Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

การแต่งกายของทนายความและความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นประเด็นร้อนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทนายความหญิงร่วมกันเรียกร้องให้สภาทนายความออกระเบียบรับรองการแต่งกายด้วยกางเกงเพื่อว่าความในชั้นศาล ขณะที่ทนายความข้ามเพศร้องขอให้รับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพตั้งแต่ขั้นตอนการสอบตั๋วทนายความ

โอกาสนี้ workpoinTODAY พูดคุยกับ ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์ ทนายความผู้ผ่านทั้งประสบการณ์ครอบคลุมในฐานะทนายความในลอว์เฟิร์มที่ต่อมาก่อตั้งลอว์เฟิร์มเอง อนุญาโตตุลาการประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการศาลยุติธรรม สถาบันอนุญาโตตุลาการกระทรวงยุติธรรม และตัวแทนฟอรั่มอนุญาโตตุลาการหอการค้านานาชาติ  (ICC YAAF) ระดับภูมิภาคเอเชียใต้ และเป็นนักวิจัยร่างกฎหมาย

ตลอดบทสนทนากว่า 1 ชั่วโมงเราพูดคุยกันถึงข้อกำหนดว่าด้วยการแต่งกาย ซึ่ง ดุษดี กล่าวว่าแม้จะเป็นเรื่องประจำวัน แต่ก็สะท้อนถึงฐานความคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของแต่ละคน

การที่ทนายความผู้หญิงใส่กางเกงไม่ได้ หมายความว่า ความเท่าเทียมทางเพศระหว่างทนายชาย-หญิง ยังไม่เท่ากัน?

ดุษดี : ให้เล่าภาพกว้างเอาที่เป็นมุมทั่วไปเลยเนาะ และไม่ใช่แค่ในไทยด้วย เพราะว่าตัวดุษเองก็ทำงานกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องประสานงานกับทนายต่างประเทศเยอะเหมือนกัน จริงๆเขาจะมีการสื่อสารกันระหว่างทนายหญิงระหว่างประเทศนะ เช่น มีชมรมต่างๆของทนายผู้หญิง ตรงนี้ที่เราทำขึ้นมาก็เพราะอยากจะช่วยสนับสนุนผู้หญิงด้วยกัน จากสิ่งที่เราคุยกันระหว่างทนายผู้หญิงระดับระหว่างประเทศ รวมถึงงานวิจัยต่างๆที่ออกมา สิ่งที่เขาพูดกันที่น่าสนใจ น่าขบคิดเป็นอย่างแรกเลยคือ ถ้าสังเกตในวงการกฎหมาย เริ่มจากในมหาวิทยาลัย นักศึกษามีสัดส่วนของผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชาย  โดยตอนเริ่มเป็นหน้าใหม่ทำงานในวงการกฎหมายผู้หญิงก็ยังเยอะกว่าผู้ชาย มีผู้หญิงประมาณ 60-70% เลยนะ แต่พอมาถึงเส้นทางอาชีพระดับกลางหรือระดับสูงผู้หญิงเริ่มหายไป พอมาถึงขั้นเป็นพาร์ทเนอร์ เจ้าของสำนักงาน หรือตำแหน่งที่มันใหญ่ๆโตๆในประเทศ แทบจะไม่มีมีผู้หญิงเลย สัดส่วนน้อยมาก ปรากฎการณ์ดังกล่าวนำมาสู่คำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ทีนี้พอเราเริ่มมาวิเคราะห์กัน เริ่มมีงานวิจัยออกมา สิ่งที่เขาวิเคราะห์กันก็มีหลายประเด็น หนึ่งคือในยุคสมัยก่อน สภาวะเศรษฐกิจมันยังไม่ได้แย่ขนาดนี้ หลายๆคนเขาก็โอเคที่จะให้ผู้หญิงทำงานอยู่บ้านและคุณผู้ชายทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้โดยที่ไม่ได้ลำบาก พอมาถึงจุดหนึ่งที่เป็นการสร้างครอบครัวผู้หญิงก็จะอาสาออกจากงานมาเลี้ยงลูกก่อน แต่ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ผู้ชายทำมาหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียวอาจจะไม่สะดวกแล้วมันก็ต้องให้ผู้หญิงมาร่วมด้วย

