Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จากกรณีที่ฟินแลนด์มีนายกรัฐมนตรีหญิง ซันนา มารีน (Sanna Marin) ที่อายุน้อยที่สุดในโลกด้วยวัยเพียง 34 ปี และในคณะรัฐบาลของเธอประกอบไปด้วย 5 พรรคการเมืองซึ่งมีผู้นำพรรคเป็นผู้หญิงทั้งหมด ทำให้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศในประเทศฟินแลนด์เป็นอย่างมาก

การเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ซานน่า มาริน ทำให้คนหันมาพูดถึงสังคมที่ทัดเทียมกันทางเพศของฟินแลนด์

จริงๆ แล้ว ฟินแลนด์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รายงานล่าสุดจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เปิดเผยว่า ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน ติด 4 อันดับแรกของประเทศที่มีความเสมอภาคระหว่างเพศมากที่สุดในโลก ส่วนเดนมาร์กอยู่อันดับที่ 14 โดยความเสมอภาคระหว่างเพศในประเทศเหล่านี้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ และการเมือง

บทความนี้จะพาไปดูว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมาถึงจุดนี้ได้ 

ความเท่าเทียมทางเพศเริ่มต้นจากหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม นั่นคือครอบครัว

หากใครได้ไปเยือนประเทศในกลุ่มนอร์ดิกอาจประหลาดใจกับภาพของผู้ชายจำนวนมากเข็นรถเข็นเด็ก ปั่นจักรยาน และเล่นกับลูกในสวนสาธารณะ จนอาจเกิดคำถามว่าทำไมผู้ชายชาวนอร์ดิกจึงดูรักเด็กมากกว่าผู้ชายชาติอื่นๆ

แท้ที่จริงแล้ว ภาพเหล่านั้นเกิดจากแนวคิดที่ต้องการให้ทั้งพ่อและแม่สามารถมีหน้าที่การงานที่มั่นคงไปพร้อมๆ กับเลี้ยงดูลูกของตนเองได้ โดยชาวนอร์ดิกเชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตามสามารถดูแลลูกของตนได้ และพยายามกำจัดมายาคติที่ว่าบทบาทการเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น

รัฐบาลของประเทศเหล่านี้มีนโยบายให้สิทธิลาคลอด (Parental leave) และกำหนดโควตาวันลาแก่คุณพ่อเพื่อให้ผู้ชายมีประสบการณ์การเลี้ยงดูลูกในวัยแรกเกิด และทำความเข้าใจว่าบทบาทความเป็นแม่ที่ผู้หญิงต้องเผชิญนั้นเป็นอย่างไร ทั้งนี้ สิทธิลาคลอดของแต่ละประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีรายละเอียดและแนวคิดที่ต่างกันบ้าง 

สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่ปูพื้นฐานความมั่นคงประชาชนด้วยนโยบายรัฐสวัสดิการ

Latte Dad คาเฟ่สุดคูลที่เต็มไปด้วยคุณพ่อดื่มกาแฟพร้อมกับลูกๆ

ในสวีเดน รัฐบาลให้สิทธิและหน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็กแก่ผู้หญิงและผู้ชายเท่าๆ กัน  สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิวันลาคลอดกับทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่ปี 1974 เพื่อเป็นหลักประกันว่าทั้งพ่อและแม่จะสามารถทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กได้

