SHARE

คัดลอกแล้ว

​​เดือน พ.ย.ของทุกปี เป็นช่วงเวลากำหนดอนาคตนักเรียนเกาหลีใต้ ที่ทุกคนต้องสอบ ‘ซูนึง’ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย 

การสอบซูนึงไม่ใช่แค่มีความสำคัญต่อเด็กนักเรียน แต่ยังรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต่างคาดหวังให้ลูกหลานได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการทำงาน ความเจริญก้าวหน้าในอนาคต ไม่เว้นแม้แต่การมีชีวิตครอบครัวที่ดี 

  • จะเข้าใจซูนึงมากยิ่งขึ้น คงต้องท้าวความถึงระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ 

เกาหลีใต้กำหนดการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 9 ปี เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6-15 ปีจะต้องเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี และมัธยมต้น 3 ปี หลังจากนั้นอาจจะเลือกเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีวศึกษา หรือโรงเรียนที่มีหลักสูตรพิเศษเฉพาะทาง เช่น สายวิทยาศาสตร์ หรือภาษาต่างประเทศ 

ความน่าสนใจอีกอย่างของการศึกษาแบบเกาหลีใต้อยู่ที่ การรับนักเรียนเข้าโรงเรียนจะไม่ใช้วิธีการสอบคัดเลือก แต่ให้สิทธิสำหรับเด็กๆ ในพื้นที่เท่าๆ กัน ทำให้นักเรียนไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการสอบเข้าโรงเรียนในช่วงเวลานี้มากนัก 

หากแต่ความกดดันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเรียน ซึ่งจะมีการสอบวัดผลในระหว่างเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยผลการเรียนเหล่านี้จะถูกนำมาประกอบการเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว นักเรียนชาวเกาหลีใต้ทุกคนที่ต้องการจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยจะต้องผ่านสมรภูมิ การสอบ College Scholastic Ability Test (CSAT) หรือที่เรียกในภาษาเกาหลีว่า ‘ซูนึง’ การสอบคัดเลือกสุดหินที่จัดสอบแค่เพียงปีละครั้ง ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ของเดือนพ.ย. โดยปีนี้การสอบได้ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา

การสอบซูนึงได้ถูกมองว่าเป็นหนทางที่จะมาชี้ชะตา กำหนดอนาคตของเยาวชนเกาหลีใต้ จึงมาพร้อมกับความกดดันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เด็กหลายคนใช้เวลาเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวันนี้วันเดียวมาตลอดปี หรืออาจจะหลายปี บางคนทุ่มเทติวหนังสือ เรียนกวดวิชากันหามรุ่งหามค่ำมาตั้งแต่มัธยมต้น และยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ถึงกับมีโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมตัวสอบซูนึงกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลกันเลยทีเดียว

  • สนามสอบกำหนดชีวิตที่ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ 

วันสอบซูนึงของทุกปีถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลและภาคธุรกิจต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในวันที่มีการสอบหน่วยงานรัฐ บริษัท ห้างร้าน รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ จะพร้อมใจกันเปิดทำการช้ากว่าปกติ 1 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนเดินทางไปสนามสอบได้ทันเวลา พร้อมจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่คอยประจำการอยู่ตามจุดเพื่อให้ความช่วยเหลือกรณีนักเรียนประสบปัญหาการเดินทาง มีการจัดเตรียมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินเพื่อพาไปส่งถึงสนามสอบ 

ขณะเดียวกันในวันนั้นรัฐบาลยังขอความร่วมมือเที่ยวบินโดยสารระงับการขึ้น-ลงในสนามบินต่างๆ ทั่วประเทศเป็นเวลา 35 นาที ในช่วงที่มีการสอบทักษะการฟังภาษาอังกฤษ รวมถึงให้รักษาระดับเพดานบินสูงกว่า 3,000 เมตรตลอดระยะเวลาที่จัดสอบ งดการฝึกซ้อมทหาร การก่อสร้าง หรือแม้แต่การทำกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้เกิดเสียงดัง เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนสมาธิของนักเรียน

ส่วนบรรยากาศในช่วงของการสอบในแต่ละปี ตามสนามสอบแห่งต่างๆ จะมีเหล่ารุ่นน้องมาคอยถือป้ายให้กำลังใจผู้เข้าสอบ ขณะที่บรรดาห้างร้านต่างๆ ก็พร้อมใจกันจัดกิจกรรมโปรโมชั่นต่างๆ ให้กับผู้เข้าสอบซูนึงเพื่อแสดงความขอบคุณที่พวกเขาทุ่มเทอย่างหนักมาโดยตลอด

  • คุณภาพการศึกษาต้องแลกมาด้วยความกดดัน

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ถูกจัดว่ามีอัตราการแข่งขันทางการศึกษาสูงที่สุดในโลก แน่นอนว่าการแข่งขันย่อมมาพร้อมกับแรงกดดันอันหนักหน่วงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมของแนวคิดขงจื๊อที่เกาหลีนำมาปรับใช้ ทำให้สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาตั้งแต่อดีต ต่อเนื่องมาจนยุคสงครามเกาหลี 

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสงครามยิ่งตอกย้ำให้ค่านิยมดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้ถูกมองว่าเป็นหนทางในการพัฒนาประเทศ และค่านิยมนี้ก็ยังคงฝังลึกมาจนปัจจุบันผ่านความเชื่อที่ว่าการเรียนหนักจะเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ และการศึกษาก็คือต้นทุนที่จะนำพาไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น 

