Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer ลูกสาวของศรัณยู วงษ์กระจ่าง อดีตแกนนำพันธมิตร กำลังจะได้เปิดตัวเป็นศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ ในวงการ K-POP เรื่องนี้ สร้างกระแสสังคมเป็น 2 ฝ่ายอย่างรุนแรง จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร แล้วคุณพ่อของเธอ เคยไปทำอะไรไว้ workpointTODAY จะสรุปสถานการณ์ให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 17 ข้อ

1) ในปี 2548 ในสมัย พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่ง รวมตัวกันในชื่อ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ กลุ่มคนเสื้อเหลือง มีแกนนำคนสำคัญคือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป้าหมายของการชุมนุมคือกดดันเพื่อขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากมองว่า ทักษิณ กอบโกยผลประโยชน์ของชาติเข้ากระเป๋าตัวเอง ดังนั้นกลุ่มพันธมิตรจึงใช้สโลแกนว่า “กู้ชาติ” ในการเคลื่อนไหว

2) การชุมนุมของพันธมิตร บรรลุผล เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาจากทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรยังไม่ได้สูญสลายไป ในเวลาต่อมา เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรมาตลอด ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2551 กลุ่มพันธมิตรรวมตัวกันปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง เพื่อต่อรองให้นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่ง เป็นต้น

3) กลุ่มพันธมิตรเริ่มขยายตัว ทำให้ถัดจากแกนนำรุ่น 1 ที่ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายพิภพ ธงไชย และ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข มีการคัดเลือก “แกนนำรุ่น 2” ในปี 2551 ซึ่ง ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งนี้ด้วย

4) ตั้ว-ศรัณยู เป็นนักแสดงที่มีผลงานละครฮิตมากมายเช่น “บ้านทรายทอง”, “ทวิภพ” และ “มนต์รักลูกทุ่ง” เป็นต้น เขาคว้ารางวัลสำคัญในประเทศ ได้ทั้งเมขลาและโทรทัศน์ทองคำ ถือเป็นดาวค้างฟ้าคนหนึ่งในวงการบันเทิง จากนั้นเมื่ออายุมากขึ้น ก็ผันตัวเป็นผู้กำกับและผู้จัดละคร

สำหรับชีวิตส่วนตัว ตั้ว-ศรัณยู แต่งงานกับ เปิ้ล-หัทยา เกตุสังข์ ในปี 2537 ทั้งคู่มีลูกสาวฝาแฝดชื่อ ลูกหนุน-ศุภรา และ ลูกหนัง-ศีตลา

5) ตั้ว-ศรัณยู จึงถูกประชาชนนึกถึงในสองทิศทาง คือทางบันเทิง และทางการเมือง ย้อนกลับไปในปี 2555 ศรัณยู เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ผู้จัดการว่า “ยอมรับว่าการเข้าร่วมชุมนุม มีผลกระทบต่ออาชีพ ทำให้คนที่คอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังหดหาย ซึ่งอาจเป็นเพราะสังคมไทยมีอคติ ไปผูกรวมกับสิ่งอื่นๆ”

“แต่นั่นไม่ได้ทำให้คิดว่าได้ทำสิ่งที่ผิดพลาด หรือรู้อย่างนี้ไปอยู่อีกข้างดีกว่า เพราะเราศรัทธาในสิ่งที่ทำ ทำตรงนั้นด้วยความรู้สึกที่แท้จริง ทั้งนี้หากให้ย้อนเวลาได้ ก็ไม่คิดจะเลือกจุดยืนใหม่”

6) บทบาทของตั้ว-ศรัณยู ในกลุ่มพันธมิตร ส่วนใหญ่คือการใช้ชื่อเสียงของเขาในการปลุกเร้าผู้มาชุมนุม หลายครั้งจะขึ้นไปร้องเพลงบนเวที สร้างบรรยากาศให้คึกคัก ตัวอย่างเช่น

ร้องเพลงพาดพิงถึง ยิ่งลักษณ์ โดยใช้ทำนองเพลง เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ของบิลลี่ โอแกน แต่เปลี่ยนเนื้อเป็น “ตำแหน่งนายกฯ นี้ พี่ชายเขามอบให้ เอาอะไรมาไล่ก็ไม่ออก เอาอะไรมาไล่ก็ไม่ออก จะเอาอะไรมาไล่ ดี…” โดยพอตั้ว-ศรัณยู พูดคำว่าดี ก็ชะงักเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ชุมนุมก็ตะโกนว่า “ออก!” เพื่อให้ผวนคำว่า “ดี-ออก”

และอีกหนึ่งเพลงที่พูดถึงยิ่งลักษณ์เช่นกัน ร้องว่า “ฟังไว้ จงฟังให้ดี รัฐบาลนอมินี ที่คิดจะทำทุจริต นายกฯ ตอแหลทุกวัน ไม่ต้องมาทำหงุดหงิด”

