SHARE

คัดลอกแล้ว

จากกระแสตั้งคำถามในทวิตเตอร์ว่าเหตุใดจึงยังมี ฃ.ฃวด อยู่ในพยัญชนะภาษาไทยทั้งที่ไม่มีการใช้งานแล้ว ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ติดต่อรองศาสตราจารย์ ดร. พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“มันเป็นอักษรที่แต่ก่อนเคยใช้แทนเสียงที่หายไปแล้วจากภาษาไทยปัจจุบัน ตอนนี้ออกเสียงเหมือนค.ควาย ทำให้คำส่วนใหญ่หันไปใช้ ค.ควายแทน ก็เลยเลิกใช้ ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน ไปโดยปริยาย” ดร.พิทยวัฒน์อธิบาย

ในอดีตภาษาไทยโบราณมีเสียงที่คล้ายกัน 4 เสียง คือเสียง ข.ไข่ ฃ.ฃวด ค.ควาย และ ฅ.ฅน ซึ่งคล้ายกันมาก แต่ไม่เหมือนกัน เสียงเหล่านี้ได้หายไปแล้วในปัจจุบัน

หากวัดตามมาตรวัดการออกเสียงมาตรฐานแบบสากล ( International Phonetic Alphabet: IPA) จะพบว่า สามารถเทียบเคียงเสียงโบราณได้ ดังนี้

ข.ไข่ เดิมออกเสียง /kh/

ฃ เดิมออกเสียง /x/

ค เดิมออกเสียง /g/

ฅ เดิมออกเสียง /ɣ/

(กดฟังเสียงได้ที่นี่)

ต่อมามีการประดิษฐ์อักษรไทย โดยนำต้นแบบมาจากอักษรขอมโบราณ แต่พบปัญหาว่าขอมโบราณไม่มีตัวอักษรแทนเสียงของไทยได้ครบถ้วน

“เขมรมีเฉพาะเสียง ข.ไข่ ออกเสียง /kh/ เหมือนภาษาปัจจุบัน ส่วนค.ควายเดิมออกเสียง  /g/ แต่ภาษาไทยโบราณมีมากกว่า 2 เสียงนี้ มีเสียง /x/ ที่เราต้องประดิษฐ์ตัวฃ.ฃวดขึ้นมาแทน และเสียง /ɣ/ ที่ต้องประดิษฐ์ฅ.ฅนขึ้นมา” อาจารย์ภาษาศาสตร์อธิบายให้ฟังพร้อมทำเสียงประกอบ

รูปแบบอักษรขอมโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ สังเกตได้ว่าไม่มีตัวอักษร ฃ และ ฅ (ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

รูปแบบอักษรไทยสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ (ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

“ถ้าสังเกตนี่ ฃ.ฃวด กับ ฅ.ฅน หน้าตาจะเหมือนกับ ข.ไข่กับค.ควายและทำให้หัวแตก อันนี้ก็เนื่องจากฃ.ฃวด กับ ฅ.ฅน เป็นตัวอักษรที่ภาษาไทยสร้างขึ้น”

กระบวนการเหล่านี้ มีการคาดการณ์ว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เพราะเมื่อพบหลักฐานจารึกที่เป็นอักษรไทยที่ผลิตขึ้นมาในพุทธศตวรรษที่ 20 ก็ปรากฎตัวอักษร ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน แล้ว

คำยืมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน ลดความสำคัญลง

เมื่อเวลาผ่านไปตามสายธารประวัติศาสตร์ กลุ่มผู้ใช้ภาษาไทยกลางมีการปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมอื่นมากขึ้น ทำให้มีการยืมศัพท์มาจากวัฒธรรมรอบข้าง เช่น ภาษาเขมร ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต เข้ามา ภาษาเหล่านี้ไม่ได้มีเสียง ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน ทำให้ปริมาณคำที่ใช้ ข.ไข่ และ ค.ควาย จึงเพิ่มขึ้น

“นอกจากนี้ เสียง ฃ.ฃวด ในทุกคำยังกลายมาเป็นเสียง ข.ไข่ ส่วนเสียง ฅ.ฅน ทุกคำกลายมาเป็นเสียง ค.ควาย พอออกเสียงเหมือนกันก็ทำให้การเขียนสับสน คำที่เขียนคำที่มี ฃ.ฃวด สับสนกับ ข.ไข่ และคำเขียน ฅ.ฅน สับสนกับ ค.ควาย แต่เนื่องจากคำที่สะกดด้วย ข และ ค มีจำนวนมากกว่า จึงมักเลือกใช้ตัวอักษร ข ค มากกว่าเลือกใช้ตัว ฃ และ ฅ ”

ปัจจุบันเสียงสี่เสียงที่เคยออกเสียงต่างกันในครั้งโบราณ โน้มเอียงเข้ามาหากัน จนออกเหมือนกันเป็นเสียง /kh/ อย่างเดียวดังที่พบใน ข.ไข่ ในการเขียนอักษรสูง ค.ควาย ในการเขียนอักษรต่ำ

 

ฃ.ฃวดและฅ.ฅน หายไปตอนไหน?