กับสองคือปัจจัยเรื่องเทคโนโลยี อย่างตอนนี้เราก็คุยกันผ่านซูม นโยบาย Work from Home สนับสนุนการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเมื่อก่อน อย่างเพื่อนดุษที่เป็นทนายในต่างประเทศ เพิ่งมีครอบครัวมีลูก เราก็คุยกับเขาว่าเทคโนโลยีมันจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงบทบาทการทำงานของผู้หญิงได้มั้ย เขาก็บอกว่าได้นะ อย่างฉันก็เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ก็ work from home เวลาประชุมก็สามารถประชุมทางออนไลน์ได้ได้ทั่วโลก มันก็ลดเรื่องของการเดินทาง แน่นอนว่าการเดินทางมีอุปสรรคต่อการดูแลครอบครัว พอมีเทคโนโลยีตรงนี้มันก็ช่วยเข้ามาสนับสนุนให้มีเวลาในการทำงาน และสามารถดูแลครอบครัวได้ในเวลาเดียวกัน

ถัดมาค่ะเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างเชิงสังคม อันนี้มีส่วนสำคัญเลยที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างขององค์กร

จากสถิติและงานวิจัยปรากฎว่าโครงสร้างขององค์กรต่างๆทั่วโลกผู้บริหารผู้ชายค่อนข้างสูง เราไม่รู้ว่าในแง่ของจิตวิทยาจะมีผลไหม  เช่น ผู้หญิงอาจได้รับโอกาสจากเจ้านายผู้ชายน้อยกว่าที่ผู้ชายได้รับโอกาส อีกเรื่องที่เป็นประเด็นคือ สถิติเงินเดือนในตำแหน่งเดียวกัน ผู้ชายได้รับเงินเดือนสูงกว่าผู้หญิง ทั่วโลกเขาก็ตระหนักถึงปัญหานี้กันนะ ทำให้ในองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเขาก็มีการพยายามมาช่วยกันปรับโครางสร้างให้ดีขึ้น โดยที่หลายๆองค์กรในเมืองนอกก็จะออกนโยบายกำหนดมาเลยว่าสัดส่วนพาร์ทเนอร์ พนักงานในระดับบริหาร จะต้องเป็นผู้หญิง-ผู้ชายต้องเท่ากัน นอกจากนี้ เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนหลายบริษัทก็เริ่มกำหนดมาให้ชัดเจนเลยว่าตำแหน่งนี้ควรได้เงินเดือนเท่าไหร่ แล้วเปิดให้ทุกคนในองค์กรทราบไปเลย เพื่อการันตีเลยว่าจะได้รับเงินเดือนเท่ากัน ก็ทำให้เห็นได้ว่าแนวโน้มของทั่วโลกก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

กลับมาดูในไทยค่ะ ตอนนี้มีประเด็นปัญหาที่เดือดมากๆ ไม่ใช่เรื่องของการปรับวิธีการทำงาน หรือฐานเงินเดือน แต่เป็นทนายผู้หญิงใส่กางเกงว่าความได้รึเปล่า หรือทนายที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งกายตามเพศสภาพได้รึเปล่า ซึ่งกฎตอนนี้ทั้งคู่ก็บอกว่า ไม่ได้ อันนี้ทนายในไทยหรือว่าเท่าที่คุณดุษได้พูดคุยกับหลายๆ ฝ่าย เขามองยังไงบ้าง 

