Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เรื่องราว “เหมืองทองคำ” ที่สั่นสะเทือนรัฐบาลไทย อยู่ ณ เวลานี้ มีเรื่องราวเป็นอย่างไรกันแน่

ทำไมรัฐบาลอาจต้องควักเงินสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายให้บริษัทเอกชนจากต่างประเทศ และ ทำไมนายกฯประยุทธ์ ต้องออกหน้าด้วยตัวเอง Workpoint News จะสรุปสาระสำคัญแบบเข้าใจง่ายใน 19 ข้อ

1) ในปี พ.ศ.2543 รัฐบาลในยุคชวน หลีกภัย มีการเปิดให้สัมปทานการขุดเหมือง ชื่อ “ชาตรี” ทำบริเวณรอยต่อของ จ.พิจิตร, จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ เป็นจำนวน 5 แปลง มีพื้นที่รวม 1,259 ไร่ โดยบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัด จากประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ชนะ ได้สิทธิสัมปทาน พร้อมมอบหมายให้บริษัทลูกในประเทศไทย บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินกิจการการขุดเหมือง

2) ตั้งแต่เหมืองทองคำ ถูกก่อตั้ง ได้สร้างความเจริญขึ้นในพื้นที่ และมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ในเขตรอบๆเหมือง รวมถึงมีผู้ประกอบการ ร้านค้า และธุรกิจเอกชน ผุดขึ้นมา เพื่อรองรับความเจริญที่เข้ามา

3) สำหรับประเทศไทย ได้ประโยชน์เช่นกัน จากการมอบสัมปทานครั้งนี้ โดย รัฐบาลจะได้ประโยชน์ถึง 3 ทาง

– เมื่อขุดแร่ทองคำขึ้นมาแล้ว จะสามารถส่งออกไปขายต่อให้ประเทศอื่น เพื่อนำไปทำเป็นทองคำบริสุทธิ์ต่อไป
– เก็บ “ค่าภาคหลวง” เปรียบเสมือนภาษี ที่ผู้ทำสัมปทานต้องจ่ายให้รัฐทุกปี จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
– เป็นการสร้างมูลค่า และความเจริญในพื้นที่ รวมถึงสร้างงานให้คนในละแวกใกล้เคียงกับเหมืองทองด้วย

4) หลังขุดทองกันได้ 7 ปี ในปีพ.ศ.2550 มีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบออกมาร้องเรียนต่อรัฐบาล ว่าใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะมีเสียงดังจากการระเบิดเหมืองกันตลอดเวลา ทั้งวัน ทั้งคืน ยิ่งไปกว่านั้น การที่เหมืองแร่เปิดอยู่ใกล้ชุมชน ส่งผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ถูกทำลาย และปนเปื้อนไปด้วยโลหะหนัก

ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำจากธรรมชาติได้อีก ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงเริ่มมีอาการเจ็บป่วย มีผื่นคัน ตุ่มหนองทางผิวหนัง

5) ระหว่างที่ภาครัฐลงมาตรวจสอบ ทาง บมจ.อัครา ได้ขอสัมปทานเพิ่มเติมอีก 9 แปลง ในจังหวัดพิจิตร รวมพื้นที่ 2,466 ไร่ และได้รับสัมปทานจากรัฐ วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 – 20 กรกฎาคม 2571 สัมปทานยาว 20 ปี โดยเรียกกันว่า “เหมืองทองคำชาตรีเหนือ”

6) ยิ่งมีการทำเหมือง ก็ยิ่งมีชาวบ้านจำนวนมาก ได้รับผลกระทบทางร่างกาย ดร.สมิทธ ตุงคะสมิทธ จากมหาวิทยาลัยรังสิต รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้าน 1,004 คน ที่อาศัยในเขตใกล้เหมือง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ปรากฏว่าพบสารแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 41.83% และ สารไซยาไนต์ในร่างกายเกินมาตรฐาน 5.88%

7) จนในที่สุด วันที่ 16 มกราคม 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทำการสุ่มตรวจ และพบว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง มีโลหะหนักในกระแสเลือด จึงออกคำสั่งให้บริษัท อัครา หยุดประกอบกิจการ เป็นเวลา 30 วัน

