Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer ประเทศไทยเสียค่าโง่ครั้งสำคัญ เมื่อโดนบริษัทต้มตุ๋น หลอกขาย GT200 เครื่องตรวจจับระเบิดเก๊ ในราคาเครื่องละเกือบล้านบาท ทั้งๆที่ ต้นทุนจริงๆ มีราคาไม่ถึง 300 บาทเท่านั้น

นี่เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อความเชื่อของกองทัพต้องปะทะกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และที่น่าสนใจคือ มาจนถึงวันนี้ ผี GT200 ก็ยังไม่หายไป มันกลับมา เพื่อโกยเงินภาษีของคนไทยอีกครั้ง เรื่องราวเป็นอย่างไร workpointTODAY จะอธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุดใน 17 ข้อ

1) ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2544 บริษัท โกลบอล เทคนิคัล จากสหราชอาณาจักร ผลิต “เครื่องตรวจจับสสารระยะไกล” หรือ GT200 ออกมาวางขาย โดยบริษัทอวดอ้างว่าเครื่องนี้ใช้ระบบแม่เหล็กขั้นสูง สามารถตรวจจับได้เลยว่าระเบิดอยู่ตรงไหน แม้จะยืนอยู่ในระยะที่ไกลมากๆ ก็ตามที โดยไม่ใช่แค่ระเบิดเท่านั้น แต่บริษัทเคลมว่า ยาเสพติด, ยาสูบ, งาช้าง, กระสุนปืน ของผิดกฎหมายใดๆ ก็สามารถใช้ GT200 ตรวจสอบได้หมด

2) วิธีการใช้นั้นง่ายมาก เมื่อคุณจ่ายเงินซื้อมาแล้ว จะได้ตัวเครื่อง GT200 สีดำทำจากพลาสติก บนตัวเครื่องที่จะมีช่องเล็กๆ ให้เสียบ “เซ็นเซอร์การ์ด” เข้าไปได้ ถ้าหากคุณอยากค้นหาระเบิด ก็เอาเซ็นเซอร์การ์ดชื่อ “ตรวจระเบิด” เสียบเข้าไป แล้ว GT200 จะแปลงร่างกลายเป็นเครื่องตรวจหาระเบิด หรือถ้าเอาเซ็นเซอร์การ์ดที่เขียนว่า “ยาเสพติด” เสียบเข้าไป เครื่อง GT200 ก็จะแปลงร่างกลายเป็นเครื่องตรวจยาเสพติดแทน จากนั้นถ้าเดินๆ อยู่ แล้วเสาอากาศแบบหนวดกุ้งที่อยู่บนเครื่อง GT200 ชี้ไปทางไหน ก็มีแนวโน้มว่า เป้าหมาย (ระเบิด – ยาเสพติด) จะอยู่ตรงจุดนั้นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น GT200 ยังมีนวัตกรรมขั้นสูง คือไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ใดๆ ทั้งสิ้น บริษัทผู้ผลิตอ้างว่า ตัวเครื่องสามารถดึงพลังงานไฟฟ้าสถิตจากตัวผู้ถืออุปกรณ์ ดังนั้นจึงสามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องชาร์จไฟ

3) ด้วยความที่ GT200 ขายดี ทำให้มีบริษัทอื่นๆ ผลิตเครื่องชื่อ ADE-651 และ Alpha 6 ออกมาแข่งขันแย่งส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา มีรูปแบบคล้ายกัน คือมีที่จับ, มีเสาอากาศหนวดกุ้ง และ มีช่องใส่เซ็นเซอร์การ์ด