ดุษดี: .ในภาพรวมความไม่เท่าเทียมกันมันมีจริง แต่ว่าคนทั้งโลกก็พยายามที่จะสร้างให้เกิดขึ้น คุณจะเริ่มเห็นเทรนด์คำว่าความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) และความหลากหลาย (Diversity) ซึ่งเป็นคำที่จะได้ยินเป็นคำฮิตของยุคสมัยนี้เลย เวลาดุษไปเป็นวิทยากรงานระหว่างประเทศ ตอนคัดเลือกวิทยากร เขาจะกำหนดมาเลยว่า ‘วิทยากรในงานจะต้องมีผู้หญิงด้วยจะมีแต่ผู้ชายไม่ได้’ งานสัมมนาวิชาการในต่างประเทศจึงเริ่มมีผู้หญิงเข้ามามีบทบามเยอะมากขึ้น สถานการณ์เรื่องความเม่าเทียมทางเพศในระดับโลกก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน ก็คือกฎของไทย ที่กำหนดไว้เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปแต่กฎตรงนี้ยังไม่เปลี่ยน

เมื่อก่อนตัวดุษเองก็มีความสงสัยต่อกฎนี้ เพราะการแต่งตัวไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถในการทำงาน และไม่ได้ทำให้คนฉลาดน้อยลง ตัวเราเองก็เริ่มสงสัย แต่ในวันนั้นพอเราเดินไปถามใครเขาก็บอกว่าเราคิดมาก มันเป็นเรื่องหยุมหยิม ไม่มีอะไรหรอก ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าเราพูดก็ไม่มีใครได้ยิน แต่ในปัจจุบันนี้เราต้องขอยอมรับน้องๆ เก่งกันมาก เริ่มลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ทำให้จำนวนคนที่ตั้งคำถามมันเยอะขึ้นจนสังคมต้องมองว่ามันมีประเด็นจริงๆนะเรื่องนี้ แล้วต้องกลับมาคิดทบทวนกันว่า มันเป็นปัญหาจริงมั้ย ทำไมถ้าคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ เขาบอกว่ามันมีปัญหา แล้วการพิจารณาแก้กฎให้ปัญหานี้มันเบาบางลงไป ทำไมถึงยังทำกันไม่ได้

จากทางฝั่งของทนายความผู้หญิงที่เขาเรียกร้องกันว่ากฎที่บังคับให้ผู้หญิงใส่กระโปรงควรเปลี่ยนได้แล้วนะ เขาก็มีเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น ชุดแต่งกายไม่ได้มีเพศ การแต่งกายของผู้หญิง และ LGBT ค่อนข้างมีความหลากหลาย เราสามารถเลือกแต่งกายให้เหมาะสมกับโอกาสและสถานการณ์ที่เราต้องเจอในแต่ละวันได้ เช่น ถ้าวันไหนเราต้องทำงานลุยๆ เคลื่อนไหวร่างกายเยอะๆ อย่างตัวดุษเองก็คือทำงานเป็นทนายว่าความ บางทีเราต้องออกไปเก็บพยานหลักฐานเอง มีงานบู๊ต้องการความกระฉับกระเฉงในการทำงาน ซึ่งมันต้องเคลื่อนไหว เดินเยอะ เราก็จะใส่กางเกง แต่ถ้าวันไหนชิลๆ อยากสวยๆ เราก็จะใส่กระโปรง ซึ่งการเลือกจะใส่กางเกงหรือกระโปรงมันไม่ใช่ความผิด มันคือสิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่เราจะแต่งอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ยังเหมาะสม

อย่างไรก็ตามค่ะ อีกฝั่งที่เขามองว่ามันเป็นกฎที่ออกมาแล้วมันก็ดีแล้ว เขาก็จะให้เหตุผลไว้หลายอย่าง อาทิเช่น กฎนี้มันเป็นกฎระเบียบที่ออกมานาน 30 ปีไม่เคยมีปัญหาก็อย่าทำให้มันมีปัญหา กฎต้องเป็นกฎ ทุกคนต้องทำตามกฎอย่างเคร่งครัด บางคนก็บอกว่าการที่คุณใส่กระโปรงมันเป็นไปเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมาะสม การที่คุณออกมาเรียกร้องให้ใส่กางเกงมันเป็นเพียงแค่เรื่องของความสะดวกสบายของคุณเท่านั้น อันนี้ก็ตกใจเหมือนกันนะ ยิ่งไปกว่านั้นนะคะ บางคนยังมีความเห็นในลักษณะที่ว่า หากปล่อยให้มีการยกเลิกกฎที่ห้ามทนายความผู้หญิงใส่กางเกงแล้ว อีกหน่อยเรื่องนี้อาจจะลุมลามถึงกรณีอื่นๆ อาทิเช่น การแต่งกายของนักเรียน นักศึกษา อันนี้เราก็ตกใจเหมือนกันนะ ในมุมมองนักกฎหมายมหาชน