8.) อย่างไรก็ตาม หลังจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทางอัคราไมนิ่ง พยายามปรับปรุงแก้ไข เรื่องการปล่อยโลหะหนักรั่วไหล โดย เดือนเมษายน กพร. จ้างบริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำ มาตรวจสอบที่เหมืองชาตรี ปรากฎว่า ไม่พบไซยาไนต์รั่วไหลแต่อย่างใด

9) ความขัดแย้งในพื้นที่ เพิ่มดีกรีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มชาวบ้านมีทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมืองทองคำ และฝ่ายที่ต่อต้านอยากให้เหมืองยุติ จนในที่สุด วันที่ 14 ธันวาคม 2559 ด้วยคำสั่งของ คสช. ที่ 72/2559 ประกาศว่า “ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ จะต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป”

“ส่วนคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ต้องระงับการอนุญาตให้สำรวจ หรือทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงระงับการต่ออายุสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการ ต้องฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ตามที่กำหนดไว้ในรายการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม”

เป็นการใช้ มาตรา 44 ระงับข้อขัดแย้ง ซึ่งก็มีเสียงวิจารณ์ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

10) เมื่อถูกระงับไม่ให้ทำเหมือง ส่งผลให้บริษัท อัครา ปลดพนักงานทั้งหมด 265 คน รวมถึงพนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องอีก 450 คน ก็ถูกเลิกจ้าง และหยุดการทำงานของเครื่องจักรในการผลิตทั้งหมด ก่อนจะหยุดดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 มกราคม 2560

11) 19 พฤษภาคม 2559 กลุ่มพนักงาน และ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเหมือง จำนวน 5 พัน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกล่าวว่า ประชาชนจำนวนมาก ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พร้อมแสดงผลการตรวจสุขภาพ ว่าไม่ได้ป่วยไข้จากเหมืองทองแต่อย่างใด พร้อมวิงวอนให้นายกฯ ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านตัวจริง

นายวรากร จำนงค์นารถ อดีตกำนันตำบลเขาเจ็ดลูก เปิดเผยว่า “พวกเราชาวบ้านตัวจริงอาศัยอยู่ร่วมกับเหมืองแร่ทองคำมากว่า 15 ปี อย่างเกื้อกูล ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน เหมือนที่บางกลุ่มพยายามกล่าวอ้าง”

“พวกเราขอถามหน่อยว่าหากหมู่บ้านเราไม่มีเหมืองทองคำ ก็จะกลายเป็นหมู่บ้านที่ไร้ความเจริญ ลูกหลานจะไม่ได้รับส่งเสริมการศึกษา ชาวบ้านจะไม่มีอาชีพ ซึ่งคุณภาพชีวิตจะตกต่ำลงอย่างแน่นอน” นางกุลจิรา เพชร์ภักดิ์ ชาวบ้านที่มาร่วมประท้วงเผย

12) อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งนักวิชาการ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร แสดงทรรศนในทางตรงข้ามว่า “เหมืองพิจิตร เป็นการทำเหมืองที่สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่มีความพร้อมที่จะทำเหมือง โดยรัฐบาลให้ต่างชาติเข้ามาทำนั้น เขาไม่ได้รับผิดชอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดูแลชุมชนรอบเหมืองให้ดี”

เช่นเดียวกับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า “ถ้าการขุดแร่ทองคำนั้น ทำความเสียหายให้กับทรัพย์สินอื่นๆของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แหล่งน้ำ และผู้คน โดยที่แลกกับผลประโยชน์ปัจจุบันเพียงน้อยนิด ผมว่าเราเก็บไว้ก่อนเถอะครับ มูลค่าสินแร่ทองคำมันไม่ลดลงหรอกครับ”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำสั่ง จากม.44 แต่ สำหรับ บริษัท อัคราไมนิ่ง ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น อัครา รีซอร์สเซส ถ้าอ้างอิงจากสัญญาสัมปทานเดิม พวกเขายังมีสัญญาในการขุดเหมืองทองคำอยู่ ( 4 แปลง ถึงปี 2563 อีก 8 แปลง ถึงปี 2571)