สรรพคุณที่เลิศเลอ ของเครื่องตรวจจับสสารระยะไกล แถมยังมีหลายชาติ เช่น เม็กซิโก และ ฟิลิปปินส์ ซื้อไปใช้งานจริง ทำให้ตั้งแต่ปี 2548 หน่วยงานในไทย เช่น กองทัพเรือ, กองทัพบก, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการนำเข้า GT200 และ Alpha 6 เพื่อเอามาใช้งานจริง รวมทั้งหมด 1,398 เครื่อง คิดเป็นเงิน 1,134 ล้านบาท
จุดที่น่าสนใจคือ แม้จะเป็นเครื่องเดียวกัน แต่ราคาขายกลับสวิงมาก ตัวอย่างเช่น กรมศุลกากร ซื้อมาเครื่องละ 420,000 บาท แต่พอกองทัพเรือซื้อ กลับต้องจ่ายเงินเฉลี่ยเครื่องละ 1,200,000 บาท เป็นต้น

4) หน่วยงานในไทยซื้อ GT200 มาได้ระยะหนึ่ง ประชาชนก็เกิดข้อสงสัย เพราะนึกไม่ออกว่า มันใช้หลักการอะไร ที่จะตรวจจับทุกสิ่งทุกอย่างได้ครอบจักรวาลขนาดนั้น เพียงแค่เปลี่ยนเซ็นเซอร์การ์ดใบเดียวมันจะทำได้จริงๆหรือ? แถมยังมีนวัตกรรมล้ำยุคขนาดไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่อีกต่างหาก

คือด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในโลก ไม่มีอุปกรณ์ไหนที่จะตรวจสอบได้แบบ All in one แบบนี้ เพียงแค่การเปลี่ยนเซ็นเซอร์การ์ดเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ จึงฟันธงว่า GT200 น่าจะเป็นอุปกรณ์ต้มตุ๋นเสียมากกว่า

5) สิ่งที่ผู้คนกังวลใจที่สุดคือ ถ้าหากเครื่อง GT200 มันเป็นวัตถุลวงโลก แล้วตำรวจ-ทหาร ชั้นผู้น้อย เอาไปใช้ตรวจจับระเบิดแล้วเกิดผิดพลาดขึ้นมา มีเหตุระเบิดตูมตามจนคนเสียชีวิต แล้วจะทำยังไงกัน

6) เหตุการณ์ที่กังวลเกิดขึ้นจริง ในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้ GT200 ตรวจสอบวัตถุระเบิดที่บริเวณโรงแรมเมอร์ลิน โดยมีการตรวจอาคาร รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์อย่างละเอียด ซึ่งเครื่อง GT200 ก็ไม่ได้ชี้ว่ามีระเบิดอยู่ตรงไหน แต่สุดท้าย ก็มีระเบิดเกิดขึ้นจริงๆ

เช่นเดียวกับวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ที่ตลาดสด จังหวัดยะลาก็เกิดระเบิดเช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่ทหารใช้ GT200 ตรวจพื้นที่ก่อนแล้ว แต่ก็ไม่เจอระเบิดที่คนร้ายซ่อนอยู่ ซึ่งจากสองเคสติดๆ กันนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เครื่องมันใช้งานไม่ได้ผล

7) แม้จะมีข้อผิดพลาด แต่กองทัพบกพยายามตอบโต้อย่างรุนแรง โดยยืนยันว่าเครื่องนี้ สามารถตรวจจับได้จริง และเคยตรวจสอบสำเร็จมาแล้วด้วย
ขณะที่แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็กล่าวสนับสนุนกองทัพ โดยระบุว่า ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่มีเครื่อง GT200 อยู่เช่นกัน ก็จะใช้งานต่อไป

พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า “คนไทยชอบเต้นตามกระแส ใครจะว่าอะไรก็ช่างเขา การจะทำงานจะใช้เครื่องมืออะไร คิดว่าพวกนักวิทยาศาสตร์ คือพวกหมอ พวกทหารนี่โง่นักหรือ ที่จะใช้เครื่องมือโดยไม่ดูว่าเครื่องมันทำอะไรได้”