แล้วบางคนเขาก็บอกว่า แหมมันก็แค่ช่วงเวลาที่ไปศาลเอง เขาบังคับแค่ตอนที่คุณว่าความในศาล แต่จริงๆในฐานะที่เราว่าความมาสิบกว่าปี ถามว่ามันมีประเด็นมั้ย มันก็มีนะ ตอนว่าความนี่แหละค่ะ

ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพรถติด บางคนที่เพิ่งเริ่มเป็นทนายเงินไม่ได้เยอะ เราไม่มีเงินไปขึ้นแท็กซี่ เราเลือกที่จะนั่งมอเตอร์ไซค์ซึ่งถูกกว่า  2-3 เท่า เวลานั่งมอไซถ้าใส่กระโปรง โดยเฉพาะกระโปรงสุภาพที่ใส่ในศาล  ก็คือกระโปรงทรงเอ ถ้าใครเคยใส่ ก็จะพอทราบว่าตรงปลายกระโปรงค่อนข้างแคบ มันมีปัญหาต่อสรีระของมนุษย์ การเดิน-การก้าวขามันทำให้ก้าวไม่ได้เยอะ ไม่กระฉับกระเฉง การที่ต้องใส่กระโปรงในลักษณะนี้มาขึ้นมอเตอร์ไซค์มันมีปัญหา เวลาเราเดินทางไปศาลก็จะมีเอกสารค่อนข้างเยอะ ใส่กระโปรง นั่งมอเตอร์ไซค์ แบกเอกสาร มันไม่สะดวกมากๆ นอกจากนี้มันอาจจะทำให้มอเตอร์ไซต์ล้มได้ง่ายขึ้นด้วย อันนี้เรื่องแรกนะที่น้องเขาบ่นกันเยอะ

กับสองถ้าทุกท่านไปศาล ศาลจะมีบันไดหน้าศาลค่อนข้างสูงและชัน ตรงนี้เราก็ต้องใส่กระโปรงทรงเอที่ก้าวขาได้ไม่ค่อยเยอะเดินขึ้นไป แบกกระเป่า ใส่ส้นสูง ศาลไม่ค่อยมีลิฟต์หรือมีทางลาดให้ได้ลากกระเป๋าเดินทาง ยังไม่พอ เวลาเราว่าความในศาล บางทีมันใช้เวลาตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงสี่โมงเย็น เวลาเรานั่งบางศาลข้างหน้าโต๊ะจะไม่มีฉากกั้นให้ต้องมาคอยระมัดระวังอีก ไม่งั้นจะไม่สุภาพ มันมีผลต่อเรื่องสมาธิเหมือนกันนะ ตรงที่ว่าเราก็ต้องนั่งฟังว่าฝั่งตรงข้ามถามพยานเราว่าไง เราต้องคอยโต้กลับ ต้องคิดต้องใช้สมอง ในเชิงกายภาพก็ต้องมาคอยนั่งหนีบๆ ต้องระมัดระวัง ไขว่ห้างในศาลก็ไม่ได้