ส่วนเพลงที่พาดพิงถึงทักษิณ ร้องว่า “ดู ดู๊ ดู ดูมันทำ ทักษิณมันทำกับเราได้ สรุปว่าเรานั้นบ้า เอ๊ะ บ้าอะไร ก็บ้ารักประเทศไทย ใช่ไหมล่ะเธอ”

7) การมีศรัณยูเป็นแกนนำ เป็น Soft Power ในการดึงคนเข้ามาสู่พันธมิตรมากขึ้น และเขาก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากกลุ่มคนเสื้อเหลือง อย่างไรก็ตาม ประชาชนฝั่งตรงข้าม มองตั้ว-ศรัณยู ด้วยสายตาผิดหวังและโกรธแค้น ที่มีส่วนร่วมในการปลุกระดมให้กลุ่มพันธมิตรแข็งแรงขึ้น และเป็นการเปิดช่องให้ทหาร เข้ามาทำรัฐประหารได้ในภายหลัง

8 ) จุดยืนทางการเมืองอีกอย่างของศรัณยู คือการเป็น Royalist แสดงออกถึงความรักสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ ในเดือนตุลาคม 2560 เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ที่พระบรมมหาราชวัง มีการเปิดให้ประชาชนต่อแถวเพื่อกราบลาพระบรมฉายาลักษณ์ ศรัณยูและครอบครัว ถ่ายรูปยืนเปียกกลางสายฝน

จากนั้นลูกหนัง-ศีตลา ได้โพสต์ภาพครอบครัวเปียกฝนในอินสตาแกรม แต่โดนกระแสตีกลับว่า แล้วจะไปยืนตากฝนทำไม ในเมื่อพื้นที่อาคารมีหลังคาเรียงรายตั้งเยอะ จนโดนวิจารณ์ว่าสร้างภาพ นั่นทำให้ลูกหนัง-ศีตลา โพสต์ตอบโต้ไปว่า “ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ เราห้ามใจใครไม่ได้ สิ่งที่เราไม่ได้ทำ ไม่ได้คิด ไม่ได้เป็น แต่คนอื่นคอยยัดเยียดให้เรา เราก็ไม่ควรให้ความสำคัญ เพราะเราสัมผัสได้ว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง”

9) ตั้ว-ศรันยู เสียชีวิต ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ด้วยวัย 59 ปี จากโรคมะเร็งตับ ท่ามกลางความอาลัยของคนใกล้ชิด และคนที่ชื่นชมในผลงาน แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ยังคงความไม่พอใจอยู่ เพราะมองว่าเป็นหนึ่งในตัวละครที่ผลักดันให้ประเทศไทยเสียประชาธิปไตยให้รัฐประหาร ตัวอย่างเช่น ประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวลชนของข่าวสดอิงลิช ทวีตข้อความว่า “วันนี้เผาตั้วศรัณยู – ผมอโหสิกรรมให้แม้เห็นเขาเคยขึ้นเวทีการเมืองร้องเพลงสาปแช่งให้คนอื่นไปลงนรก – ถ้านรกสวรรค์มีจริงก็ไปลุ้นต่อเอาเองตามกรรมก็แล้วกันนะ”

10) หลังจากที่ศรัณยู เสียชีวิตไป 1 ปี เหตุการณ์ก็เหมือนจะเงียบลงไป แต่ก็มีดราม่าเรื่องใหม่เกิดขึ้น ลูกสาวของเขา ลูกหนัง-ศีตลา วัย 24 ปี ประกาศเปิดตัวเป็นสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป ที่ประเทศเกาหลีใต้ ชื่อวงว่า H1-KEY (ไฮ-คีย์) สังกัดค่าย GLG

ลูกหนัง-ศีตลา มีพื้นฐานภาษาเกาหลีที่ดี เพราะเธอเรียนจบจากมหาวิทยาลัย Ewha Womans University และเป็นเด็กฝึกจากค่าย LIONHEART มาหลายปี ทำให้มีความพร้อมทั้งเรื่องภาษา และการแสดงออก สุดท้ายจึงเตรียมเปิดตัวเป็นศิลปินหน้าใหม่ในที่สุด โดยมีกำหนดวันเดบิวต์ คือ 5 มกราคม 2565

11) เมื่อโลกออนไลน์ทราบว่า ลูกของศรัณยูกำลังจะเป็นศิลปินที่เกาหลี จึงเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงทันที โดยแฮชแท็ก #SITALA (ศีตลา) และ #แบนลูกหนัง ขึ้นเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว มีการขุดภาพเก่าๆ ของเธอเคยไปร่วมเป่านกหวีดในการชุมนุมของกปปส. ขึ้นมา