ปัจจุบันรัฐบาลให้สิทธิวันลาคลอดนี้นานถึง 480 วัน หรือ 16 เดือน และเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชายใช้วันลาคลอดมากขึ้น รัฐบาลจึงกำหนดโควตาวันลาสำหรับคุณพ่อ โดยให้ลางานได้อย่างน้อย 3 เดือน และยังคงได้รับเงินเดือน 80% ของเงินเดือนคุณพ่อในขณะนั้น หากคุณพ่อไม่ใช้สิทธิดังกล่าว ครอบครัวนั้นจะเสียวันลาไป 3 เดือน ด้วยเหตุนี้ ชาวต่างชาติที่ไปเยือนสวีเดนจึงได้เห็นภาพคุณพ่อจำนวนมากใช้เวลาอยู่กับลูกในพื้นที่สาธารณะ จนมีคนตั้งฉายาคุณพ่อสวีดิชเหล่านี้ว่า “latte dad” เพราะคาเฟ่คูลๆ ในสวีเดนมักเต็มไปด้วยคุณพ่อนั่งดื่มกาแฟกินขนมเค้กกับเด็กเล็กๆ นอกจากนี้ รัฐบาลสวีดิชยังให้เงินอุดหนุนศูนย์ดูแลเด็กเล็กเพื่อให้ราคาค่าบริการอยู่ในระดับที่ผู้ปกครองสามารถจ่ายได้ โดยศูนย์ดูแลเด็กจะให้บริการเด็กอายุ 3-6 ขวบ ฟรี 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อีกทั้งรัฐบาลยังให้เงินรายเดือนแก่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 16 ปี เป็นจำนวน 1,050 สวีดิชโครน หรือราว 3,150 บาทต่อเดือน 

Baby Box กล่องสำหรับทารก พื้นฐานสวัสดิการฟินแลนด์

สำหรับฟินแลนด์ โจทย์สำคัญของความเท่าเทียมทางเพศไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องสิทธิของพ่อหรือแม่ แต่เป็นเรื่องสิทธิของเด็กที่จะได้ใช้ช่วงเวลาในวัยเด็กอยู่กับทั้งพ่อและแม่ ชาวฟินแลนด์เชื่อว่าพ่อมีบทบาทสำคัญในพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะช่วงปีแรกๆ ที่เด็กเกิดใหม่ รัฐบาลฟินแลนด์จึงเสนอให้คุณพ่อมีวันลาหยุดสำหรับดูแลลูกวัยแรกเกิดยาวนานถึง 9 สัปดาห์ โดยยังคงได้รับเงินเดือน 70% ของเงินเดือนคุณพ่อในขณะนั้น นอกจากนี้ เด็กๆ ชาวฟินแลนด์ยังได้รับการดูแลจากรัฐก่อนที่พวกเขาจะเกิดมาเสียอีก

คู่สามีภรรยาชาวฟินแลนด์ไม่เคยกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหากอยากมีลูก เพราะพวกเขาได้สิทธิทำคลอดบุตรฟรี นโยบายนี้ทำให้ฟินแลนด์มีอัตราการตายของเด็กแรกเกิดต่ำที่สุดในโลก  และรัฐบาลฟินแลนด์ยังมอบของขวัญแก่เด็กแรกเกิดทุกคน หรือที่เรียกว่า “เบบี้บ๊อกซ์” (baby box) ซึ่งเต็มไปด้วยของใช้สำคัญต่างๆ ของเด็ก เช่น ถุงนอน เสื้อผ้า ของใช้ในห้องน้ำ ของทุกอย่างมีสีกลางๆ ไม่แบ่งเพศ หรือพ่อแม่จะเลือกรับเป็นเงินขวัญถุงจำนวน 140 ยูโร (ราว 4,690 บาท) แทนก็ได้ 

เมื่อลูกๆ ถึงวัยต้องเข้าเรียน พ่อแม่ชาวฟินแลนด์ก็ไม่กังวลกับการศึกษา เพราะไม่ว่าผู้ปกครองของเด็กๆ จะยากดีมีจนอย่างไร เด็กๆ ก็จะได้รับการศึกษาที่ฟรีและมีคุณภาพเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำที่มีการศึกษากับชนชั้นล่างที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ประชาชนฟินแลนด์ทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน 

ส่วนนอร์เวย์ก็ให้สิทธิลาคลอดนี้กับทั้งพ่อและแม่เช่นกัน โดยจะได้วันลาคลอดนานถึง 49 สัปดาห์และยังคงได้เงินเดือนเต็มจำนวน โดยคุณพ่อและคุณแม่จะต้องใช้วันลาอย่างน้อยคนละ 10 สัปดาห์ ส่วนที่เหลือให้ตกลงกันว่าใครจะเป็นคนลาหรือจะไม่ใช้เลยก็ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เสรีภาพในการตัดสินใจเป็นของคู่สามีภรรยาเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับครอบครัวของตน

ความเท่าเทียมระหว่างเพศจะเกิดขึ้นได้จริงต้องมีมิติทางเศรษฐกิจด้วย

การกำจัดความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายให้หมดไปเป็นเรื่องที่ยากมาก จากงานวิจัยของสภารัฐมนตรีแห่งกลุ่มประเทศนอร์ดิกเรื่อง “State of Nordic Fathers” ในปี 2019 เปิดเผยว่า นโยบาย Parental leave ที่ให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายลาคลอดได้เท่าๆ กัน ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะในความจริงแล้ว คุณพ่อส่วนใหญ่ใช้สิทธิของตนเพียง 20% ของวันลาที่มีอยู่เท่านั้น สาเหตุหลักมาจากกลัวความสัมพันธ์ของตนกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าจะแย่ลง รวมทั้งกังวลเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และรู้สึกผิดหากต้องปล่อยให้เพื่อนร่วมงานมารับผิดชอบงานของตัวเองในขณะที่ตัวเองดูแลลูก 

อย่างไรก็ตาม นโยบายให้สิทธิลาคลอดแก่ทั้งพ่อและแม่ของกลุ่มประเทศนอร์ดิกก็ยังประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีนโยบายคล้ายกัน สาเหตุหลักมาจากการจ่ายเงินเดือนให้สูงถึง 70-100% ระหว่างใช้สิทธิลาหยุด ทำให้เป็นหลักประกันความมั่นคง โดยงานวิจัยฉบับเดียวกันนี้พบว่า คุณพ่อที่ใช้วันลายาวนานขึ้นจะเริ่มเข้าใจและแยกแยะระหว่างความสัมพันธ์ของครอบครัวและของที่ทำงานได้ ที่สำคัญคือผู้ชายเหล่านี้มีความเข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่ระหว่างชายหญิงเปลี่ยนไป โดยมองว่าจริงๆ แล้ว เด็กๆ ไม่ได้ติดแม่มากกว่าพ่อ แต่ติดคนที่พวกเขาเจอหน้าในทุกวันมากกว่า รายงานยังค้นพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายตัดสินใจใช้โควตาวันลาคลอดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าระบบวันลานั้นประกันความมั่นคงในหน้าที่การงานมากแค่ไหน 

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกยังไม่สามารถปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศได้ 100% คือ ช่องว่างด้านรายได้ระหว่างชายหญิง นักการเมืองและคนทำงานขับเคลื่อนสังคมในนอร์ดิกเองยอมรับว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศในตลาดแรงงาน และยังไม่สามารถทำให้ผู้หญิงหลุดพ้นจากงานประเภทการผลิตซ้ำ (reproductive work) เช่น งานบ้าน เลี้ยงลูก ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง แต่มีมูลค่ามหาศาลต่อเศรษฐกิจและสังคม สิ่งนี้เป็นปัจจัยทำให้ผู้หญิงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำงานพาร์ทไทม์เพื่อดูแลลูก อีกทั้งงานต่างๆ ในตลาดแรงงานก็ยังมีการแบ่งเพศของงาน เช่น พนักงานทำความสะอาด พี่เลี้ยงเด็ก หรือคนดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานพาร์ทไทม์และรายได้น้อยก็เป็นตลาดที่ต้องการแรงงานหญิงเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้คนทำงานเหล่านี้ได้เงินเดือนเกษียณน้อยลงและงานเหล่านี้ก็ไม่ได้พัฒนาทักษะของคนทำงานเท่าที่ควร 