ไม่พอ อันนี้ประสบการณ์ของดุษเองเลย ดุษเคยทำคดีกักเรือ ซึ่งบางทีมันต้องอาศัยความรวดเร็ว คล่องตัวเป็นอย่างมาก เพราะเช้าเราต้องเดินทางไปศาลเพื่อยื่นคำขอกักเรือ หาศาลสืบพยานแล้วเห็นชอบให้กักเรือ ก็จะออกคำสั่งกักเรือ โดยเราต้องนำคำสั่งนี้ไปที่ท่าเรือในต่างจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่กักเรือตามคำสั่งศาล หากไปไม่ทันฝั่งตรงข้ามก็อาจนำเรือออกจากน่านน้ำไทยไปแล้วมันจะติดตามยาก คดีลักษณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันต้องใช้ความรวดเร็ว คล่องตัว ใช้ความกระฉับกระเฉง ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้การใส่กระโปรงมันไม่ตอบโจทย์ บางคนบอกว่าก็เปลี่ยนกระโปรงเป็นกางเกงเอาสิหลังจากออกจากศาลซึ่งเราก็มองว่ามันไม่ใช่เรื่อง และบางทีมันแทบจะไม่มีเวลาเปลี่ยนจากกระโปรงเป็นกางเกงเลย ซึ่งเรื่องนี้จริงๆถ้าเอามาพูดคุยกัน มันมีประเด็นนะคะ

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทนายความหญิงไม่ได้ใส่กระโปรง เคยมีใครทำแล้วโดนชี้ตัวบ้างไหม

ดุษดี : มีกฎหมายสองตัว คือ ข้อบังคับสภาทนายความ ปี 2529 ข้อ 20 กำหนดไว้ว่า ในเวลาว่าความทนายต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย เช่น ทนายความผู้หญิง ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามแบบสากล ใส่กระโปรง เสื้อสีสุภาพ และอื่น ๆ

ข้อบังคับสภาทนายความ ปี 2529 ข้อ 20

อีกตัวหนึ่งคือข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา 2527 ข้อที่ 17 อนุ ซึ่งก็เขียนไว้ในลักษณะเดียวกัน ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ผลคืออะไร ในแง่ของสภาทนายความการฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดบทลงโทษไว้ 3 สถานะ คือภาคทัณฑ์ ห้ามเป็นทนายไม่เกิน 3 ปีและลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความก็มี อันนี้สำหรับดุษว่าโทษมันค่อนข้างแรง และดุษก็ไม่รู้จริงๆว่ากฎข้อนี้มันอาจจะถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือ อาจจะทำไปเพื่อกลั่นแกล้งก็ได้

ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา 2527 ข้อที่ 17

ในหลายๆปีที่ผ่านมา กฎหลายๆจุดก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว สำหรับคณดุษฎีคิดว่าทำไมกฎข้อนี้ถึงอยู่ยงคงกระพันเสมอมา

ดุษดี : คือถ้าถามว่ากฎหมายนี้มันเปลี่ยนไม่ได้เลยจริงๆหรือเปล่ามันก็ไม่ใช่ ต้องยอมรับจริงๆว่า สำหรับตัวดุษเอง ดุษก็ไม่รู้จริงๆว่าปัญหาของมันอยู่ที่ตรงไหน เพราะว่าทุกครั้งที่ดุษถามไป คำตอบที่ได้ก็คือคำตอบเดิม ว่ากฎการใส่กระโปรงนี้มีไปเพื่อความเหมาะสม ความเป็นระเบียบ เมื่อถามไปผ่านฝ่ายผู้กำหนดนโยบาย เขาก็บอกว่ากฎต้องเป็นกฎ เมื่อกฎกำหนดไว้แบบนั้น คนก็ต้องดำเนินตามอย่างเคร่งครัด ยิ่งถ้าปล่อยให้มีการแก้ไขกฎตรงนี้ เดี่ยวมันจะลามไปวงการอื่น  เช่นชุดนักศึกษา ชุดนักเรียน ถ้าเกิดให้ผู้หญิงที่เป็นทนายแก้กฎตรงนี้ได้ เดี๋ยวพวกเด็กนักเรียนก็มาประท้วงกันอีก ซึ่งชุดนักเรียนมันก็เป็นเรื่องเครื่องแบบ แต่หลายที่เขาก็ปรับกันไปแล้วเพราะการแต่งกายมันไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถการพัฒนาของสมองได้ มันไม่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถ ซึ่งตรงนี้คำตอบที่ได้รับจะวนอยู่แค่นี้ ไม่เหมาะสม ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย กฎต้องเป็นกฎ