สิ่งเหล่านี้ถูกอธิบายอย่างเห็นได้ชัดผ่านการสอบซูนึง ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันกันทั่วประเทศเพื่อแย่งชิงเข้าสู่มหาวิทยาลัย TOP 3 ที่มีชื่อเรียกว่า SKY ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University), มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) และ มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางชั้นยอดในการเข้าทำงานในองค์กรชั้นนำของประเทศ โดยการสอบซูนึงในแต่ละปีจะมีนักเรียนเข้ารับการสอบราว 6 แสนคนโดยประมาณ และมีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่สามารถผ่านเข้าสู่จุดหมายในมหาวิทยาลัยตามที่วาดฝันไว้ 

ภาพความทุ่มเทของนักเรียนชาวเกาหลีใต้ การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบกันอย่างหนักหน่วง ติวหนังสือกันหามรุ่งหามค่ำ จึงเป็นบรรยากาศปกติที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศนี้ เพราะพวกเขามองว่าการสอบซูนึงเป็นเหมือนตัวกำหนดชะตาชีวิตว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใด การได้รับคะแนนสอบซูนึงดีๆ เพื่อให้สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จึงเป็นการปูทางสู่อนาคตที่สดใส 

การสอบซูนึงนอกจากจะเป็นแรงกดดันให้กับนักเรียนจำนวนมากในเกาหลีใต้แล้ว ยังเป็นความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครอง หลายคนรับไม่ได้เมื่อลูกของตัวเองสอบได้คะแนนน้อย บ้างถึงกับต้องไปบนบานศาลกล่าว ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ลูกหลานของตนได้มีคะแนนสอบที่ดีเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดีๆ 

  • ความสำเร็จของลูก ภาพสะท้อนตัวตนของแม่

“อาหารของแม่ชาวเกาหลี คือรสชาติที่สามีและลูกชอบ” คำพูดคุ้นหูนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมเกาหลีใต้จากอิทธิพลแนวคิดลัทธิขงจื๊อ ภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกและดูแลสามีตกเป็นของผู้เป็นแม่และภรรยา 

รากเหง้าของขงจื๊อทำให้แม่ชาวเกาหลีใต้ ตกอยู่ในบทบาทของความเป็นผู้รับผิดชอบต่อทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของลูกๆ ของเธอ หากลูกไม่ประสบความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือได้คะแนนสอบน้อยถือเป็นความล้มเหลวของแม่ ส่งผลให้พวกเธอต้องแบกรับแรงกดดันมหาศาลทั้งจากสามี ครอบครัวสามี หรือแม้แต่สังคมรอบตัว ภายใต้ความเชื่อที่ส่งกันต่อมาผ่านคำสอนที่ว่า การศึกษาจะช่วยเปลี่ยนสถานะทางสังคมและรักษาภาพลักษณ์ของครอบครัวเอาไว้ 

แรงกดดันเหล่านี้แน่นอนว่าย่อมถูกส่งต่อมายังลูกๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในเรื่องการศึกษา โดยเป้าหมายสูงสุดก็คือการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้  และพวกเขาก็พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้รับความสำเร็จเช่นนั้น 

ครอบครัวเกาหลีใต้หลายครอบครัวถึงกับปูทาง วางแผนการศึกษาให้ลูกตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล มีการจ้างครูมาสอนพิเศษที่บ้าน ส่งไปเรียนตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ บางครอบครัวถึงกับย้ายบ้านไปอยู่ในระแวกที่มีสถานบันกวดวิชาดังๆ เพื่อให้ลูกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน ทำให้ราคาที่ดินระแวกที่เป็นที่ตั้งของสถาบันกวดวิชาพุ่งสูงขึ้น เช่น ย่านคังนัม ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ที่ใช้โมเดลในลักษณะเดียวกันผุดขึ้นมามากมาย

  • คาดหวัง กดดัน ล้มเหลว สู่การฆ่าตัวตาย 

การแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงลิ่ว ซึ่งมาพร้อมกับความคาดหวังและแรงกดดัน ได้สร้างความเครียดให้กับเด็กๆ ชาวเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ทำให้มีเด็กๆ ฆ่าตัวตายด้วยแรงกดดันเหล่านี้ในทุกๆ ปี จนเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายในหมู่นักเรียนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยจากสถิติพบว่าเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 9-24 ปีในเกาหลีใต้ มีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากตัวเลขในปี 2562 มีเยาวชนในช่วงวัยดังกล่าวฆ่าตัวตายถึง 876 คน หรือในจำนวนเยาวชน 100,000 คนจะมีคนฆ่าตัวตาย 9.9 คน ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตายถูกระบุว่าเป็นเพราะความล้มเหลวจากการสอบซูนึง ทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต 

ภาพเหล่านี้สะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลีใต้มายาวนาน หากได้เคยสังเกตผ่านตากันมาบ้าง มีหลายๆ ครั้งที่เรื่องราวเหล่านี้ถูกนำมาเล่าผ่านภาพยนตร์ ซีรีส์เกาหลีหลายๆ เรื่อง ภายใต้ภาพลักษณ์ของความเป็นศิวิไลย์และทุนนิยม กลับแลกมาด้วยแรงกดดันและความคาดหวังอย่างหนักหน่วง และในบางครั้งจุดจบก็กลายมาเป็นโศกนาฏกรรมที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า