้นเมื่อได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน บางคนจึงเชื่อว่า อาจทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ได้

และอย่างที่สองคือ สถานภาพของผู้หญิงเกาหลีใต้ ที่ดูเหมือนจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง ในยุค มุน แจ-อิน ถ้าต้องอยู่ภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ ที่ถูกเรียกว่าเป็น Anti-Feminist ก็มีโอกาสที่เพศหญิงจะโดนกดลงไปอีก เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจ ที่ผู้คนกังวลว่า ยุน ซอก-ยอล อาจจะไปเอาใจกลุ่มนายทุน จนสถานภาพของกลุ่มชนชั้นแรงงานลำบากขึ้นกว่าเดิม

18) เรื่องราวการเลือกตั้งของเกาหลีใต้ก็จบลงตรงนี้ โดย ยุน ซอก-ยอล กล่าวขอบคุณ อี แจ-มยอง ที่ต่อสู้กันอย่างสุดความสามารถ และยืนยันว่าทั้งเขาและคู่แข่ง จะจับมือกันทำงานเพื่อประชาชนเกาหลีใต้
สำหรับ ยุน ซอก-ยอล จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ แทนที่ มุน แจ-อิน ในเดือนพฤษภาคมนี้ กับความท้าทายจำนวนมากที่รออยู่ตรงหน้า เป็นบทพิสูจน์สำคัญต่อความสามารถของเขา

19) ในประวัติศาสตร์การเลือกประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ มีการพลิกไปพลิกมา ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม และเสรีนิยมตลอดมา ด้วยการเลือกประธานาธิบดีแบบ Popular Vote ทำให้ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดอำนาจอย่างแท้จริง หากพรรคไหนมีผลงานน่าผิดหวัง และแคนดิเดทไม่โดดเด่นพอ ก็สามารถโดนโหวตให้แพ้ในวาระต่อไปได้ง่ายๆ

ไม่ว่าผู้ได้รับเลือกจะเป็นคำตอบที่ถูกใจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นทางเลือกของประชาชนเอง ถ้าเสียงส่วนใหญ่ตัดสินว่าใครควรเป็นผู้นำประเทศ ผลลัพธ์ก็ต้องเป็นไปตามนั้น นี่คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย จากประเทศเกาหลีใต้ ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจอันดับ 10 ของโลก

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า