จากประสบการณ์ของคุณดุษที่ไปทำงานต่างประเทศ อย่างในซีรีส์ตะวันออกและตะวันตกที่เราดูกันเรามักจะจำทนายหญิงในชุดสูทกางเกงด้วยซ้ำ เวลาคุณดุษไปต่างประเทศ คุณดุษใส่ชุดอะไร

ดุษดี : ก็เอาตามความเหมาะสมเลยค่ะคือว่า ถ้าวันไหนมันมีกิจกรรมเยอะ ต้องการความกระฉับกระเฉงก็เลือกใส่กางเกง แต่ถ้าวันไหนที่เราไม่ได้เคลื่อนไหวเยอะ ต้องการดูสวยงานก็ใส่กระโปรง คือมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในแง่ที่ว่าเราจะแต่งอะไรมันก็ควรเลือกแต่งได้ตราบใดที่มันเหมาะสม เข้ากับกาลเทศะ และเข้ากับสถานที่นั้นๆ

ซึ่งตรงนี้ที่พูดมา ไม่ได้ต้องการว่าผู้หญิงทุกคนต้องแต่งกางเกงเท่านั้นนะ แต่ต้องการส่งเสริมว่า ทุกคนต้องมีสิทธิในการเลือก เพราะก็มีพี่ๆ ทนายหลายคนเหมือนกันที่เขาบอกว่าเขาใส่กางเกงแล้วเขาดูไม่สวยเลย เขาไม่มั่นใจ ซึ่งเราก็เข้าใจ ถ้าอย่างนั้นก็ใส่กระโปรงเลย ใส่อะไรที่ใส่แล้วเรามั่นใจ เพราะการแต่งกายมันช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพ มันจะสะท้อนเป็นการพูดที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งความน่าเชื่อถือของทนายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกความเลือกเราเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วย จึงมองว่าสำคัญเหมือนกัน และก็ต้องยอมรับว่ารูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นสิ่งสำคัญมันสร้างความน่าเชื่อถือได้

มีคำโต้แย้งว่าทนายหญิงกำลังเรียกร้องเพื่อตัวเองรึเปล่า สังคมได้อะไรจากสิ่งนี้ 

ดุษดี : ขอถามกลับไปนิดนึง ว่ากฎนี้มันมีแล้วมันเกิดประโยชน์อะไรขึ้นในสังคม ในการที่บังคับคน บังคับผู้หญิง ให้ต้องใส่กระโปรง หรือบังคับคนข้ามเพศ ห้ามใส่กระโปรง มันเกิดประโยชน์อะไร

มันเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิมนุษยชนเบื้องต้น ในการเลือกการแต่งกาย ที่ทุกคนควรจะมีสิทธิเลือก การที่เราขอลุกขึ้นมาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องว่า มันเป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ แต่รัฐได้ออกกฎมาลิดรอนสิทธิของเราตรงนี้ไป การที่เราตั้งคำถามว่าการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของเราตรงนี้ไป มันเกิดประโยชน์อะไร เรายังไม่ได้คำตอบ

และข้อถัดมา อย่างน้อยถ้าเกิดคุณมองว่าผู้หญิง LGBT และคนข้ามเพศ ออกมาเรียกร้องก็คือทำเพื่อตัวเอง ต้องถามว่าในโลกนี้เพศสภาพมีกี่ประเภท ถ้าคนมากกว่าหนึ่งเพศลุกขึ้นมาเรียกร้อง เราคือเสียงส่วนมาก ประชาธิปไตยคือเสียงส่วนมาก และไม่ทิ้งเสียงส่วนน้อย

ทุกวันนี้พอ LGBT ผู้หญิงลุกมาเรียกร้อง เราก็เริ่มเป็นคนกลุ่มใหญ่แล้วนะคะ เพราะฉะนั้นตรงนี้ เลยคิดว่าคนถามคำถามเหล่านี้อาจจะหลงประเด็นรึเปล่า เพราะตรงนี้เป็นเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้าง การจำกัดสิทธิ การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุวิถีทางเพศ พวกเราเป็นคนกลุ่มใหญ่ด้วยซ้ำที่ถูกเลือกปฏิบัติและลิดรอนสิทธิไป การที่พวกเราลุกขึ้นมาสอบถามเพื่อขอให้ไม่เลือกปฏิบัติต่อเรา ขอให้มีสิทธิเทียบเท่าจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ทำได้และมีฐานกฎหมายรองรับ