ทั้งนี้ สังคมนอร์ดิกยอมรับว่า การที่ผู้หญิงมีงานทำส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ส่งเสริมรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หากรัฐให้เงินอุดหนุนการศึกษาแก่คนทุกเพศทุกวัยอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ย่อมคาดหวังให้คนเหล่านั้นกลายเป็นแรงงานที่มีทักษะและช่วยเพิ่มผลผลิตให้ประเทศในอนาคต แต่หากผู้หญิงยังต้องลาออกจากงานเพื่อมาเป็นแม่บ้าน และสังคมปิดโอกาสไม่ให้พวกเธอได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ การลงทุนของรัฐจะกลายเป็นเรื่องเสียเปล่า นอกจากนี้ สหภาพแรงงานของประเทศในกลุ่มนอร์ดิกยังมีแนวคิดว่าการให้ผู้หญิงมีหน้าที่การงานที่มั่นคงจะยิ่งทำให้รัฐสวัสดิการมีความมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะมีคนจ่ายภาษีเงินได้ให้รัฐมากขึ้น สหภาพแรงงานจึงสนับสนุนให้ยกเลิกการเลือกปฏิบัติและกีดกันทางเพศในตลาดแรงงาน และได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้ผู้หญิงไม่ต้องพึ่งพาผู้ชายในทางเศรษฐกิจ 

สิ่งที่ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการลงทุนกับการทำงานวิจัยโดยใช้มุมมองเรื่องเพศเป็นกรอบการวิเคราะห์เพื่อหาหลักฐานมายืนยันว่าสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลในทางเศรษฐกิจอย่างไร โดยเชื่อว่างานวิจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การพูดคุยกับทุกฝ่ายอย่างเป็นเหตุเป็นผล ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ใช้มุมมองเรื่องเพศวิเคราะห์เรื่องการกระจายรายได้ระหว่างชายหญิงและนำมาเป็นข้อเสนอต่อการจัดสรรงบประมาณรัฐทุกปี เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษี หรือการปรับเพิ่มลดสวัสดิการด้านต่างๆ ส่วนรัฐบาลฟินแลนด์ก็จัดงานประชุมระดมความเห็นโดยรวมเอาทุกพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม และคนทำงานด้านสังคมมาพูดคุยกันบนพื้นฐานของงานวิจัยใหม่ๆ ที่ค้นพบ เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน

รัฐสภาคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

ความเสมอภาคทางเพศที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศนอร์ดิกไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่มันผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนานผ่านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้หญิงและผ่านช่องทางที่เป็นทางการอย่างรัฐสภา การเพิ่มขึ้นของผู้หญิงในรัฐสภาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้หญิงและสังคมโดยรวมอย่างเห็นได้ชัด เพราะมันนำไปสู่การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปรับปรุงสวัสดิการของเด็ก การคุ้มครองผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพิ่มโอกาสสำหรับคุณแม่ที่ต้องการทำงานนอกบ้าน และปรับปรุงสวัสดิการสำหรับครอบครัว 

ฟินแลนด์เป็นชาติแรกในยุโรปที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งได้ในปี 1906 และในการเลือกตั้งปี 1907 ผู้หญิงฟินแลนด์ได้รับเลือกตั้งเข้าไปในสภาได้ถึง 19 คน  ปัจจุบัน ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของ ส.ส. หญิงจำนวนมาก โดยฐานข้อมูลจาก Institute for Democracy and Electoral Assistance ระบุว่า สวีเดนมีสัดส่วนของ ส.ส.หญิงในสภาถึง 47.3% ฟินแลนด์ 42% ไอซ์แลนด์ 38.1% นอร์เวย์ 40.8% และเดนมาร์ก 37.4% ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านี้ไม่มีส่วนไหนเลยที่ระบุว่าต้องเพิ่มจำนวน ส.ส.ที่เป็นหญิง ทว่ามันเกิดจากการกดดันในระดับพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