“GT200 คือเครื่องตรวจหาสารวัตถุระเบิดที่ผลิตในต่างประเทศ มีความสามารถในการค้นหาวัตถุระเบิดได้อย่างดีเยี่ยมอันดับต้นๆ ของโลก โดยใช้หลักการค้นหาสนามแม่เหล็ก ซึ่งจะสามารถตรวจจับสารวัตถุระเบิดได้ทั้งในอากาศ บนดิน ใต้ดิน หรือกระทั่งใต้น้ำ”

8 ) เมื่อสังคมแตกแยกกัน มีทั้งฝ่ายที่เชื่อและไม่เชื่อใน GT200 ทำให้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทำการทดสอบเครื่อง ด้วยการลองใช้หาวัตถุระเบิด

ผลปรากฏว่า การทดสอบ 20 ครั้ง เครื่อง GT200 บอกตำแหน่งระเบิดที่ถูกต้องได้แค่ 4 ครั้งเท่านั้น คิดเป็น 20% ไม่ต่างอะไรจากการเดาสุ่ม ดังนั้นนายกฯ จึงสั่งให้ทุกหน่วยงานในประเทศ เลิกจัดซื้อ และเลิกใช้งาน GT200 และ Alpha 6 โดยทันที พร้อมกับยืนยันว่า “สุนัขตำรวจมีความแม่นยำในการหาระเบิดมากกว่า”

9) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความยินดีที่รัฐบาลจะยกเลิกการใช้ GT200 โดยอาจารย์เจษฎาอธิบายว่า “เครื่องมือมหัศจรรย์ราคากว่าล้านบาท ที่เคยคิดกันว่าน่าจะมีระบบอิเล็กโทรนิกส์ซับซ้อน มีเซนเซอร์พิเศษตรวจจับสสารด้วยนาโนเทคโนโลยี มีคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วประมวลผลอยู่ภายใน กลับกลายเป็นแค่ ลวดเดาว์ซิง หรือ ไม้ล้างป่าช้าเท่านั้นเอง”

สุดท้ายต้องพิสูจน์กันให้เห็นดำเห็นแดง ด้วยการแกะเครื่อง GT200 ออกมาดูภายใน ปรากฏว่า ด้านในไม่มีอะไรเลย เป็นแค่พลาสติกธรรมดาๆ กับเสาอากาศ 1 อันเท่านั้น ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ทั้งสิ้น ต้นทุนจริงๆ อยู่ที่ไม่เกิน 300 บาทเท่านั้น แต่เอามาปั่นหลอกขายในราคาอันละเกือบล้านบาท

อาจารย์เจษฎาอธิบายต่อว่า ทุกอย่างเป็นแค่เรื่องลวงโลก ที่หลอกให้ผู้ใช้คิดไปเอง ส่วนคำถามว่า ทำไมบางที เครื่อง GT200 ก็หาวัตถุต้องสงสัยเจอ นั่นเพราะเมื่อค้นหาในพื้นที่เสี่ยง โอกาสที่จะชี้แล้วหาวัตถุระเบิด อาวุธ หรือยาเสพติดเจอก็มีสูงเป็นธรรมดา แต่ถ้าชี้แล้วหาไม่พบ ก็อ้างไปว่าเครื่องมีความไวสูง หรือไม่ก็โบ้ยว่าผู้ใช้ หาไม่เจอเอง หรือไม่ก็พักผ่อนไม่เพียงพอ
10) หลังจากประเทศไทยเลิกใช้ GT200 ไป 3 ปี ความจริงก็ปรากฏ ในปี 2556 รัฐบาลอังกฤษ สั่งจำคุกแกรี่ โบลตัน เจ้าของบริษัทผลิต GT200 เป็นเวลา 7 ปีข้อหาต้มตุ๋น เช่นเดียวกับผู้ผลิต ADE-651 และ Alpha 6 ก็โดนรัฐบาลอังกฤษไล่จำคุกพร้อมยึดทรัพย์ โดยนี่เป็นเรื่องที่สร้างความเสื่อมเสียให้อังกฤษเป็นอย่างมาก ที่คนในประเทศ ส่งของเก๊ออกไปขายให้ชาติอื่น