ในเมืองนอกจะเห็นว่าจะเริ่มมีผู้หญิงเข้ามาเยอะมากขึ้น เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมว่าไม่ว่าสิ่งใดก็ตามในโลกนี้ที่มันไม่เท่าเทียม มันก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน ก็คือกฎของไทย ที่กำหนดไว้เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปแต่กฎตรงนี้ยังไม่เปลี่ยน 

ข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลง

ดุษดี : ถ้าถามถึงความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราไปดูตามสถานที่ต่างๆ ผู้หญิงที่ทำงานในวงการกฎหมาย ใส่กางเกงกันหมดแล้วค่ะ สิ่งเดียวที่ยังไม่เปลี่ยนคือกฎหมายที่มันฝืนสภาพสังคมนี้ ซึ่งดุษก็มองว่าหากทุกคน หลายๆคน ลุกขึ้นมาพูดถึงสิ่งนี้มากขึ้น ยังไงกฎหมายมันก็ต้องปรับไปตามบริบของสังคมอยู่แล้ว

อย่างเดิมถ้าเราจำได้ ไทยมันจะมีพวกกฎหมายเฆี่ยนตี ลงโทษที่มันทารุณ ต่างชาติเขามาเห็นเขาก็รู้สึกว่าประเทศไทยป่าเถื่อน ล้าหลัง การยอมรับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมโลกมันก็ได้รับโอกาสน้อยลง ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือประเทศไทยก็ได้มีแก้กฎหมายใหม่ โทษเหล่านี้ก็หายไป เคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ดุษมองว่าทิศทางมันคล้ายๆกัน ไม่ใช่ว่าต่างประเทศเขาไม่รู้นะ เราก็มีเพื่อนต่างชาติกันเยอะ เรื่องการห้ามไม่ให้ทนายผู้หญิงใส่กางเกงก็กลายเป็นเรื่องเพื่อนทนายต่างชาติมันนำมาแซว ว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากนะ  ตรงนี้มันเลยเป็นกฎหมายที่ทำให้ประเทศไทยดูล้าหลัง ล้าสมัย และอาจจะมีผลในเรื่องของการยอมรับในระดับประเทศได้

เมื่อประมาณเดือนสองเดือนที่แล้วเรามีงานแข่งฟิสิกส์โลก แล้วเราไปออกกฎว่าให้เด็กที่มาร่วมงานต้องใส่กระโปรงห้ามใส่กางเกง แล้วก็คือเป็นไวรัลในทวิตเตอร์ อันนี้มันก็ทำให้ภาพลักษณ์ในประเทศไทยดูไม่ดีเลย เรากลายเป็นตัวตลกในเวทีโลกจากเหตุการณ์นั้น

ดุษมองว่าจากจุดนี้ก็อาจกลายเป็นประเด็นได้ เช่น การถูกมองว่าประเทศที่ไม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ยังไม่เท่าเทียม ไม่ยอมรับความหลากหลาย ยังมีการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติมีกฎหมายที่ล้าหลัง ดุษจึงเชื่อว่าวันหนึ่งในแง่ของกฎหมายก็คงต้องยอมปรับแก้ให้เข้ากับสังคมบริบทที่เปลี่ยนไป เข้าใจว่าตอนนี้ก็มีคนยุคใหม่หลายๆ คนเห็นด้วยกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่แต่ยังไม่มีอำนาจแก้กฎหมายได้  เมื่อยุคสมัยผ่านไปคนพวกนี้เข้ามาอยู่ในอำนาจแล้วเขาก็รับรู้ปัญหาและพร้อมจะแก้ไข การแก้กฎหมายก็จะเกิดได้เร็วขึ้น มันเปลี่ยนแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้น

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า