ดร. พิทยาวัฒน์เผยว่าในปัจจุบันตนกำลังทำการวิจัยถึงประเด็นว่า ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน หายไปจากการใช้ภาษาเมื่อไหร่

“เท่าที่เห็นในจารึกสุโขทัยก็มีร่องรอยว่าข.ไข่ – ฃ.ฃวด, ค.ควายกับฅ.ฅน มีการใช้สลับกัน แปลว่าช่วงสุโขทัยปลาย ๆ เริ่มที่จะสับสนแล้ว แปลว่าตอนนั้นการออกเสียงก็เริ่มที่จะไม่ต่างกันแล้ว”

คำถอดจารึกวัดบางสนุก พ.ศ. 1882 (โดยประมาณ) ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 21 คำว่า “ค่ำ” ใช้ ค.ควาย ในการสะกด (ที่มา: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

คำถอดจารึกนครชุม พ.ศ. 1900 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1 คำว่า “ค่ำ” ใช้ ฅ.ฅน ในการสะกด (ที่มา: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

 

แต่ปกติแล้วตัวเขียนจะเปลี่ยนช้ากว่าภาษาพูด ทำให้ตัวอักษร ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีการสับสนในการเลือกใช้ตัวอักษรเรื่อยมา เช่น กรณีของการสะกดคำว่า คน-ฅน ควาย-ฅวาย เป็นต้น

“สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่าคนในภาษาไทย แต่ก่อนใช้ ค.ควาย เราไม่เคยใช้ฅ.ฅนแทนคำว่าคน ส่วนคำที่แต่ก่อนใช้ ฅ.ฅน  ก็เช่นคำว่าฅวาย สลับกันเลย คำว่าฅวาย คำว่าฅอ คำว่าแฅ่ง หน้าแข้ง สมัยก่อนสะกดด้วย ฅ.ฅน ไม้เอก ไม่ใช่ข.ไข่ ไม้โท”

 

ภาษากับการเปลี่ยนแปลง

การหายไปของเสียง ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอันเป็นธรรมชาติของภาษา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์เชิงประวัติภาษาตระกูลไทยท่านนี้บอกเราแว่า แม้แต่ภาษาที่ตายแล้ว ก็ยังเกิดความเปลี่ยนแปลง

“เพราะฉะนั้นการที่จะมาบอกว่าคนรุ่นใหม่พูดไม่เหมือนคนรุ่นก่อนมันแสดงว่าภาษามันไม่ถูกต้องมันก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะว่าภาษาของคนรุ่นก่อนก็ต้องมีภาษาของคนที่เก่ากว่าเพราะว่าภาษาเปลี่ยนมาตลอด”

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมจึงยังมีการเก็บพยัญชนะ ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน ไว้ทั้งที่ไม่มีการใช้แล้ว ดร. พิทยาวัฒน์ อธิบายว่าเป็นเรื่องของความคุ้นชิน

“ในทุกสังคมมีเรื่องของความคุ้นชินกับความพยายามที่จะอนุรักษ์ของเก่า ๆ เอาไว้โดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม มีความรู้สึกว่าของเก่าเป็นอะไรที่ควรเก็บเอาไว้”

ลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะภาษาไทยเท่านั้น แต่พบได้ในแทบทุกภาษาทั่วโลก ภาษาอังกฤษเองก็มีการเก็บการสะกดคำไว้ทั้งที่ไม่มีการออกเสียงแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “witch(แม่มด)” กับ “which (อันไหน)” ซึ่งปัจจุบันออกเสียงเหมือนกน แต่ในอดีตออกเสียงต่างกัน  โดย which ต้องอ่านออกเสียง “เหวอะ” เป็น “ฮวิช” แต่การออกเสียงแบบนี้ในภาษาอังกฤษมาตรฐานก็หายไปแล้ว เหลือแต่สำเนียงในอเมริกาที่เป็นสำเนียงพื้นบ้านก็จะยังเก็บไว้อยู่

สุดท้ายผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเสียงฃ.ฃวดยังมีการเก็บรักษาไว้ในส่วนใดของประเทศบ้างหรือเปล่า เนื่องจากผู้แสดงความคิดเห็นทางอินเตอร์เน็ตบางรายตั้งสมมติฐานขึ้นมา

ดร.พิทยวัฒน์กล่าวว่าแม้ในภาษาเหนือจะมีการใช้เสียง  /x/ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาษาเหนือยังเก็บรักษาเสียงของฃ.ฃวดโบราณเอาไว้ แต่มีพัฒนการของตนเองจนพัฒนามาเป็นเสียง /x/

ดังนั้นเสียง /x/ ในภาษาเหนือไม่ใช่ลักษณะเก่าแต่เป็นลักษณะใหม่ที่ไปคล้ายภาษาโบราณมากกว่า

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า