12) ทวิตเตอร์ของรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง ทวีตข้อความว่า “ถ้าจะบอกเวลาเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน แล้วเขาเคยออกขอโทษ หรือคอลเอาท์อะไรบ้างมั้ย ไปใช้ชีวิตสวยๆ ได้ดิบได้ดีในต่างประเทศ ในขณะที่คนไทยเป็นล้านต้องมาตกนรก ใครจะยอมคะ” ความหมายของรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสคือ คนพ่อตั้ว-ศรัณยู การสนับสนุนการชุมนุมของพันธมิตร ส่งผลให้ทักษิณโดนยึดอำนาจ และมีการปิดล้อมสนามบิน จนเศรษฐกิจเสียหาย ส่วนคนลูก ก็ไปร่วมเป่านกหวีดกับกปปส. ซึ่งก็เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ประเทศไทยถูกยึดอำนาจโดยคสช.

ดังนั้นในเมื่อตัวลูกหนัง ไม่ออกมาเทกแอ็กชั่นถึงความเสียใจตอนที่เธอเป่านกหวีด ทำให้แฟนเพลงเกาหลีในโลกออนไลน์ไม่พร้อมที่จะสนับสนุนเธอจริงๆ แม้จะเป็นคนไทยที่ไปสร้างผลงานที่ต่างแดนก็ตาม

13) บางคนวิจารณ์ว่าครอบครัวของลูกหนัง มักจะพูดอยู่เสมอว่า “รักชาติ” แต่พอมีโอกาสก็จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ และไปประกอบอาชีพที่ต่างประเทศ ได้ทำตามความฝันของตัวเอง ตรงข้ามกับวัยรุ่นหลายคน ที่ต้องอยู่ในประเทศที่ปกครองโดยคสช. การไปสู่ความฝันของพวกเขาเหล่านั้นก็ทำได้ยากลำบากอย่างยิ่ง

14) กลุ่มคนต่อต้าน ลูกหนัง-ศีตลา พยายามแปลเรื่องราว เป็นภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษ เพื่ออธิบายชาวโลกให้เข้าใจด้วยว่า ทำไมแฮชแท็ก #SITALA ถึงขึ้นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และพยายามเข้าไปคอมเมนต์ในทวิตเตอร์ทางการของ H1-KEY เพื่อสร้างความเข้าใจอีกด้วย

15) อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ถ้าไปดูในเทรนด์ทวิตเตอร์ของทั่วโลก จะพบว่า ยังไม่ใช่ประเด็นที่ชาติอื่นพูดถึง โดยในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา #SITALA ติดเทรนด์แค่ประเทศเดียวเท่านั้น คือไทย เรื่องนี้ฝั่งเกาหลียังไม่ให้ความสนใจมากนัก เว็บไซต์บันเทิงหลักๆ อย่าง Soompi และ allkpop (นับจนถึงเวลา 11.00 ของวันที่ 1 ธันวาคม) ยังไม่ได้นำเสนอข่าวแต่อย่างใด

16) มีฝั่งที่ต่อต้าน ก็มีฝั่งที่สนับสนุนเช่นกัน โดยหลายคอมเมนต์ในโลกออนไลน์กล่าวว่า พ่อจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ลูกหนัง-ศีตลา ก็เป็นคนละคนกัน เธอไม่ได้ขึ้นเวทีไปด่าทักษิณ หรือยิ่งลักษณ์อย่างหยาบคาย เหมือนคุณพ่อของเธอ จริงอยู่ เธออาจจะไปร่วมชูธงชาติไทยในอีเวนต์ของกปปส. และไปร่วมไว้อาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่เธอก็ไม่เคยออกตัวว่าสนับสนุนเผด็จการทหาร

นอกจากนั้นการกระทำของเธอเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ไม่สามารถตอบได้ ว่าเธอเข้าใจบริบททางการเมืองแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่กับพ่อแม่ที่มีความเห็นทางการเมืองที่ชัดเจนมากๆ อาจมีอิทธิพลในการโน้มน้าวให้เธอแสดงออก มาในรูปแบบที่พ่อแม่ต้องการก็ได้

17) เรื่องราวทั้งหมดก็หยุดลงที่ตรงนี้ กับการถกเถียงในโลกออนไลน์ว่า ลูกหนัง-ศีตลา ที่มีคุณพ่อที่สนับสนุนการเมืองฝั่งหนึ่งอย่างเข้มข้น ชาวไทยควรรู้สึกกับเธออย่างไรกันแน่

ในเรื่องนี้ คุณแม่ของลูกหนัง หัทยา วงษ์กระจ่าง ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดๆ เช่นเดียวกับต้นสังกัดที่เกาหลีใต้ ก็ยังไม่ออกมาคอมเมนต์ใดๆ เช่นเดียวกัน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า