ที่ผ่านมาผู้หญิงชาวนอร์ดิกกดดันให้พรรคการเมืองเพิ่มจำนวนผู้ลงสมัครเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิงเพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสชนะการเลือกตั้งบ้าง แรงกดดันนี้กลายเป็นกระแสทั่วสแกนดิเนเวียในช่วงทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 บางพรรคการเมืองจึงยอมให้ใช้ระบบโควตา ทั้งนี้ โควตาดังกล่าวเป็นไปโดยความสมัครใจของแต่ละพรรคการเมือง และแต่ละประเทศก็ใช้ระบบโควตาแตกต่างกัน เช่น พรรคแรงงานของนอร์เวย์ใช้ระบบ 40% กล่าวคือ ในการเลือกตั้งทุกประเภท พรรคแรงงานจะส่งผู้สมัครทั้งหญิงและชายแต่ละเพศอย่างน้อย 40% ของจำนวนผู้สมัครลงเลือกตั้งทั้งหมดภายในพรรค ส่วนพรรคสังคมนิยมเดนมาร์กก็ใช้ระบบ 40% เช่นกัน แต่จำกัดอยู่แค่การเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น และโควตานี้ถูกยกเลิกไปในปี 1996 ส่วนพรรคสังคมนิยมสวีเดนใช้หลักการให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นลำดับที่ 2 ของลำดับรายชื่อผู้สมัครลงเลือกตั้ง กล่าวคือ หากผู้ชายเป็นรายชื่อแรกของลิสต์นั้น รายชื่อลำดับถัดไปต้องเป็นชื่อผู้หญิง 

อย่างไรก็ดี ชาวนอร์ดิกมองว่าระบบโควตาเป็นเพียงแค่ “เครื่องมือ” ที่ช่วยย่นระยะเวลาให้ผู้หญิงเป็นผู้แทนทางการเมืองได้เร็วขึ้นเท่านั้น เพราะพื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่ของผู้ชายมาโดยตลอด หากให้ผู้หญิงซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆ เลยมาลงแข่งด้วย ก็คงใช้เวลาหลายสิบปีกว่าพวกเธอจะก้าวเข้ามาเป็นผู้แทนได้ ระบบโควตาของพรรคการเมืองจึงเป็นเหมือนการให้โอกาสครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งเป็นความพยายามของผู้หญิงเอง สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเตรียมความพร้อมให้พวกเธอจากหน่วยเล็กๆ ในสังคม เช่น ครอบครัว และโรงเรียน

จากประสบการณ์ของประเทศในกลุ่มนอร์ดิกแสดงให้เห็นว่า ชาวนอร์ดิกไม่ได้ให้โควตาและสิทธิพิเศษสำหรับผู้หญิงเพื่อให้พวกเธอมีอำนาจเหนือผู้ชาย แต่พวกเขากำลังทำให้มนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้นทางสังคม มีความสุขและมีจุดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน การให้สิทธิวันลาคลอดกับทั้งพ่อและแม่โดยที่ทั้งคู่ยังได้เงินเดือนทำให้พวกเขามีสิทธิที่จะเลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับการมีชีวิตและหน้าที่การงานที่มั่นคง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ชายได้เข้าไปลองทำหน้าที่ที่ในอดีตเคยเป็นของผู้หญิงและค่อยๆ เปลี่ยนความคิดตัวเองที่มีต่อหน้าที่เหล่านี้ ปัจจุบัน ผู้ชายนอร์ดิกกลายเป็นฝ่ายเชิญชวนให้ผู้ชายที่ยังยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ ได้ลองเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน เคารพการตัดสินใจของผู้หญิง และให้พวกเธอได้ออกไปมีชีวิตนอกบ้านบ้าง บรรยากาศสังคมเช่นนี้ส่งเสริมความเข้าใจว่าจะเพศอะไรก็สามารถทำหน้าที่ของกันและกันได้ 

ท้ายที่สุดแล้ว ความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมนอร์ดิกตั้งอยู่บนคำตอบของคำถามธรรมดาๆ ที่ว่า เราจะสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและสังคมได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้เรามีความสุขกับหน้าที่การงาน ลูก และคู่ชีวิต ในทุกๆ วัน 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า