13) หลังจากเหมืองถูกปิด ทางบริษัทคิงส์เกท เจ้าของสัมปทานตัวจริงจากออสเตรเลีย ขอพูดคุยกับรัฐบาลไทย เพื่อยื่นข้อเสนอในปัญหาครั้งนี้ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

14) เรื่องยืดเยื้อไปจนถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกท ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากมาตรการของรัฐบาลไทย เป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ (22,672 ล้านบาท) เนื่องจากการสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

15) โอกาสชนะคดีของฝั่งคิงส์เกท คือพิสูจน์ให้เห็นว่า บริษัทตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด และโดนสั่งให้ยุติกิจการอย่างไม่เป็นธรรม โดยข้อตกลง TAFTA ระบุว่า เมื่อรัฐบาลสร้างผลกระทบใดๆต่อนักลงทุนของประเทศภาคี ต้องจ่ายค่าชดเชยด้วย

ขณะที่โอกาสชนะคดีของฝั่งไทย คือตามกรอบขององค์กรการค้าโลก (WTO) ระบุว่า รัฐบาล อาจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกับสมาชิกภาคีได้ ถ้าหากมีความจำเป็น เพื่อปกป้องชีวิต สุขอนามัยของมนุษย์ สัตว์ และ พืช

ดังนั้นแปลว่าจุดสำคัญของการแพ้ชนะในคดีนี้ คือการพิสูจน์ให้ได้ว่า การขุดเหมืองแร่ทองคำ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และร่างกายของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่

16) มีนาคม 2562 มีข่าวลือออกมาว่า ไทยอาจจะยอมจ่ายเงิน เพื่อเป็นการยุติปัญหา อย่างไรก็ตาม ฝั่งรัฐบาลไทย นำโดยนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมายุติข่าวลือว่า ในตอนนี้ รัฐบาลไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการสู้คดีกับ บริษัท คิงส์เกท และยังไม่มีการตัดสินชี้ขาดแต่อย่างใด

“รัฐบาลมีความมั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยเป็นการคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบ เฉพาะหน้าด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนอย่างทันท่วงที เป็นไปตามมาตรฐานสากลสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมสู้คดีต่อไป และยังไม่มีการพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด”

17) ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินให้ บริษัทคิงส์เกท กลายเป็นประเด็นเรื่องการเมือง โดยวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ในการประชุมรัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากใช้อำนาจ ม.44 ปิดเหมืองทองคำชาตรี

“เบื้องต้นเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะแพ้คดี และเสียค่าชดใช้ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่คนไทยต้องร่วมกันชดใช้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ฐานะผู้ใช้มาตรา 44 จะไม่มีส่วนรับผิด ดังนั้น กรณีของพล.อ. ประยุทธ์ ถือว่าเป็นคนที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ”

18) สำหรับล่าสุด 30 ตุลาคม 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ณ ตอนนี้ รัฐบาลไทย มีทางเลือกอยู่ ว่าจะยอมจ่ายให้เรื่องจบ , ประนีประนอมแล้วให้กลับมาเปิดเหมืองต่อ หรือ สู้คดี ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในที่ประชุมครม.ด้วย กล่าวว่าขอตัดสินใจก่อน จะใช้แนวทางไหนดี แต่ยืนยันชัดเจนว่า “ผมรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น”

19) บทสรุปของเรื่องนี้ ถ้าหากไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ ก็ต้องไปสู้คดีกัน ซึ่งยังไม่สามารถเดาได้ว่าผลจะออกมาในรูปแบบใด โดยกระบวนการสืบสวน จะเริ่มต้นวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ และจะได้บทสรุปชี้ขาดในอีก 3-5 เดือนข้างหน้า

จุดสำคัญของคดีนี้ คือฝั่งรัฐบาลไทย ก็ยังสามารถเป็นฝ่ายชนะคดีได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า การปิดเหมืองทองคำ นั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม หากฝั่งรัฐไม่มีหลักฐานแน่นหนามากพอ ที่จะยืนยันว่า บริษัท อัครา ทำลายสิ่งแวดล้อมจนเสียหาย ผู้ชนะก็จะตกเป็นของคิงส์เกทแทน

บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2019

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า