11) สำหรับประเทศไทย เมื่อความจริงเปิดเผยมาแล้วแบบนั้น จึงทำได้แค่เอา GT200 ที่โดนหลอกขายมาแล้วเก็บเอาไว้อย่างเงียบๆ โดยวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงความผิดพลาดครั้งนี้ว่า “ถามว่าเรื่องนี้จะเรียกเป็นค่าโง่ได้หรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่สื่อ … ถ้าเรียกได้ก็อยากให้ใช้ว่าค่าฉลาด ที่สำคัญถือเป็นค่าซื้อความรู้ แม้จะแพงไปหน่อยก็ตาม”

12) เหตุการณ์ก็ผ่านไป ระหว่างนี้ก็มีการไล่บี้ หาคนผิดในเรื่องการจัดซื้อ แต่ผ่านมาจนถึงปี 2565 ก็เกิดดราม่าใหม่ขึ้น เมื่อกองทัพบก ทำสัญญาจ้างมูลค่า 7.57 ล้านบาท ให้สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ไปตรวจสอบเครื่อง GT200 ที่เก็บอยู่ในกรุ จำนวน 757 เครื่อง ว่าเป็นเครื่องตรวจระเบิดเก๊ ใช่หรือไม่ โดยคิดค่าตรวจสอบราคา เครื่องละ 10,000 บาท

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก เพราะทุกคนรู้ว่า เครื่อง GT200 คืออุปกรณ์เก๊ ไม่มีอะไรมากกว่าพลาสติก แล้วทำไมต้องมาเสียเงินทอง ในการไปตรวจสอบ GT200 ด้วย

13) วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ในการพิจารณาร่างงบประมาณ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล นำเรื่องนี้ออกมาแฉ โดยตั้งคำถามว่า ทั้งโลกเขารู้กันหมดแล้ว ว่า GT200 เป็นเครื่องเก๊ เป็นแค่พลาสติกสีดำสองชิ้นประกบกันแค่นั้นเอง ถ้าอยากพิสูจน์ ก็แงะออกมาเองได้เลย ใช้เงินไม่ถึง 10 บาทด้วยซ้ำ แต่กองทัพบก กลับจ้างค่าตรวจสอบเครื่อง GT200 สูงถึงเครื่องละ 10,000 บาท

คำถามคือ นี่เป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองของประเทศหรือไม่ ทำไมต้องเสียเงินค่าตรวจสอบ GT200 ที่รู้แน่ๆ ว่าใช้การไม่ได้ และถูกเก็บอยู่ในกรุมาตั้งนานแล้ว ด้วยราคาเครื่องละหมื่นด้วย ส่วนพวกเซ็นเซอร์ การ์ด ก็เป็นพลาสติกเปล่าๆ ไม่มีอะไรเลย บัตรประชาชนยังซับซ้อนกว่า

จิรัษฎ์กล่าวว่า “ผมอยากรู้กลาโหมเอาเงินภาษีพี่น้องประชาชน 7.57 ล้านบาท ไปจ้างเขาตรวจสอบกล่องพลาสติกสีดำในราคาชิ้นละ 10,000 บาท จำนวน 757 ชิ้น เพื่อ? เพื่ออะไรครับ ตรวจทำไมครับ ทั้งโลกเขาก็รู้ว่าข้างในมันไม่มีอะไร คือถ้าใช้งบแบบไร้สติสตางค์แบบนี้ กับอีแค่แงะกล่องพลาสติกออก ขันน็อต 14 ตัว ได้หมื่นบาท รวยเละสิครับแบบนี้ … ท่านนายกฯ ท่านต้องอ่านเอกสารงบประมาณที่ท่านอนุมัติ อ่านบ้างนะครับจะได้คุยกับเขารู้เรื่อง”

14) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “GT200 มันไม่มีน็อตครับ มันเป็นพลาสติก 2 อัน ประกบกันแก๊กเลยนะ อาจมีกาวนิดหน่อย คือประกบกันแล้วแงะออกด้วยมือยังได้เลยครับ … ฉะนั้นมันจบแล้ว มันไม่จำเป็นต้องไปไล่เอา 757 เครื่องที่อยู่ในกรุ ซึ่งจริงๆ ป่านนี้ควรจะทำลายทิ้งได้แล้ว หรือไปเข้าพิพิธภัณฑ์ของกองทัพหรือที่ไหนก็ได้ เอากลับมานั่งไล่ตรวจทีละเครื่อง เครื่องละ 1 หมื่นบาท คือต้องถามว่ากองทัพจะทำไปทำไม ใครๆ เขาก็รู้ทั้งโลกแล้วว่ามันใช้ไม่ได้ คือคุณยังเชื่ออยู่หรือ ว่ามันมีประสิทธิภาพอยู่ ถึงมาทดสอบอย่างนี้”

15) นี่เป็นคำถามที่กระทรวงกลาโหม จำเป็นต้องตอบ ว่าใช้เงิน 7.57 ล้านบาท ไปกับการตรวจสอบ GT200 ทำไม ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเลิกใช้ไปนานมากแล้ว และเจ้าของบริษัทที่อังกฤษก็โดนจำคุกข้อหาลวงโลกไปแล้ว แต่ที่ไทยเรายังนำวัตถุลวงโลก มาแปรเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายใหม่ๆ ได้อีก

อาจารย์เจษฎากล่าวสรุปในเรื่องนี้ว่า “บางคนบอก อาจารย์ 7 ล้านกว่าบาทเอง ปล่อยเขาไปเถอะ แต่ในเชิงหลักการมันไม่ได้ไง ถ้าปีนี้ 7 ล้านกว่าบาทผ่านงบประมาณได้ ถ้าเกิดปีหน้าเขาของบเป็นการทำลายเครื่อง GT200 อีก เครื่องละ 2 หมื่น นั่นแปลว่าเราต้องจ่ายเงินอีก 15 ล้านให้ GT200 นะ รอดูนะครับ ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร จะมีใครมาอธิบายเรื่องนี้ไหม หรือแกล้งๆ ปล่อยเงียบไปตามกระแส”

16) ล่าสุด พล.อ. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องตรวจสอบทั้ง 757 เครื่อง เพราะกองทัพบกได้ฟ้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ขาย และสำนักงานอัยการสูงสุดแนะนำว่า ควรทำการตรวจทั้งหมด 757 เครื่อง ส่วนเหตุผลที่ตั้งราคาค่าตรวจเครื่องละ 10,000 บาท เพราะทางสวทช. เป็นคนตั้งราคามาให้ และกองทัพบกก็ได้กำหนดราคาตามที่ สวทช. เสนอมา

17) สำหรับเรื่องราว ของมหากาพย์ GT200 ก็สิ้นสุดลงตรงนี้ และนี่คือการเสียค่าโง่ครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่สูญเงินกว่า 1 พันล้านบาท ซื้อเครื่องตรวจระเบิดเก๊ อันละ 300 กว่าบาทจากมิจฉาชีพ ด้วยราคาอันละ 1 ล้านบาท พร้อมด้วยความมโนเอาเองว่า ซื้อมาแพงขนาดนี้ มันน่าจะมีเทคโนโลยีดีๆ ซ่อนอยู่สิ แต่สุดท้ายก็พบความจริงว่า มันคือกล่องพลาสติกเปล่าๆ ที่ไม่มีอะไรเลย

ประเทศไทยเสียเงินแบบไม่จำเป็นกับ GT200 ไปแล้ว 1 รอบ น่าสนใจว่า กระทรวงกลาโหมและสวทช. จะใช้ภาษีคนไทยฟรีๆ กับ GT200 เป็นรอบที่ 2 หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า